ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติภัยแล้ง 2557 สาเหตุจากธรรมชาติหรือความผิดพลาดจากนโยบายป้องกันน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง

วิกฤติภัยแล้ง 2557 สาเหตุจากธรรมชาติหรือความผิดพลาดจากนโยบายป้องกันน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง

2 มีนาคม 2014


วิกฤติภัยแล้งปี 2557 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกๆ วัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงกับกล่าวว่านี่เป็นปัญหาภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 10 ปี โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ว 15 จังหวัด 58 อำเภอ การทำนาหรือปลูกพืชของเกษตรกรในหลายจังหวัดเริ่มปล่อยให้เสียหายและยืนต้นตาย เนื่องจากปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งไม่เพียงพอ ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลักๆ ของประเทศมีปริมาณเหลือน้อยเต็มที ประกอบกับปัญหาน้ำทะเลหนุนที่ต้องการการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำมากขึ้นเพื่อเจือจางความเค็ม ปัญหาครั้งนี้ดูใหญ่หลวงยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งที่ว่ากันว่าหนักที่สุดในรอบ 10 ปีนี้ เป็นจริงอย่างที่พูดกันหรือเปล่า แล้วสาเหตุมาจากอะไร บางคนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาน้ำทะเลหนุนที่ปีนี้หนักเป็นพิเศษ ทำให้ต้องใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อเจือจางความเค็ม บางคนว่าสาเหตุมาจากการปลูกพืชฤดูแล้งที่ปีนี้มีปริมาณการปลูกมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งทางกรมชลประทานได้ประกาศเตือนเกษตรให้ลดการปลูกลงแล้วเพื่อประหยัดน้ำ แต่เกษตรกรก็ยังไม่ปฏิบัติตาม หรือสาเหตุอาจจะมาจากปริมาณฝนตกน้อยในช่วงหน้าฝนปีก่อนที่ทำให้กักเก็บน้ำต้นทุนได้น้อยลง หรือจริงๆ แล้วมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี?

ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสาเหตุของการเกิดภัยแล้งในปีนี้ว่าแล้งจริงและหนักแค่ไหน สาเหตุสำคัญคืออะไร

ปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยจริงหรือ?

จากการสำรวจพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่กินอาณาเขตมากที่สุด และมีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากที่สุดทั้งภาคครัวเรือนและภาคเกษตรกร ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำหลักอยู่ 4 ที่ คือ เขื่อนภูมิพล ความจุทั้งหมด 13,462 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อย ความจุ 939 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุทั้ง 4 เขื่อนได้ปริมาตรทั้งหมด 24,871 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า เมื่อต้นฤดูแล้ง 2556/2557 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 (ฤดูแล้งกินเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนในปีถัดไป) ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการจัดสรรในฤดูแล้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหมายถึงน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในช่วงฤดูแล้ง มีปริมาณทั้งหมด 9,153 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำจำนวนนี้นอกจากจะมาจากทั้ง 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีการจัดสรรเพิ่มเติมจากเขื่อนในลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีก 1 ส่วน โดยประมาณการอยู่ที่ 1,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อ 1 ฤดูแล้ง

สถิติของน้ำต้นทุน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 6 ปีย้อนหลัง พบว่าฤดูแล้งปี 2556/2557 ครั้งนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ตามตารางดังต่อไปนี้

ปริมาณการใช้น้ำsheet5

เมื่อน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดูแล้งน้อย ก็ย่อมทำให้แผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งน้อยตามไปด้วย คือ 5,300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนๆ ตามที่เห็นในตารางข้างต้น ทั้งในแง่ปริมาณและสัดส่วนต่อน้ำต้นทุน ทั้งนี้โดยปกติแล้วสัดส่วนของแผนการใช้น้ำต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ คือประมาณ 72-80% แต่ในฤดูแล้ง 2556/2557 นี้กลับตั้งแผนการใช้น้ำอยู่ที่ร้อยละ 58 ของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งน้อยกว่าปกติอย่างผิดสังเกต อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้จากสถิติว่าทุกปีมีการใช้น้ำเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้แทบทั้งสิ้น แต่ก็ยังไม่เกินกรอบของต้นทุนน้ำที่มีอยู่

จากแผนการใช้น้ำปริมาณ 5,300 ล้าน ลบ.ม. ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 รายงานว่าได้มีการใช้น้ำไปแล้วทั้งสิ้น 4,785 ล้าน ลบ.ม. หรือ 90% ของแผน ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนกว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน

ขณะที่ข้อมูลของกรมชลประทานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,839 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48% ของความจุทั้งหมด และสามารถนำไปใช้จริงได้รวมกัน 5,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุทั้งหมด เมื่อค้นหาสถิติปริมาตรน้ำในเขื่อนทั้ง 4 รวมกันของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ย้อนหลัง 6 ปี จะได้ตัวเลขต่อไปนี้
ปริมาณน้ำในเขื่อนsheet4

จากตารางจะเห็นว่า ปริมาตรน้ำเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่ปี 2551-2555 มีปริมาตรสูงกว่าปีนี้ทั้งสิ้น ยกเว้นปี 2553 ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ส่วนปี 2556 พบว่ามีปริมาตรของน้ำอยู่ที่ 47% ของความจุรวม ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้มาก เพราะฉะนั้น จากข้อมูลที่นำมาก็พอจะช่วยยืนยันได้ชัดเจนว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ

ภัยแล้งรุนแรงเหตุเพราะรัฐกลัวน้ำท่วมจริงหรือ?

หลังจากเกิดเหตุอุทกภัยในปี 2554 ทางสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอ. ได้ปรับเกณฑ์การปล่อยน้ำจากเขื่อนหลัก เพื่อให้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งเรียกว่า “เกณฑ์การบริหารอ่างเก็บน้ำเพื่อจัดการน้าท่วม” ซึ่งเดิมเป็นเกณฑ์การบริหารอ่างเก็บกักน้ำแบบทั่วไป

การลดการปล่อยน้ำในช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงท้ายหน้าฝน หมายความว่าจะมีการปล่อยน้ำในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน (ต้นหน้าฝน) ที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับฝนปลายฤดูที่อาจจะมามากผิดปกติ

นอกจากนี้ แผนแม่บทระบบบริหารจัดการโครงการ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง พ.ศ. 2555 ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.ได้เขียนเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่ามีเป้าหมายระยะสั้น ได้แก่ การลดระดับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุทกภัยปี 2555 และการป้องกันการเกิดปัญหาอุทกภัยเช่นในปี 2554 หรือหากเกิดอุทกภัยจะต้องให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยที่สุด

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งนั้น ไม่สามารถเทียบได้กับความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะในระดับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งจากข้อมูลสถิติย้อนหลังของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่าตั้งแต่ปี 2532-2554 มีมูลค่าความเสียหายจากภัยแล้ง รวมกันอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท คือต่างกัน 10 เท่า แต่โอกาสที่จะมีน้ำหนักอย่างในปี 2554 นั้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นทุกปี

ในทางปฏิบัติ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งในปีต่อมาค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องมีการระบายน้ำมากกว่าปกติในช่วงต้นฤดูฝน

มูลค่าความเสียหายภัยแล้งน้ำท่วม (2)-1

จากการสำรวจข้อเท็จจริงเรื่องการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน (ฤดูฝนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมชลประทาน พบว่าการระบายน้ำในฤดูฝนของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในปี 2555 มีปริมาณการระบายมากกว่าค่าเฉลี่ย คือ เขื่อนภูมิพลมีการระบายน้ำในฤดูฝนปี 2555 ที่ 1,930 ล้าน ลบ.ม. โดยค่าเฉลี่ยคือ 1,798 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีการระบายน้ำในฤดูฝนปี 2555 ที่ 2,535 ล้าน ลบ.ม. โดยค่าเฉลี่ยคือ 2,242 ล้าน ลบ.ม.

การปล่อยน้ำsheeet6

เมื่อดูจากสถิติแล้วจะเห็นว่าปริมาณการปล่อยน้ำในฤดูฝนของทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีรูปแบบการปล่อยน้ำที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ เน้นการระบายน้ำปริมาณมากในช่วงต้นฤดูฝน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ตามนโยบายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือมากกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่รูปแบบเดิมคือการจัดการให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเคยตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายการปล่อยน้ำของรัฐบาลหลังวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ว่ามีการปล่อยน้ำมากผิดปกติ (ดูภาพประกอบ)

ข้อมูลน้ำท่วม น้ำแล้ง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าสาเหตุหลักของภัยแล้งตอนนี้ มีที่มาจากปริมาณน้ำต้นทุนที่น้อยผิดปกติ ส่วนสาเหตุที่ทำให้น้ำต้นทุนนี้น้อยกว่าปกติคืออยู่ที่ 57% (น้อยที่สุดจากข้อมูลสถิติ 6 ปี) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากฝนที่ตกน้อยในปี 2556 หรืออีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการบริหารจัดการของรัฐที่กลัวจะเกิดน้ำท่วมก็เป็นได้

ชาวนาดื้อจริงหรือไม่

จากแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งที่ปีนี้น้อยเป็นพิเศษ ย่อมทำให้แผนในการปลูกพืชฤดูแล้งน้อยลงตามไปด้วย โดยเฉพาะข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ตั้งเป้าไว้ว่าควรปลูกไม่เกินพื้นที่ 4.74 ล้านไร่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 พบว่ามีการปลูกข้าวนาปรังไปแล้วทั้งสิ้น 8.73 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 184% ของแผน

พื้นที่เพาะปลูกsheet1 (1)

ปริมาณการปลูกข้าวนาปรังที่อาจจะไม่พอต่อปริมาณของน้ำที่เหลืออยู่อีก 2 เดือน ทำให้กรมชลประทานได้ประกาศขอร้องงดปลูกนาปรังรอบที่ 2 ซึ่งกำลังจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมนี้ ซึ่งจากสถิติก็เห็นแล้วว่าการขอร้องของกรมชลประทานไม่ได้ผล ชาวนายังคงเดินหน้าปลูกข้าวนาปรังกันต่อไป

ตามนโยบาย เมื่อมีภัยแล้งจนทำให้พืชผลเกิดความเสียหาย ชาวนาจะได้รับค่าชดเชยจากภัยพิบัติ โดยจะอยู่ที่ไร่ละประมาณ 600 บาทขึ้นไป ในขณะที่คนไม่ได้ปลูกก็จะไม่ได้เงินชดเชยเมื่อเกิดภัยแล้ง นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนายังคงปลูกข้าวต่อไปแม้จะรู้ว่าภัยแล้งกำลังจะมาถึง เปรียบเหมือนการเสี่ยงดวงที่ถ้าน้ำมาก็ได้ผลผลิต น้ำไม่มาก็ได้ค่าชดเชย

อย่างไรก็ตาม จากสถิติย้อนหลัง 6 ปีพบว่า การปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งมีพื้นที่การปลูกมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ฤดูแล้งปี 2554/2555 เป็นต้นมา ที่มีพื้นที่การปลูกแตะ 9 ล้านไร่ขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

โดยจากสถิติจะเห็นว่า พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ที่ข้อมูลล่าสุดบอกว่ามี 8.73 ล้านไร่นั้น ไม่ได้แตกต่างจากช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้นเท่าไหร่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าเมื่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาตันละ 15,000 บาทไม่มีแล้ว พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้งจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ปัญหาน้ำทะเลหนุน

ปัญหาที่ดูจะซ้ำเติมวิกฤติภัยแล้งอีกหนึ่งสาเหตุคือปัญหาน้ำทะเลหนุน ที่ทำให้น้ำในแม่น้ำมีความเค็มจนไม่สามารถเอาไปใช้ผลิตน้ำประปาได้ ส่งผลให้ต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อไปเจือจางความเค็มลง จะยิ่งทวีความรุนแรงของภัยแล้ง

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ปริมาณค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี มีค่าสูงทำลายสถิติปี 2553 ไปแล้ว ทั้งในแง่ของความเค็มและระยะเวลาที่เค็มนาน ซึ่งเมื่อปี 2553 มีค่าความเค็มที่ 1.21 กรัมเกลือต่อลิตร โดยเค็มเกินมาตรฐานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ในขณะที่ปีนี้วัดค่าความเค็มได้ 1.92 กรัมเกลือต่อลิตร และเค็มเกินมาตรฐานเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 70 ชั่วโมง โดยค่ามาตรฐานสำหรับทำน้ำประปาจะต้องมีค่าไม่เกิน 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร

ในขณะที่ 2 เขื่อนใหญ่คือเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ มีการปล่อยน้ำออกมาเจือจางน้ำเค็มรวมกันวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. จากที่มีอยู่รวมกัน 4,700 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อปล่อยไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามาเรื่อยๆ จะเหลือปริมาตรแค่ 6 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เนื่องจากถูกนำไปใช้ระหว่างทางโดยเฉพาะจากการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ปัญหาน้ำเค็มจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งการปล่อยน้ำที่สามารถเจือจางความเค็มได้จะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกันที่วันละ 60 ล้าน ลบ.ม. หรือเดือนละ 1,800 ล้าน ลบ.ม. “ถามว่า ถึงตอนนั้นน้ำในเขื่อนจะมีพอที่จะเอามาดันน้ำเค็มไหม” นายรอยลกล่าว