ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนลักลอบทิ้งขยะพิษ พื้นที่ปนเปื้อนจากหนองแหนถึงอนาคตประเทศไทย

บทเรียนลักลอบทิ้งขยะพิษ พื้นที่ปนเปื้อนจากหนองแหนถึงอนาคตประเทศไทย

4 มีนาคม 2014


เวทีเสวนา “บทเรียนหนองแหนกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ลานวัดหนองบัว อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา
เวทีเสวนา “บทเรียนหนองแหนกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ลานวัดหนองบัว อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ครบรอบ 1 ปีการจากไปของผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส กากขยะอุตสาหกรรมยังคงกองทิ้งไว้ที่หนองแหน และชาวบ้านก็ยังต้องสู้ต่อไป ขณะที่สถานการณ์การลักลอบทิ้งของเสียในระดับประเทศยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง และศักยภาพการกำจัดของเสียของไทยที่ไม่เพียงพอรองรับขยะจากอุสาหกรรม ด้านนักวิชาการแนะให้รัฐบาลนำกรอบกฎหมายการกำจัดและฟื้นฟูพื้นที่ขยะอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ มาปรับใช้

อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีเสวนา “บทเรียนหนองแหนกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ลานวัดหนองบัว อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นเกียรติในงานพระราชทานเพลิงศพผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ซึ่งเสียชีวิตครบ 1 ปี หลังจากที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556 จากกรณีที่ต่อสู้กับการลักลอบทิ้งกากของอันตรายในพื้นที่ตำบลหนองแหนกับอิทธิพลท้องถิ่น

โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ผลกระทบและสิทธิของชุมชนในการบำบัดฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ และปัญหาและข้อเสนอในการพัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองสิทธิของชุมชน คือ นายมานัส สวัสดี, นายสรายุทธ สนรักษา, นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง, ดร.แฟรดาซ์ มาเหล็ม, ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์, นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

นายมานัส สวัสดี ชาวบ้านตำบลหนองแหน กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่จับผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียเคมีได้ ก็ไม่มีการลักลอบทิ้งเพิ่มในหนองแหน แต่ของเสียที่เคยทิ้งไว้ส่วนใหญ่ยังคงกองสุมอยู่ที่เดิมไม่มีใครเข้ามารับผิดชอบ มีเพียงบ่อ 15 ไร่ ที่ ม. 7 ตำบลหนองแหนเท่านั้นที่ดำเนินการกำจัดออกไปแล้วแต่ยังไม่ใช่การจัดการที่ถูกต้อง ในขณะที่ขยะส่วนใหญ่ยังไม่มีใครเข้ามาจัดการ แม้ไม่มีสารเคมีมาทิ้งเพิ่ม แต่สารเคมีเดิมที่ตกค้างอยู่ในที่ดินต่างๆ โดยไม่มีจัดการให้ถูกต้อง ก็จะซึมลงดินและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไปไกลถึงไหนแล้วเราก็ไม่รู้

สำหรับผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับในปัจจุบันคือปัญหาด้านสุขภาพ และไม่สามารถใช้น้ำบ่อตื้นเพื่ออุปโภค-บริโภคได้ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลบรรเทาปัญหาโดยให้น้ำชาวบ้านเพื่อดื่ม กิน พอประทังชีวิตไปได้ แต่ยังไม่มีการจัดการที่ดีหรือมีวิธีการที่ถูกต้องถาวร แม้หน่วยงานราชการจะบอกว่าผลการตรวจน้ำในสวนหรือไร่นาที่หนองแหนบริสุทธิ์แล้ว แต่ชาวบ้านหนองแหนยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่นอน เพราะนักวิชาการนำน้ำไปตรวจแล้วพบว่ามีสารพิษปนเปื้อน เช่น เหล็ก ฟีนอล มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของชาวบ้านหนองแหน

นายมานัส สวัสดี ชาวบ้านตำบลหนองแหน
นายมานัส สวัสดี ชาวบ้านตำบลหนองแหน

ด้านนายสรายุทธ สนรักษา ตัวแทนจากเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวว่า สถานการณ์การลักลอบทิ้งขยะในภาคตะวันออกในรอบปีที่ผ่านมานั้นเป็นข่าวน้อยลง เนื่องจากว่าผู้ขนส่งเปลี่ยนวิธีการลักลอบทิ้ง จากเดิมที่เคยทิ้งในที่เอกชน ปัจจุบันก็เริ่มทิ้งในที่สาธารณะและตามถนนแทน เช่น ขับรถให้สารเคมีหกรดไปบนถนนเรื่อยๆ ยาว 3 กิโลเมตร ซึ่งไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่แต่เกิดขึ้นแล้วที่บ้านบึง หรือขายออกจากโรงงานให้กับร้านรับซื้อของเก่าเพื่อไปรีไซเคิล

นอกจากนี้ของที่ขายเพื่อไปรีไซเคิลคือถังสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะถังพลาสติก ซึ่งร้านรับซื้อของเก่าซื้อไปแล้วล้างสารเคมีในถังออก โดยที่ทิ้งน้ำเสียดังกล่าวโดยตรงลงพื้นที่รอบๆ โรงงานซึ่งเป็นไร่นาหรือบ่อปลาบ่อกุ้งของชาวบ้าน แล้วขายถังนี้ต่อให้กับเกษตรกรไว้ใส่ปลา กุ้ง ปุ๋ย เมล็ดพันธ์ุพืช ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคมีอันตราย เช่น โทรีน ไซยาไนด์ และบางครั้งข้างถังก็ไม่มีฉลากติดไว้ ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงระบุสาเหตุไม่ได้ เช่น ลูกจ้างร้านรับซื้อของเก่าโดนสารเคมีหกรดตัวและแขนขณะเปิดฝาถัง ทำให้เกิดแผลทั่วแขนและตัว ต้องใช้เวลารักษายาวนานมาก ซึ่งหมอก็ระบุไม่ได้ว่าโดนสารเคมีใด เพราะที่ถังไม่มีฉลากติดไว้

อีกกระบวนการคือร้านรับซื้อของเก่าซื้อถังสารเคมีออกจากโรงงาน แล้วนำไปฝังไว้ใต้ดินบริเวณโรงงานคัดแยกขยะ โดยไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งนิยมทำกันมากในภาคตะวันออก

กระบวนการที่จะบำบัดที่ดีต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แล้วต้องนำไปกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกต้องในโรงงานที่มีใบอนุญาตทันทีเมื่อพบการลักลอบทิ้งเหล่านี้ แต่ที่เห็นคือกระบวนการจัดการที่ไม่รับผิดชอบเช่น ไม่มีวัสดุรองก้นบ่อเพื่อป้องกันน้ำเสียซึมลงน้ำบาดาล ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาต่อเนื่องเพราะปีที่ผ่านมาหนองแหนน้ำท่วม และน้ำล้นเข้าคลองชลประทานสำหรับทำน้ำประปาและใช้ทำการเกษตร เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำนา ของชาวบ้าน ซึ่งน้ำเสียจากบ่อขยะก็ล้นไปถึงคลองชลประทานด้วย แล้วสารพิษก็ปนเปื้อนกับอาหารอยู่ในวัฏจักรห่วงโซ่อาหารของทุกคน แล้วสุดท้ายน้ำก็ไหลลงทะเลไปปนเปื้อนแหล่งอาหารในอ่าวไทยต่อไป

“ใครจะเป็นนักวิชาการมาประเมินผลกระทบผมไม่สนใจ แต่ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างผมเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาโครงการหรือไม่ก็เพียงพอแล้ว นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการ เพราะทุกวันนี้ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมในการอนุมัติอีไอเอด้วยซ้ำ” นายสรายุทธกล่าว

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมของประเทศไทยว่ามีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะขยะพิษเหล่านี้จะแปรผันตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ประเทศส่งเสริมมาโดยตลอด

ประมาณปี 2530 ในช่วงที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นยุคแรกๆ ของการลักลอบทิ้งกากของเสีย ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่ส่งเสริมในตอนนั้นคือปิโตรเลียม เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ โรงเหล็ก ซึ่งก่อนหนองแหนก็มีหลายพื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งกากของเสีย เช่น ที่ระยอง และรอยต่อระหว่างชลบุรี-ระยอง และปี 2539 ก็มีคนถูกยิงตายเพราะต่อสู้ไม่ให้เขตรับน้ำฝนที่ใหญ่สุดในภาคตะวันออกกลายเป็นหลุมฝังกลบขยะอันตราย ต่อมาปี 2541 การลอบทิ้งขยะที่ภูตาหลวงเป็นข่าวใหญ่ หรือท่อน้ำทิ้งตลอดทางมาบตาพุดก็จะเปิดท่อทิ้งไว้หลายจุดเพื่อทิ้งน้ำเสียโดยตรงจากอุตสาหกรรม

ตัวเลขอย่างเป็นทางการพบว่า ขยะพิษจากอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2529 ถึงปัจจุบัน จาก 5 แสนตันเป็นเกือบ 4 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่แท้จริงจะเป็นเท่าไหร่นั้นไม่มีใครบอกได้แม้แต่ส่วนราชการเอง เนื่องจากระบบบันทึกข้อมูลของประเทศไทยไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกคุกคามหรือได้รับผลกระทบรุนแรงจากขยะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น เพราะปี 2551-2552 ญี่ปุ่นทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียนทั้งหมด ซึ่งข้อตกลงหมวดหนึ่งระบุว่า “สินค้าใดๆ ก็ตามที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว เหมาะแก่การทิ้งหรือกำจัดทิ้งอย่างเดียวก็ถือเป็นสินค้านำเข้าได้” ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นขยะอันตรายทั้งสิ้น เช่น ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะ กากตะกอนจากบ่อบำบัดน้ำเสีย กากเคมี ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม ขยะเวชภัณฑ์ ฯลฯ รวมกว่า 100 รายการ

แม้ว่าข้อตกลงจะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกขยะไปญี่ปุ่นได้เช่นกัน แต่ความจริงคือ 1. ญี่ปุ่นมีขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมปีละกว่า 400 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศไทยมีตัวเลขอย่างเป็นทางการไม่ถึง 4 ล้านตันต่อปี 2. มีกลุ่มธุรกิจของญี่ปุ่นในไทยจำนวนมากในรูปของ “ศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อมครบวงจร” ซึ่งก็คือโรงงานคัดแยกขยะ แปรรูปขยะ หลุมฝังกลบขยะอันตราย เตาเผาขยะ และโรงบำบัดอื่นๆ ฉะนั้น คำว่าศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อมครบวงจรจึงเป็นคำที่อันตรายมากสำหรับคนไทย ซึ่งบางพื้นที่ที่ชาวบ้านไม่คัดค้านก็สามารถสร้างได้

แต่ถ้าสร้างศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อมครบวงจรไม่ได้ ก็จะเกิดการลักลอบทิ้งเช่นที่หนองแหน เพราะว่าขยะนั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน ซึ่งพื้นที่เป้าหมายที่จะถูกลักลอบทิ้งคือ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่า เชิงเขา แม่น้ำลำคลอง ทะเล ฉะนั้น ในอนาคตประเทศไทยจะมีพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันศักยภาพของเตาเผาขยะและหลุมฝังกลบทั้งหมดในไทยนั้นสามารถกำจัดขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมได้แค่เพียงร้อยละ 50-60 เท่านั้น อีกทั้งค่ากำจัดขยะอุตสาหกรรมมีราคาสูงมาก ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่เสมอ

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ด้าน ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถเอากรอบกฎหมาย และกระบวนการฟื้นฟูจากต่างประเทศ เช่น อเมริกา มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียในไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องผลิตกรอบขึ้นมาใหม่

เมื่อ 60 ปีที่แล้วอเมริกาก็มีเรื่องอย่างหนองแหน คือ มีการขุดคลองเพื่อผลิตไฟฟ้ากระแสตรง แต่ต่อมาโครงการก็ยกเลิกไปเมื่อมีไฟฟ้ากระแสสลับใช้ ทำให้คลองขุดนี้กลายเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน ต่อมาอุตสาหกรรมก็มาเช่าที่เพื่อทิ้งกากอุตสาหกรรมจากสงครามโลกจำนวนมาก โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายในอนาคต หลังจากนั้นพื้นที่นี้ก็ปิดลงและขายไป 1 เหรียญสหรัฐเพื่อสร้างโรงเรียนและชุมชน ซึ่ง 20 ปีต่อมาสารพิษเหล่านั้นก็เริ่มโผล่ออกมาตามพื้นบ้าน พื้นที่สวน ทำให้ชุมชนออกมาประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่เพราะเริ่มมีเด็กเสียชีวิตจากการเป็นลูคีเมียจำนวนมาก

เมื่อสหรัฐฯ รู้ว่ามีปัญหาก็ทำกรอบกฎหมายขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหานี้ และกลายเป็นแม่แบบทางกฎหมายให้กับหลายๆ ประเทศ นั่นคือ เมื่อเจอพื้นที่ปนเปื้อน จะมอบหมายให้หน่วยงานเพียง 1 แห่งจัดการแก้ไขอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนและมีหลายหน่วยงานมาจัดการปัญหา แต่สุดท้ายแล้วก็หาผู้รับผิดชอบหลักไม่ได้

ต่อมาก็ขนย้ายของเสียออกนอกพื้นที่ทันทีโดยไม่ต้องรอหาผู้ลักลอบทิ้ง ไปบำบัดที่โรงงานที่มีอนุญาตถูกต้อง แล้วค่อยไปฟ้องร้องหาผู้ก่อมลพิษภายหลัง ซึ่งกฎหมายระบุระยะเวลาที่ชัดเจนในการกำจัดกากของเสียแต่ละประเภท หลังจากจัดการแหล่งกำเนิดกากของเสียแล้วก็จะประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่าเข้าข่ายต้องฟื้นฟูหรือไม่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การประเมินตายตัว และใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ถ้าประเมินแล้วพื้นที่ใดต้องฟื้นฟูก็จะขึ้นบัญชีไว้ ถ้าไม่ต้องฟื้นฟูก็จบกระบวนการ แต่จะสื่อสารกับชุมชนก่อนว่าเห็นด้วยกับการประเมินหรือไม่ และให้เวลาชุมชนซักถามรัฐ 60 วัน โดยรัฐจะต้องตอบคำถามและฟังข้อร้องขอของชุมชนด้วย หากพื้นที่ใดเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรัฐก็จะหาผู้ก่อให้เกิดผู้มลพิษ พร้อมๆ กับการฟื้นฟูคู่ขนานกันไป

ในขณะที่ไทยไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อการฟื้นฟูหลังเอากากของเสียออกนอกพื้นที่ และเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องตั้งโต๊ะผู้เชี่ยวชาญมานั่งคุยกัน หรือมีการร้องขอจากชุมชนก่อนถึงจะประเมินผกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องฟ้องร้องให้ผู้ก่อมลพิษมาชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมาย แต่ของอเมริกาจะตั้งกองทุนเพื่อใช้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยเก็บภาษีจากกิจการที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งดอกเบี้ยรัฐจะเรียกจากผู้ก่อมลพิษเพื่อนำกลับเข้ากองทุนในภายหลัง แต่ถ้าหาผู้ก่อมลพิษไม่ได้ เช่น บริษัทล้มละลาย หรือรัฐแพ้คดี ก็จะใช้เงินจากกองทุนมาจ่าย

ทั้งนี้กระบวนการฟื้นฟูจะมีคู่มือกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน ซึ่งง่ายมากที่หน่วยงานรัฐของไทยจะนำมาใช้ และหลังจากฟื้นฟูเสร็จแล้วก็มีการติดตามเฝ้าระวังอีก 5 ปี

ดร.แฟดาซ์ มาเหล็ม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ดร.แฟรดาซ์ มาเหล็ม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ด้าน ดร.แฟรดาซ์ มาเหล็ม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนราชการต้องมองการแก้ปัญหาทั้งระบบ สิ่งใดที่ยังไม่เกิดเราก็ไม่ต้องการให้เกิด สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องแก้ไข โดยศึกษาว่าปัญหานั้นๆ รุนแรงแค่ไหน สารพิษนั้นอันตรายอย่างไร แพร่กระจายไกลแค่ไหนอย่างไร แล้วดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีไหนดีที่สุด

“การแก้ไขปัญหาไม่ง่าย ต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนัก สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งก็ไม่ง่ายเช่นกัน ทุกอย่างอยู่ที่จิตสำนึกของเราว่าจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดปัญหาก็จะเกิดน้อยลง” ดร.แฟรดาซ์กล่าวและบอกต่อไปว่า ทางกรมส่งเสริมฯ นั้นทำงานร่วมกับทั้งภาคเอกชน ประชาชน และองค์กรรัฐอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีงานวิจัยเพื่อศึกษาการแก้ปัญหา เช่น กรณีที่หนองแหน เราก็กำลังศึกษาวิจัยอยู่ เพื่อให้ข้อมูลที่เหมาะสมและทางเลือกแก่ผู้ที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่อไป

ด้านนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จะแก้ปัญหาได้หน่วยงานราชการต้องปรับตัวและแก้ไขกฎกติกาโดยยกเลิกการรวบอำนาจ ปล่อยให้หน่วยงานราชการเป็นเพียงผู้ตรวจสอบ และให้ความเห็น แล้วไปถามชุมชนว่าสมควรจะอนุญาตให้ความเสี่ยงต่างๆ จากอุตสาหกรรมนั้นๆ อยู่ในชุมชนหรือไม่

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมอันตรายของไทยคือ โรงสีข้าว โรงไม้ขีดไฟ โรงงานทำน้ำกรด โดยเฉพาะโรงงานทอผ้าที่ทำให้ไร่นาโดยรอบเสียหายนับพันไร่ แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยอำนาจของหน่วยราชการในการพิจารณาอนุญาตก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอุตสาหกรรมในยุคนั้นได้ แล้วจะแก้ปัญหาสารพิษจากอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ปิโตรเลียมและอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร

ด้านอำนาจในการพิจารณาใบอนุญาตโรงงานก็เป็นแบบรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานในกรุงเทพฯ ส่วนหน่วยงานระดับจังหวัดทำหน้าที่เพียงให้ความเห็นผ่านเท่านั้น แล้วส่งเรื่องไปให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ฉะนั้น การอนุมัติอนุญาตจึงพิจารณาบนเอกสารเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง

จากประสบการณ์การตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิชุมชน กรมโรงงานอุตสาหกรรมตอบคำถามไม่ได้เลยว่าโรงานที่อนุญาตให้ก่อตั้งไปนั้นผลิตสารพิษใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ แล้วเมื่อถามว่าสร้างผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ ก็จะตอบว่าไม่เกิดผลกระทบเพราะโรงงานนั้นมีระบบบำบัดแบบปิด ส่วนราชการจะเดือดร้อนให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบเฉพาะกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าระบบปิดนั้นไม่มีจริง แล้วก็ออกคำสั่งปิดโรงงาน แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนก็อนุญาตให้เปิดโรงงานได้ ด้วยเหตุผลว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าค่าสารพิษไม่เกินมาตรฐาน

คำว่า “ไม่เกินค่ามาตรฐาน” มีปัญหามากในทางกฎหมาย เพราะกฎหมายกำหนดมาตรฐานไว้มากมาย เช่น ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่ไม่เกินค่ามาตรฐานของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนั้น ตนคิดว่าคนมากมายต้องบอกว่าเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้แน่นอน หรืออาจร้ายแรงถึงโรคทางเดินหายใจหรือกลายมะเร็งในอนาคต ซึ่งเชื่อว่ามีหลักฐานทางการแพทย์ที่รองรับข้อเท็จจริงนี้ได้ แต่ในทางอุตสาหกรรมแล้วถือว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน

เมื่อกระบวนการทางกฎหมายมีข้อจำกัดในตัวเอง และมีความล้าหลังอย่างนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีผลงานทางวิชาการอีกมากมาช่วยกันค้นปัญหาแล้วช่วยกันดูบทกฎหมาย ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการอุตสาหกรรม กฎหมายว่าด้วยการก่อตั้งโรงงาน กฎหมายว่าด้วยคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพ ฯลฯ ทั้งนี้ปัญหาต้นตอที่สำคัญคือ การอนุญาตโรงงานเหล่านั้นมีการเห็นชอบจากชุมชนแต่เพียงในนามและรูปแบบ โดยไม่เคยมาสอบถามความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ ว่าเขายอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดจากกิจการนั้นๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยของเขาหรือไม่

อีกทั้งหน่วยงานรัฐไม่เคยตรวจสอบรายงานประชาคมและยอมรับข้อมูลเท็จเหล่านี้ โดยไม่เคยย้อนกลับไปทบทวน หรือดำเนินการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตประการใด แม้กรรมการสิทธิจะตรวจพบว่ารายงานที่ประชาคมให้ความเห็นชอบนั้นเป็นความเท็จ เพราะไม่ได้ประชุมจริง หรือมีคนประชุมไม่ครบตามที่ระบุในรายงาน หรือปลอมการเซ็นรายชื่อ

นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

แม้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จะกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเชิงประชาพิจารณ์ และรัฐธรรมนูญปี 2550 ขยายความต่อว่าต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่อีไอเอนั้นก็มีค่าเพียงเอกสารประกอบการพิจารณาอนุญาต นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าอีไอเอปฏิบัติได้ไม่จริงและปัญหามาตรฐานความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ปรึกษาทำอีไอเอด้วย เพราะแม้จะตรวจพบว่าบริษัทดังกล่าวทำอีไอเอไม่ถูกต้อง ข้อมูลมั่ว หลอกชุมชน หรือทำเอกสารปลอม บริษัทเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการตรวจสอบจากราชการว่าไม่สมควรที่เป็นผู้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

ความล้าหลังทางกฎหมายและปัญหาการรวบอำนาจที่ฝังรากลึกของสังคมไทย เป็นเรื่องง่ายมากที่อำนาจรัฐจะคุยกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่รู้เรื่องมากกว่าที่จะคุยกับประชาชนจำนวนมากๆ อย่างที่ราชการไทยเป็นมาโดยตลอด ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแก้ตัวบทกฎหมาย แต่ต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างหน่วยงานราชการ

เวลานี้ประเทศไทยต้องทำให้ประสบการณ์เรื่องกากของเสียอุตสาหกรรม 30-50 ปีจากต่างประเทศนั้นกลายเป็นการรับรู้ในเวลาอันสั้นของภาคประชาชน แล้วภาคประชาชนก็มีหน้าที่ทำให้หน่วยงานราชการปรับตัวและแก้ไขกฎกติกาทั้งหมด

ด้านนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้คือรัฐ เพราะว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนและชุมชนไว้แล้ว แต่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้สิทธิดังกล่าวเป็นจริงในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้รัฐก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ที่รัฐทำไม่ได้เพราะปัญหา 2 ส่วน คือ ปัญหาทางการปฏิบัติและปัญหาเชิงโครงสร้าง ในระดับปฏิบัติคือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุมัติ อนุญาตนั้นมีหน้าที่ควบคุมให้โรงงานไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าการกำกับควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น หลายๆ กรณีที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ อาจไม่มีแรงจูงใจหรือไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หรืออาจแก้ไขเป็นรายกรณีไป แต่การแก้ไขให้สภาพแวดล้อมกลับมาดีดังเดิมนั้นยังมีน้อย

ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยคือ ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักเมื่อเกิดการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาเราอาจจะนึกถึงกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ คพ. ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างก็มีเหตุผลที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบเหล่านี้ได้ ดังนั้น เมื่อไม่มีผู้รับผิดชอบหลัก เวลาเกิดปัญหาจึงต้องตั้งกรรมการขึ้นมาจากหน่วยงานต่างๆ กว่า 10 แห่ง ด้านการแก้ปัญหาและฟื้นฟูโดยเอกชนก็เกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถืออีก เพราะชุมชนไม่เชื่อมั่นว่าเอกชนจะแก้ปัญหาจริงหรือแก้ไขไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะหน่วยงานกว่า 10 แห่งแม้จะเข้าไปมีส่วนร่วมแต่ก็ไม่ได้ให้หลักประกันว่าการแก้ไขของเอกชนจะเป็นไปตามมาตรฐาน

การแก้ปัญหานี้จะสำเร็จได้ต้องออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ เช่น โมเดลของสหรัฐฯ ในการตั้งองค์กร DPA ขึ้นครั้งแรก ผู้อำนวยการคนแรกปฏิญาณต่อสภาว่า “องค์กรนี้ไม่ได้มีภารกิจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรืออการค้า แต่มีภารกิจหลักคือ วางหลักการและจริยธรรมสิ่งแวดล้อม” ดังนั้น การทำหน้าที่วางมาตรการสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎหมาย การติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้น จึงเป็นไปตามหลักการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แต่ปัจจุบัน เวลาที่จะสร้างมาตรการทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมักจะกังวลเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ อย่างกรณีการคัดค้าน 76 โครงการที่มาบตาพุด ก็มีกระแสที่พูดกันบ่อยมากว่า ถ้าโครงการสานต่อไม่ได้เศรษฐกิจจะเสียหาย 300,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยจะมีปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ในระยะยาวอาจสร้างกลไกให้ชุมชนและประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานนี้ด้วย มิฉะนั้นหน่วยงานก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปเรื่อยๆ และไม่มีการพัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้

ด้านการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอาจไม่มีประสิทธิภาพพอถ้าขาดการช่วยเหลือจากภาควิชาการ ฉะนั้น กลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้เต็มที่นั้น เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะทำให้การมีส่วนร่วมเป็นจริงในทางปฏิบัติ รวมถึงเรื่องการตั้งกองทุนในแวดวงวิชาการก็สนับสนุนให้มีมานานแล้ว

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ทั้งนี้ นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องขยะอันตรายเป็นปัญหาสำคัญมากของประเทศไทย และคุกคามไปหลายพื้นที่ ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องอาศัยหลายๆ มิติต่างๆ กัน ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีหลายฉบับ แต่เรื่องที่สำคัญมากคือนโยบาย ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทบทวนนโยบายอย่างจริงจังว่า จะมุ่งหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างที่สภาพัฒน์ฯ หรือนักลงทุนรายใหญ่ๆ ขีดเส้นให้เดินหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอันตรายและคุกคามพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก

ฉะนั้นจึงขอเสนอว่า 1. อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยควรพัฒนาต้องสอดคล้องกับอาชีพและทรัพยากรพื้นฐานของชุมชน

2. มีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่แหล่งผลิตอาหารอย่างเร่งด่วน เพราะพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เปราะบาง หรือพื้นที่สำคัญทางระบบนิเวศ เช่น ป่าชายเลน นาข้าว สวนผลไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ถูกคุกคามจากการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมหรือทิ้งระบายของเสียจากอุตสาหกรรมจำนวนมาก

3. ศึกษาวิจัยพื้นที่ที่มีปัญหาการปนเปื้อนของเสียอุตสาหกรรมทั้งหมดแล้วขึ้นทะเบียนไว้ หากพื้นที่ไหนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนรุนแรงต้องรีบฟื้นฟูก่อนแล้วค่อยไปเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษ มิฉะนั้นเราเสียพื้นที่ดีๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมกับปัญหาสะสมเพิ่มขึ้น

4. ปฏิรูปหรือแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยถอนอำนาจส่วนหนึ่งของกรมออกมาเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้อนุญาต และผู้กำกับดูแลและลงโทษ เพราะหลาย 10 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการลงโทษเจ้าของขยะและผู้ขนส่งไปทิ้ง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกรมโรงงานสามารถตรวจสอบได้ ลงโทษได้ เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีผลประโยชน์ทับซ้อนของอำนาจหน้าที่คือทั้งส่งเสริมการลงทุน ออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ควบคุมจัดการขยะจากอุตสาหกรรมด้วย

5. กำจัดสายพานการคอร์รัปชันของธุรกิจขยะ เพราะเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลและมีผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับประโยชน์ในทุกระดับตั้งแต่เอกชนและข้าราชการส่วนกลางยันท้องถิ่น ซึ่งเราจะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะไม่ได้ถ้ากำจัดอิทธิพลท้องถิ่น และการคอร์รัปชันของกลุ่มทุนและข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้

และ 6. สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ดีและเข้มแข็ง แต่ต้องไม่เป็นกลไกตายตัว เพราะจะกลายเป็นภาระมากเกินไปของชาวบ้าน โดยมีกลไกที่เปิดกว้างและเกื้อหนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมหรือเข้ามาตรวจสอบได้ทันทีที่ต้องการ เช่น มีงบประมาณ นักวิชาการและข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนทันที เพราะทุกปัญหาหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่ได้ และบางปัญหา เช่น เรื่องกากของเสียอุตสาหกรรม เป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะตรวจสอบและเข้าใจถึงอันตรายได้

ส่วนนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ กล่าวว่า รากฐานของการแก้ปัญหาคือการเชื่อมั่นในพลังของตนเอง และใช้พลังของตนเองในการทำงาน ถ้าชาวบ้านมีตรงนี้อย่างอื่นจะตามมาทั้งนักวิชาการ องค์กรอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน กรรมการสิทธิ สภาทนายความ ฯลฯ แต่ที่ยังไม่มีอะไรตามมาเพราะเขาไม่รู้ เนื่องจากชาวบ้านแม้จะมีสิทธิแต่กลับไม่ใช่อำนาจของตัวเองเลย สิทธินี้เตรียมไว้ให้คุณแสดงอำนาจของตัวเอง แต่เมื่อคุณไม่ใช่อำนาจนั้น สิทธิย่อมอยู่แต่ในตัวบทกฎหมาย จึงไม่กลายเป็นการปฏิบัติจริง

การใช้อำนาจของตัวเอง บางครั้งอาจต้องสูญเสียต้องแลกด้วยชีวิต ดังนั้นทุกคนจึงต้องทำงานกันอย่างระมัดระวัง และเมื่ออำนาจชาวบ้านเพิ่มขึ้นอำนาจเถื่อนจะลดลง ในพื้นที่ที่มีอำนาจมากก็เพราะประชาชนกลัวและไม่กล้าต่อสู้ทำให้อำนาจจึงนั้นยังคงอยู่แล้วขยายอิทธิพลไป แต่เมื่อไหร่ที่มีคนกล้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อิทธิพลเหล่านั้นจะลดลง

“ถ้าชาวบ้านเห็นความสำคัญของการใช้อำนาจก็จงรวมตัวกัน จากนั้นพยายามทำให้การจับมือกันระหว่างอำนาจในระบบกับอำนาจนอกระบบที่เคยเหนี่ยวแน่นคลายออกและเลิกจับมือกันให้ได้ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านจะตรวจสอบและร่วมมือกันทำงานได้ดีแค่ไหน มีพลังงานหรือไม่ ซึ่งถ้าชาวบ้านทำได้ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

นายสรายุทธ์ สนรักษา ตัวแทนจากเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก
นายสรายุทธ สนรักษา ตัวแทนจากเครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก

ด้านนายสรายุทธ สนรักษา กล่าวว่า พื้นที่จากหนองแหนไล่ถึงปากน้ำบางปะกงนั้น เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีตามแผนที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เฉพาะพื้นที่หนองแหนเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของประเทศ เช่น หมู ก็สลับกันเป็นอันดับหนึ่งของประเทศกับนครปฐม ที่ตำบลบ้านโพธิ์ก็เป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกราม กุ้งกุลา และกุ้งขาว รวมแล้วผลิตกุ้งกว่าร้อยละ 60 ของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตไข่ไก่อันดับหนึ่งของประเทศไทย รวมถึงเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดอันดับต้นๆ ของไทยด้วย ซึ่งทุกพื้นที่ของไทยต้องมาซื้อปลาจากบ่อเพาะฟักลูกปลาที่นี่ หรืออย่างข้าวหอมมะลิแปลงที่ 105 ก็ชนะการประกวดที่บางคล้าเมื่อปีที่ผ่านมา

“จากทรัพยากรทั้งหมดที่เรามีผมรู้สึกว่าที่นี่ไม่ควรเป็นแบบนี้ แล้วเราทุกคนเกี่ยวพันกับอาหารที่นี่ เพราะต้องกินปลา กุ้ง ผัก เห็ด มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแรด เราในฐานะเกษตรกรผู้โดนกระทำ มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าลุกขึ้นมาคัดค้าน ที่เหลือต่างก็กลัว เพราะเรามีบ้านใหญ่ (ผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น) หลายบ้าน และอยู่ในดงมือปืน ฉะนั้น สังคมโดยเฉพาะผู้บริโภคควรช่วยเราด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เราออกมากันเองเพราะมันยากมาก” นายสรายุทธกล่าวและบอกต่อไปว่า ไม่ใช่แค่หนองแหนที่ถูกลักลอบทิ้งขยะ แต่พื้นที่ผลิตอาหารถูกลักลอบทิ้งพรุนไปหมด แม้แต่ใจกลางไข่แดงของพื้นที่ ซึ่งผลกระทบนี้จะส่งผลถึงผู้บริโภคทุก ด้านอธิบดีกรมโรงงานก็พูดชัดว่ากากของเสียอุตสาหกรรมหายไปจากระบบ 2 ล้านตันต่อปี เพราะมีเจ้าหน้าที่พนักงานไม่เพียงพอ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่า แล้วจะอนุมัติโครงการอื่นๆ ต่อไปอีกทำไม

นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ กล่าวเสริมว่า อธิบดีกรมโรงงานให้สัมภาษณ์ว่า ศักยภาพการกำจัดขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปีจากปริมาณขยะ 2-3 ล้านตันต่อปี ซึ่งตนรู้สึกว่าเมื่อศักยภาพกำจัดขยะของไทยมีไม่ถึงศักยภาพการผลิตขยะแล้วปล่อยให้อุตสาหกรรมที่ผลิตของเสียเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงยิ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า “กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและส่งเสริมอุตสาหกรรมยิ่งกว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน” ฉะนั้น ในระยะสั้นเราต้องกดดันกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่เพื่อให้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา แต่ในระยะยาวเราต้องแยกเรื่องการกำกับดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วไปอยู่ในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยรวม

สุดท้าย นายมานัส สวัสดี กล่าวว่า ในฐานะคนหนองแหน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดที่นี่แต่ก็มีครอบครัวและใช้ชีวิตที่นี่มานาน ซึ่งเราก็รักและหวงสิทธิของเรา เมื่อเกิดปัญหาเราก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเองก่อน เมื่อเรารับไม่ไหวแล้วก็ดึงหน่วยงานอื่นเข้ามาปกป้องและแก้ปัญหาให้ บางครั้งการต่อสู้ของเราแม้ว่าจะมีคนล้มหายตายจากไป แน่นอนว่าความโศกเศร้าจะอยู่กับครอบครัวเขามากที่สุด แต่เราในฐานะผู้เป็นแนวร่วมก็โศกเศร้าเช่นกันที่ต้องสูญเสียคนในกลุ่มไป

“งานในวันนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้กล้าและวีรชนของเราอย่างผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ซึ่งแม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่เสียชีวิตจากกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในชุมชน และอาจจะต้องมีคนที่ 2 หรือ 3 ต่อจากผู้ใหญ่อีก ซึ่งคนคนนั้นอาจจะเป็นผม ผมก็ยินดีครับเผื่อว่าผมจะเป็นคนสุดท้ายที่ทำให้เรื่องนี้จบสักที ทั้งความสูญเสียและสิ่งไม่ดีทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นในชุมชน หลังจากที่ผู้ใหญ่จบเสียชีวิตไปคนหนองแหนก็ไม่เสียขวัญ ยังมีพวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้อีก เราพร้อมที่จะเป็นคนต่อๆ ไปอย่างผู้ใหญ่จบ เพื่อให้ครอบครัว ลูกหลาน มีชีวิตอยู่ได้เหมือนวิถีชีวิตที่เคยอยู่มา”