ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายการคลังกับการเติบโตในระยะยาว

นโยบายการคลังกับการเติบโตในระยะยาว

7 พฤศจิกายน 2013


ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล

ด้วยปัจจัยประกอบหลายๆ ประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภัยธรรมชาติ การใช้อัตราการเติบโตของ GDP รายปีเป็นเครื่องชี้วัดถึงความสามารถของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งแรงจูงใจทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบาย จึงทำให้นโยบายการคลังในหลายครั้งหลายโอกาส ถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้คนหลากหลายฝ่ายก็มีความรู้ความเข้าใจครับว่านโยบายการคลังมีความสำคัญกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นอย่างมากครับ และนโยบายการคลังที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะยาว จะมีความแตกต่างจากนโยบายที่มุ่งตอบสนองเป้าหมายระยะสั้นเป็นอย่างมาก

การสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวมีความแตกต่างจากการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจระยะสั้นๆ เพราะการเติบโตระยะยาวไม่สามารถอาศัยเพียงการกระตุ้นอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าผ่านการใส่เงินลงไปในระบบเศรษฐกิจได้ครับ การเติบโตของอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าเพียงด้านเดียวจะก่อให้เกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า โดยที่ไม่ได้สร้างการเติบโตที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจแต่ประการใด

การสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวจะต้องกระทำผ่านนโยบายด้านอุปทาน นั่นคือ จะต้องทำให้ภาคเอกชนในประเทศสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีความสามารถในพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนครับว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ (นั่นคือ โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างผลประโยชน์ที่แท้จริงในระดับที่สูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง) จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตของประเทศในระยะยาวครับ แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่วิถีทางเดียวที่จะสร้างอัตราการเติบโตให้กับประเทศในระยะยาวได้

ในแง่ของปัจจัยการผลิตทางกายภาพนั้น ถ้าหากนโยบายการคลังสามารถเพิ่มกำลังแรงงานหรือเพิ่มปริมาณเงินทุนที่มีอยู่ในประเทศได้ ก็น่าจะสามารถทำให้จำนวนผลผลิตในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ครับ

ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายการคลังในลักษณะของการออกแบบระบบภาษีที่เหมาะสม สามารถเพิ่มปริมาณแรงงานในประเทศได้ครับ ระบบภาษีดังกล่าวจะต้องจูงใจให้คนเข้าร่วมกำลังแรงงาน คนที่ปัจจุบันไม่ได้อยากทำงานจะได้มีแรงจูงใจมากขึ้นให้เข้าไปทำงานครับ ในขณะเดียวกัน ระบบภาษีจะต้องจูงใจให้คนไม่อยากเกษียณอายุในเวลาที่เร็วจนเกินไป ยิ่งประเทศไทยกำลังประสบกับสภาวะการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสูงวัย ระบบภาษีที่จะจูงใจให้คนไม่เกษียณอายุจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ระบบภาษีดังกล่าวควรที่จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ลักษณะต่างๆ ครับ เช่น การประกันการว่างงาน หรือระบบสวัสดิการพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น โดยถ้าหากออกแบบไม่สอดประสานกัน ระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมอาจเป็นปัจจัยหน่วงการเข้าไปทำงานของแรงงานบางกลุ่มได้ครับ

ตัวอย่างของระบบภาษีและระบบสวัสดิการที่จูงใจให้คนเข้ามาทำงาน ได้แก่ ระบบ Negative Income Tax ซึ่งในช่วงต้นจะจ่ายเงินโอนจากรัฐบาลไปสู่คนที่ทำงานชั่วโมงแรกๆ จนแรงงานคนดังกล่าวมีรายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ก็จะค่อยๆ ลดการจ่ายเงินโอน และปรับอัตราภาษีเป็นบวกซึ่งทำให้แรงงานคนดังกล่าวจะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลในที่สุด เป็นต้นครับ

ระบบภาษีควรถูกออกแบบเพื่อจูงใจให้ผู้คนต้องการออมเงิน ตลาดการเงินภายในประเทศพัฒนาขึ้น ธนาคารพาณิชย์มีระดับการแข่งขันที่เป็นธรรมและเหมาะสม รวมไปถึงจูงใจให้มีการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่าเงินทุนจากผู้ออมเงินจะถูกโอนย้ายไปสู่ผู้ที่มีโครงการลงทุนต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกฝาถูกตัว ไม่ใช่โอนไปให้ผู้กู้ที่ไม่มีวินัย ซึ่งระบบการโอนย้ายเงินทุนอย่างที่มีประสิทธิภาพจะส่งเสริมให้เงินทุนในประเทศไหลเวียนได้ดีขึ้น มีเงินทุนจำนวนมากขึ้น ซึ่งเจ้าของโครงการต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากการเพิ่มปริมาณปัจจัยการผลิต ทั้งกำลังแรงงานและเงินทุน เพื่อเพิ่มการผลิตสินค้าแล้ว นโยบายการคลังยังสามารถส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้เพิ่มเติมอีกด้วยครับ นั่นคือ นอกจากเพิ่มปริมาณปัจจัยการผลิตแล้วยังสามารถส่งเสริมให้ปัจจัยการผลิตแต่ละหน่วยเก่งขึ้น สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แน่นอนว่าการพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถมากขึ้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของรัฐบาลครับ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวของประเทศ รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับระบบการให้ความรู้ของผู้คนเป็นอย่างมากครับ เพราะถ้าหากคนไทยเก่งเสียอย่าง ในที่สุดแล้วก็จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ ได้ไม่ยาก

ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องสร้างทักษะอันพึงประสงค์ และมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายในประเทศ แน่นอนว่าเราจะต้องถกเถียงกันอย่างจริงจังครับว่าทักษะอันพึงประสงค์ของนักเรียนนักศึกษาของไทยควรจะเป็นอย่างไร และนักเรียนนักศึกษาที่ผ่านระบบการศึกษามาตรฐานของประเทศมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่

ในหลายๆ ประเทศ แผนกำลังแรงงานเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศครับ ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศรู้ว่าตนเองต้องการแรงงานลักษณะไหน ในสาขาอาชีพใด และออกนโยบายแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อต่อการสะสมทักษะหรือแรงงานในสาขาอาชีพที่ต้องการ ในลักษณะของการให้สิทธิประโยชน์ทางการศึกษา การขอใบอนุญาตทำงาน รวมไปถึงการให้เงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพที่เป็นที่ต้องการดังกล่าว เป็นต้น

ระบบภาษีและระบบออกใบอนุญาตทำงานให้กับบุคคลต่างด้าวของประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ยังสร้างแรงจูงใจให้แรงงานจากต่างประเทศที่มีทักษะตามที่เป็นที่ต้องการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าวอีกด้วยครับ แน่นอนว่าการออกนโยบายเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่มียุทธศาสตร์จะก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง และอาจกระทบต่อความปลอดภัยของผู้คนในประเทศได้ครับ จุดเริ่มต้นสำคัญจึงอยู่ที่แผนยุทธศาสตร์กำลังแรงงานของประเทศ

ระบบภาษีและการให้สวัสดิการควรสร้างฐานในการแข่งขันที่เหมาะสมกับแรงงานที่ทำงานอยู่ภายในประเทศและภาคธุรกิจภายในประเทศอีกด้วย ในแง่นี้อาจเป็นแนวคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ครับ ที่มีความเชื่อว่าผู้คนหรือธุรกิจที่มีแรงกดดันจากการแข่งขันอย่างเหมาะสมจะดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่ผู้คนหรือธุรกิจที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มข้นจะไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ส่งผลให้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพในภาพรวมในที่สุด

การสร้างเวทีแข่งขันที่เท่าเทียม สร้างจุดตั้งต้นของคนจนและคนรวยที่เท่าเทียมกัน จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันเพื่อการพัฒนาศักยภาพตนเองได้ครับ นอกจากนั้น การใช้นโยบายในลักษณะให้ความคุ้มครองแก่ภาคธุรกิจหรือบางสาขาอาชีพควรถูกใช้อย่างจำกัด ไม่พร่ำเพรื่อ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ในแง่นี้ การเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสสามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อให้เข้าสู่เวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกับคนที่มีโอกาสสูงกว่า น่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม การออกแบบนโยบายเงินกู้เพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสม และการเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ด้อยโอกาส น่าจะช่วยสร้างเวทีการแข่งขันที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นครับ

การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเวทีการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจได้ครับ โดยปกติแล้วทุนขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่ระดับหนึ่งแล้วครับ ลองจินตนาการถึงร้านโชห่วยกับร้านค้าแบบแฟรนไชส์ดังๆ ดูครับ กฎหมายแข่งขันทางการค้าน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการสร้างธุรกิจรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพให้สามารถพัฒนาเข้าสู่ตลาด และสร้างแรงกดดันให้มีการพัฒนาศักยภาพของทุกหน่วยธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้ในที่สุดครับ

นโยบายการคลังที่เหมาะสมยังสามารถสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศได้อีกด้วยครับ เท่าที่ผมทราบมากิจกรรมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ (product innovation) เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมากครับ ในขณะที่กิจกรรมดังกล่าวก็มีผลตอบแทนที่สูงมากด้วยเช่นเดียวกัน

ทุนขนาดเล็กดูเหมือนแทบจะไม่มีแรงจูงใจในการสร้างกิจกรรมวิจัยและพัฒนาให้กับตนเองเลยครับ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านมาตรการทางภาษี หรือการให้เงินทุนสนับสนุนอย่างเหมาะสม

จะเห็นได้ว่า นโยบายการคลังสามารถเข้าไปสอดแทรกเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศในระยะยาวได้ในหลากหลายส่วนครับ แล้วนโยบายการคลังของประเทศไทยสามารถเพิ่มการเติบโตระยะยาวให้กับประเทศได้ในระดับไหน …

คำถามนี้คงต้องการการอภิปรายกันอย่างจริงจังของผู้คนในสังคมไทยครับ