ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายหน้าปฏิรูปจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ เร่งจ่ายหนี้และปฏิรูปชาวนา

เครือข่ายหน้าปฏิรูปจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ เร่งจ่ายหนี้และปฏิรูปชาวนา

23 กุมภาพันธ์ 2014


“เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” จับมือ “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” ระดมความคิด “กูรู” เรื่องข้าว ทั้งนักวิชาการ แบงเกอร์ เอ็นจีโอ และชาวนา หาทางแก้ปัญหาชาวนาภายใต้อำนาจที่มีอยู่ อย่าเสี่ยงผิดกฎหมาย เสนอรัฐบาล “ดึงงบกลาง-ค้ำประกันใบประทวน-รับภาระดอกเบี้ย” แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนระยะกลาง-ยาว เน้นช่วยลดต้นทุน ใช้กลไกตลาด AFET และฟื้นกลไกประกันความเสี่ยงราคา กับประกันภัยพืชผล พร้อมชูธงปฏิรูปชาวนา

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” (RNN: Reform Now Network) ร่วมกับ “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

22 ก.พ. 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 หัวข้อ “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย” วิทยากรจากซ้าย นายประสิทธิ์ บุญเฉย ,นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ , นายศรีสุวรรณ ควรขจร,นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล
22 ก.พ. 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 หัวข้อ “แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย” วิทยากร (จากซ้าย) นายประสิทธิ์ บุญเฉย, นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ, นายศรีสุวรรณ ควรขจร, นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล

การสัมมนาเริ่มจากหัวข้อ “แนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้น” เพื่อให้ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวสามารถยังชีพ และมีเงินทุนเพื่อทำการผลิตในฤดูกาลที่จะมาถึง วิทยากรได้แก่ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ขึ้นเวทีในนามนักวิชาการอิสระ และนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย

ในการแก้ปัญหาระยะสั้นของชาวนา วิทยากรทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยอยู่ภายใต้อำนาจที่ทำได้ ไม่ควรดำเนินการที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(1), (2), (3), (4) โดยแนวทางเร่งด่วนที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการเพื่อหาเงินมาให้ชาวนาโดยเร็วมี 5 แนวทาง คือ หนึ่ง ระบายขายข้าว สอง ใช้งบกลาง สาม รัฐบาลต้องรับภาระดอกเบี้ยทั้งในระบบและนอกระบบให้ชาวนา สี่ ประกาศค้ำประกันใบประทวน และห้า ช่วยเหลือชาวนาผ่านกลไกสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส. ด้วยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ สนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนช่วยสภาพคล่องสำหรับฤดูการผลิตใหม่

ปัญหาและทางแก้จำนำข้าว

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท และจำนำทุกเมล็ด ในแง่ดีคือทำให้ชาวนาได้เงินมากขึ้น แต่มีข้อเสียคือทำลายระบบตลาดข้าวและกลไกตลาด ทำให้การส่งออกข้าวลดลง และคุณภาพข้าวแย่ลง รวมทั้งปัญหาใหญ่ที่สุดคือเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ขณะนี้ใช้เงินไปประมาณ 7-8 แสนล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ อีกประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท

ตารางผลการดำเนินงานจำนำข้าว

นายเอ็นนูกล่าวว่า จากข้อมูลของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 (ตารางข้างบน) จะเห็นว่าฤดูการผลิตทั้ง 2554/56 กับ 2555/56 จำนวนเงินที่ ธ.ก.ส. จ่ายจริงให้ชานา “สูงกว่า” เงินที่กระทรวงพาณิชย์ระบายขายข้าวส่งคืนมาให้ ธ.ก.ส. ตรงนี้คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำในฤดูการผลิต 2556/57

“สองฤดูกาลที่แล้วชาวนาได้เงิน แต่โครงการไม่ได้เงิน ถ้าชำระเงินคืนโครงการได้หมด จะมีเงินมาหมุนเวียนในฤดูกาลต่อมา แต่ปีที่แล้วระบายขายข้าวน้อย จึงได้เงินมาไม่พอสำหรับปิดโครงการ จึงสร้างปัญหาทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียน” นายเอ็นนูกล่าว

ขณะที่ ข้อมูลล่าสุดของโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ณ 21 กุมภาพันธ์ 2557 นายเอ็นนูกล่าวว่า ธ.ก.ส. รายงานว่า รัฐบาลติดค้างเงินชาวนาจำนวน 875,907 ราย คิดเป็นเงิน 114,804 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ในภาพรวมมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.4 ล้านราย เป็นเงิน 181,000 ล้านบาท แต่ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 รัฐบาลได้จ่ายเงินให้ชานาไปแล้วประมาณ 67,000 ล้านบาท

“เงินที่เอามาใช้ในโครงการจำนำข้าวมี 2 ส่วน คือ ระบายขายข้าว กับกู้เงินมา ในส่วนเงินกู้ ครม. ติว่า เงินหมุนเวียนต้องเกิน 5 แสนล้านบาท พอเงินไม่หมุน เพราะระบายขายข้าวช้า ก็ติดเพดาน 5 แสนล้านบาท จริงๆ ขอกู้เพิ่มได้ แต่ไม่ได้ทำเพราะยุบสภาก่อน และการจะดำเนินการกู้หลังยุบสภาอาจผิดกฎหมาย ทำให้ธนาคารและผู้ให้กู้รายอื่นๆ ไม่กล้าให้กู้” นายเอ็นนูกล่าว

อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(1), (2), (3), (4) เช่น การออกพันธบัตร ซึ่งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะเป็นการสร้างภาระหนี้ใหม่ให้กับรัฐบาลชุดต่อไป แต่ต้องทำภายใต้อำนาจที่ทำได้ ซึ่งมีทางแก้ได้คือ งบกลางของรัฐบาล น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่อาจใช้ได้เพียงบางส่วน ไม่พอจะจ่ายเงินที่ค้างอยู่กว่า 100,000 ล้านบาท

ดังนั้นต้องทำหลายๆ วิธีการประกอบกัน โดยเฉพาะการช่วยลดภาระให้ชาวนา โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. มีโครงการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้เกษตรกร 6 เดือน และยืดได้นานถึง 1 ปี ส่วนเงินลงทุนใหม่ ทาง ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเตรียมไว้รองรับประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้เกษตรกรรายละ 100,000 บาท

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส.

“สำหรับภาระดอกเบี้ยของเกษตรกร รัฐบาลควรชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรจากการเสียโอกาสได้เงินจากใบประทวนล่าช้า โดยในหลักการต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้ชาวนาได้ตั้งแต่ ณ วันที่ออกใบประทวนถึงวันที่ได้รับเงิน” นายเอ็นนูกล่าว

นอกจากนี้ นายเอ็นนูเสนอว่า การช่วยเหลือชาวนา นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้วยังจำเป็นต้องช่วยดูแลด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สุขภาพ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้ง ธ.ก.ส. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการดูแล เช่น ด้านจิตใจ ด้านสุขภาพร่างกาย เป็นต้น

จี้นักการเมืองต้องรับผิดชอบ

ด้าน ดร.ธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เห็นสอดคล้องกันคือ เสนอว่า การแก้ปัญหาระยะสั้น นอกจากรัฐบาลจะเร่งระบายขายข้าวแล้ว อาจนำงบกลางของรัฐที่ยังพอมีอยู่มาดำเนินการช่วยเหลือชาวนาได้ และรัฐบาลควรประกาศค้ำประกันว่า สินเชื่อที่ชาวนาค้างอยู่ รัฐบาลจะรับผิดชอบร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหนี้ที่ค้างอยู่บวกกับดอกเบี้ย จากนั้นก็ทำโครงการเงินหมุนเวียนช่วยเหลือสำหรับการปลูกในฤดูกาลใหม่

นอกจากนี้ ถ้าให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อปกติ ไม่เกี่ยวกับการเมือง ธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมจะทำได้ แต่รัฐบาลต้องค้ำประกัน

“เรื่องนี้มีทางแก้ แต่นักการเมืองต้องกล้ารับผิดชอบ” นายธวัชชัยกล่าว

ชาวนาตาย รัฐบาลก็ตาย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถใช้งบกลางมาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือภาระดอกเบี้ยให้ชาวนาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นงบประมาณปี 2557 ซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดหน้า ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้อนุมัติงบประมาณนี้เอง แต่การออกพันธบัตรใหม่เสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

“การใช้งบกลางเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลจะได้เงินมาใช้เฉพาะหน้าในโครงการจำนำข้าว ดังนั้นควรเสนอ ครม. ให้อนุมัติงบกลางโดยเร็ว” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่ชาวนาต้องรับภาระเพราะเป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ นายประพัฒน์ประเมินว่า ภาระดอกเบี้ยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.5% หรือประมาณ 4,500 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มากที่รัฐบาลน่าจะดำเนินการได้ โดยขออนุมัติงบกลางจาก ครม. แล้วโอนเงินให้ ธ.ก.ส. เพื่อรับผิดชอบเรื่องดอกเบี้ย

“โจทย์วันนี้คือจะให้เงินชาวนาได้อย่างไร ไม่ใช่หาเงิน ถ้าอีก 3-4 เดือนชาวนาไม่ได้เงิน ชาวนาตาย รัฐบาลก็ตาย แต่ผมยังคิดบวกว่า รัฐบาลจะตาสว่างเสนอเรื่องงบกลางเข้า ครม. อุ้ม ธ.ก.ส. เพื่อรับผิดชอบดอกเบี้ยให้ชาวนา” นายประพัฒน์กล่าว

เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 เสวนาหัวข้อ "โครงการจำนำข้าว : บทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” จัดโดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ วิทยากรจากซ้าย นางสิริลักษณา คอมันตร์ ,นายสมพร อิศวิลานนท์, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 เสวนาหัวข้อ “โครงการจำนำข้าว: บทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” จัดโดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ วิทยากร (จากซ้าย) นางสิริลักษณา คอมันตร์, นายสมพร อิศวิลานนท์, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ขณะที่เวทีเสวนา “โครงการจำนำข้าว: บทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาระยะกลาง เพื่อให้ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวสามารถยังชีพ และมีเงินทุนเพื่อทำการผลิตในฤดูกาลที่จะมาถึง วิทยากรได้แก่ นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการ สถาบันคลังสมองของชาติ, นางสิริลักษณา คอมันตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

บทเรียนและทางออกถ้าไม่มีจำนำข้าว

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการ สถาบันคลังสมองของชาติ สรุปบทเรียนจากโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลกำหนดราคาจำนำตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 40-50% ว่า เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดที่ทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยพัง ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดต่างประเทศหดตัวลงเกือบทุกตลาด ดังนั้นควรยกเลิกมาตรการที่แทรกแซงกลไกตลาด

ทั้งนี้ หากไม่มีโครงการจำนำข้าว ดร.สมพรเสนอทางออกของการแก้ปัญหาชาวนา 5 ข้อ ได้แก่

1) รัฐบาลต้องมีนโยบายลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรและเพิ่มการแข่งขันในระยะยาว เพราะปัจจุบันต้นทุนการปลูกข้าวเปลือกของชาวนาไทยอยู่ที่ 9,266 บาทต่อตัน สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ต้นทุนอยู่ที่ 5,615 บาทต่อตัน และพม่าอยู่ที่ 4,353 บาทต่อตัน

2) ต้องรวมกลุ่มเป็นชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างสินค้าข้าวเฉพาะให้กับท้องถิ่นภายใต้การผลิตรูปแบบเฉพาะ (niche product) เช่น การผลิตแบบอินทรีย์ เป็นต้น

3) การสร้างกลไกทางเลือกในกิจกรรมการผลิตที่ดีกว่าการปลูกข้าว โดยจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชที่ได้ราคาดีกว่า

4) รัฐต้องให้การอุดหนุนเชิงสวัสดิการกับเกษตรกรที่มีรายได้อย่างแท้จริง โดยอาจให้ความช่วยเหลือผ่านทางส่วนต่างราคา เป็นต้น

5) พลิกฟื้นกลไกตลาดโดยการใช้หลักการประกันความเสี่ยงจากราคา รวมถึงสนับสนุนการประกันภัยพืชผล โดยรัฐบาลอาจช่วยเหลือจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับชาวนา ซึ่งถูกกว่าการนำเงินไปใช้ในโครงการจำนำข้าว รวมทั้งควรกระจายความเสี่ยงโดยอาศัยกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)

หลักการกระจายความเสี่ยงโดยอาศัยกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
หลักการกระจายความเสี่ยงโดยอาศัยกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย

“ถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง และใช้กลไกการประกันความเสี่ยงราคา และประกันภัยพืชผล รวมทั้งใช้กลไกตลาด AFET เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาชาวนาและเรื่องข้าวได้ในระยะกลางและระยะยาว” นายสมพรกล่าว

จำนำข้าวเป็นนโยบายเลว ต้องปฏิรูป

นางสิริลักษณา คอมันตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทเรียนที่สำคัญจากโครงการแทรกแซงกลไกตลาด คือการทำนโยบายแทรกแซงกลไกตลาดไม่สามารถเป็นนโยบายเดี่ยวๆ ได้ ต้องมีกลไกตัวอื่นมาเสริม ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา และทุกขั้นตอนมีการทุจริต

“นโยบายจำนำข้าวที่ทำทุกวันนี้ ขอยืนยันว่าในหลักการไม่ถูกต้อง เป็นนโยบายเลว เพราะทุกจริตทุกขั้นตอน” นางสิริลักษณากล่าวและว่า

บทเรียนครั้งนี้ยังกว้างไกลกว่าเรื่องข้าว คือส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ และธรรมาภิบาลในองค์กรของรัฐด้วย โดยเฉพาะองค์กรรัฐวิสาหกิจ

ผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ คือ การใช้เงินของแผ่นดินอย่างไม่มีขอบเขตของ ครม. ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายประชานิยมแบบไม่มีความรับผิดชอบอย่างกรณีโครงการจำนำข้าว อาจต้องพิจารณากำหนดเพดาน หรือจำกัดวงเงินสำหรับการอนุมัติงบประมาณของ ครม. หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่มีกรอบเพดานในการอนุมัติ ตรงนี้ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะปฏิรูปอย่างไร

ขณะเดียวกัน ในกฎหมายเลือกตั้งควรจะกำหนดว่า การประกาศนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง จะต้องระบุที่มาของเงินด้วยหรือไม่ว่านโยบายที่หาเสียงไว้จะหาเงินมาจากไหน และด้วยวิธีใด เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบาย

สำหรับเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรรัฐวิสาหกิจ นางสิริลักษณากล่าวว่า แม้จะมีกฎระเบียบค่อนข้างดี แต่การใช้เงินขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) ประเด็นคือ ที่มาของบอร์ด ควรสังคายนาหรือไม่ เช่น กำหนดว่า อัยการไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ก็ไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน หากจำเป็นจะต้องระบุว่า ไม่รับผลตอบแทน เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา นางสิริลักษณาเสนอว่า การแก้ปัญหาระยะสั้นควรใช้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาเป็นกลไกหลัก โดยให้ชาวนา “ซื้อสิทธิ์ในการขายข้าว” ในระดับราคาต่างๆ อาทิ ถ้าต้องการได้ราคาถูก ก็จ่ายเบี้ยประกันถูก แต่ถ้าต้องการได้ราคาสูง ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง

เมื่อถึงกำหนดเวลาครบสัญญา ถ้าราคาตลาดสูงกว่าราคาซื้อสิทธิ์ ชาวนาก็ขายข้าวในตลาด ไม่ใช้สิทธิ์ที่ซื้อไว้ ถ้าต่ำกว่าราคาซื้อสิทธิ์ ชาวนาก็ใช้สิทธิ์ที่ซื้อไว้ และหากมีส่วนต่างราคาเกิดขึ้น ก็ให้ ธ.ก.ส. อุดหนุนจ่ายส่วนต่าง โดยรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ

นางสิริลักษณา คอมันตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสิริลักษณา คอมันตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การทำผ่านกลไกตลาด AFET เชื่อว่าชาวนามีความเข้าใจสามารถดำเนินการได้ เพราะชาวนาอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา” นางสิริลักษณากล่าว

ส่วนมาตรการระยะยาว นางสิริลักษณาเสนอว่า ต้องแก้ปัญหารายได้ของชาวนา โดยรัฐบาลต้องลงทุนเรื่องการแปรรูปสินค้า หรือแปรสภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องอุดหนุนภาคเกษตรในลักษณะที่ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยการอุดหนุนภาคเกษตรที่เน้นดูแลสิ่งแวดล้อม

“ประพัฒน์” ชูธงปฏิรูปชาวนา

ด้านนายประพัฒน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาชาวนา ต้องแก้โดยชาวนาต้องปฏิรูปตัวเองด้วย เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น สร้างทางเลือกให้ตัวเองมากขึ้น และสร้างขีดความสามารถให้แข่งขันมากขึ้น เพราะชาวนาจะต้องปรับตัวให้อยู่ได้ภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ทั้งการใช้ชีวิต และการผลิต ไม่เช่นนั้น เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดอย่างเป็นทางการ ชาวนาไทยจะแข่งขันไม่ได้

นายประพัฒน์ยกตัวอย่างการปฏิรูปชาวนาว่า ชาวนาต้องสร้างทางเลือกให้ตัวเอง อย่าปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ต้องปลูกพืชให้หลากหลาย หรือทำเกษตรแบบผสมผสาน วิธีนี้ข้าวก็ปลูก แต่รายได้หลักอาจมาจากพืชสวน พืชไร่ หรือการเลี้ยงสัตว์ แต่เรื่องนี้จะทำได้รัฐบาลต้องเข้าใจ และชาวนาต้องขยายผลเรื่องนี้ด้วย ที่สำคัญ ถ้ามีนโยบายที่จะทำลายแนวแบบนี้ ต้องพักไว้ก่อน

สำหรับการแทรกแซงราคาข้าวในอนาคต นายประพัฒน์กล่าวว่า อยากเห็นการแทรกแซงราคาที่เหมาะสม และแทรกแซงภายใต้การเก็บไว้ที่ยุ้งฉางของชาวนา คือให้ชาวนาเก็บรักษาข้าวเปลือกเองเหมือนที่เคยทำในอดีตแต่ถูกทำลายไป อาจจำเป็นต้องฟื้นฟูระบบยุ้งฉางชุมชน ยุ้งฉางตำบล แนวทางนี้จะเป็นกลไกแก้ปัญหาราคาข้าว และทำให้การทุจริตหายไป เพราะชาวนาทำกันเอง ดูแลกันเอง รวมทั้งจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพข้าว

“การแทรกแซงราคาถ้าไม่มีปัญหาการเมือง ใช้เงินไม่มาก” นายประพัฒน์กล่าว