ThaiPublica > คอลัมน์ > “เมารี” ยังมีปัญหา

“เมารี” ยังมีปัญหา

8 ธันวาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

นิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้คนมีความสุข แต่เหตุไฉนจึงมีคนติดคุกสูงติดอันดับโลก และส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือชาวเมารี (Mouri) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนพื้นเมืองที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแห่งหนึ่งของโลก

นิวซีแลนด์มีประชากรประมาณ 4.3 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของไทย มีรายได้ต่อหัวต่อปี 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6 เท่าของคนไทย ประชากร 67% เป็นคนเชื้อสายยุโรป 15% เมารี และ 10% เอเชีย

ประเทศนี้อยู่ในหมู่เกาะ Polynesia ซึ่งมีเกาะอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นประมาณ 1,000 เกาะ ในจำนวนนี้มีเกาะ Hawaii/ Tonga/Cook Islands ฯลฯ รวมอยู่ด้วย โดยนิวซีแลนด์อยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ อีก 2 หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกคือหมู่เกาะ Melanesia และ Micronesia ซึ่งมีขนาดพื้นที่เล็กกว่า Polynesia

สถิติที่แปลกของนิวซีแลนด์ก็คือในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีสมาชิกรวม 34 ประเทศ มีผู้ต้องขังทั้งหมดรวม 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนอยู่ในคุกของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอัตราของผู้ต้องขังต่อประชากรสูงสุดในโลก คือ 701 คนต่อประชากร 100,000 คน (ไทยอันดับ 18 ของโลกอัตรา 381 คน ต่ำสุดในโลกคือ Iceland มีอัตรา 37 คน) ในขณะที่นิวซีแลนด์มีอัตรา 155 คน

มากกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิก OECD มีอัตราผู้ต้องขังต่ำกว่า 140 คน อัตรา 155 คน ของนิวซีแลนด์ทำให้อยู่ในลำดับ 7 ของ OECD โดยต่ำกว่า Mexico หนึ่งอันดับ

ในจำนวนผู้ต้องขัง 10,000 คนของนิวซีแลนด์ ร้อยละ 51 เป็นเชื้อสายเมารี ร้อยละ 33 เป็นยุโรป ร้อยละ 12 เป็นคนกลุ่มชาวเกาะ และร้อยละ 3 เป็นเอเชีย

ในขณะที่ทั้งประเทศมีประชากรเชื้อสายเมารีเพียงร้อยละ 15 แต่มีอัตราผู้ต้องขังถึง ร้อยละ 51 ซึ่งหมายความว่านอกจากประเทศจะมีอัตราผู้ต้องขังสูงถึง 155 คนแล้ว สัดส่วนของผู้ต้องขังเชื้อสายเมารีสูงอย่างผิดปกติ

เมารีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าท่านเป็นแฟนรักบี้ทีม All Blacks ซึ่งเป็นทีมรักบี้ที่เกรียงไกรสุด ๆ ของโลก (ปีนี้แข่ง 14 ครั้งยังไม่เคยแพ้ใครเลย) คงจะเห็นผู้เล่นหน้าตาออกมาทางชาวเกาะคล้ายคนเอเชียหลายคนซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นที่เก่งมาก นั่นแหละคือเมารีชนกลุ่มน้อยของนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่บนเกาะนี้มาก่อนคนผิวขาวซึ่งเหยียบเกาะนิวซีแลนด์เมื่อ 400 ปีก่อน

เมารีเป็นชาว Polynesians โดยสายเลือด อพยพมาจากเกาะต่าง ๆ เมื่อ 700-900 ปีก่อน อยู่กันอย่างมีความสุขโดยมีภาษา ความเชื่อ และวัฒนธรรมคล้ายชาวเกาะอื่น ๆ ในบริเวณนั้น

ชาวดัชเป็นผู้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Nova Zeelandia ตามชื่อจังหวัดของเนเธอร์แลนด์คือ Zeeland (ตรงกับภาษาอังกฤษ Sealand) ต่อมาในภายหลังได้ชื่อใหม่ว่า New Zealand

เมารีปัจจุบันมีประชากรประมาณ 750,000 คน อยู่ในนิวซีแลนด์ประมาณ 620,000 คน อยู่ในออสเตรเลีย 126,000 คน ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 คนอยู่ในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และคานาดา

สิ่งที่โลกได้ยินมาตลอดก็คือทางการนิวซีแลนด์และคนนิวซีแลนด์เชื้อสายยุโรปดูแลคนพื้นเมืองเมารีเป็นอย่างดี มีความเท่าเทียมกัน ไม่เหมือนคนพื้นเมืองในออสเตรเลีย และไม่เหมือนอินเดียนแดง และคนดำในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดีเมื่อได้เห็นสถิติสัดส่วนผู้ต้องขังของเมารีเช่นนี้แล้วก็เกิดคำถามว่าได้เกิดอะไรขึ้น คำตอบก็คือเป็นความจริงที่ทางการทุ่มเทเงินทองมากพอควรและกฎหมายให้ความทัดเทียม หากแต่เมารีเองก็มีปัญหาทางสังคมไม่น้อยมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ปัญหาการศึกษา ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาครอบครัวแตกแยก ฯลฯ

ลักษณะอาชญากรรมของผู้ต้องขังเมารีในอันดับ 1 ก็คือความผิดอาญาทางเพศ รองมาคือการทำร้ายร่างกาย ลักเล็กขโมยน้อย ปล้น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฆาตกรรม ฯลฯ

ในเชิงสังคมวิทยา ปัญหาของเมารีมาจากการสูญเสียดุลยภาพทางสังคม โดยเคยอยู่ในรูปแบบของวัฒนธรมดั้งเดิมมายาวนาน แต่ตลอดเวลา 400 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 100 ปีหลังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ ซึ่งชาวเมารีส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจึงเกิดการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ และถูกซ้ำเติมด้วยระบบทุนนิยมซึ่งให้รางวัลแก่ผู้ชนะเท่านั้น

นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ไกลไปทางตะวันออกสุดของออสเตรเลีย 1,500 กิโลเมตร เป็นสวรรค์ของคนผิวขาวมายาวนาน แต่สำหรับเมารีผู้อยู่อาศัยมาก่อนแล้วต้องรอไปก่อน เพราะความไม่พร้อมของการปรับตัวกับวัตถุนิยมและค่านิยมใหม่ที่ถาโถมเข้าสู่สังคมเมารี

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของทางการนิวซีแลนด์มีส่วนในการทำให้สถิติอัตราส่วนของผู้ต้องขังสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีสถิติอาชญากรรมสูงกว่าแต่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ แต่กระนั้นก็ตามสัดส่วนของผู้ต้องขังเมารีที่สูงอย่างไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรทำให้ต้องฉุกคิดว่าสังคมนิวซีแลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างเพียงพอและเป็นธรรมแล้วหรือไม่

คนเมารีไม่ได้เลือกที่จะมีเส้นทางชีวิตแบบโลกตะวันตก เขาอยู่ของเขาอย่างมีความสุขตามอัตภาพ การเข้าไปแทรกแซงสังคมของเขาโดยคนผิวขาวทำให้เส้นทางชีวิตเป็นไปเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่สังคมนิวซีแลนด์จะต้องช่วยเหลืออุ้มชูอย่างยิ่ง

สังคมอยู่กันได้ด้วยคุณธรรมและการยอมรับของสมาชิก เมื่อใดมันไม่เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆก็จะตามมาอย่างไม่รู้จบ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 3 ธ.ค.2556