รายงานโดย ทศวรรษ เนียมวิวัฒน์
“จุดเปลี่ยนแปลงเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จะถูกหรือผิด ประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องตัดสิน แต่อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์ในประเทศ ผมเชื่อว่าพวกเรารู้อยู่แก่ใจ เพราะมันรับรู้ได้และสัมผัสได้”
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภาคเอกชนกับอนาคตประเทศไทย” ภายใต้การประชุม “Improving Corporate Governance: Key To Advancing Thailand” โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(The Thai Institute of Directors Association:IOD)ดังนี้
“ท่านผู้อำนวยการ IOD ติดต่อผม และขอหัวข้อว่าจะบรรยายเรื่องอะไร ผมก็เรียนว่าขอเวลาสักนิด เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2557 ในใจผมรู้สึกว่าประเทศไทยใกล้ถึงจุดในการเปลี่ยนแปลง ในใจนั้นรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยนั้นจะดำรงอยู่ในสถานะภาพนั้นได้นานนัก เพราะมันใกล้จะถึงจุดที่เป็นรัฐล้มเหลวอย่างที่ท่านอาจารย์จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้กล่าวมา และไม่ใช่ผมคนเดียว และในต่างประเทศผมจำได้เลยว่า The Economist มีบทความเขียนปรากฏชัดเจนว่า ประเทศไทยนั้น “Everything is broken” ทุกสิ่งทุกอย่างแตกสลายและอยู่บนขอบเหว หากไม่แก้ไขก็จะเป็นประเทศที่ล่มสลายได้”
“จุดเปลี่ยนแปลงเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จะถูกหรือผิด ประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องตัดสิน แต่อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์ในประเทศผมเชื่อว่าพวกเรารู้อยู่แก่ใจ เพราะมันรับรู้ได้และสัมผัสได้”
ในด้านต่างประเทศต่างหากที่อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง บางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกประชาธิปไตย ก็ยังมีความขุ่นเคือง ยังตั้งคำถามและมีปฏิกิริยา เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใด ในโลกสมัยใหม่ที่เขาไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบที่เขาไม่อยากจะเห็น
แน่นอนที่สุด ปฏิกิริยาต้องมี แรงบ้าง เบาบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าเขาสวมบทอะไร สวมหัวโขนอะไร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโกรธเคืองกัน เพราะเขาก็มีมุมมองของเขา มีความคิดเห็นของของเขา และมีทุนประโยชน์ของเขา ไม่มีใครเขาเข้าใจถ่องแท้ว่าประเทศไทยในขณะนั้น ประเทศที่สังคมทะเลาะกัน จวนเจียนจะเกิดสงครามกลางเมือง จะลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันเองนั้นเป็นอย่างไร
การที่ระเบิดเอ็ม 79 สามารถถล่มหน้าบ้านใครก็ได้ แล้วแต่ว่าจะกรุณาหรือไม่ มันเป็นอย่างไร และเสียงส่วนใหญ่จะไม่แน่ใจว่าน้ำหนักความสำคัญที่เขาให้นั้นมีมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับเวทีที่เขาต้องแสดงในเวทีใหญ่นั่นคือเวทีโลก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจกัน
ฉะนั้นส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือความมุ่งมั่น การตั้งใจแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง การทำให้ประเทศนั้นดีขึ้น ให้ผลงานพูดแทนทุกสิ่ง แค่ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของคนไทย พูดแทนทุกสิ่ง ให้การรักษาคำมั่นสัญญาที่จะก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศนั้นตอบแทนเราต่อสังคมโลก
“ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นและทำงานอย่างจริงจัง ที่สัญญากันไว้ ในไม่ช้าทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้น เมื่อชาวนาได้รับเงินได้รับความช่วยเหลือ เมื่องบประมาณถูกผลักดันออกไป เมื่อสิ่งที่ติดขัดในระบบบริหารราชการถูกขจัดหรือแก้ไข”
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามครรลองและขั้นตอนที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนและโลกนั้น เดินไปตามกรอบแห่งเวลา ผมเชื่อว่าประเทศทั้งหลายในโลกที่มีความขุ่นเคืองเราอยู่นั้น ก็จะหันกลับมาหาเราอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะในโลกยุคนี้สมัยนี้ ที่การเมืองในระดับภูมิภาคนั้น กำลังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยคือ จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และไม่สามารถหาประเทศอื่นมาทดแทนเราได้อย่างแน่นอน ประเทศทั้งหลายเหล่านั้นก็จะกลับมา ถ้าเราสามารถหยิบยื่นความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่นจริง มันไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่โตอะไรเลย
เรื่องนี้เป็นเรื่องของอดีต มันเกิดขึ้นแล้วและผ่านไปแล้ว
ผมเชื่อว่าจากวันนี้เป็นต้นไป สถานการณ์หลายสิ่งจะดีขึ้นจากไตรมาส 2 และเริ่มต้นไปสู่ครึ่งปีหลังผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวโดยลำดับ และจะยิ่งดีขึ้นในปีต่อๆ ไป การที่บ้านเมืองสงบ มีการแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่มีความรุนแรง และเริ่มมีการปฏิรูป ความมั่นใจจะกลับคืนมาไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ แต่สิ่งนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และสำคัญนัก เรื่องใหญ่กว่านั้นเรามีอีกเยอะ
ถ้าเราหันไปมอง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเรานั้น แม้ว่ามันเติบโตได้แต่มันไม่สม่ำเสมอ ที่สำคัญมันเติบโตได้เพราะแรงกระตุ้นและมีแนวโน้มถดถอยลงไปอีก สาเหตุเพราะว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ มันผุกร่อน มันอ่อนแอ อาศัยว่าพื้นฐานที่มีในอดีตมันแข็งแรง บวกกับแรงกระตุ้นทำให้เราประคับประคองตัวเองอยู่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่แก้ไขแบบจริงจัง มันจะค่อยๆ ฉุดลากประเทศไทยเราให้ค่อยๆ ตกต่ำลง อย่างแน่นอน
จริงๆ แล้วประเทศไทยขณะนี้เสมือนหนึ่งอยู่บนทาง 2 แพร่ง
แพร่งแรกให้ดูตัวอย่างของฟิลิปปินส์ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรงเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มองไม่เห็นสัญญาณการปฏิรูปการเกี้ยเซียะผลประโยชน์ ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นที่ทำให้ประเทศนั้นดีขึ้น อย่างจริงจัง มีการเปลี่ยนแปลงแล้วคอร์รัปชันยังคงมีอยู่ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน 30 กว่าปีให้หลัง ฟิลิปปินส์ก็เหมือนกับที่เราเห็น ทุกวันนี้
อีกแพร่งหนึ่ง ให้ดูอินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง วิกฤติที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างมาก มีคนล้มตายมหาศาล แต่เขารู้จักใช้วิกฤตินั้นให้เป็นโอกาส ปฏิรูปประเทศ ยกเครื่องประเทศ เพราะเขารู้ว่าถ้าไม่ทำประเทศล่มสลายแน่ วันนี้ อินโดนีเซียคือประเทศยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ที่ทุกคนมองด้วยความอิจฉา
ผมอยากให้ประเทศไทยนั้นเดินเส้นทางของแพร่งที่ 2 คือจริงจังกับการปฏิรูป แต่จะให้ทำอย่างไร ที่มันจะเกิดขึ้นแบบจริงจังเสียที เพราะในประวัติศาสตร์เรานั้น เราดีแต่พูด เราไม่เคยจริงจังกับมัน ยิ่งบ้านเมืองสงบแล้วยิ่งลืมเลย ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าประเทศเรานั้นสบาย มีหลายอย่างที่ยังคงดีอยู่
แต่สิ่งที่อยู่ในใจก็คือว่า ถ้าให้มันเกิดขึ้นจริงนั้น บางคนมีหน้าที่ของมันเอง ฟ้าดินเป็นตัวแจ้งว่าจะต้องมีบทบาท บุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ใครก็คือภาคเอกชน ในหลายปีผ่านมา ถามท่านอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย ผมทั้งผลักทั้งดัน ขอให้เป็นหลักในการปฏิรูปประเทศ เพราะประสบการณ์ที่ดีในการเมือง ในหลายกระทรวง ผมเห็นว่าทุกสถาบันนั้นเริ่มผุกร่อน ภาคเอกชนเป็นภาคที่พร้อมที่สุด สำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นจริงได้
ถามว่าทำอย่างไร ในระดับประเทศ ท่านสามารถร่วมกันคิด ผลักดัน กำกับ เสนอ ขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศนั้นสามารถปฏิรูปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลไหนที่ตามเข้ามา พยายามส่งเสียง เรียกร้อง ผลักดันให้เขาปฏิรูปประเทศ ในทิศทางที่สร้างความยั่งยืน อย่าให้หยุดนิ่ง
ถ้าเดินตามเส้นทางนี้ เรารู้ว่าการศึกษาเรามีปัญหา เรารู้ว่ามีปัญหาคอร์รัปชัน เรารู้ว่ามีปัญหาช่องว่างของความไม่เท่าเทียม ท่านที่พร้อมที่สุดก็สามารถทำเช่นนั้นได้
ในระดับจุลภาคก็คือตัวท่านเอง สิ่งที่สำคัญคือสำรวจตัวท่านเอง ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปตัวเอง ไม่ว่าในส่วนของความคิดอ่าน ไม่ว่าเชิงของแนวทางการบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเชิงของการสร้างวัฒนธรรมขององค์กร ทำอย่างไรที่ให้ประเทศ องค์กรของท่านนั้นเป็นองค์กรที่แข็งแรงได้
เมื่อพูดถึงการปฏิรูปตนเอง ในช่วงเวลานี้ทุกคนคงคิดถึง AEC เพราะคิดว่าเรื่องนี้พูดมาเยอะแล้ว แต่มูลเหตุที่สำคัญอย่างยิ่ง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของจิตสำนึกและจิตวิญญาณ ผมเอามาจากคำว่า Corporate Governance ถ้าอธิบายคนทั่วไปฟังไม่รู้เรื่อง แต่คำอธิบายก็คือจิตสำนึกและจิตวิญญาณที่ดีที่รับผิดชอบ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก รู้ว่าอะไรคือความพอดี อะไรคือความยั่งยืน จริงๆ แล้ว Corporate Governance นั้นเราทำได้มาก แต่ priority ที่ออกมาในภูมิภาคอาเซียนนั้นเราทำได้ดีทีเดียว ก็ขอฝาก 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 จะทำอย่างไรสำนึกที่ดี Corporate Governance นั้นมีความแพร่หลาย กระจายในบริษัทส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัท ที่ผ่านมานั้นเราเน้นที่กฎเกณฑ์ ระเบียบ ผลักดันให้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ทำไมบริษัทเล็กๆ บริษัทขนาดกลาง ทำไมบางครั้ง กลับหลีกเลี่ยง เบื่อหน่าย ไม่ทำตาม เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและไกลตัว ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการสื่อสารให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า super objective หรือเป้าหมายระดับสูง ที่คนเราควรคำนึกถึงนั้นคืออะไร ความเข้าใจจากสาธารณะชน ความยั่งยืนของประเทศ ในที่สุดแล้วก็ส่งผลกลับมาที่ตัวเขาเป็นอย่างไร เขาจะได้อะไร ผู้ถือหุ้นจะได้อะไร ผู้บริหารจะได้อะไร แรงงานจะได้อะไร และสังคมจะได้อะไร ต้องชี้แจงเพราะว่าคนเรานั้นความเข้าใจมันไม่เท่ากัน
ในอีกประเด็นหนึ่ง Corporate Governance นั้นมีทั้งในและนอกองค์กร เราดีมากที่ผ่านมาในเรื่องของภายในองค์กร แต่ถ้าเปิดประตูนอกองค์กรเราแล้ว มีแต่คอร์รัปชัน บ้างก็มีแต่การใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย มีแต่การทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจใดๆ ทั้งสิ้น ธรรมาภิบาลภายในบริษัทนั้นทำอะไรไม่ได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ NIKE บริษัทผลิตโรงเท้า เคยถูกกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ชื่อเสียงที่สร้างขึ้นมาถูกกระทบ แต่แล้วที่สุดเขาก็มีการตรวจตรา เอาจริงเอาจัง black list บริษัททั้งหลายที่เขาให้ใบอนุญาตในการผลิตสินค้าของเขา เพื่อเป็นการแก้ตัวจนกระทั่งความเชื่อมันกลับมาอีกครั้ง
เมื่อไม่กี่วันมานี้เราถูกลดอันดับโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเรามีการยุ่งเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาส สิ่งเหล่านี้เป็นต้น การที่เราถูกลดอันดับลงมานั้น มันเริ่มตั้งแต่ปี 2011 ขณะนั้นเรารอดพ้นจากการลดอันดับเพราะเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำทุกอย่างอย่างจริงจัง แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยมัวแต่ตีกันอยู่ และมันก็อัตโนมัติ ก็ถูกลดอันดับ มันก็จะเห็นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป แต่นี่ก็ไม่ใช่จะหมายความว่าทุกสิ่งจะเลวร้ายไปอย่างนั้น
ถ้าเราสามารถใช้เวลากับช่วงนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทำให้ดีที่สุด ฉะนั้น Corporate Governance มันใช่แค่ภายในของเรา แต่ถ้าถามว่าถ้าคุณต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาส การใช้แรงงานเด็กเป็นหน้าที่ของใคร เป็นหน้าที่รัฐบาลหรือ ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเป็นของเอกชนทั้งสิ้น เอกชนไม่ส่งเสริมคอร์รัปชัน คอร์รัปชันไม่เกิด ไม่จ่ายเงิน คอร์รัปชันไม่เกิด เอกชนไม่ซื้อสินค้าจากแรงงานทาส แรงงานทาสก็อยู่ไม่ได้ในประเทศไทย พวกเรามองภายในของเรา เราไม่มองออกไปต่างประเทศ ไม่มองสังคม ไม่มองตัวโลก และท้ายที่สุดข้อกระทบพวกท่านในเรื่องการค้าการขาย
ฉะนั้น จากวันนี้เป็นต้นไป การได้ Corporate Governance สามารถออกไปสู่การรับผิดชอบต่อสังคม ต่อประเทศ ต่อการดูแลบ้านเมือง ต่อการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมือง หน้าที่นักธุรกิจนั้นไม่ใช่แค่ธุรกิจ เศรษฐกิจ ที่ผ่านมานั้นการเมืองเลว สกปรก ประเทศเป็นอย่างนี้ ถ้าท่านไม่เน้นปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจนั้นก็จะเป็นเรื่องรอง
ผมอยากให้กำลังใจ ทาง IOD ผมเชื่อว่าภายในวิกฤติมันมีโอกาส โอกาสดีที่ท่านจะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย ทำให้ประเทศนั้นน่าอยู่ สมบูรณ์ และยั่งยืน หากพ้นจากนี้ไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าชั่วชีวิตผมหรือชั่วชีวิตท่าน จะมีโอกาสนี้เป็นครั้งที่สอง