ThaiPublica > เกาะกระแส > บอร์ดชุดใหม่สหกรณ์ฯ คลองจั่นเร่งประชุมเจ้าหนี้ทั้งรายใหญ่-รายย่อยและสมาชิก ขอมติยื่นฟื้นฟูกิจการ

บอร์ดชุดใหม่สหกรณ์ฯ คลองจั่นเร่งประชุมเจ้าหนี้ทั้งรายใหญ่-รายย่อยและสมาชิก ขอมติยื่นฟื้นฟูกิจการ

27 เมษายน 2014


หลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งเป็นชุดที่ 30 ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นได้มีการพบปะกันระหว่างคณะกรรมการชุดใหม่กับนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์และผู้บริหารเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557

จากนั้น คณะกรรมการชุดใหม่ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้นัดประชุมเจ้าหนี้บุคคล สมาชิกสหกรณ์ฯ​คลองจั่น ทั้งประเภทสามัญและสมทบในวันที่ 26 เมษายน 2557 และเจ้าหนี้นิติบุคคลในวันที่ 29 เมษายน 2557 เพื่อชี้แจงการดำเนินการของสหกรณ์ฯ คลองจั่น และหารือเพื่อขอความยินยอมจากเจ้าหนี้ในการขอฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประชุมเจ้าหนี้(บุคคล)และสมาชิก ขอความยินยอมยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26  เมษายน 2557
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประชุมเจ้าหนี้(บุคคล)และสมาชิก ขอความยินยอมยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557

โดยการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหนี้บุคคล (ผู้ฝากเงิน) และสมาชิกซึ่งมาร่วมประชุมหลายพันคน ได้ลงมติเห็นด้วยที่จะขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีนายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กรรมการและคณะงานทำแผนฟื้นฟูมาร่วมชี้แจง โดยมีนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล กรรมการ ทำหน้าที่ในการอธิบายต่อเจ้าหนี้ผู้ฝากเงินและสมาชิกถึงสาเหตุที่ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ในฐานะผู้ฝากเงินและสมาชิก ว่าอย่าฟ้องสหกรณ์ฯ เพราะหากมีเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งฟ้องก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าขอฟื้นฟูกิจการได้ และให้เจ้าหนี้ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

นอกจากนี้ยังได้มีการเลือกตัวแทนเจ้าหนี้ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูกิจการ โดยแบ่งตัวแทนเป็นกลุ่มตามจำนวนเงินฝาก โดยให้กลุ่มที่มีเงินฝากไม่เกิน 10 ล้านบาทมีตัวแทน 5 คน ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้ฝากเงินกว่า 20,000 ราย ส่วนกลุ่มเงินฝากที่มี 10 ล้านบาทขึ้นไปมี 147 ราย ให้มีตัวแทน 5 คน รวมเป็นตัวแทนจากเจ้าหนี้ 10 คน จะทำหน้าที่ในการให้ความเห็นต่อแผนฟื้นฟู และประสานงานกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ในกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเลือกตัวแทนเจ้าหนี้นั้น มีหลายรายที่เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนเอง เพราะต้องการเข้ามารักษาผลประโยชน์ของตัวเองและเพื่อนสมาชิก รวมทั้งมีเป้าหมายในการดำเนินการนำผู้ที่ทำให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นประสบความเสียหายมาลงโทษ

ส่วนทีมงานที่ทำแผนฟื้นฟูได้ชี้แจงว่า ต้องการให้สมาชิกและเจ้าหนี้รายบุคคล (ผู้ฝากเงิน) เห็นพ้องในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในตอนนั้นเจ้าหนี้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแผน สามารถลงมติได้อีกครั้ง

“เชื่อว่าหากมีการฟื้นฟู เจ้าหนี้และสมาชิกคงอยากรู้ว่าจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ และระหว่างการฟื้นฟูสมาชิกจะได้อะไร ตามแผนกำหนดไว้ เจ้าหนี้เงินฝากจะถอนเงินได้ไม่เกิน 5% ขั้นต่ำ 500 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และเชื่อว่ามีคำถามว่าถ้าแผนฟื้นฟูมีระยะเวลา 5 ปีแล้วจะได้เงินคืนครบหรือไม่ ต้องกล่าวว่าการฟื้นฟูเป็นการบรรเทาความเสียหายให้เจ้าหนี้และสมาชิกที่ใกล้เคียงกัน โดยการทำแผน หลักเกณฑ์ ทยอยคืนให้เจ้าหนี้”ทีมงานแผนฟื้นฟูกิจการกล่าว

ขณะที่นางประภัสสรกล่าวว่า ในส่วนหุ้นคือทุนสหกรณ์ในการดำเนินการ เมื่อมีการลงทุน ผู้ลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนด้วย ซึ่งหุ้นสามารถเพิ่มหรือลดลงได้ และการขอฟื้นฟูกิจการครั้งนี้จะต้องยื่นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันตัดสินคำฟ้องของเจ้าหนี้รายหนึ่งที่ขอพิทักษ์ทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ หากยื่นขอฟื้นฟูฯ แล้ว หากศาลรับก็จะเป็นการคุ้มครองสหกรณ์ฯ เพื่อเดินหน้าทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล
นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีการซักถามถึงแผนการฟื้นฟูว่าจะทำให้สหกรณ์ฯ ฟื้นได้อย่างไร โดยมีการชี้แจงว่านอกจากการเร่งรัดหนี้ของลูกหนี้สมทบ 28 ราย 33 สัญญา การติดตามเงินบริจาคให้วัดธรรมกายประมาณ 900 ล้านบาท รวมทั้งหนี้เงินทดรองจ่าย 3,000 ล้านบาทแล้ว จะเน้นเรื่องการหารายได้จากทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่ อาทิ อาคารยูทาวเวอร์ สามารถให้เช่าจัดประชุมหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ และถ้าหากสหกรณ์ฯ มีสภาพคล่องจากเงินกู้ของกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ที่จัดหาให้ปีละ 1,000 ล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี หรือเงินกู้จากชุมนุมเครดิตยูเนี่ยน สามารถที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อได้ การสร้างรายได้จากการทำธุรกิจอื่นๆ การประเมินราคาสินทรัพย์ใหม่ รวมทั้งการประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดส่งคดีดำเนินการฟ้องต่อไป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีในด้านการลดต้นทุน มาตรฐานธรรมาภิบาลในการตรวจสอบ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์มาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี มีกรรมการควบคุมภายใน และกรรมการอิสระมาช่วยกำกับดูแล เป็นต้น