ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขยะพิษปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ(8) : อิตาลีรวมตัวขับไล่มาเฟียเจ้าพ่อขยะพิษ “คามอร์รา”

ขยะพิษปัญหาโลกแตกที่ไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ(8) : อิตาลีรวมตัวขับไล่มาเฟียเจ้าพ่อขยะพิษ “คามอร์รา”

24 มกราคม 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

สภาพรถที่จอดที่สนามบินชิคาโกท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลในเดือนมกราคม 2014 ที่มาภาพ : http://news.bbcimg.co.uk
สภาพรถที่สนามบินชิคาโกท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบในเดือนมกราคม 2014 ที่มาภาพ : http://news.bbcimg.co.uk

คู่ขนานไปกับข่าวสภาพภูมิอากาศโลกที่สุดวิปริตแปรปรวนมากเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย ซึ่งอุณหภูมิลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปี เฉพาะที่ กทม. สร้างสถิติหนาวจัดที่สุดและติดต่อยาวนานที่สุดในรอบ 14 ปี ขณะที่หลายรัฐทางตอนเหนือและทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มีอากาศหนาวยะเยือกและยาวนานที่สุดในรอบ 30 ปีเช่นกัน โดยอุณหภูมิในหลายพื้นที่ถึงขนาดติดลบกว่า 50 องศาเซลเซียส จนทุกอย่างแข็งไปหมด เหมือนกับได้ย้อนยุคกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “ฤดูหนาวอันแสนนาน” ของลอรา อิงส์กัลล์ ไวล์เดอร์ ไม่มีผิด

ตรงกันข้ามกับประเทศออสเตรเลีย กลับมีอากาศร้อนผิดปรกติ จากรายงานประจำปีของสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียได้เผชิญคลื่นความร้อนมากเป็นประวัติการณ์และยาวนานที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกเมื่อ 104 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทวีปนี้แทบจะไม่มีฤดูหนาวดังที่พึงจะมีตามปรกติ

ท่ามกลางอากาศวิปริตผิดอาเพศครั้งนี้ มีข่าวว่าเกิดมลภาวะร้ายแรงขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ เกิดอุบัติเหตุสารเคมีเมทิลไซโคลเฮกเซน ที่ใช้ขจัดสิ่งเจือปนออกจากถ่านหิน เกิดรั่วลงสู่แม่น้ำเอลก์ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา และอาจปนเปื้อนในท่อประปาเป็นระยะทางยาวถึง 2,400 กิโลเมตร ทำให้บริษัท เวสต์ เวอร์จิเนีย อเมริกัน วอเตอร์ รีบประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่หยุดใช้น้ำประปาชั่วคราว นอกจากกดชักโครกหรือเพื่อดับไฟเท่านั้น เป็นเหตุให้ประชาชนกว่า 300,000 คน ไม่มีน้ำสะอาดใช้เป็นเวลาหลายวัน รวมไปถึงที่โรงพยาบาล, สถานสงเคราะห์คนชรา และสถานที่อ่อนไหวอีกหลายแห่ง ที่ทางการรีบเร่งแก้ไขเพื่อให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด

อุบัติเหตุครั้งนี้มีขึ้นหลังจากท่อส่งสารเคมีที่โรงงานฟรีดอม อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสียจากเหมืองถ่านหิน ในเมืองชาร์ลสตัน เกิดชำรุดทำให้สารเคมี “โฟร์เมทิลไซโคลเฮกเซน เมทานอล” (เอ็มซีเอชเอ็ม) รั่วไหลลงสู่แม่น้ำเอลก์ ส่งผลกระทบต่อคลองรับน้ำประปาคานาฮวา วัลลีย์ ทำให้น้ำประปากลายเป็นสีเขียวอมน้ำเงินและมีกลิ่นเหม็นคล้ายชะเอม ประชาชนกว่าร้อยคนเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนจนต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

ไล่เลี่ยกันนั้น เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงงานเคมี “มิตซูบิชิ แมททีเรียลส์ คอร์ป” ในเมืองโยไคจิ จังหวัดมิเอะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำหรับแผงโซลาร์เซลล์และรถยนต์ ซึ่งต้องใช้โพลิเมอร์ที่ทำมาจากซิลิโคน ไฮโดรเจน และคลอรีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ผลของการระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน บาดเจ็บอีกหลายสิบคน นับเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับความสูญเสียจากอุบัติเหตุในโรงงานทั่วประเทศนี้ นับตั้งแต่เหตุอุโมงค์ลอดใต้ทะเลถล่มที่บริษัทกลั่นน้ำมันเมื่อต้นปี 2555

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 โรงงานแห่งนี้เคยถูกทางการสั่งปิดมาครั้งหนึ่งแล้วเป็นเวลา 2-3 เดือน หลังจากตรวจพบว่าภายในโรงงานมีความกดดันของก๊าซในระดับสูงมากโดยไม่ได้รับอนุญาต

การประท้วงกลางเมืองนาโปลีเพื่อต่อต้านโคตรมาเฟียที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้และในอิตาลี กลุ่ม "คามอร์รา" ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวการใหญ่ในการขนขยะพิษมาทิ้งที่บริเวณ “สามเหลี่ยมแห่งความตาย” แถบเมืองนาโปลี และเมืองกาแซร์ตา  ที่มาภาพ : http://cdn.thedailybeast.com/content/dailybeast/articles/2013/11/21/italy-s-triangle-of-death-naples-residents-blame-child-cancer-rates-on-mob-disposal-of-toxic-chemicals/
การประท้วงกลางเมืองนาโปลีเพื่อต่อต้านโคตรมาเฟียที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้และในอิตาลี กลุ่ม “คามอร์รา” ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวการใหญ่ในการขนขยะพิษมาทิ้งที่บริเวณ “สามเหลี่ยมแห่งความตาย” แถบเมืองนาโปลี และเมืองกาแซร์ตา
ที่มาภาพ : http://cdn.thedailybeast.com/content/dailybeast/articles/2013/11/21/italy-s-triangle-of-death-naples-residents-blame-child-cancer-rates-on-mob-disposal-of-toxic-chemicals/

อุบัติเหตุร้ายแรงในสหรัฐฯ​และญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนทั่วโลกยิ่งตื่นตัวหันมาสนใจในปัญหาสารเคมีและขยะพิษมากขึ้น โดยมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวไม่ใช่เรื่องไกลตัวเหมือนอย่างที่เคยคิดในอดีต และความตื่นตัวนี้ทำให้ชาวเมืองมะกะโรนีอิตาลีถึงแสนคน รวมไปถึงนายกเทศมนตรีเมืองนาโปลี หรือเมืองเนเปิลส์ เมืองมรดกโลกอันงดงามทางใต้ของอิตาลี นักร้องชื่อดัง และบาทหลวงคนสำคัญ ได้รวมตัวประท้วงกลางเมืองนาโปลีเพื่อต่อต้านโคตรมาเฟียที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้และในอิตาลี กลุ่ม “คามอร์รา” ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวการใหญ่ในการขนขยะพิษมาทิ้งที่บริเวณ “สามเหลี่ยมแห่งความตาย” แถบเมืองนาโปลี และเมืองกาแซร์ตาโดยผิดกฎหมายและปราศจากความรับผิดชอบ นอกเหนือจากเผาขยะพิษเหล่านี้จนเกิดควันพิษและกลิ่นไม่พึงประสงค์ อันเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ ชาวเมืองนาโปลีได้ตะโกนว่า “ไม่เอาคามอร์ราๆๆๆๆ” ผู้ประท้วงบางคนยังได้ถือรูปของญาติมิตรที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งด้วย

จากรายงานของกลุ่มเลแกมเบียนเต กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองนาโปลี พบว่า มีบริษัทใหญ่น้อยมากถึง 440 แห่งทางตอนกลางและทางตอนเหนือของประเทศได้แอบว่าจ้างมาเฟียกลุ่มคามอร์ราให้นำขยะพิษมากถึง 10 ล้านตันมาทิ้งที่บริเวณ “สามเหลี่ยมแห่งความตาย” โดยผิดกฏหมายนานติดต่อกันถึงกว่า 20 ปีแล้ว ทำให้มีสารพิษที่ปนเปื้อนในดินและน้ำนับวันยิ่งพอกพูนในพื้นที่นั้นมากขึ้นตามลำดับ

ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แพทย์หลายคนในเมืองนาโปลีสังเกตเห็นว่าชาวเมืองนี้ป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นผิดปรกติ โดยพบเนื้องอกในผู้หญิงมากขึ้น 40% ขณะที่พบเนื้องอกในผู้ชายมากขึ้นถึง 47%

กลุ่มผู้ประท้วงนอกจากจะกดดันให้ทางการต้องเร่งหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีแอบนำขยะพิษมาทิ้งแล้ว ยังต้องการให้มีการทำความสะอาดแหล่งดินและแหล่งน้ำให้ปลอดจากสารพิษตกค้าง ซึ่งรัฐบาลอิตาลีก็ยอมรับปากว่าจะเริ่มโครงการกำจัดมลพิษในบริเวณนี้ นอกเหนือจากจะส่งกำลังทหารมากวาดล้างมาเฟียกลุ่มนี้

สำหรับมาเฟียกลุ่มคามอร์รานี้ ถือเป็นหนึ่งในแกงก์มาเฟียใหญ่ที่ฝังรากลึกมายาวนานและสุดแสนจะโหดเหี้ยม ฆ่าคนราวผักปลากลายเป็นคดีใหญ่ถึงเกือบ 4,000 คดีในรอบ 30 ปี มีสมาชิกกว่า 7,000 คน คอยควบคุมแกงก์อันธพาลกวนเมืองนับร้อยๆ แกงก์ที่กระจายกันผูกขาดธุรกิจทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทั้งค้ายาเสพติด ค้าอาวุธเถื่อน รีดไถ ต้มตุ๋น หรือเรียกค่าคุ้มครอง ก็อปปี้สินค้าแบรนด์เนม ทำให้คามอร์รามีรายได้มากกว่าปีละกว่า 3 หมื่นล้านยูโร

หนึ่งในธุรกิจทำเงินให้กับคามอร์ราก็คือการรับสัมปทานกำจัดขยะที่ล้นเมืองโบราณและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้ไม่รู้วิธีการกำจัดขยะให้ถูกวิธี ปล่อยให้กองเกลื่อนทั่วไปจนทำให้ชาวเมืองนาโปลีเคยลุกขึ้นมาประท้วงครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งได้บานปลายกลายเป็นจลาจลใหญ่ และมีการนำความฟอนเฟะของคามอร์ราไปตีแผ่เป็นภาพยนตร์เรื่องคามอร์ราด้วย แต่ก็ไม่สามารถปลุกความรับผิดชอบของโคตรมาเฟียกลุ่มนี้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดขยะพิษจากเขตอุตสาหกรรมที่ถูกปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานถึง 20 ปี กว่าชาวเมืองจะสามารถร่วมใจกันมาประท้วงมาเฟียกลุ่มนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว

ถือว่าเป็นความโชคดีของชาวเมืองนาโปลีหรือเนเปิลส์ที่สามารถผนึกกำลังกันต่อกรกับโคตรมาเฟียคามอร์รา เมื่อเทียบกับชาวโซมาเลียที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะรับรู้ว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของแกงก์มาเฟียอิตาลีที่รับจ็อบใหญ่จากกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่น้อยในยุโรป ซึ่งรวมหัวกันจ้างให้ช่วยกำจัดขยะพิษ โดยปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ว่าหนึ่งในวิธีกำจัดขยะพิษแบบสุกเอาเผากินของมาเฟียอิตาลีก็คือการขนขยะพิษเหล่านั้นไปกองทิ้งในประเทศด้อยพัฒนาโดยเฉพาะที่โซมาเลีย จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศนี้ที่โลกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด