ThaiPublica > เกาะกระแส > “อานันท์ ปันยารชุน”…จังหวะปิดเมืองไทยชั่วคราวเพื่อซ่อมแซม แต่อย่านานนักและอย่าหลงอำนาจตัวเอง

“อานันท์ ปันยารชุน”…จังหวะปิดเมืองไทยชั่วคราวเพื่อซ่อมแซม แต่อย่านานนักและอย่าหลงอำนาจตัวเอง

28 มิถุนายน 2014


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)กล่าวปาฐกถาพิเศษ ปิดงานสัมนา "Improving Corporate Governance :Key to Advancing Thailand"
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ปิดงานสัมนา “Improving Corporate Governance: Key to Advancing Thailand”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ปิดงานสัมนา “Improving Corporate Governance: Key to Advancing Thailand” ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ว่า”หลายท่านไม่ได้เจอผมเป็นเวลานานแล้ว สุขภาพผมดีพอใช้ แต่ในขณะนี้โดยที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่ต้องระวังคือต้องไม่หกล้มเวลาเดินขึ้นลงบันได หรือจะให้พูดมายืนสัก 30 นาทีก็ไม่ค่อยเหมาะสม วันนี้ คุณบัณฑิต (นิจถาวร ผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) ทราบว่าผมไม่ตอบรับมาพูดเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งก็คิดและรู้สึกว่าในชีวิตนี้ได้พูดมามากพอแล้ว ใน 50 ปีที่ผ่านมา ความรู้ก็ดีประสบการณ์ก็ดีก็ค่อยๆ ร่อยหรอ ไปเรื่อยๆ หลายสิ่งหลายอย่าง ผมรู้สึกผมตามไม่ทัน ตามเด็กสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์ก็ดี แต่ด้วยความเกรงใจ คุณบัณฑิตก็เลยรับมาแต่บอกว่าขอไม่พูดตอนเช้า เป็น keynote speaker ผมก็บอกว่าผมไม่ชอบตื่นตอนเช้า ขอเป็นเย็นๆ ก็ได้มาพูดตอนจบรายการ เมื่อวานนี้ถามว่าผมจะปาฐกถาเรื่องอะไร ผมบอกผมยังไม่รู้เลย ส่วนใหญ่ผมจะรู้ว่าพูดอะไรก็ 15 นาทีก่อนพูด พยายามคิดระหว่าง 15 นาทีนั้น แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าการประชุมคราวนี้ IOD ภายใต้การนำของผู้บริหารทั้งหลายได้จัดเรื่องที่เหมาะสมทันเหตุการณ์ และเป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยปัญหาหนึ่ง”

ผมไม่ใช่มาพูดในเชิงปาฐกถา แต่ผมถือว่ามานั่งคุยกันมากกว่า เมื่อเช้าผมไม่ได้มา กลางวันผมก็เลยให้สถาบันเขาติดตามรายงานให้ผมทราบว่าใครพูดอะไรบ้าง และที่มาก็มาฟังข้อสรุป วันนี้ทั้งวันก็พูดถึงการบริหารจัดการที่ดีหรือ ธรรมาภิบาลของภาคเอกชน ซึ่งผมจะไม่ขอพูดซ้ำ และที่เท่าฟังดูได้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ครบสมบูรณ์ มีการตอบคำถาม มีการหาทางออกในเรื่องต่างๆ

แต่สิ่งที่ผมอยากจะย้ำมี 2-3 ประเด็น ที่พูดไปแล้วเมื่อเช้า สิ่งแรก คือ จิตสำนึก ไม่ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตาม จะมีมาตรการใดๆ ก็ดี หากจิตสำนึกอะไรที่ผิดหรือถูก หรือไม่มีความละอายในการทำผิด หิริโอตัปปะไม่มี สิ่งเหล่านี้คงเป็นปัญหาต่อไปแน่

อันหนึ่งที่อาจจะไม่ได้พูดกันมาก แต่ก็มีประปราย การกระทำใดๆ ก็ตาม ความจำเป็นที่จะต้องมี ผมไม่อยากใช้คำว่าผู้นำ แต่ความจำเป็นที่จะต้องมีคนเคารพ พร้อมที่จะฟังและปฏิบัติตาม ลักษณะผู้นำ ผมเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง สิ่งแรกที่ผมพูดบ่อยๆ ก็คือ ถ้าเผื่อนายกฯ ไม่โกงเสียคนหนึ่ง และถ้านายกฯ ควบคุมไม่ให้รัฐมนตรีโกง ปัญหาคอร์รัปชันหมดไปครึ่งหนึ่งแล้ว คนก็ฟัง แต่ต่อมาคนไม่ค่อยปฏิบัติกัน

อีกข้อหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้พูดกันคือคำนิยาม เวลาคนไทยพูดถึงคอร์รัปชัน ซึ่งอาจจะแปลว่าฉ้อราษฏ์บังหลวงก็ดี โกงกินก็ดี มันจะหนักไปทางเรื่องเงินๆ ทองๆ คอร์รัปชันในเรื่องของการให้เงินและรับเงิน แต่ในภาษาอังกฤษ คอร์รัปชันมันมีความหมายมากกว่านั้น มันมีมิติของเรื่องศีลธรรม พวกที่เอาเด็กผู้หญิงจากบ้านนอกมาเข้าอุตสาหกรรม เรียกว่า เซ็กส์อินดัสทรี ผู้กระทำเช่นนั้นก็คือคอร์รัปชันพ่อแม่เขา ไปคอร์รัปชันเด็ก

ฉะนั้นเวลาพูดถึงคอร์รัปชันผมอยากจะฝากไว้ด้วย ฝากไว้ทางคุณประมนต์ [สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)] ฝากไปทางคุณบัณฑิต อยากให้คำนึกถึงมิติอันนี้ด้วย เพราะมันมีวิธีการหลายอย่างที่เราไปคอร์รัปต์จิตใจ คอร์รัปต์ศีลธรรม ของคน โดยจะไม่มีการแลกเปลี่ยนด้วยเงินหรือสินทรัพย์ใดๆ ทั้งสิ้น

เราพูดถึงคอร์รัปชัน เราหนักไปทางมีการให้และมีการรับ การให้เงิน อันนี้สำคัญที่สุด ผู้ให้ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน ผมก็ยินดีที่มีการเตือนสติว่ามันต้องเริ่มต้นจากตัวเรา เพราะผู้ที่มาประชุมวันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นภาคเอกชนทั้งนั้น ถ้าเผื่อบริษัทต่างๆ หรือผู้บริหารบริษัทไม่ให้และมันก็ไม่มีผู้รับ จะให้ก่อนหรือหลังได้รับความช่วยเหลือก็อีกเรื่องหนึ่ง

หรือถ้าฝ่ายราชการหรือการเมืองเขาเรียกร้อง ความผิดก็ต้องตกด้วยกันทั้งคู่ เรื่องคอร์รัปชัน มันต้องมี 2 ฝ่าย (party) ผู้ให้และผู้รับ และมันมีอีกหลายอย่างที่นอกจากการให้ง่ายๆ หรือการรับง่ายๆ เราได้ยินถึงการให้สินบน การให้ใต้โต๊ะ การให้เพื่อแลกกับสัมปทานที่เราจะได้ และการให้ทั้งหลายอีกมากมาย แต่ในสมัยใหม่มันลึกซึ้งมาก ภาษาไทยเราชอบใช้คำว่า “คอร์รัปชันทางนโยบาย” ผมเองไม่ชอบคำนี้ เพราะผมคิดว่ามันไม่ได้ไปถึงที่จุด อันนี้คือคอร์รัปชันทางจิตใจมากกว่า

ยกตัวอย่าง ผมไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกนี้เลย ที่รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวง ทบวง กรม และอาจจะเป็นกองทัพด้วยให้โฆษณาตัวเอง อันนี้เป็นนโยบายที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างง่ายๆ เลย เพราะเมื่อทุกกระทรวงมีโฆษกกระทรวง มีหน่วยงานที่จะโฆษณาผลงานของกระทรวง แต่ในขณะเดียวกันมีงบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์อะไรก็แล้วแต่ ก็จะเห็นป้ายตามถนนต่างๆ พูดถึงนโยบายของกระทรวงก็จะมีรูปภาพรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค นี่เงินรัฐบาลทั้งนั้นนะ อันนี้ไม่ต้องมีผู้รับ เป็นเงินรัฐบาลทั้งนั้น

แต่นอกเหนือจากนั้น หน่วยงานราชการนี้เขาก็ต้องไปว่าจ้างโฆษณา ผู้รับก็คือสื่อ ถ้าเผื่อสื่อไม่เล่นด้วย หรือไม่ออกสื่อที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล หรือรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ เขาก็ไม่ให้การประกาศแจ้งความ หน้าหนึ่งๆ หลายหมื่นบาท อันนี้ก็เป็นคอร์รัปชันอันหนึ่ง

และมันทำให้นิสัยสื่อเสียหมด เพราะสื่อของเราส่วนหนึ่งก็เป็นสื่อธุรกิจ ผมเห็นสื่อดีๆ ในอดีต กลายเป็นตัวตลกไปหมด อันนี้ก็อยากจะฝากไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย น่าจะเลิกครับ งบประมาณอันนี้ เพราะเอาเงินราชการเอามาใช้ในทางไม่ถูกต้อง เอาเงินราชการมาใช้ส่งเสริมภาพพจน์ของรัฐมนตรีคนนี้ รัฐมนตรีคนนั้น หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น หัวหน้าหน่วยงานนี้ และจับสื่อเป็นทาส และเพื่อสื่อหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด ต้องการประกาศแจ้งความของกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ สื่อก็ไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์งานของรัฐบาล อันนี้ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นว่าเมืองไทยยังไม่มีหลักสูตรของคอร์รัปชัน แต่ต่อไปถ้ามีเมืองไทยสามารถให้ปริญญา PHD ได้ ต่างประเทศจะต้องมาเรียนมากๆ จากเมืองไทย

วันนี้ผมอยากจะพูดหนักไปทางด้านภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาพูดไปทางด้านเอกชนมากพออยู่แล้ว แต่ในใจผมมองเห็นว่าคอร์รัปชันของภาครัฐอันตรายมากที่สุด เพราะภาครัฐมีเงินมหาศาลจากงบประมาณ ภาครัฐยังคุมรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นขุมเงินขุมทองของรัฐโดยเฉพาะ เราจะเห็นรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ต้องเอ่ยชื่อ แต่ก็มีอยู่ 2-3 รัฐวิสาหกิจ เอ่ยชื่อก็ได้ ปตท. อันหนึ่ง ที่ชื่อเสียงนี่เน่ามาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว เพราะว่าด้านหนึ่งก็บอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกด้านหนึ่งก็บอกเป็นบริษัทที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนไปแล้วอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่อัตราการถือหุ้นของรัฐก็ยังมากกว่า 60-70-80 เปอร์เซ็นต์ ในตัวคณะกรรมการเองก็มีแต่ข้าราชการ ซึ่งอาศัยหากินทางด้านการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจมาช้านาน

ผมหวังว่าอีกซัก 2-3 วันจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ออกมานั้นดีขึ้นเพราะกรรมการชุดใหม่จะประกอบบุคคลจากภายนอกมากกว่าภายใน ผมมองไม่เห็นเลยว่ารัฐวิสาหกิจจะรักษากฎ ธรรมาธิบาล หรือการบริหารจัดการที่ดีได้ ตราบใดที่กรรมการล้วนแต่เป็นปลัดกระทรวง เป็นรัฐมนตรี เป็นข้าราชการ ซึ่งชื่อเสียงก็มัวหมองอยู่แล้ว

ถ้างั้นภาครัฐผมว่าเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้าภาครัฐปฏิบัติตัวให้ดี ประพฤติตัวให้ดี มันก็จะมีผลที่ทำให้โอกาสที่ฝ่ายเอกชนหรือประชาชน ไปคอร์รัปต์รัฐบาลมันน้อยลงไป

นายอานันท์ ปันยารชุน
นายอานันท์ ปันยารชุน

ทางด้านภาครัฐมีความสำคัญอย่างไร เพราะภาครัฐในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงคอร์รัปชันเงินอย่างเดียว แต่คอร์รัปชันในเรื่องของจิตใจ จิตสำนึก ในเรื่องของศีลธรรมด้วย อะไรที่ขาดตกบกพร่องในรัฐอยู่ เราพูดถึงความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ (accountability) พูดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย

แต่ในแง่ของรัฐแล้ว ผมเห็นว่า ภาครัฐมีอำนาจมากเกินไป หลักการสำคัญของการจัดการบริหารที่ดีก็คือ อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจมากเกินไป ทางด้านภาคธุรกิจเราพยายามรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างฝ่ายจัดการ กับคณะกรรมการ (บอร์ด) ในอดีตนั้นบอร์ดไม่ค่อยรู้เรื่อง ฝ่ายจัดการค่อนข้างจะต้มคณะกรรมการได้

แต่ระยะ 15 ปีที่ผ่านมา ผมเป็นประธานของบอร์ดคณะกรรมการบริษัทหนึ่ง บริษัทใหญ่ ก็เห็นได้เลยว่า มีการวิวัฒนาการค่อนข้างจะมาก ผมนั่งอยู่เป็นกรรมการของบริษัทนี้เป็นเวลา 30 ปี และสามารถบอกได้เลยว่า 15 ปีแรกเราได้แต่ฟัง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง และเราไว้ใจฝ่ายบริหารเต็มที่ และฝ่ายบริหารเขาก็เก่ง เขาอธิบายได้เก่ง เขาเป็นคนทำงานเป็น เป็นคนมีศีลธรรม แต่ความผิดพลาดนั้นมีได้ จะเห็นวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 1997 บริษัทเหล่านี้โดยเฉพาะธนาคารค่อนข้างมีส่วนรับผิดชอบอย่างมาก

อันนี้ก็เป็นทั่วไปเวลามวิกฤติการเงินในอเมริกา มันก็เป็นผลสืบเนื่องจากการไม่มี Governance ไม่มี Governance ในระบบในภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่ง ผมจำไม่ได้ว่าเป็นอลัน กรีนสแปน หรือใครก็ไม่ทราบ ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่เขาบอกว่า irrational exuberance คือความเห่อเหิมโดยไม่มีเหตุผล

ของเราเช่นเดียวกัน 1997 มีความเห่อเหิมโดยไม่มีเหตุผล เงินหาง่าย ธนาคารต่างประเทศวิ่งไปเคาะประตูบริษัททั่วไป ขอให้บริษัทนั้นบริษัทนี้ยืมเงินเป็นดอลลาร์ เพราะว่าดอกเบี้ยถูกกว่ามาก บริษัทในเมืองไทยก็แห่กันไป ไปได้เงินมา ดอกเบี้ยถูก ได้เงินมาแทนที่จะมาทำโครงการที่สามารถหาเงินได้เพิ่มขึ้น ก็เอาเงินเหล่านั้นไปสร้างสนามกอล์ฟ ไปสร้างคอนโด ไปสร้างอะไรต่ออะไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานของบริษัทนั้นๆ เลย

อันนั้นคือความเห่อเหิมโดยไม่มีเหตุผล และไม่มีขีดจำกัด

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหารกับบอร์ดมีมาก เราไม่ได้บอกว่าต้องมีการขัดกัน แต่มันจะเป็น ต้องเป็น partnership ถามว่าไว้ใจฝ่ายบริหารไหม ไว้ใจ ถามว่าฝ่ายบริหารทำถูกทุกครั้งไหม ไม่ถูก ไม่ใช่ ฉะนั้นบอร์ดจะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์ สามารถให้คำแนะนำ สามารถตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานา ได้ เพื่อเป็นการเตือนสติฝ่ายบริหาร

แต่ถ้าคุณดูอำนาจรัฐบาลแล้ว ไม่มีใครเตือนได้เลยในโครงสร้างปัจจุบัน รัฐธรรมนูญเขียนไว้สวย มีการแบ่งอำนาจระหว่างบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่คนที่ได้อำนาจฝ่ายบริหารเข้ามาก็สั่งการครอบครองทั้งหมด เสียงข้างมากในสภาก็ไม่พอ เกินครึ่งหนึ่งไม่พอ ต้องการถึง 2 ใน 3 ทำไม เพราะถ้าเกิน 2 ใน 3 สามารถออกกฎหมายได้ทุกอย่าง ไม่มีใครคัดค้านได้

อันนี้คือความเห่อเหิม ไม่พอ และเมื่อคุมทางฝ่ายบริหารได้แล้ว ก็คุมรัฐวิสาหกิจด้วย คนที่ส่งไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจก็เป็นคนของตัว ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่ประวัติไม่ดีมาแต่ก่อน ทางรัฐสภาคือทางด้านนิติบัญญัติก็กวาดพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมเป็นพรรคพวกหมด การออกกฎหมายก็ง่ายขึ้น เสร็จแล้วก็ออกกฎหมายมาในทางที่จะเสริมผลประโยชน์ของตนเอง

นั้นบ่อเหตุความเสื่อมโทรมของเมืองไทย คือว่า 1. มีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้อำนาจมากเกินไป และไม่มีการหยุดยั้งและยับยั้ง อยากได้ไปหมด และ 2. ไม่มีการคาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องปฏิบัติตนเองในปัจจุบันและอนาคต และต้องมีการให้มีความมั่นใจว่ามีการแบ่งปันอำนาจ

ในปัจจุบันเมื่อการเปลี่ยนแปลงการครองอำนาจมาเป็น คสช. ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่พูดถึงว่าที่ผ่านมาเราทำถูกหรือผิดอย่างไร เราไม่พูดถึงว่าต่างชาติชอบไม่ชอบอย่างไร แต่อย่างน้อยคนไทยสบายใจขึ้นว่ามันทำให้โอกาสที่จะเกิดปะทะกันความรุนแรง การเสียชีวิต การเสียทรัพย์สินนั้นมันหายไป

คนไทยเป็นประสาทเป็นเวลาหลายปี มีแต่ความเกลียด มีความโกรธ มีความอาฆาต มีความอยากจะประหัตประหารซึ่งกันและกัน มาถึงจังหวะปิดเมืองไทยชั่วคราวเพื่อซ่อมแซม แต่อย่าปิดนานนักนะ อย่าหลงอำนาจตัวเอง ปิดนานนัก หนักอีก ต้องหาวิธีทางที่จะแบ่งปันอำนาจ

Lord Acton เคยพูดว่า “power corrupts, absolute power corrupt absolutely” อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้หนัก ว่าอำนาจที่มีอยู่นั้น เท่าที่ผ่านมาการจัดการบริหารอำนาจที่มีอยู่ ผมถือว่าใช้ได้ แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

แต่นอกเหนือไปจากการที่ไม่เอาไปเป็นอำนาจ absolute หรือไม่ใช่อำนาจโดยไม่ฟังเสียงใครเท่าไหร่ สิ่งสำคัญจะต้องมี inclusiveness อยู่ด้วย คือการเอาคนอื่นเข้ามาอยู่ด้วย คนอื่นที่อาจจะไม่ใช่พรรคพวกตัวเอง หรืออาจจะเป็นพวกที่ไม่เคยปฏิบัติงานกันมาเอง ผมไม่ได้หมายถึงเสียงนกเสียงกาข้างนอกนะ แต่ผมหมายถึง inclusive

ยกตัวอย่างบอร์ด ในบอร์ดของผมมีผู้หญิง 4 คน 25% ถามว่าพอใจไหม ไม่พอ ผมอยากเห็น 6 คน จาก 16 คนที่เรามีอยู่ แต่หลายบริษัทในต่างประเทศที่เขามีหัวก้าวหน้า เขาจะเอาตัวแทนของพนักงานมาร่วมด้วย ผมว่าสิ่งเหล่านี้ในหลักการนั้นดี จะปฏิบัติได้หรือจะปฏิบัติเมื่อไหร่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

inclusiveness เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะในลักษณะหนึ่งคือการเชิญเขามา เพื่อมาคานอำนาจของพวกที่มีเสียงเป็น majority อยู่แล้ว และเมื่อเชิญเขามาแล้วก็ต้องฟังเขาด้วย ไม่ใช่ว่าเชิญคนข้างนอกเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ ว่ามีคนข้างนอกนั่งอยู่เท่านั้น อันนี้ต้องเกิดจากความจริงใจและจิตสำนึกของตัวเอง ไม่ใช่เชิญเขามาเพื่อเป็นการสร้างภาพ และคนคนนั้นจะต้องมีสิทธิในการใช้อำนาจนั้นร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย

อันที่ 3 ผมคิดว่าทางฝ่ายภาครัฐต้องมีจิตใจแน่วแน่จริงๆ เมืองไทยจะไปรอดต่อเมื่อมี rule of law คือสิ่งที่เรียกว่า “นิติรัฐ” ซึ่ง rule of law หมายความว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ที่เห็นง่ายๆ ไม่ใช่ลูกคนรวยสามารถทำอะไรได้มากกว่าลูกคนที่ไม่รวย หรือลูกคนที่มีอำนาจสามารถทำอะไรได้หลายอย่างนอกเหนือไปจากหรือมากกว่าลูกคนที่ไม่มีอำนาจ ของเราอาจจะมี rule by law แต่เราไม่มี rule of law เพราะ rule by law เพราะกฎหมายของเราพระราชบัญญัติไม่ให้ความเป็นธรรมกับสังคม ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้พูดเมื่อเช้านี้ ผมขอกลับไปทางด้านภาคเอกชน ระบบการเงินของบริษัทต่างๆ ต้องโปร่งใส ต้องมีบัญชีเดียว ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง สิ่งนี้เป็นสิ่งผมคิดว่าขาดมากและไม่ค่อยพูดกัน อาจจะมีความเกรงใจกัน เราพูดแต่ว่าทุกบริษัทควรจะมีกฎคอยนำว่าจะไม่ให้อันนั้น ไม่ให้เรื่องของคอร์รัปชัน แต่ถ้าบริษัทไม่จ่ายภาษีให้ถูกต้อง เลี่ยงภาษี หนีภาษี อันนั้นผมว่าโกงรัฐบาลและเป็นสิ่งที่บกพร่องมาก

อันสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดก็คือว่า ถ้าเราแก้ปัญหาไปเป็นจุดๆ ไป แก้เรื่องคอร์รัปชัน แก้เรื่องนั้น แก้เรื่องนี้ ยังไปไม่รอดครับ เพราะปัญหาของสังคมไทยอยู่ที่โครงสร้าง คือโครงสร้างอำนาจของรัฐมันไม่เอื้ออำนวยในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักธรรมาธิบาล โครงสร้างอันนี้หมายถึงการต้องจัดโครงสร้างกันใหม่ (restructure) ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างรัฐกับประชาชน เราอาจจะมีความพอใจมีเลือกตั้งมา ใครแพ้หรือชนะก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เราถือว่าประชาชนมีการอ้างอยู่เสมอว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

เราเลือกผู้แทนเข้าไป เพื่อไปเป็นตัวแทนของเรา แต่พอเลือกเขาไปแล้วเขาลืมที่เป็นตัวแทนของเรา เขาลืมความเป็นผู้แทนของประชาชนหรือประชาราษฎร แต่กลายเขาเป็นผู้แทนจุดอำนาจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา การเลือกตั้งผมถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนทั้งนั้น ผลที่ได้ออกมา นี่ยกตัวอย่างทั้งนั้น เพราะงั้นเราจะต้องมีการปรับโครงสร้างการปกครอง

1. เพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจนั้นไม่ได้ตกอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยสิ้นเชิง ไม่มีการผูกขาดอำนาจ
2. จะต้องเป็นโครงสร้างที่เป็นการแบ่งปันอำนาจ แบ่งปันความรับผิดชอบ หรือเป็นโครงสร้างที่เป็นความโปร่งใสในทุกๆ เรื่อง มันเป็นไปไม่ได้

“คุณขายข้าวไปเป็นแสนๆ ตัน ล้านๆ ตัน คุณเก็บข้าวไว้เป็นล้านๆ ตัน แล้วคุณไม่มีบัญชีว่าเก็บข้าวไว้เท่าไหร่ ขายไปเท่าไหร่ ขายเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ และยังเหลือเท่าไหร่ ไม่มีที่ไหนในโลกเขารับได้ นอกจากเมืองไทย”

โครงสร้างนี่สำคัญมาก ถ้าคุณไม่ผ่องถ่ายอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง หรือผ่องถ่ายไปให้บุคคลอื่นใดกลุ่มใดอย่างแท้จริงแล้ว อำนาจก็ตกอยู่ที่มือของรัฐอย่างเดียว และไม่มีการคานอำนาจซึ่งกันและกันเลย

ก็ต้องมีการจัดสรร ระหว่างอำนาจรัฐกับข้าราชการด้วย ระยะที่ผ่านมาข้าราชการก็เป็นทาส ทาสของเงิน ทาสของอำนาจผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ ต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐกับการปกครองในท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้คนอาจจะบอกว่านอกเหนือจากเรื่อง governance แต่ในสายตาของผมอันนั้นเป็นหัวใจของ governance มันเป็นเรื่องของ governance ไม่ใช่ governance ของบริษัทธุรกิจเท่านั้น

และถ้าเราบอกว่าประเทศไทยก็เป็นธุรกิจอันหนึ่ง เราก็ต้องแน่ใจ ว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว จะต้องมีผู้ตรวจสอบ จะต้องมีคณะกำกับดูแล และอื่นๆ เมื่อนั้นแหละครับ อนาคตของเมืองไทยจึงจะมี และผมก็หวังว่าในระยะที่ละเอียดอ่อนมาก ใน 3 เดือนข้างหน้า ผมหวังว่าเราจะไม่เดินทางที่ผิด ผมหวังว่าเราจะไม่เดินย้อนอดีต แล้วเราจะไม่เดินไปสู่ทางตันอีกครั้งหนึ่ง

“เราอาจจะพูดกันเล่นได้ๆ เราอย่าทำให้ของเสีย เพราะนี่เป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว และผมไม่พูดเล่นนะ มันเป็นโอกาสสุดท้ายจริงๆ ครับ และเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะมีผล ไม่ใช่กับตัวเรา แต่เป็นลูกหลานของเรา ขอให้ทุกคนโชคดี ขอบคุณครับ”