ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วงจรอุบาทว์ขบวนการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ติงสื่อ-ชาวบ้าน อย่าติดกับดักใช้เงินภาษีไปบำบัด

วงจรอุบาทว์ขบวนการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ติงสื่อ-ชาวบ้าน อย่าติดกับดักใช้เงินภาษีไปบำบัด

6 มิถุนายน 2013


รายงานโดย ดลวรรฒ สุนสุข

การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

สืบเนื่องจากสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “เปิด 40 พื้นที่ขยะพิษภาคตะวันออก ปัญหา “อันตราย” ของคนไทย” พบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีกากอุตสาหกรรมบางส่วนหายออกจากระบบ มีกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 30 ล้านตัน กากอุตสาหกรรมอันตราย 2 ล้านตัน พบพิรุธหลายอย่างในขั้นระบบการขนส่งและบำบัดกากอุตสาหกรรม

ขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมได้เผยถึงขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมว่า ในธุรกิจนี้มีเงินสะพัดหลายพันล้านบาทต่อปี และมีผู้ร่วมขบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่นักการเมืองระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการในหลายหน่วยงานด้วยกัน

ทั้งนี้ วงจรอุบาทว์ของขบวนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม มีวิธีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีนายหัวใหญ่ระดับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงคอยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่เรื่องการประมูลรับชื้อกากอุตสาหกรรม ไปจนถึงการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการบำบัดอย่างถูกวิธี

วงจรอุบาทว์ของขบวนการอุตสาหกรรม เริ่มต้นจากการตั้งบริษัทรีไซเคิลประเภท 106 โดยมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่ออกหางานรับประมูลกำจัดกากอุตสาหกรรมจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้วิธีการตัดราคาจากโรงงานบำบัดอื่นลดลงเหลือประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้โรงงานบำบัดที่มีกระบวนการบำบัดอย่างถูกวิธีไม่สู้ราคา เพราะค่าบำบัดแพง ไม่คุ้ม โดยราคาค่าบำบัดกากอุตสาหกรรมมีตั้งแต่ 1,000 บาทต่อตัน จนถึง 20,000 บาทต่อตัน

หลังจากนั้น ในนามของบริษัทรีไซเคิลประเภท 106 โรงงานดังกล่าวได้ขอใบอนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการให้ค่าหัวคิวประมาณ ตันละ 150-200 บาท เพื่อการอนุมัติให้กากอุตสาหกรรมออกจากโรงงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะพบได้ว่าบางรายไม่มีการแจ้งใบขอนุญาตขนส่ง (Manifest)

จากนั้นจึงดำเนินการติดต่อกับเจ้าของที่ดินในต่างจังหวัดเพื่อทำการซื้อหรือเช่าที่ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นที่ดินที่มีการขุดหน้าดินไปขายและพื้นที่รกร้างใช้ประโยชน์ไม่ได้ ขั้นตอนนี้มีการติดต่อผ่านผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองในพื้นที่ โดยให้ราคาที่คุ้มค่าบ่อละหลายล้านบาทหรือ 200-300 บาทต่อตัน และตกลงกับเจ้าของที่ดินว่า กากอุตสาหกรรมที่นำมาทิ้งนั้นหน่วยงานรัฐจะรับผิดชอบเข้ามากำจัดและบำบัดให้เองโดยเจ้าของที่ไม่ต้องรับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้ามีการสอบสวนให้บอกกับเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่รู้เห็นด้วยแต่มีคนอื่นมาลักลอบทิ้งในที่ดินของตน

วงจรอุบาว์ทกากอุตสาหกรรม

หลังจากได้พื้นที่สำหรับลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมแล้ว ขบวนการนี้ก็ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะได้รับค่าผ่านทางในอัตราประมาณ 200 บาทต่อตัน และอีกส่วนหนึ่งได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่สามารถสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ให้เข้ามาตรวจสอบ โดยให้ค่าหัวคิวประมาณ 200 บาทต่อตัน เช่นกัน ต่อจากนั้น จะมีการติดต่อกับพนักงานที่มีอำนาจในการสอบสวนในเขตพื้นที่ โดยให้ค่าหัวคิวประมาณ 200 บาทต่อตัน

หลังจากเตรียมการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขบวนการขนกากอุตสาหกรรมก็เริ่มขนเข้าพื้นที่ ส่วนมากใช้เวลาขนช่วงวิกาลและลับตาคนให้มากที่สุด

ในส่วนนี้แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า หลายแห่งที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เป็นบ่อขนาดใหญ่ที่มีการขนเข้าไปหลายหมื่นตัน ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะขนกากอุตสาหกรรมมาทิ้งเต็มบ่อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนในท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะไม่รู้เห็นด้วย และจากการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการในจังหวัดระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องทุกบ่อ

หลังจากมีการขนกากอุตสาหกรรมมาทิ้งแล้ว ขบวนการดังกล่าวได้ให้ชาวบ้านเจ้าของที่ดินร้องเรียนแจ้งเข้ามายังกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าโดนลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม หรือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน และมีการเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ส่งฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดิน เพราะตามกฏหมายแล้วเจ้าของที่ดินมีความผิดมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ คือ ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

หลังจานั้นก็ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาและบำบัดกากอุตสาหกรรม โดยใช้มวลชนและชาวบ้านที่ได้ประโยชน์บางคนมากดดัน พอภาครัฐเข้ามาบำบัดก็เปลี่ยนสถานที่แห่งใหม่ เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ขึ้นมาหลายแห่งทั่วประเทศไทย สำหรับพื้นที่ที่พบมากที่สุดอยู่ที่ภาคตะวันออก

แหล่งข่าวระบุว่า วงจรอุบาทว์ลักลอบของการทิ้งกากอุตสาหกรรมนี้มีหลายขบวนการที่ทำในลักษณะเดียวกัน และดำเนินการติดต่อกันหลายปีแล้ว คนที่เสียประโยชน์จริงๆแล้วคือประชาชนที่ต้องนำเงินภาษีมาใช้ในการบำบัด ซึ่งการบำบัดต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะกรมโรงงานฯ ไม่มีงบประมาณบำบัดและไม่สามารถบำบัดเองได้ ซึ่งตามกฏหมายแล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินที่ต้องรับผิดชอบ แต่วงจรอุบาทว์นี้จะใช้สื่อมวลชน ชาวบ้าน โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะต่างๆ กดดันให้หน่วยงานราชการเข้ามาทำการบำบัดให้ ซึ่งกลายเป็นว่ากากอุตสาหกรรมที่ถูกลักลอบทิ้งก็ต้องใช้เงินภาษีประชาชนเข้าไปบำบัดให้ ขณะที่โรงงานที่ผลิตขยะพิษ บริษัทที่รับกำจัดและเจ้าของที่ดินกลับลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แต่ได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว บ่อละประมาณ 20 ล้านบาท หรืออาจเยอะกว่านี้ แล้วแต่ขนาดบ่อและประเภทของกากอุตสาหกรรม

“จะบอกว่าที่ลักลอบทิ้งโดยที่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินไม่ทราบก็มีบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะจำนวนที่เอามาทิ้งมันเป็นจำนวนที่มาก ขนวันเดียวไม่หมดอยู่แล้ว ลงนึกดูว่าต่างจังหวัดหากมีรถขนวันละหลายๆ เที่ยวและต่อเนื่องหลายๆ วัน มีหรือเจ้าของที่ดินจะไม่ทราบ หรือคนที่รับผิดชอบที่ต้องกำกับดูแลจะไม่ทราบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับโทษในการมีส่วนร่วมในการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมีดังนี้ บริษัทผลิตกากอุตสาหกรรม – เข้าข่ายฝ่าฝืนกฏกระทรวงฉบับที่ 2 ที่ออกตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.โรงงาน มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท (มาตรา 45) ซึ่งต้องรับผิดชอบตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 ข้อ 12 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.โรงงานฯ

บริษัทรับบำบัด-เข้าข่ายฝ่าฝืนกฏกระทรวงฉบับที่ 2 ที่ออกตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.โรงงานฯ โดยมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท (มาตรา 45) ซึ่งต้องรับผิดชอบตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 ข้อ 20 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.โรงงานฯ

เจ้าของที่ดิน-เข้าข่ายผ่าฝืนมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งต้องรับผิดชอบตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

เด้ง ผอ.สำนักจัดการกาก กรณีกากล่องหน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกากอุตสาหกรรมหายออกจากระบบ มีคำสั่งย้ายนายไสว โลจนะศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบอีกว่ามีเจ้าหน้าที่อาจมีส่วนรู้เห็นกับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทำให้ขยะอุตสาหกรรมหายไปจากระบบ

โดยนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีใครบ้างที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำให้ระบบดูแลกากอุตสาหกรรมเกิดการหลุดรอดออกไปได้ ส่วนในระดับจังหวัดเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง เบื้องต้นได้หารือกับปลัดแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวน