ThaiPublica > คอลัมน์ > Buddha’s Lost Children สังคมอุดมความดี

Buddha’s Lost Children สังคมอุดมความดี

30 เมษายน 2014


เหว่ยเฉียง

Buddha's Lost Children 1

พระครูบาเหนือชัย โฆสิตา หรือ พระขี่ม้าบิณฑบาต UnseenThailand
พระครูบาเหนือชัย โฆสิโต หรือ พระขี่ม้าบิณฑบาต Unseen Thailand

การฝึกฝนตนเองนั้น เราต้องควบคุมจิตใจของเราเอง…มวยไทยมีใจกับกายเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ ความโลภ ความหลง ไม่ตกเป็นทาสของยาเสพติด…อะไรที่ไม่ดีอย่าทำ ทำความดีทำไปเถิดมีแต่ความสุขความเจริญตามมา แต่ความดีทำไปแล้วอย่าได้ติดดี ถ้าติดดีแล้วใจจะเศร้าหมอง… (ดังนั้นจง) ตัดขาดอดีตสิ้นอนาคต ไม่ต้องไปหวังมันหรอกอนาคตนั่นน่ะ และอดีตก็ไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์มันหรอก ถ้าไปอาลัยอาวรณ์ในอดีตจะมีแต่ความฟุ้งซ่านไม่สงบ…ขอให้โชคดี โชคดี โชคดี!”

ครูบาสอนแม่ไม้มวยไทยให้กับสามเณร
ครูบาสอนแม่ไม้มวยไทยให้กับสามเณร

นี่คือคำสอนแบบแมนๆ สไตล์พระครูบาเหนือชัย โฆสิโต แห่งวัดถ้ำอาชาทอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ผู้เป็นนักบุญแห่งขุนเขา ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “พระขี่ม้าบิณฑบาต” หรือพระ Unseen Thailand (เนื่องจากในปี 2004 ท่านถูกจัดเป็นหนึ่งในแคมเปญการท่องเที่ยวของ ททท.) ท่านคือหัวใจหลักของสารคดี Buddha’s Lost Children (2006) ของ มาร์ก เวอร์เคิร์ก ผู้กำกับชาวดัทช์ ซึ่งปักหลักถ่ายทำในเมืองไทยนานกว่าหนึ่งปี บริเวณสามเหลี่ยมทองคำชายแดนไทย-พม่า บนยอดดอยสูงสุขสงบห่างไกลความเจริญ บ่มีแสงสี บ่มีทีวี ชาวบ้านแร้นแค้น เต็มไปด้วยเด็กกำพร้ายากไร้ สุขภาพและการศึกษาไม่ดี ในชุมชนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด และความหลากหลายของกลุ่มชนพื้นเมืองอพยพ โดยสารคดีเรื่องนี้เน้นให้เห็นภาพพระครูบาที่สอนหมัดมวยให้กับเด็กๆ , การออกบิณฑบาตด้วยการขี่ม้าของท่านและสานุศิษย์, คำสั่งสอนอบรมดูแลเณรน้อยในสังกัด, การช่วยเหลือทั้งงานบุญงานกุศลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ และการสักยันต์ตามร่างกายไม่เว้นแม้แต่สามเณรน้อย ด้วยความเชื่อทางศาสนาตามอุดมการณ์ของพระครูบาผู้อุทิศชีวิตให้กับชาวบ้านในถิ่นนั้น

หนังถ่ายทอดบรรยากาศแสนอบอุ่นงดงาม เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความสุข พาคนดูไปพบไปเห็นแง่งามต่างๆ ของพระรูปนี้ ผ่านมุมมองเสมือนเป็นของแปลกแบบที่ชาวโลกตะวันตกไม่เคยพบเคยเห็น โดยเริ่มเล่าว่าพระครูบาท่านทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านมากว่า 15 ปี “ครั้งแรกเลย หลังจากที่เดินทางมาถึงที่นี่แล้ว เราเห็นสภาพความลำบากของน้องเณร และท่านไม่มีใครสนับสนุนท่านเลย เพราะงานของท่านไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ นอกจากคำว่า ‘สุขใจ’ หรือ ‘บุญ’ เท่านั้น” นี่คือคำอธิบายของแม่เอียด ที่ในหนังเรียกเธอว่า แม่ชีเอียด (ซึ่งน่าจะเป็นภรรยาของครูบา) ที่หนังเล่าเพียงว่าเมื่อห้าปีก่อนเธอได้เข้ามาช่วยจัดการกิจธุระต่างๆ ภายในวัด เช่น การจัดการเรื่องการเงินการบริหาร คอยดูแลเด็กๆ ทำอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ โดยเธอมิได้นุ่งห่มอย่างแม่ชีทั่วไป เพราะไว้ผมยาว แต่งชุดกระโปรงขาว

Buddha's Lost Children 4

ก่อนที่หนังจะค่อยๆ แนะนำสามเณรรูปอื่นๆ เช่น เณรสุข ซึ่งครูบาไปเจอในหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอาข่า เณรเป็นเด็กกำพร้า เพราะพ่อแม่ข้ามกลับไปฝั่งพม่าและไม่เคยกลับมาอีกเลย, ยี่ หรือเณรพันแสน มาจากครอบครัวยากจนที่ลี้ภัยมาจากรัฐฉานในพม่า พ่อเพิ่งเสียชีวิตไป และครอบครัวของเขามีลูกมากถึง 7 คน ยี่มีปัญหาทางสมองทำให้ไม่ค่อยพูด เนื่องจากเคยพลัดตกจากต้นไป หลังจากแม่เคยรับจ๊อบทำงานวัดเล็กๆ น้อยๆ ยี่ก็สนใจอยากจะขี่ม้าที่ยี่เห็นในวัด ทางวัดก็เสนอให้ว่าถ้าจะขี่ก็ต้องบวช ซึ่งทางแม่ของยี่ก็ตกลงโดยทันทีเพราะถ้ายังคงอาศัยอยู่กับที่บ้าน ยี่ก็อาจจะอดตายจึงให้ยี่บวช, บุญธรรม ลูกคนสุดท้องจากครอบครัวที่มีลูกห้าคน เติบโตในชายแดนอันห่างออกไปกว่า 80 กม. พ่อแม่รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ได้เงินวันละไม่กี่สิบบาท ทำให้มีโภชนาการที่ไม่ดี และเป็นโรคกระดูกอ่อน แข้งขาหมดแรง ครูบาเจอบุญธรรมตอนไปเดินธุดงค์ และเชื่อว่ามีวาสนาต่อกัน ทั้งยังทำนายว่าจะได้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน จึงนำมาชุบเลี้ยงแต่เขาอายุน้อยเกินไป จึงต้องรอจนกว่าบุญธรรมจะอายุเจ็ดขวบถึงจะบวชได้, พะโป้และตุ๊กแก สองสามเณรจากเผ่าลาหู่ เข้ามาขอทานในวัด เพราะพ่อแม่ป่วยเป็นวัณโรค และพวกเขาเคยติดยาอย่างหนัก ปัจจุบันทั้งสองบวชเณร ตุ๊กแกตัวเล็ก ซุกซน เฉลียวฉลาด ส่วนพะโป้ขี้อายไม่ค่อยกล้าแสดงออก

ฝึกสมาธิกลางสายฝน
ฝึกสมาธิกลางสายฝน

เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐ เอ็นจีโอ ชาวบ้านที่มาทำบุญ และการขายเครื่องรางของขลัง วัดบ้านป่าแห่งนี้จึงเป็นทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน เป็นโรงหมอ เป็นที่บูชาพึ่งพิง พระครูบาเหนือชัยจึงเป็นทั้งครู ทั้งพ่อ และเพื่อน เป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้คนในชุมชน ใครเจ็บใครจนก็มาหา แต่การเข้ามาของคนแปลกถิ่นอย่างท่านก็ทำให้บางครั้งท่านก็เคยถูกลอบทำร้ายอยู่เนืองๆ ทั้งจากชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทหารลาดตระเวน หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้

“ถ้าอยู่กับทางโลก เด็กพวกนี้จะไม่ได้เรียนหนังสือเลย พวกเขาก็จะเป็นปัญหาของสังคม หรือเศษสวะของสังคมแน่นอน” คำสอนในนามแห่งความดีงาม ความช่วยเหลือที่มีต่อผู้ทุกข์ยากหรือคนบาปเศษสวะ ถูกเน้นย้ำหลายต่อหลายครั้ง ครูบาจึงเป็นดังคนดีพ่อพระผู้ฉุดชาวบ้านขึ้นมาจากขุมนรก ให้วิชาความรู้ ภูมิปัญญา เช่น ในเรื่องจะเห็นวิธีการรักษาม้าแบบบ้านๆ ของครูบา (ซึ่งเป็นม้าที่ป่วยเพราะครูบาพยายามจะฝืนมันให้ลุยข้ามแม่น้ำเชี่ยวกรากจนมันขาหัก), การฝึกสมาธิกลางสายฝน หรือการสักยันต์ตามร่างกาย, บทสวดคำสอนและธรรมเนียมแหวกแนวในหมู่สงฆ์กลุ่มนี้ที่ก็เป็นคำถามคาใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคำสอนตามหลักพุทธศาสนาด้วยหรือไม่?

Buddha's Lost Children 6

ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมจึงไม่มีหน่วยงานทางภาครัฐเข้ามาให้ความดูแลช่วยเหลือเด็กตามแนวตะเข็บชายแดนเหล่านี้ ซึ่งหากคนไทยดูสารคดีเรื่องนี้ก็อาจจะตามมาด้วยคำถามว่า หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการจริงๆ พวกเขาคงต้องผ่านการพิสูจน์ก่อนว่าเป็นไทยหรือไม่ใช่ไทย เพราะอยู่กันหลายเผ่าพันธุ์ อย่างที่มีปัญหากันเสมอมาในหมู่ผู้อพยพตามชายแดน ซึ่งอาจตามมาด้วยความไม่ปลอดภัยของชาวบ้าน

สารคดีเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดอย่างงดงาม ซึ่งก็มีอยู่หลายครั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการจัดฉาก คือมีบางฉากไม่ได้ถ่ายโดยทันทีทันใดจากสถานการณ์ตรงหน้า แต่ให้ชาวบ้านหรือพระเณรทั้งหลายแสดงเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมา ขณะเดียวกันหนังก็มีลักษณะแบบไม่ตัดสิน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เน้นพาคนดูไปสังเกตแง่มุมต่างๆ เราจึงจะได้เห็นว่ามีหลายต่อหลายฉาก ครูบาสั่งสอนชาวบ้านและลูกศิษย์ ราวกับการแสดงฉากใหญ่ ที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นเพียงการแสดงต่อหน้ากล้อง หรือเป็นธรรมชาติจริงๆ ของครูบาอยู่แล้ว รวมถึงขณะที่พระครูสอนสั่งให้ละซึ่งโลภ โกรธ หลง ก็กลับพบว่าท่านเองนั้นเต็มเป็นด้วยความหงุดหงิดเกรี้ยวกราดและโมโหร้ายในหลายๆ คราว

 การสักยันต์สามเณร
การสักยันต์สามเณร

Buddha’s Lost Children ตระเวนฉายตามเทศกาลทั่วโลกมากกว่า 88 เทศกาล และกวาดรางวัลจากหลายเทศกาล อาทิ รางวัล Grand Jury Prize จาก สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (AFI), รางวัล Jury Prize จาก Newport Beach, รางวัล Silver Dove จากเทศกาลสารคดี Leipzig DOK ฯลฯ

ตัวเวอร์เคิร์ก ผู้กำกับนั้น ให้สัมภาษณ์ในเชิงสนับสนุนคุณความดีของพระครูบาเหนือชัยผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ แต่ก็ตั้งคำถามเล็กๆ ด้วยว่า “วัยเยาว์ของเด็กกลุ่มนี้ถูกพรากไป ท่ามกลางการต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออยู่รอดจากภัยธรรมชาติ, ความเจ็บป่วย, ความยากจน พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานสะดวกสบาย ต้องออกธุดงค์อย่างยากลำบาก แต่พวกเขาไม่มีหนทางเลือกอื่นเลย…และวิถีชีวิตแบบนี้ถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะเพศชายเท่านั้น ขณะที่หากเป็นเพศหญิงก็ไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือแบบนี้ บ่อยครั้งทางรอดของเพศหญิงจากชุมชนเหล่านี้คือการไปขายบริการทางเพศในเมืองหลวง”

หมายเหตุ: 1. ล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ครูบาเหนือชัยก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับมอบปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ “สาขาสันติภาพโลก” จากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นปริญญาที่มีคนดังและคนดีหลายต่อหลายคน (หนึ่งในนั้นคือเณรคำ) ในเมืองไทยได้รับหลายต่อหลายครั้ง จนเมื่อกลางปีที่แล้ว ดีเอสไอก็ประกาศให้มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกกลายเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อนไปในที่สุด

2. บทสัมภาษณ์เพิ่มเติม

3. ตัวอย่างภาพยนตร์