เมื่อวันที่ 31 เมษายน 2557 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง หารือแผนงานลงทุนและการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยต้องสอดคล้องกับโรดแมปที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้า คสช. ได้เสนอเอาไว้
ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องทำประเด็นแรกคือเรื่องของการแต่งตั้งกรรมการบริหารให้ครบสมบูรณ์ ประเด็นที่สองก็คือ จัดการกับแผนงานที่ค้างอยู่ของปี 2557 แล้วทำเป็นแผนงานที่จะบรรจุในปี 2558 สุดท้ายจึงเป็นเรื่องของการร่วมกันจัดทำโรดแมปให้คู่ขนานไปกับโรดแมปของหัวหน้า คสช. โดยทุกหน่วยงานต้องนำเสนอภายในวันที่ 2 มิถุนายนนี้และเสนอต่อหัวหน้า คสช. ในวันถัดไป
พล.อ.อ. ประจินกล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้อยู่ในระเบียบ มีมาตรฐาน มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มาบริหารงานให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการปรับดูแลกิจการที่ดี โดยรับผิดชอบกำกับ 4 กลุ่มงาน คือ พลังงาน, ขนส่ง, สื่อสาร และสาธารณูปการ (ตัวอย่างเช่น การเคหะฯ การประปา เป็นต้น) ขณะที่อีก 5 กลุ่มงานที่เหลือ คือ อุตสาหกรรม, เทคโนโลยี, ทรัพยากรธรรมชาติ, สถาบันการเงินของรัฐ และการเกษตร จะเป็นหน้าที่ของ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.
ทั้งนี้ พล.อ.อ. ประจินยืนยันว่าจะไม่มีการแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายและกติกาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ชัดเจน ทำให้ตนไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยทาง คสช. เองจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำเท่านั้น
“รัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่งมีที่มาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เป็นประธาน หรือว่าการที่จะปรับเปลี่ยนโยกย้ายนั้น ต้องอาศัยตามกฎกติกา ซึ่งเรามีนโยบายว่าจะไม่ทำผิดกฎหมาย แต่เราจะพยายามหาคนดี มีความสามารถทำประโยชน์ให้กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะได้เกิดความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” พล.อ.อ.ประจินกล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
สำหรับผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจในปี 2556 พบว่างบลงทุนของรัฐวิสากิจนั้นสูงถึง 301,574 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2556 มีเพียง 288,104.6 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อดูรายได้รัฐวิสาหกิจมีรายได้รวมที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ของปี 2556 ถึง 3.94 ล้านล้านบาท แต่รายได้ของรัฐประจำปี 2556 มีเพียง 2.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 ก็พบว่าขนาดของรัฐวิสาหกิจนั้นมีการเติบโตและใหญ่กว่ารัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง(ดูกราฟฟิคประกอบ)