ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง

ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง

12 มิถุนายน 2014




เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 “ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาวิชาการในวาระวันคล้ายวันเกิดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ”ร่องรอยความปรองดองใต้เงาความขัดแย้ง” ปาฐกถานี้มีที่มาส่วนใหญ่จากบทความกล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Between Nonviolent Conflicts and Reconciliation: An international workshop addressing deadly conflicts in Asia-Pacific” จัดโดย Toda Institute for Global Peace and Policy Research, สถาบันศาสนาและสันติภาพ, มหาวิทยาลัยพายัพ และ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ, มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา, เชียงใหม่ 19-20 มกราคม 2556 กำลังจะตีพิมพ์เป็นบทนำใน Chaiwat Satha-Anand (guest editor) , Peace & Policy: a journal of the Toda Institute for Global Peace and Policy Research, Vol. 20 (2014-forthcoming)


ปัจจุบัน

วันนี้เป็นวันที่ 12

ถ้านับจากวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หัวหน้าของ คสช. ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกเป็นการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นเสียก่อนในบ้านเมืองที่แตกแยกขัดแย้งกันมานาน จากนั้นก็ดำเนินการปฏิรูปบ้านเมืองในเรื่องต่างๆ ที่สังคมเห็นกันว่าสำคัญ ตรารัฐธรรมนูญชั่วคราวกับตั้งสภานิติบัญญัติและรัฐบาล และ สุดท้ายก็จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายต่างพึงปรารถนา (ข่าวสดออนไลน์, 7 มิถุนายน 2557)

ในระยะนี้มีผู้เขียนถึงแนวทางการปรองดองที่ คสช. กำหนดไว้ให้เห็นมากขึ้น ต้นสัปดาห์นี้คอลัมนิสต์คนสำคัญก็เขียนเตือน คสช. เรื่องการปรองดองหลายประเด็น เช่น อย่าคิดว่าท่าทีของบางกลุ่มบางพวกเป็นจริงตามที่เขาแสดง และอย่าปรองดองกับ “คนโกง” (คอลัมน์ เปลว สีเงิน,“อย่าปรองดองกับคนโกง”9 มิถุนายน 2557) ส่วนคนอื่นบ้างก็ตั้งคำถามว่า ยุทธวิธีทางทหารจะนำพาให้เกิดความปรองดองได้หรือ (Achara 2014) หรือบางคนก็ติงว่า เพียงร้องเพลงแห่งความสามัคคีอาจไม่พอจะคืนความสุขแก่สังคมไทยได้ในเวลานี้ (Atiya 2014)

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เท่าที่ทราบและเคยทำงานเกี่ยวกับการปรองดอง (reconciliation) มาบ้าง ข้าพเจ้าพบบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความพยายามจะปรองดองอย่างน้อย 3 เรื่อง

ปรกติ ความพยายามปรองดองและคณะทำงานเพื่อความปรองดอง เกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงและ/หรือความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมยุติลง (เช่น กรณี Truth and Reconciliation Commission ของแอฟริกาใต้หรือเวียดนาม) การทำงานปรองดองในบริบทที่ความขัดแย้งหนักหนาและความแตกต่างถึงขั้นแตกแยกร้าวรานสังคมอย่างหนัก แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นแต่ก็ทำได้ยากเย็นเป็นที่สุด (Chaiwat 2010)

งานศึกษาเกี่ยวกับการปรองดองระยะหลัง ให้ความสำคัญกับตัวแปรระดับท้องถิ่นที่จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้กับความพยายามปรองดองในสังคม ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อค้นพบที่ว่า แนวทางการปรองดองประเภท “เสื้อมีขนาดเดียว ทุกคนต้องใส่ได้เหมือนกันหมด” มักทำงานปรองดองไม่สำเร็จ เหตุผลสำคัญคือความเป็นจริงที่ว่า มนุษย์เรามีขนาดต่างกัน และทุกผู้คนล้วนมีชีวิตทางสังคมบนพื้นฐานความหลากหลายทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น แนวทางการทำงานปรองดองที่ใช้ได้ผลในภาคใต้ตอนบน อาจไม่มีผลมากนักในภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น การตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายน่าจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานปรองดองก็เพราะที่สุดแล้วคำถามสำคัญคือ กรรมสิทธิ์เหนือกระบวนการปรองดอง (ownership) กล่าวคือ ทางรอดของการปรองดองอยู่ที่การทำให้ผู้มีส่วนได้เสียในความขัดแย้งรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกระบวนการปรองดองเสียแต่ต้น ความเป็นเจ้าของนี้เองมีผลดีต่อความสำเร็จของกระบวนการปรองดอง (ดังในกรณีของโซมาเลีย โปรดพิจารณา Malito 2013)

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้สนใจสร้างความปรองดอง คือ เข้าใจให้ได้ว่า ทั้งการปรองดองและตนเองอยู่ตรงไหนในแผนที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ นอกจากคนที่พยายามสร้างการปรองดองต้องตั้งคำถามว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่พยายามเข้าไปแก้ไขหรือไม่อย่างไรแล้ว ยังต้องเข้าใจด้วยว่า เราอาจบังคับให้คนที่ไม่ถูกกันมาอยู่ในที่เดียวกันได้ กระทั่งกำหนดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบางประเภทได้ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้อำนาจที่เหนือกว่าของตัวบีบให้ประเทศที่ขัดแย้งกันอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาเจรจากัน จนบรรลุข้อตกลง (agreement) ได้ แต่ความพิสดารของการปรองดองประการหนึ่งคือ ข้อตกลงที่ได้ไม่ใช่การปรองดอง เพราะเท่าที่ทราบการปรองดองบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุผลที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะ การปรองดองเป็นกระบวนการ หรือ process ซึ่งคำว่า “process” ในอารยธรรมฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 หมายถึง “การเดินทาง” และทุกการเดินทางมีทั้งเป้าหมาย มีวิธีการเดินทาง มีอุปสรรค และมีระยะเวลา แต่ที่สำคัญคือคำถามว่า เราออกเดินทางด้วยอารมณ์อย่างไร ถ้าเป็นการเดินทางที่รื่นรมย์ก็น่าจะมีกลิ่นอายของความสุข ซึ่งมักไม่ใช่การเดินทางที่จำใจต้องทำเพราะถูกบังคับให้ออกเดินไป

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่สิ่งที่ประสงค์จะพูดในวันนี้

ที่จะพูดในวันนี้คือ วันที่ 12 มิถุนายน เกี่ยวพันกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเกิดวันนี้

ที่จะพูดในวันนี้เกี่ยวพันกับของขวัญวันเกิดที่เธอได้รับเมื่ออายุ 13 ปี

ของขวัญที่เธอได้รับบรรจุปัญหาบางส่วนเกี่ยวกับการปรองดองที่ข้าพเจ้าประสงค์จะใคร่ครวญในวันนี้ เพราะข้าพเจ้าสงสัยตลอดมาว่า เหตุไรการทำงานปรองดองจึงยากเย็นนักในบางสังคม เช่น สังคมไทย เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในพลวัตของความขัดแย้งที่แต่ละสังคมพานพบ ความยากง่ายของงานปรองดองขึ้นต่อเส้นทางที่ความขัดแย้งพาดผ่าน หมายความว่า ถ้าสังคมใดจัดการความขัดแย้งของตนด้วยความรุนแรง จะปรองดองสมานฉันท์กันหลังจากนั้น ย่อมยากเย็นกว่าสังคมที่ไม่ได้ผ่านเส้นทางโลหิตเช่นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า สังคมที่บาดเจ็บเพราะความรุนแรงจะมีกำลังเดินบนเส้นทางปรองดองสมานฉันท์ได้ยากกว่า แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ไม่มีสังคมใดที่จะมีแต่ประสบการณ์ความรุนแรงโดยปราศจากร่องรอยสันติวิธีเอาเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่า การค้นพบร่องรอยสันติวิธีในท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงอาจกลายเป็นขุมพลังสร้างสรรค์ความเข้มแข็งให้กับกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ได้บ้าง

เพื่อผจญภัยกับปัญหาดังกล่าว ปาฐกถานี้จะประกอบด้วยคำถามย่อย 3 คำถาม (ครึ่ง) คือ ผลของความรุนแรงต่อความขัดแย้งเป็นอย่างไร, ถ้าจะมองให้เห็นสันติวิธีในบริบทความขัดแย้งที่ถึงตาย ควรมองที่ไหน และ จะเห็นอะไร ประสบการณ์สันติวิธีที่เห็นเหล่านั้นจะส่งผลต่อกระบวนการปรองดองอย่างไร และสุดท้ายข้าพเจ้าจะเสนอว่า ความลับของคำถามยากเย็นเหล่านี้ซ่อนอยู่ในของขวัญของเด็กหญิงอายุ 13 ขวบคนนั้น

ผลของความรุนแรงต่อความขัดแย้งคืออะไร

นักปรัชญาผู้มีชื่อลือเลื่องอย่างสลาวอย ชิเชก (Slavoj Zizek) อธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นเวลามนุษย์แลดูความรุนแรง เขาเชื่อว่าเมื่อคนมองเห็นความรุนแรงอย่างซึ่งหน้า จะเผชิญกับอะไรบางอย่างที่ “ลี้ลับอัศจรรย์ที่แฝงฝัง” (inherently mystifying) อยู่ในตัวความรุนแรงนั้นเอง ความรุนแรงที่แสนสาหัสจะท่วมท้นใครผู้ใดที่หาญกล้าจ้องมองไปที่ตัวความรุนแรงตรงๆ เพราะความรู้สึกร่วมอย่างสุดจิตสุดใจกับเหยื่อความรุนแรง จะทำหน้าที่กันไม่ให้ผู้จ้องได้คิดอ่านอะไรออก โดยเฉพาะในกรณีความรุนแรงสุดขีด อย่างเช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ชาวโรมา และคนอื่นๆ ด้วยน้ำมือรัฐบาลนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (Zizek 2008, 4) กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ชิเชกให้ความสำคัญกับผลของความรุนแรงที่ทำให้ผู้เผชิญพบนิ่งขึง กลายเป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถจะคิดอะไรไปจนสิ้น (สำหรับผู้สนใจประเด็น “ความรุนแรงสุดขีด” หรือ extreme violence โปรดพิจารณา Semelin 2002: 429-432; 433-442)

ในทางกลับกัน คานธีตอบคำถามเรื่องผลของความรุนแรงด้วยคำกล่าวที่มีชื่อเสียง โต้ตอบแนวคิดรุนแรงโบราณ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ว่า “ตาต่อตาจะทำให้คนทั้งโลกตาบอดกันหมด” ข้าพเจ้าเห็นว่าคำตอบของคานธีนี้มีนัยยะหลายประการ เพราะนอกจากจะเป็นบทคัดค้านหลักการ Talion ที่มีมาแต่สมัยบาบิโลเนียแล้ว ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ความบอดหรือตาบอดในคำกล่าวของคานธีนั้นมีความหมายอย่างไรในพลวัตความขัดแย้ง

เป็นไปได้หลายทางที่จะเข้าใจอุปลักษณ์ว่าด้วย “ตาบอด”ของคานธีในฐานะผลของความรุนแรง ประการแรก ความรุนแรงจะทำให้คนเรามืดบอดต่อความเจ็บปวดของผู้ได้รับทุกข์และเสียงหวนไห้ของผู้ถูกกดขี่ ตรงข้ามกับที่ชิเชกเชื่อ ความรุนแรงจะส่งผลในทางทำให้ผู้มองเห็นหมดความสามารถที่จะรู้สึกรู้สาร่วมกับผู้รับทุกข์ อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการเข้าไปหาทางออกจากความขัดแย้งชนิดที่ถึงตาย ประการที่สอง คล้ายความเห็นของชิเชก ความรุนแรงสุดขีดจะทำให้ผู้เห็นมืดบอดต่อโครงสร้างที่ให้กำเนิดและหนุนเสริมความอยุติธรรมที่นักทฤษฎีสันติภาพอย่างโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) เรียกว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” จนบ่อยครั้งทำให้คนมองไม่เห็นความรุนแรงทั้งจากน้ำมือของผู้ที่สนับสนุนความอยุติธรรมให้ดำรงอยู่ และผู้ที่ประสงค์จะทำลายโครงสร้างแห่งความอยุติธรรมนั้นให้พินาศลง บางคราวเมื่อระเบียบเก่าล่มลงด้วยความรุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 18 หรือ กรณีการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของเขมรแดงเมื่อปลายทศวรรษที่ 1970 ประการที่สาม ผลของความมืดบอดทั้งสองทำให้มนุษย์มืดบอดกับความหวังที่เปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้นด้วยแนวทางสันติ เพราะคนมักถูกจำขังอยู่ในกับดักแห่งความรุนแรง จนมองไม่เห็นการกระทำด้วยสันติวิธีของมนุษย์ซึ่งมักจะเลือนหายไปภายใต้เงาทะมึนของความขัดแย้งที่ถึงตาย

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความรุนแรงเป็นดังไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งใบเกิดร่มเงากว้างขวางจนมักบดบังสิ่งอื่นไปเสียสิ้น ด้วยเหตุนี้หากจะมองหาร่องรอยสันติวิธีในปรากฏการณ์ชนิดนี้ อาจจำเป็นต้องลองมองหาในเงามืดของความรุนแรงนั้นเอง

มีอะไรในเงามืดแห่งความรุนแรง

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลองจินตนาการว่า บางครั้ง ทางออกจากความรุนแรงจะซ่อนอยู่ในเงามืดของความรุนแรงนั้นเอง ที่จริงจินตนาการเช่นนี้สอดคล้องกับการศึกษาความขัดแย้งที่ถึงตายระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ถืออาวุธ เพราะพบกันว่า การพูดคุยเจรจาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเงามืดของความรุนแรง ด้วยเหตุนี้หากใส่ใจแต่เฉพาะภาพของความรุนแรงอย่างการฆ่าฟัน ตลอดจนอาวุธทำลายล้างต่างๆ ที่ปรากฏ ก็มักมองไม่เห็นความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินอยู่ในเงามืด (โปรดพิจารณา งานศึกษาความสำเร็จในเงามืดของสนธิสัญญาจำกัดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ใน Suleman, 2008)

ถ้าพิจารณาปัญหานี้จากมุมมองของคาร์ล ยุง (Carl Jung) อาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมีเงามืดของตน แม้เงานี้จะทำหน้าที่เป็นคลังความมืดมิดของมนุษย์ หรือ ความชั่วร้ายอยู่ด้วย แต่นักวิชาการบางคน เช่น เอริช นอยมันน์ (Erich Neumann) ก็เสนอว่า ตัวตนของมนุษย์ซ่อนอยู่ในเงามืด เงานี้เป็น “ทวารบาล” คือ เป็นยามเฝ้าประตู เป็นผู้พิทักษ์ทางเข้าออก กล่าวได้ว่า หนทางแห่งตัวตนมนุษย์ทอดอยู่ในเงามืดนั้นเอง “เบื้องหลังลักษณะมืดทะมึนนั้น เงามืดเป็นตัวแทนลักษณะแห่งความครบสมบูรณ์ วิธีเป็นมิตรกับตัวตนของเราเอง เป็นไปได้ก็ด้วยต้องเป็นมิตรกับเงามืดเท่านั้น” กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในเงาแห่งความรุนแรงไม่เพียงจะซุกความมืดมิดหดหู่ไร้ทางออกไว้ แต่อาจซ่อนประตูทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้ (Quoted in Zweig and Abrams 1991, 6)

แต่ในเงามืดแห่งความรุนแรงมีประตูทางออกจริงหรือไม่ เพื่อตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าขอชี้ชวนให้มองไปที่เงามืดของความรุนแรงที่ปรากฏทั้งในสังคมไทยและในต่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอดีตเพื่อพิจารณาว่า ในเงาทะมึนแห่งความรุนแรงนั้นยังมีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่

การเดินขบวนที่มัสยิดกลาง ปัตตานี ปี พ.ศ. 2550 วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สตรีสาวชาวมลายูมุสลิมถูกข่มขืนฆ่าที่ยะลา ชาวบ้านเชื่อว่าทหารพรานเป็นคนร้าย จึงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงเหตุร้ายนี้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2550 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนทหารทั้งหมดโดยเฉพาะทหารพรานออกจากพื้นที่ เหตุร้ายนี้เป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านธรรมดาถูกสังหารไปแล้ว 21 ราย และไม่มีการจับกุมดำเนินคดีคนร้ายใดๆ การเดินขบวนครั้งนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นมุสลิมเป็นผู้นำ พวกเขาตั้งข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เช่น ให้ถอนทหารและทหารพรานออกไป, ยกเลิกประกาศห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืนในพื้นที่, ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ใช้บังคับอยู่, ให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่ออาชญากรรม การเดินขบวนที่นักศึกษาเป็นผู้นำดำเนินไปและจบลงด้วยสันติวิธี ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ประท้วงใช้สันติวิธีในการประท้วงแต่อย่างเดียวอย่างชัดเจน ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ใช้ทั้งการเจรจาและวิธีการต่างๆ ที่ไม่เผชิญหน้าเพื่อคลี่คลายปัญหาอย่างนุ่มนวล ประกอบกับรัฐบาลในเวลานั้นก็ให้ความเห็นชอบกับแนวทางสันติวิธี (Janjira 2013) นอกจากนั้นยังอาจเป็นเพราะ ฝ่ายผู้ประท้วงเลือกมัสยิดเป็นพื้นที่ประท้วงซึ่งมีทั้งพลังเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนาและประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิมหนุนส่งให้การต่อสู้เป็นไปอย่างมีพลัง น่าสนใจว่า น้อยคนจะเห็นการทำงานสันติวิธีในท่ามกลางความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ไปแล้วกว่าห้าพันคนในช่วงเกือบหนึ่งทศวรรษนับแต่ที่เหตุรุนแรงปะทุขึ้นครั้งใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2547 แต่เมื่อมองไปที่เงาของความรุนแรง ก็อาจเห็นร่องรอยสันติวิธีเช่นนี้ได้

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์-1

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้นหรือไม่ ภาพในเงาความรุนแรงทางใต้ของไทยเช่นนี้เป็นพยานยืนยันลักษณะเฉพาะพิเศษของสังคมไทยชนิดที่จะหาที่ใดเหมือนมิได้เช่นนั้นหรือ เพื่อตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าจะเสนอตัวอย่างสันติวิธีในเงามืดแห่งความรุนแรงสุดขีด เช่น ที่เกิดขึ้นในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี การแยกอินเดียเป็นสองประเทศ และการสังหารหมู่ในไลบีเรีย กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว เป็นกรณีที่มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย และเกิดขึ้นในภูมิศาสตร์วัฒนธรรมที่ต่างกัน ทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา

สันติวิธีของทหารนาซี SS

ผู้คนไม่น้อยคงเคยได้ยินชื่อของ ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) นักอุตสาหกรรมนาซีผู้ช่วยเหลือชาวยิวกว่าพันคนให้รอดจากความตายในค่ายกักกันเชลยศึก จน สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้กำกับมือทองแห่งฮอลลีวูด นำชีวิตของเขามาสร้างเป็นภาพยนตร์รางวัลออสการ์เรื่อง Schindler’s List เมื่อปี ค.ศ. 1993 อาจกล่าวได้ว่า เรื่องราวของชินด์เลอร์เดินออกจากเงามืดแห่งความรุนแรงด้วยพลังแสงสีฮอลลีวูด แต่น้อยคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของชาวเยอรมันอีกคนหนึ่งที่ชื่อ วิกทัวร์ เพสเทก (Viktor Pestek)

เพสเทกเป็นยามทหาร SS ที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz) ซึ่งโด่งดังในความโหดร้าย แต่เขาไม่ใช่การ์ดนาซีทั่วไป เพราะเขาช่วยให้เหยื่อชาวยิวหลบหนีโดยแต่งเครื่องแบบนายทหารเยอรมันลอบออกจากค่ายนรกไปกับเขา ชาวยิวสงสัยเขาในตอนแรก แต่แล้วเชลยยิวคนหนึ่งตัดสินใจรับข้อเสนอของเขา และหนีรอดค่ายนรกไปได้ เพสเทกหวนมาช่วยเชลยชาวยิวอื่นๆ อีก แต่แล้วเขาก็ถูกจับได้และถูกประหารชีวิต เขาเคยอธิบายว่า ที่เสี่ยงชีวิตช่วยชาวยิวก็เพราะเขาเองเคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ศัตรู” มาก่อน เพราะเคยไปรบที่แนวหน้ารัสเซีย ได้รับบาดเจ็บและถูกทิ้งไว้ลำพังในสนามรบ ครอบครัวชาวรัสเซียมาพบเข้า แทนที่จะเอาชีวิตเพสเทก ชาวรัสเซียกลับช่วยชีวิตเขาไว้ เพสเทกไม่เคยลืมว่าคนเหล่านี้ช่วยชีวิตเขาเมื่อชาวรัสเซียไม่มีเหตุผลแม้แต่นิดเดียวที่จะไว้ชีวิตนายทหารเยอรมันในเครื่องแบบ SS เพราะหน่วยรบของชายคนนี้เพิ่งฆ่าล้างหมู่บ้านของพวกเขามาหยกๆ (Todorov 1997, 202) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในเงามืดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่เพสเทกคนเดียวที่ช่วยชาวยิว เพราะมีรายงานจากเชลยชาวยิวไม่น้อยที่ระบุว่า ยาม SS ช่วยชีวิตพวกเขาในที่ต่างๆ กัน (Staub 1995, 141) มีกระทั่งเรื่องราวของการ์ด SS คนหนึ่งที่พาเด็กสองคนและพ่อของเขาจากค่ายของชินด์เลอร์ไปยังเอาชวิทซ์ และจากนั้นก็พาสตรียิว 300 คน จากเอาชวิทซ์กลับไปยังค่ายของชินด์เลอร์ เขาทำหน้าที่นี้ด้วยเมตตาธรรม เป็นมิตร และช่วยเหลือทุกคน กระทั่งหลั่งน้ำตาให้ความโศกเศร้าของเชลยชาวยิว (Staub 1995, 141)

นักรบชาวซิกข์ผู้ช่วยชีวิตสตรีมุสลิม

ไม่กี่วันหลังอินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1947 ผู้คน 200 คนจากหมู่บ้านซิกข์และฮินดูวางแผนโจมตีค่ายมุสลิมในเมหารบรรณปุระ หัวหน้ากลุ่มชาวซิกข์เป็นซิกข์คลั่งศาสนาชื่อ บาน ซิงห์ ซึ่งต่อมาถูกฆ่าตายในการต่อสู้นั้น บุตรของเขาชื่อ ฮัรบาน ซิงห์ อาชีพเป็นตำรวจในเขตนั้น พบสตรีสาวมุสลิมนาม นาวาบ บีบี ครอบครัวและพี่น้องของสตรีมุสลิมผู้นี้ถูกสังหารไปหมดสิ้น ตำรวจซิกข์หาที่พักให้เธอและเธอก็หลบอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ต้นปี 1949 หลังจากการแยกประเทศ เจ้าหน้าที่ปากีสถานนำตัวนาวาบ บีบี ไปยังปากีสถาน ฮัรบาน ซิงห์ พยายามตามหาสตรีมุสลิมทุกหนแห่งบริเวณชายแดนแต่ก็หาไม่พบ ที่สุดเขาปลอมตัวเป็นมุสลิมใช้ชื่อว่า บัรกัต อาลี และลักลอบข้ามแดนเข้าไปในปากีสถาน เมื่อถึงเมืองละฮอร์ เขาใช้เอกสารแสดงว่าเขาเป็นมุสลิมไร้รัฐที่หนีมาจากอมฤตสารในอินเดีย เขาได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ในละฮอร์ บัรกัต อาลี หรือฮัรบาน ซิงห์ บุตรขุนศึกซิกข์ผู้น่าสะพรึงกลัวผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมือมุสลิม พยายามตามหานาวาบ บีบี สตรีมุสลิมผู้ซึ่งทั้งครอบครัวถูกชาวซิกข์ฆ่าตายสิ้น ที่สุดเขาตามจนพบนาวาบ บีบี ผู้เป็นที่รัก (Nandy 1999, 325-326)

ทหาร “คนดี” สังกัด ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ แห่งไลบีเรีย

วันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 ในเมืองเล็กๆ ชื่อ บาเกดู ประเทศไลบีเรีย รถบรรทุกสองคันมีนักรบสังกัดแนวร่วมรักชาติแห่งชาติไลบีเรียภายใต้บงการของ ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ นั่งอยู่เต็มเข้าหมู่บ้านมา ผู้นำนักรบขบวนนี้เป็นหญิง นางประกาศลั่นให้ชาวบ้านที่กำลังหวาดหวั่นตัวสั่นเข้ามารวมกันในกระท่อมหลังใหญ่ และกล่าวว่า “พวกแกและทรัพย์สมบัติของพวกแกเป็นของพวกเรา เราจะฆ่าแกเพราะพวกแกเป็นเผ่ามันดิงโก เป็นคนแปลกหน้าไม่ใช่พลเมือง (ไลบีเรีย) เราจะฆ่าแกทั้งหมดบนผืนดินนี้” สิ้นคำพูด ทหารก็เปิดฉากยิงใส่ทุกคนในกระท่อม ทั้งลูกเล็กเด็กแดง ฆ่าชาวบ้านไป 36 คนในทันที จากนั้นพวกนักรบโหดก็ออกไปนอกกระท่อมฆ่าคนอีก ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง นักรบ NPFL ฆ่าชาวบ้านไปทั้งสิ้น 350 คน ที่น่าสนใจคือ เมื่อผู้อาวุโสของหมู่บ้านเล่าเรื่องนี้ให้ผู้มาเยือนได้ฟัง ก็พาไปยังจุดหนึ่งริมแม่น้ำใกล้มัสยิดที่ชาวบ้านหนีเข้าไปเมื่อวันนั้น และเล่าต่อว่า “มีทหารคนหนึ่งยืนอยู่ตรงนี้ด้วย แต่เขาเป็นคนดี เขาปล่อยให้ชาวบ้านหนีไปโดยไม่ยิงใครเลย” ชาวบ้านคนอื่นผงกศีรษะเห็นด้วย และก็จดจำทหารนิรนามผู้นี้ เพราะเขาได้เดินเข้าไปในความทรงจำร่วมของชาวบ้านในท่ามกลางห้วงเวลาแห่งการฆ่าฟันอันโหดร้าย (Slim 2008, 9-11, ข้อความที่อ้างปรากฏในหน้า 10 และ 11 ตามลำดับ)

ทั้งสามกรณีแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเพ่งมองไปที่เงาของความขัดแย้งที่ถึงตายให้ดี อาจมองเห็นการใช้สันติวิธีในฐานะการกระทำด้วยเมตตาธรรมของมนุษย์ต่อคน “อื่น” ที่ถูกสร้างถูกสาปให้กลายเป็นปีศาจไม่ใช่มนุษย์ แต่ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อมองกรณีสันติวิธีในเงามืดแห่งความรุนแรงเหล่านี้แล้ว ที่จริงผู้มอง “แลเห็น” อะไร บางคนอาจถือเอาว่ากรณีเหล่านี้เป็นข้อยกเว้น แต่ข้าพเจ้าอยากทดลองอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทหาร “คนดี” ของเทย์เลอร์, ลูกชายนักรบซิกข์ผู้ดุร้าย, และทหารนาซีอีกวิธีหนึ่ง

เอมมานูเอล เลวีนาส (Emmanuel Levinas) เคยเสนอว่า บางทีการกระทำของมนุษย์เป็นผลของการตัดสินใจเชิงคุณค่าอย่างกะทันหัน เช่น ทหาร “คนดี” ของเทย์เลอร์ตัดสินใจช่วยชาวมันดิงโก หรือยาม SS ในค่ายกักกันนาซีตัดสินใจช่วยชาวยิวทั้งที่รู้อยู่ว่าการตัดสินใจเช่นนั้นจะเป็นภัยถึงแก่ชีวิตของตัว จนบางคนเห็นไปว่า การตัดสินใจเช่นนั้นไร้เหตุผล แต่เลวีนาสเห็นว่าที่การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ เป็นผลของ “อารมณ์บริสุทธิ์” (pure emotion) เวลาที่มนุษย์คนหนึ่งเห็นดวงหน้าของอีกคนหนึ่ง ลองจินตนาการดวงตาของทหาร “คนดี” ชาวไลบีเรีย เมื่อเขาเห็นความกลัวและความทุกข์ในดวงหน้าของชาวมันดิงโกวิ่งหนีกระสุนของของหน่วยรบโหดเหี้ยมของเทย์เลอร์ เลวีนาสเห็นว่าการเผชิญกับ “คนอื่น” ในฐานะที่เป็นดวงหน้ามนุษย์นี่เองคือการพบกับสภาวะ “ความเป็นอื่นสมบูรณ์” (absolute alterity) ในตนเอง เพราะเหตุว่า หน้าของมนุษย์อีกคนหนึ่งไม่อาจถูกลดทอนไปเป็นอะไรได้ และดำรงอยู่ด้วยการไม่ยินยอมถูกจองจำใดๆ (Levinas 2002, 194) ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ดวงหน้าของมนุษย์นั้นทั้งเปลือยเปล่าและเปราะบาง ทั้งมีลักษณะทั่วไปเพราะใครๆ ก็มีหน้า คือมีตา จมูก ปาก เหมือนๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกันสักคนในเวลาเดียวกัน การกระทำของคนที่เป็นจากผลของการ “เผชิญหน้า” (encountering the face of another ไม่ใช่ confront) จะต่างการตัดสินใจบนพื้นฐานจริยศาสตร์ประเพณี เพราะจะเอื้ออำนวยให้การก้าวข้ามเส้นแบ่งในเชิงสถาบันหรือทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่คอยสกัดขวางมนุษย์ออกจากกันเป็นไปได้

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์-2

หากพิจารณาจากแง่มุมของความขัดแย้งและการไม่ใช่ความรุนแรง การตัดสินใจของปัจเจกชนทั้งสามเมื่อพวกเขา “เห็นหน้าของมนุษย์อีกคนหนึ่ง” ถือว่าเป็นการไม่เชื่อฟังอำนาจทางการเมืองหรือองค์กรที่อยู่เหนือตน และส่งผลให้ผู้ตัดสินใจเช่นนั้นต้องเผชิญโทษทัณฑ์อันรุนแรงเช่นถูกประหารในกรณีของวิกทัวร์ เพสเทก ทหารนาซีคนนั้น ในการศึกษาเปรียบเทียบ “การปฏิวัติด้วยสันติวิธี” ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว 6 กรณี คือ การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนในจีนกรณีเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989, การปฏิวัติประชาชนในเยอรมันตะวันออกในปี 1989, การต่อต้านรัฐบาลนอริเอก้าในปานามา ปี 1987-1988, การต่อต้านรัฐบาลปิโนเชต์ ในชิลีปี 1988, การขบถต่อรัฐบาลเคนยาของ Daniel Arab’ Moi ในปลายทศวรรษที่ 1970 และ การปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ในปี 1986 ชารอน เนปสแทด (Sharon Nepstad) พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งช่วยให้การปฏิวัติสันติวิธีประสบความสำเร็จเช่นในฟิลิปปินส์ ยุโรปตะวันออก และชิลี คือ การที่ฝ่ายคุมกำลังและความมั่นคงตัดสินใจไม่สนับสนุนขุมอำนาจเดิมในรัฐ และวิธีการต่อต้านที่ปัจเจกบุคคลเลือกใช้คัดค้านความไม่เป็นธรรมมีส่วนสำคัญยิ่งต่อผลและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (Nepstad 2011)

ผลของสันติวิธีต่อกระบวนการปรองดองเป็นอย่างไร

คงต้องกล่าวว่าแทบทุกแห่งในโลก กระบวนการ “ปรองดอง” หรือ “สมานฉันท์” มักอยู่ในสภาพที่ยังไม่ลงตัว (problematic) แม้จะเกิดขึ้นและดำเนินการมานานแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะกล่าวให้ถึงที่สุด การ “ปรองดอง” เป็นกระบวนการทางการเมืองที่แฝงความขัดแย้งหลักไว้ในตัว

กระบวนการปรองดองเป็นกระบวนการทางการเมืองในสามความหมาย คือ

ข้อแรก “ปรองดอง” เป็นกระบวนการทางการเมืองเพราะดำรงอยู่ในบริบททางการเมือง ซึ่งย่อมต้องส่งผลต่อสังคมว่าจะคิดเห็นอย่างไรต่อกระบวนการนี้ทั้งในเชิงความคิด (เช่น เป็นการ “ปรองดอง” หรือเป็นการ “ฟอกตัวผู้กระทำผิด”) และการนำข้อเสนอปรองดองไปปฏิบัติ (เช่น จำนวนเงินชดเชยผู้เสียหายเพราะการกระทำของรัฐ)

ข้อสอง กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการของรัฐ (governance) เพราะกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่รัฐในการสถาปนาระเบียบทางสังคมและการลดต้นทุนของความขัดแย้งโดยเฉพาะประเภทที่ส่งผลทำร้ายรัฐและสังคมไม่ให้เกินจะรับได้

และข้อสาม กระบวนการนี้ต้องอาศัยการระดมการเมืองมวลชนอย่างกว้างขวางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในการแปลงเปลี่ยนทางสังคม (social transformation) ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เมื่อแปรความคิด “ปรองดอง” เป็นการปฏิบัติในสังคมการเมือง กระบวนการปรองดองนั้นเองจึงมีความขัดแย้งอยู่ในตัว เป็นการขัดกันระหว่างการธำรงสถานะเดิมทางการเมือง (status quo) และการพัฒนาขบวนการทางสังคมเพื่อการปรองดองขนาดใหญ่ที่มีนัยยะต่อการแปลงเปลี่ยนสังคมสูง (Woolford 2009)

กระบวนการปรองดองซับซ้อนและยุ่งยากเพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในสังคมการเมืองอย่าง “ความจริง” ความทรงจำ ความเป็นเหยื่อ และการคืนคนที่ขัดและฆ่ากันกลับเข้าสู่สังคมการเมือง ในหมู่คนที่สนับสนุนกระบวนการปรองดองก็ถกเถียงกันว่า จะให้ความสำคัญกับ “ความจริง” ยิ่งกว่าจะคืนความสงบให้กับสังคม หรือในกระบวนการค้นหา “ความจริง” เกี่ยวกับความรุนแรง ทำอย่างไรจะไม่ให้สังคมแข็งกระด้างดิ้นไม่ออกจากกับดักความขัดแย้งที่การค้นพบ “ความจริง” บางอย่างอาจสร้างขึ้น บางคนจึงเห็นว่าควรคิดถึงสังคมที่ผ่านความขัดแย้งที่ถึงตายมาแล้วโดยเน้นย้ำความสำคัญของความจำเป็นที่จะต้องลืม (Volk 2006) ในกรณีของแอฟริกาใต้ที่พยายามจะเข้าให้ถึงดุลยภาพระหว่าง “การเคารพประวัติศาสตร์” กับ “การเตรียมพลเมืองให้รับมือกับอนาคต” ปรากฏว่า เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษของโลกที่เพิ่งจากไปก็เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญให้ชาวแอฟริกาใต้ตระหนักใน “ความจำเป็นที่จะต้องลืมอดีต” (imperative to forget) (Brewer and Hayes 2011)

แต่เมื่อพิจารณาความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในกรณีของฟิลิปปินส์, ชิลี หรือในยุโรปตะวันออก ล้วนเป็นการต่อสู้กับระบอบแห่งความรุนแรง ข้าพเจ้าเห็นว่าปัจจัยความสำเร็จที่เนปสแทดกล่าวถึงข้างต้น ดำรงอยู่ในเงามืดของความรุนแรง และข้าพเจ้ายังเห็นด้วยว่า แม้ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพล้มเหลวอย่างในจีน เคนยา หรือปานามา ก็อาจต้องใคร่ครวญว่า สันติวิธีที่เคยเกิดขึ้นส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการปรองดองให้คนในสังคมการเมืองที่เคยขัดกันรุนแรงอยู่ด้วยกันได้ต่อไปในอนาคต ที่สำคัญคือ อาจเสนอข้อถกเถียงได้ว่า การเมืองที่มีเสถียรภาพและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงในฟิลิปปินส์ ชิลี หรือยุโรปตะวันออก เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการต่อต้านที่ผู้คัดค้านเลือกใช้เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งที่ถึงตาย หมายความว่า ถ้าผู้คัดค้านเลือกใช้วิธีอันรุนแรง โอกาสที่สังคมการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงจะเคารพสิทธิเสรีของคนและมีเสถียรภาพมีความเป็นไปได้น้อยกว่าการเลือกใช้สันติวิธี และเมื่อระบอบที่เกิดตามมามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ ก็จะกลายเป็นบริบทที่น่าจะเอื้อต่อกระบวนการปรองดองซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา เพื่อรักษาบาดแผลทางการเมืองที่ร้าวรานจากความขัดแย้งอันรุนแรง

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์-4

ของขวัญของเด็กหญิงกับของขวัญในเงามืด

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1942 พ่อนำของขวัญเป็นสมุดไดอารี่เล่มเล็กๆ มาให้ลูกสาวอายุ 13 เด็กสาวผู้นี้ชื่อ แอนน์ แฟรงก์ (Anne Frank) ไดอารี่ของเธอเล่มนี้กลายเป็นสมุดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของชาวยิวใต้ระบอบนาซีที่รู้จักกันไปทั่วโลกในเวลาต่อมา หลังจากที่ได้รับของขวัญนี้ไม่กี่วัน ครอบครัวของเธอก็ต้องหนีไปซ่อนตัวในกำแพงในตึกเมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ถูกระบอบนาซีบีบรัดหนักขึ้น จนที่สุดหลังจากซ่อนตัวในผนังกับคน 8 คน เป็นเวลาสองปี เธอและครอบครัวก็ถูกทหารนาซีจับได้ ตัวเธอถูกพาไปยังค่ายกักกันชาวยิวและเสียชีวิตที่นั่น แต่บิดาของเธอรอดมาได้และเป็นผู้เผยแพร่บันทึกของเธอในเวลาต่อมา (Frank 1993)

ข้าพเจ้าสนใจประโยคแรกตรงปกในของไดอารี่เล่มนี้ของเธอ เธอเริ่มเขียนบันทึกในวันแรกที่ได้รับของขวัญว่า “ฉันหวังว่าจะเล่าทุกเรื่องให้เธอฟังได้ เพราะฉันไม่เคยไว้ใจเล่าอะไรให้ใครฟังมาก่อน และฉันหวังว่าเธอจะเป็นผู้ให้ความสบายใจและเกื้อกูลฉัน” ข้อความนี้เต็มไปด้วยความหวัง แต่ในตอนท้ายของบันทึกนี้ในปี 1944 เธอเขียนว่า “ในห้วงเวลายากลำบากเช่นนี้ อุดมคติ ความฝัน และความหวังที่แสนหวงแหนงอกงามเติบโตภายในตัวเรา เพียงเพื่อจะถูกบดทำลายด้วยความเป็นจริงอันน่าสะพรึงกลัว” (Frank 1993: 263)

บันทึกของแอนน์ แฟรงก์ แสดงให้เห็นสิ่งเลวร้ายที่สงคราม ความเกลียดชัง และความรุนแรงกระทำต่อมนุษย์ได้อย่างน่าหวาดหวั่น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นการคร่าชีวิตของคน แต่เป็นการกัดกร่อนวิญญาณให้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวหมดสิ้นความหวังยอมจำนนกับความเป็นจริงที่โหดร้าย

เรื่องราวในปาฐกถานี้ชวนให้ท่านทั้งหลายตั้งคำถามว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความรุนแรง การพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่คือการยอมจำนนทำลายความหวังของตนเอง ปาฐกถานี้เล่าเรื่องทั้งจากทางใต้ของประเทศ ทั้งจากแผ่นดินอันห่างไกลทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และกาลเวลา เพื่อจะอาศัยเรื่องเล่าเหล่านี้ชี้ชวนให้มองความรุนแรงเสียใหม่ ถ้าแสงของความรุนแรงจัดจ้าจนสร้างความมืดบอด ก็คงต้องมองไปที่เงา โดยลองคิดดูว่าในเงามืดไม่ได้ซุกความน่าเกลียดกลัว แต่อาจซ่อนทางออกจากความทุกข์ทนที่สังคมการเมืองต้องเผชิญก็เป็นได้

เมื่อโปแลนด์เปลี่ยนแปลงจากการตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มาเป็นประชาธิปไตย หลายคนอธิบายความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งสำคัญนี้ว่าเป็นเพราะความเสื่อมของระบอบคอมมิวนิสต์เอง การรวมตัวของคนงานที่อู่ต่อเรือเมือง ดังสก์ (Gdansk) ประสิทธิภาพของขบวนการโซลิดารินอส (Solidarinos) หรือความสามารถของผู้นำขบวนอย่าง เลค วาเลซา (Lech Walesa) (Smolar 2009) แต่นักวิชาการบางคนอธิบายว่า จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโปแลนด์ได้ดีกว่า ด้วยการมองไปที่สิ่งเล็กสิ่งน้อยซึ่งมักถูกผลักไสไปอยู่ในเงามืดใต้ระบอบเผด็จการ เช่น ความสำคัญของขบวนการละครนักศึกษาโปแลนด์ซึ่งจัดตั้งกันมาแต่ทศวรรษที่ 1970 และการทำงานกับสาธารณะที่มีผลเตรียมพื้นที่ทางการเมืองก่อนกำเนิดขบวนการโซลิดารินอส กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็สิ่งเล็กสิ่งน้อยที่ผู้คนสามัญธรรมดาทำกันนี้เองที่มีชีวิต ผ่อนลมหายใจอยู่ใน “เงามืดของสิ่งใหญ่” และมีผลต่อพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา (Goldfarb 2007, 1 คำในอัญประกาศเป็นภาษาของโกลด์ฟาร์บเองที่เขาใช้ในบทนำว่า “in the shadow of big things” )

เรื่องราวที่นำมาเล่าในปาฐกถานี้เป็นเรื่องของผู้คนที่แทบไม่มีใครเคยได้ยิน บ้างก็ไม่รู้แม้แต่ชื่อ แต่พวกเขาดำรงอยู่ในบางมุมของปัจจุบัน และบางหน้าของอดีต เรื่องราวของพวกเขาอยู่ในเงามืดแห่งความรุนแรง บางทีการท้าทายของยุคสมัยคือการมองให้เห็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ดำเนินไปในเงามืด เพราะบางทีด้วยสิ่งเล็กสิ่งน้อยซึ่งเป็นไปได้เหล่านี้เอง ที่อาจสำคัญต่อกระบวนการปรองดองเพื่อความเข้มแข็งของสังคมการเมืองในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
Achara Ashayagachat. 2014. “ Army resorts to populism as it wields its iron fist,” Bangkok Post, June 10)
Atiya Achakulwisut. 2014. “Singing songs of unity will not suffice,’ Bangkok Post, June 10)
Brewer, Johan  & Hayes, Bernadette C. 2011. “Post-conflict societies and the social sciences: a review” Contemporary Social Science: Journal of the Academy of Social Sciences Vol.6 Issue 1: 5-18
Chaiwat Satha-Anand. 2001. “Crossing the Enemy’s Line: Helping the Others in Violent Situations through Nonviolent Action,” Peace Research. (Canada) Vol.33, no.2. (November) .
Chaiwat Satha-Anand. 2008. Violence and “truth” management: Half a century of Pattani. Bangkok: Thammasat University Press. (in Thai)
Chaiwat Satha-Anand. 2010. “Difficult Reconciliation: Southern Thailand and the Influence of Galtung’s Peace Research”, in Jorgen Johansen and John Y. Jones (eds.) Experiments with Peace: Celebrating Peace on Johan Galtung’s 80th Birthday, pp. 305-314. Oxford: Pambazuka Press.
Frank, Anne. 1993. The Diary of a Young Girl. New York: Bantam Books.
Goldfarb, Jeffrey C. 2007. The politics of small things: the power of the powerless in dark times. Chicago: The University of Chicago Press.
Janjira Sombatpoonsiri. 2013. “‘If You Use Nonviolence, I will Respond with Nonviolence: A Nonviolent Conflict in the case of the 2007 Pattani Protest, Southern Thailand”, in Rhea DuMont, Tom Hastings, and Emiko Noma (eds.) Conflict Transformation: New Voices, New Directions. NC: McFarland.
Levinas, Emmanuel. 2002. Totality and Infinity: An Essay on Exteriority. Alphonso Lingis (Trans.) Pittsburgh, Pennsylvania: Duquesne University Press.
Malito, Debora Valentina.2013. “Evidence from an Alternative Path to Reconciliation: The Case of Somaliland,” (June 30) XXVII Annual Conference of the Italian Society of Political Science (SISP) , University of Florence, 12-14 September, 2013.
Nandy, Ashis. 1999. “The invisible holocaust and the journey as an exodus: the poisoned village and the stranger city,” Postcolonial Studies. Vol.2 No.3, pp.325-326.
Nepstad, S.E. 2011. Nonviolent revolutions: Civil resistance in the late 20th century. Oxford: Oxford University Press.
Semelin, Jacques . 2002. “ Introduction: Extreme violence: can we understand it” and “From Massacre to the genocidal process,” International Social Science Journal 174 (December) : 429-431; 433-442.
Slim, Hugo. 2008. Killing Civilians: Method, Madness, and Morality in War. New York: Columbia University Press.
Smolar, Aleksander. 2009. “Towards ‘Self-limiting Revolution’: Poland 1970-1989,” in Adam Roberts and Timothy Garton Ash (eds.) Civil Resistance & Power Politics: The Experiences of Non-violent Action from Gandhi to the Present. Oxford: Oxford University Press: 127-143.
Staub, Ervin. 1995. The Roots of Evil: The Origins of Genocide and Other Group Violence. Cambridge, Mass.: Cambridge University Press.
Suleman, Arsalan M.2008. “Bargaining in the Shadow of Violence: the NPT, IAEA and Nuclear Non-Proliferation Negotiations,” Berkeley Journal of International Law. Vol.26 No.1. Available at SSRN: http://ssrn.com/abstract=1235742
Todorov, Tzvetan. 1997. Facing the Extreme: Moral Life in the Concentration Camps. Trans. By Arthur Denner and Abigail Pollak. New York: An Owl Book.
Volf, Miroslav. 2006 . The End of Memory: Remembering Rightly in a Violent World, Grand Rapids, MI : Eerdmans
Woolford, Andrew. 2009. The Political of Restorative Justice: A Critical Introduction. Winnipeg, MB: Fernwood Publishing.
Zizek, Slavoj. 2008. Violence: Six Sideways Reflections. London: Profile Books. 2008) .
Zweig, Connie and Abrams, Jeremiah. (eds.) Meeting the Shadow: The Hidden Power of the Dark Side of Human Nature (New York: Putnam, 1991)