ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป “หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป” เปิดพื้นที่ “จุดร่วม” บนความเห็นที่แตกต่าง

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป “หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป” เปิดพื้นที่ “จุดร่วม” บนความเห็นที่แตกต่าง

31 มกราคม 2014


แถลงข่าว"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" หรือ"Reform Now Network"
แถลงข่าว”เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” หรือ”Reform Now Network”

งานแถลงข่าวเปิดตัวและรวมพลัง “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” ที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2557 มีผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วน และมีสื่อมวลชนเข้ามาร่วมงานอย่างคับคั่ง

“เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” หรือ “Reform Now Network” เป็นการรวมพลังทำงานร่วมกันของบุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ ด้านธุรกิจ ด้านชุมชน ด้านการปฏิรูป ด้านการพัฒนาสังคม ฯลฯ จำนวนกว่า 60 องค์กร เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตยให้เกิดผลก้าวหน้าและมีผลสำเร็จอย่างจริงจัง โดยการปฏิรูปต้องเริ่มทันที มีกรอบแนวทางและประเด็นที่ชัดเจน ยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกคนต้องเป็นเจ้าของการปฏิรูป “หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป”

การแถลงข่าวของ “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” ได้ชูประเด็นที่เป็นหัวใจหลัก 3 ข้อ คือ “หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา และเดินหน้าปฏิรูป” ซึ่งในงานดังกล่าวได้เปิดเวทีเพื่อฟังเสียงประชาชน เพราะมีความเชื่อว่าความเห็นที่แตกต่าง ต่างมี “จุดร่วม” ที่เหมือนกันอยู่ นั่นคือ ความก้าวหน้าของประเทศ เพียงแต่ที่ผ่านมาความเห็นต่างถูกสร้างให้กลายเป็นเชื่อว่าเป็นคนละข้าง คนละฝ่าย จึงไม่มีพื้นที่ที่จะมาหารือว่าจะผลักดัน “จุดร่วม” ที่ตรงกันนี้ให้เดินหน้าได้อย่างไร วันนี้การเปิดตัวเครือข่ายหยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้ “ทุกคน” มีพื้นที่เจรจากัน

เครือข่ายหยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป เปิดเวทีตัวอย่างตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีความคับข้องใจ ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนมาเล่าสิ่งที่เขาได้ประสบมา

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก “ความรุนแรง” โดยเป็นพ่อของน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 กล่าวว่า “ผมเชื่อในทฤษฎีเครื่องกรองน้ำของอาจารย์พรชัย เทพปัญญา ว่าถ้าหากเครื่องกรองน้ำมันชำรุด แต่เราจำเป็นจะต้องใช้เครื่องกรองน้ำอยู่ เราก็ไม่สามารถทุบมันทิ้งได้ เราต้องแกะมันมาดูมาซ่อมแซม เพิ่มเติมส่วนที่จะทำให้ใช้การดีได้ ซึ่งก็คือการปฏิรูป ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราต้องมานั่งคุยกันวันนี้”

ในฐานะพ่อที่สูญเสียลูกชายไปด้วยน้ำมือทหาร ได้เรียกร้องให้นำกรณีความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นต่างๆ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2549 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่สามารถละเว้นได้ เพราะเป็นที่มาของ พ.ร.บ.เหมาเข่ง และเสนอให้ปฏิรูปกองทัพ โดยมองไม่เห็นความจำเป็นว่ากองทัพจะต้องมีขนาดใหญ่มากมายเท่าที่เป็นอยู่ เพราะประเทศกำลังจะเข้าสู่ AEC แล้ว กองทัพควรมีขนาดเล็กลง และถ้าหากทุกคนเดินเข้าสู่การเลือกตั้งและปฏิรูปประเทศ ก็น่าจะยุติความรุนแรงได้

ต่อจากนั้น นายรัชพล ไกรจิรโชติ เจ้าของห้างเซ็นเตอร์วัน ที่ได้รับผลกระทบเป็นการสูญเสียทรัพย์สินจากเหตุการณ์ปี 2553 กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบ ให้ทำหน้าที่ให้สมกับศักดิ์ศรี ให้สมกับเกียรติยศที่แบกไว้บนไหล่ ให้สมกับตราบนหมวก ขอให้ทำหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่อยู่ในสังคมไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม เพราะไม่มีใครเชื่อว่า ไม่มีการสูญเสียแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลง และอยากให้คำว่า “วีรชน” ไม่ต้องใช้กับผู้ที่เสียชีวิตเท่านั้น อยากใช้คำว่า “วีรชน” กับผู้ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่เกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์เหล่านี้

ส่วนนางสาวพจนา จตุรพรพิทักษ์ ประชาชนผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน “เจรจา” ซึ่งเป็นคนทำวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นที่ต่างกันของคนในสังคม” ได้เล่าประสบการณ์ว่า จากการพูดคุยกับมวลชนทุกฝ่ายทุกสี ชาวบ้านถึงนักวิชาการ ทุกคนต่างก็มีธงของตัวเอง แต่พอเปิดใจลดธงลง เอาใจเขามาใส่ใจเรา ปรากฏว่าความต้องการของมวลชนจะใกล้กันมาก อย่างการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ กระทั่งการสร้างความเป็นธรรมในสังคม แม้จะแสดงออกต่างกันแต่ก็ต้องการการปฏิรูปเหมือนกัน ทำให้พบว่าการเจรจามันเกิดขึ้นได้จริงๆ

“การเจรจานี่ไม่ใช่การถอย แต่เป็นการเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการมาต่างหาก โดยที่ไม่ต้องสูญเสีย ความรุนแรงหรือว่าการเพิกเฉยไม่ใช่คำตอบ การเจรจาต่างหากที่เป็นคำตอบ ฉะนั้น หากไม่ได้ต้องการความรุนแรง และอยากปฏิรูปจริงๆ ทุกฝ่ายต้องเริ่มเจรจากัน”

นางสาวชนัญชิดา ฉากกลาง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการให้สัมปทานเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ได้เดินหน้าปฏิรูปมาแล้วและกำลังทำอยู่ เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ต้องโดนสารพิษหลายชนิด เลยต้องก้าวออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ แต่กลับถูกบริษัทข่มขู่คุกคามถูกฟ้องคดีอาญาว่าทำให้บริษัทเขาเสื่อมเสีย ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำมา 13 ปี

“เชื่อว่าทุกคนมีปัญหา อาทิ ปัญหาที่ดิน ปัญหาชาติพันธุ์ ทุกคนจึงออกมาหาคนที่ช่วยแก้ปัญหา จึงเดินออกมายังด้านนอก นี่จึงเป็นโอกาสที่พวกเราจะร่วมกันเพื่อที่จะปฏิรูป โดยเฉพาะเรื่อง “กระจายอำนาจ” และการจัดสรรทรัพยากรให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ เพราะนั่นคือบ้านของเขา เขาจะรู้ว่าพื้นที่ของเขาจะจัดการยังไง”

อีกข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปคือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประชาชนเข้าถึงยาก มีข้อจำกัดในการใช้ ล่าช้า ฉะนั้น นี่ไม่ใช่แค่เดินร่วมกันแล้วปฏิรูป เราต้องการให้ความทุกข์ของเราหายไป เมื่อเราทุกข์แล้วบอกความทุกข์ได้

“นี่คือความหวังครั้งยิ่งใหญ่ของหนู ครั้งนี้เป็นโอกาส เป็นความหวังในการเดินหน้าปฏิรูป”

Reform Now Network graphic

ความต่างที่มี “จุดร่วม”

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าและออกจากความขัดแย้งได้ การปฏิรูปประเทศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดและเป็นจุดร่วมของทุกฝ่าย จุดร่วมที่ให้ทุกคนมีกรอบในการพิจารณาร่วมกัน การพูดคุยกับคนที่นั่งบนเวทีนี้ ซึ่งทำเรื่องนี้มาโดยตลอดชีวิต เมื่อ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ) หมดหน้าที่ลง ก็มีกลุ่ม Listening Forum ที่ฟังความเห็นของทุกฝ่าย ภาคธุรกิจ ภาควิชาการฯ ก็มีการพูดคุยกันมากขึ้น

เมื่อปัญหาวิกฤติมากขึ้นก็รวมตัวกันมากขึ้น เพื่อหาทางออก ลดความขัดแย้ง หาจุดร่วมกัน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือว่าต้องการปฏิรูป ขณะนี้ความขัดแย้งนำไปสู่ขั้นการสร้างความเกลียดชัง มองพวกเขา พวกเรา อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และกระแสนี้ไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นการมารวมตัวเพื่อมาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่ให้จมไปกับกระแสความขัดแย้ง และเริ่มปฏิรูปทันที โดยเป็นวาระของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวทีนี้จะค่อยเงียบหายไปเหมือนเวทีอื่นๆ หรือไม่ ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า เวทีนี้คงไม่เงียบหาย เรามองว่ารอไม่ได้แล้ว เราทุกคนอยู่ได้ด้วยความหวัง ความเชื่อ มีความหวังว่าเรามีทางออก ประเทศไทยไม่มีขัดแย้งมากมาย ทั้งเชื้อชาติ ภาษา แต่สิ่งที่เกิดการแบ่งขั้ว แบ่งข้าง พยายามสร้างชุดความคิดที่เป็นพวกเขา พวกเรา นำไปสู่ความขัดแย้งเกินจริง และนำไปสู่ขั้นทำร้ายกัน หากเรามีสติที่จะหยุด เรามาสร้างความหวังร่วมกัน เพราะมีปัญหาพื้นฐานเหมือนกัน ที่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ต้องการคอร์รัปชัน เราไม่ควรปิดกั้นการพูดคุยเพราะความขัดแย้งเฉพาะหน้า จึงเรียกร้องหยุดความรุนแรง เจรจาและเดินหน้าปฏิรูป

“เราได้คุยร่วมกัน สิ่งที่เราเห็นร่วมกันคือ ให้ความหวังว่าการปฏิรูปยังอยู่ มีรูปธรรม และเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราไม่ได้มา “รับเหมาปฏิรูป” แต่เราจะทำเวทีนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย แล้วสังเคราะห์ออกมา การรวมพลังของคนที่ตื่นรู้ สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ที่ที่ดีขึ้น เราทำให้ความขัดแย้งที่มีมา 10 ปี ทำให้พลังเชิงลบให้เป็นพลังสร้างสรรค์”

“แม้ว่าการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะไม่มีใครไว้วางใจกัน ใครคิดอย่างไรกับเรา เราเป็นเวทีที่พยายามหาทางออก เปิดรับทุกฝ่ายที่จะมาหารือกัน แม้จะเห็นต่าง แต่การเห็นต่างไม่ควรนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ใช่มองอีกฝ่ายเป็นศัตรู เราเชื่อในการเจรจา เชื่อในการพูดคุย หากเราพิสูจน์ให้เห็นความตั้งใจ จริงจัง เครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนให้การสนับสนุน หากทุกฝ่ายปรารถนาดีต่อประเทศ เชื่อว่าเวที จะช้าจะเร็วน่าจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองของเรา”

โดยเน้นว่า “พื้นฐานของคู่ขัดแย้งเขามีความปรารถนาที่จะให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เปลี่ยนพลังขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์ เราคงไม่ขอเจรจากับใคร เราจะเดินหน้าปฏิรูปทันที เราหวังว่าแม้เราจะไม่ใช่เวทีกลาง เวทีพยายามหาทางออก ไม่เลือกข้าง เราเลือกข้างประเทศไทย ข้างของการปฏิรูป หากเราทำให้เกิดความชัดเจนเช่นนั้น ในที่สุด คู่ขัดแย้ง ฝ่ายต่างๆ ที่เชื่อในความขัดแย้งมาใช้เวทีนี้มากขึ้น ในฐานะเป็นเวทีที่จะทำให้ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ความไม่พอใจ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมาก เปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ที่นำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปที่ทุกคนต้องการ”

ปฏิรูปเป็นเรื่องระยะยาว

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าการปฏิรูปประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ใช่เรื่องระยะสั้น มันเป็นเรื่องระยะยาว คำถามว่าเกิดขึ้นได้ไหมภายใต้ความขัดแย้ง เป็นคำถามที่สำคัญ ผมรู้ว่าการปฏิรูปมันยาก แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง มีความต้องการให้ประเทศไทยดีขึ้น ความต้องการนี้ต้องการคนสานต่อ ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมกัน และเชื่อว่ามันเป็นเรื่องระยะยาว มันเป็นการเริ่มต้น และต้องเริ่มต้นเสียที”

“ทุกคนทราบดีว่า กลไกอำนาจภาครัฐเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ประชาชนต้องมาช่วยกัน เพื่อพลังประชาชน เพื่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายจะทำอะไรบ้างกับคู่ขัดแย้ง การที่หลายฝ่ายมารวมกัน เพราะมีความเชื่อว่า 1. การปฏิรูปประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและพลังของประชาชนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ใช่รอให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมารับข้อเสนอไปทำ ในทางกลับกัน หากประชาชนไม่เข้มแข็งจริง มีข้อเสนออะไรก็ไม่มีใครรับไปทำ 2. เครือข่ายแบบนี้จะมีพลังได้อย่างไร ที่ผ่านมามีเครือข่ายมากมาย กลุ่มเหล่านี้มีพลังที่แท้จริง พยายามทำการปฏิรูปที่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่มีพลังเหล่านี้จะส่งผลต่อผู้มีอำนาจในพื้นที่

แถลงข่าว"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" หรือ"Reform Now Network"

จุดเริ่มการคลี่คลาย…คู่ขัดแย้งมีฐานความคิดที่ชอบธรรมทั้งคู่

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าความน่าสนใจของเครือข่ายครั้งนี้ เริ่มจากความเข้าใจว่าคู่ขัดแย้งมีฐานคิดที่ชอบธรรมทั้งคู่ อย่างประเด็นเรื่องหยุดความรุนแรง เริ่มต้นจากฝ่ายที่มีความเห็นว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป ฐานคิดเขามีเหตุผลทั้งคู่ ฉะนั้น การคลี่คลายความขัดแย้งก็ต้องบอกว่าทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรม และเครือข่ายพยายามนำเสนอความรุนแรง ยาแก้ความรุนแรงที่ร้ายแรงคือการรู้สึกว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีความหวังแล้ว ต้องมีทางออกแล้ว ต้องตาต่อตา ฟันต่อฟัน ฟังดูมันดี หากใช้วิธีนี้หมด ก็ฟันหลอหมด ตาบอดหมด เราไม่ต้องการให้ประเทศชาติเป็นอย่างนั้น จะมองไม่เห็นทางไปข้างหน้า”

“การเจรจาพูดคุย ไม่ต้องเอาตัวใหญ่มานั่งคุย ประชาชนในพื้นที่ที่เขาต้องการแสดงความเห็น ในประเทศนี้เต็มไปด้วยคนที่มีความเห็นหลากหลาย ซึ่งชีวิตจริงเป็นแบบนี้ และประเทศไทยเรามีส่วนผสมปนเปกัน มีสีก็เยอะ และสีก็ตกได้ในสังคมนี้ และควรตกได้ด้วย ไม่ควรยึดว่าสีควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ซะทีเดียว ผมคิดว่าคุยกันได้อย่างฉันมิตร นี่คือความพยายามของเครือข่ายปฏิรูป ที่จะบอกว่าจริงอยู่ มันมีพวก มีฝ่าย แต่เหนืออื่นใดมันมีมิตรภาพ มีความเป็นพลเมืองร่วมกัน อันนี้เป็นจุดเชื่อมโยงคนเข้าหากัน”

การหยุดความรุนแรง มีคำถามจากหลายฝ่ายว่าจะทำอย่างไรได้ในขณะนี้ ตำรวจเองก็สงสัยว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร กปปส. เองก็พยายามปรับปรุงสิ่งที่ทำ ที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งอาจจะไม่ถูกในสายตาคนจำนวนมาก แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าการเลือกตั้งไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ความขัดแย้งครั้งนี้คงไม่หยุด แนวทางการพูดคุย การเจรจา และการปฏิรูปจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าระยะยาวจะทำอย่างไรต่อไป

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปของหลายฝ่ายเริ่มใกล้เคียงกัน และการตื่นตัวของประชาชนครั้งใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม อันนี้สำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ เราต้องหาพื้นที่ และเอื้ออำนวย สนับสนุนให้เกิดการเจรจา หาทางออก เราคิดว่าพื้นที่นี้น่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เราอยากให้คนไทยมีความหวังว่าเราสามารถเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ไปได้ ไม่ต้องผ่านความรุนแรง

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นของทุกคน ที่มีความเห็นความคิดที่อาจจะแตกต่าง แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ยึดมั่นในหลักสามประการ คือ หนึ่ง ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอง ยึดมั่นในสันติวิธี สาม ยึดมั่นในการปฏิรูปประเทศ

“ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนเชิงวิชาการ หลักฐานเชิงประจักษ์ ผลงานที่มีการวิจัยที่ทำมา เพื่อให้การปฏิรูปประเทศไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานที่เป็นเชิงประจักษ์ที่แท้จริง และรากฐานของวิชาการเรายึดมั่นในการปฏิรูปประเทศไทย”

RNN-Resolution-30Jan14

คำแถลงเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป “หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป”

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เป็นการรวมพลังร่วมกันของหลายภาคส่วน ได้แก่ องค์กรธุรกิจ ข้าราชการ ประชาคมวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรท้องถิ่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ เพื่อระดมความคิด สติปัญญา และเสริมสร้างความหวัง ว่าเราจะสามารถคลี่คลายวิกฤติและเดินหน้าประเทศต่อไปได้บนวิถีประชาธิปไตยและสันติวิธี

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปตามที่มีรายชื่อแนบท้ายคำแถลงฉบับนี้ ขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย และขอแสดงเจตจำนงเพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไป ดังนี้

1. หยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้าและการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนและผู้มีความเห็นต่าง

– เคารพเจตนารมณ์ของประชาชนกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป และประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

2. เริ่มต้นเจรจาเพื่อหาทางออกประเทศ เพราะไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่หาทางออกได้โดยปราศจากการเจรจา

– ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ก็ตาม คู่ความขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไก องค์กร ที่มาของตัวแทนจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม

3.เดินหน้าปฏิรูปทันที

– ปกป้องวาระการปฏิรูปประเทศ มิให้ถูกลดความสำคัญลงภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ และมิให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศถูกซุกไว้ใต้พรม และสูญเสียโอกาสของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและความเห็นพ้องร่วมกันเรื่องการปฏิรูป

– อาสาร่วมสร้าง “เวทีกลาง-พื้นที่การมีส่วนร่วม” เพื่อให้ทุกฝ่ายนำเสนอความคิดเห็น แลกเปลี่ยน เพื่อรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยไม่รวมศูนย์ รวบอำนาจ

30 มกราคม 2557
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป www.rnnthailand.com อีเมล์ [email protected]