ThaiPublica > คอลัมน์ > Bitcoin ฟองสบู่ดิจิตอล

Bitcoin ฟองสบู่ดิจิตอล

25 ธันวาคม 2013


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เคยได้ยินชื่อ Bitcoin ไหมครับ Bitcoin คือเงินตราเสมือน (virtual currency) ในโลกดิจิตอล ที่ไม่ได้ออกโดยธนาคารกลางใดๆ แต่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะ Bitcoin ทำให้การโอนเงิน จ่ายเงินในโลกอินเทอร์เน็ตสะดวกสบายและมีต้นทุนที่ถูกลงอย่างมาก ความนิยมของ Bitcoin เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่าน และทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเหล่มองด้วยความเป็นห่วง ผมว่าน่าสนใจดีครับ

ทีมาภาพ : http://img4.coconuts.co/cdn/farfuture/
ทีมาภาพ : http://img4.coconuts.co/cdn/farfuture/

Bitcoin เป็น open-source peer-to-peer payment network หรือเครือข่ายการชำระเงินในโลกอินเทอร์เน็ต ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนในโลกอินเทอร์เน็ตสามารถใช้ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบ และช่วยดำเนินการได้

ถ้าใครฟังแล้วงงๆ ลองถึงการแชร์ไฟล์ในระบบ bittorrent ที่ไฟล์ถูกเก็บในเครื่องของคนที่ร่วมอยู่บนระบบ และไม่ได้ถูกเก็บในที่ใดที่หนึ่งเป็นแห่งเดียว

Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ในปี 2009 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินทางอินเทอร์เน็ต ทั้งการซื้อขายสินค้า และการโอนเงินระหว่างกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน จึงมีต้นทุนต่ำกว่ามาก

Bitcoin ถูกออกแบบมาให้มีการตรวจสอบการใช้เงินผ่านการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ และถูกบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่าย และคนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ให้ยืมเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองในการประมวลผล แก้รหัสเพื่อตรวจสอบว่ารายการการใช้เงินนั้นถูกต้อง และบันทึกรายการการใช้เงิน เรียกว่า miner หรือ “นักขุด”

นักขุดที่สามารถคำนวณและถอดรหัสคณิตศาสตร์ได้คนแรก จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน Bitcoin ที่ “พิมพ์” ขึ้นใหม่ และนี่เป็นวิธีเดียวที่จำนวน Bitcoin จะถูกผลิตขึ้นใหม่ Bitcoin ถูกออกแบบมาให้ปัญหาการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และจำนวน Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้น จะมีน้อยลงเรื่อยๆ เปรียบเสมือนกับการขุดหาแร่หายาก (เช่น ทองคำ) เพื่อจำกัดปริมาณของ Bitcoin ที่มีใช้หมุนเวียนกัน

คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการถอดรหัส Bitcoin จึงต้องมีพลังสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการแข่งขันสูงมาก จนมีการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการถอดรหัส Bitcoin โดยเฉพาะออกมาขาย เพื่อจะได้เป็นคนแรกในการถอดรหัส และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นคนแรก (ลองดูบทความนี้ครับ)

Bitcoin จะถูกเก็บไว้ใน “wallet” หรือกระเป๋าเงินดิจิตอล ที่ค่อนข้างปลอดภัย (แต่ก็มีข่าวการถูกโจรกรรม bitcoin โดย hacker เป็นครั้งคราว) เมื่อมีการจ่ายเงิน เงินในกระเป๋าของเราจะถูกส่งไปยังกระเป๋าของผู้รับอย่างรวดเร็ว และมีการตรวจสอบจากคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในโลก การจ่ายเงินอาจทำบนเว็บ หรือแม้กระทั่งจากโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ยังมีการผลิตเหรียญ Bitcoin ที่ข้างในเป็นรหัสตัวเลขที่ผู้รับสามารถเอาไปขึ้นเงินได้

คนทั่วไปสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin เป็นเงินสกุลทั่วไปผ่านทางตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีหลายแห่งทั่วโลก (ผู้สนใจลองเข้าไปดูได้ที่ http://bitcoin.org/en/)

ข้อดีของ Bitcoin คือ ต้นทุนต่อธุรกรรมต่ำ เพราะเป็นการส่งเงินผ่านถึงกันโดยตรงโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร และคนที่ประมวลผลธุรกรรมได้รับผลตอบแทนเป็น Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายผ่าน Bitcoin ยังไม่ถูกตรวจสอบจากสถาบันการเงินและหน่วยงานรัฐ

ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินของ Bitcoin จะถูกสร้างขึ้นด้วยอัตราที่แน่ชัด และลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป (ว่ากันว่าปริมาณ Bitcoin จะนิ่งๆ อยู่ที่ประมาณ 21 ล้าน Bitcoin ในปี 2030) หลายๆ คนมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อกับ Bitcoin เหมือนกับที่เกิดกับเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง Bitcoin จึงมีสภาพของเงินที่มีแนวโน้มจะสร้างภาวะเงินฝืด (ราคาของของในเงินสกุลนี้จะถูกลงเรื่อยๆ) คนจึงมีความต้องการที่จะถือเงินสกุลนี้มากขึ้น และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ คล้ายๆ กับภาวะของทองคำ

แม้ว่า Bitcoin ไม่ใช่เงินตราเสมือนอันเดียวในโลกอินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือน Bitcoin จะได้รับความนิยมมากที่สุด และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายปีที่ผ่านมา มีร้านค้าหลายแห่งทั้งบนโลกออนไลน์และโลกจริงรับการชำระเงินโดย Bitcoin

Bitcoin ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศจีน ที่การเคลื่อนย้ายเงินเข้าออกประเทศทำได้ค่อนข้างลำบาก คนจีนจำนวนมากถือสินทรัพย์ของตัวเองในรูปของเงิน Bitcoin! ว่ากันว่าคนจีนหลายคนกลายเป็นคนที่ถือเงิน Bitcoin มากที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน และอีกส่วนหนึ่งเพื่อหลบหนีการควบคุมของทางการ และหลายคนกลายเป็นนักค้าเงินตัวยง

Bitcoin กลายมาเป็นข่าวดังในช่วงนี้เพราะความผันผวนของมูลค่าของ Bitcoin เชื่อไหมครับ Bitcoin ที่เคยมีค่าไม่ถึง 10 เซนต์ ในปี 2010 กลับพุ่งสูงขึ้นไปถึง 1,200 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และร่วงแบบไม่เกรงใจใครไปกว่าครึ่งภายในอาทิตย์เดียว เมื่อรัฐบาลจีนออกกฎสั่งห้ามสถาบันการเงินจีนเข้าไปซื้อขายเงินตราเสมือน และออกคำเตือนว่า Bitcoin ไม่มีสถานะทางกฎหมายและไม่ได้รับการยอมรับจากทางการจีนในฐานะเงินตรา

การเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วของมูลค่า Bitcoin กลายเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกอีกอย่างของภาวะฟองสบู่ Bitcoin แทบไม่มีมูลค่าพื้นฐานใดๆ ไม่มีธนาคารกลางไหนรองรับมูลค่าพื้นฐานทางกฎหมายของ Bitcoin อย่างเงินตราทั่วไป (สังเกตธนบัตรของเงินทุกประเทศนะครับ จะมีเขียนรับรองไว้ว่าเป็น “legal tender” หรือ” เงินชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”)

Bitcoin มีเพียงหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และได้รับการรับรองจากความเชื่อมั่นของคนที่ใช้ Bitcoin ทื่เชื่อมั่นในระบบ (ที่ยอมเอาเงินสดของตัวเองไปแลกกับ Bitcoin ที่ตลาดรับแลกเปลี่ยน) ว่าจำนวนของ Bitcoin จะไม่ถูกสร้างอย่างไม่จำกัด อันจะทำให้มูลค่าของมันหายไปในที่สุด

การเพิ่มขึ้นของ Bitcoin อย่างรวดเร็วจึงเป็นการเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ว่ามูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นฟองสบู่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับดอกทิวลิปในศตวรรษที่ 17 จนมีหลายคน (โดยเฉพาะชาวจีน ที่ถือทรัพย์สินของตนจำนวนมากในรูป Bitcoin คงกลายเป็นคนรวย และกลับมาจนในเวลาอันสั้นมาก) และราคาที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีการลงทุนขนานใหญ่เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ศักยภาพสูงมาใช้ในการขุดหา Bitcoin มีคนบอกว่า คอมพิวเตอร์ที่ใช้ทั้งหมดมีความสามารถสูงกว่า supercomputer ที่เจ๋งที่สุดของรัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 4,500 เท่า! ทั้งๆ ที่คิดดูดีๆ แล้วการคำนวณเหล่านี้ไม่ได้สร้างอะไรให้สังคมเลย นี่แหละครับ ผลที่เห็นได้ชัดเสมอจากภาวะฟองสบู่ คือการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบี้ยว

กราฟฟิค bricton

ในทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เรียกว่า “เงิน” หรือ money ต้องมีหน้าที่สามอย่าง คือ หนึ่ง การเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการ (เช่น เราสามารถใช้ธนบัตรเพื่อแลกกับสินค้าและบริการได้) สอง คือการเป็นหน่วยในการตีมูลค่า (สามารถใช้ในการตีมูลค่า เช่น ของอย่างหนึ่งมีราคาสิบบาท) และสาม คือการรักษามูลค่าของสินทรัพย์ (เช่น เราสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ที่เรามีให้อยู่ในรูปของเงินบาทโดยไม่ต้องห่วงมากนักว่าธนบัตรจะเสียมูลค่าไป)

ถ้ามองแบบนี้ Bitcoin ก็พอจะนับว่าเป็นเงินได้แบบไม่ผิดมากนัก แม้ว่ามูลค่าพื้นฐานของมันอาจจะฟังดูแล้วมึนๆ แม่งๆ ก็ตาม แต่มันน่าสนใจมากที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อระหว่างกันในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตกำลังทำให้การเป็น monopoly ของธนาคารกลางในการออกธนบัตร (พิมพ์เงิน) ถูกท้าทายอย่างหนัก (แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยอมรับมากนักก็ตาม)

Bitcoin เป็นการทดลองทางเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีเครือข่ายที่น่าสนใจไม่น้อย ในอนาคตคงมีคนคิดถึงการให้กู้ยืมและรับฝากเงินในเงินสกุล Bitcoin แน่ๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินของ Bitcoin เพิ่มขึ้นได้มากกว่าปริมาณ Bitcoin ที่อยู่ในระบบได้ และคงควบคุมได้ยากกว่าในปัจจุบัน

ตอนนี้เข้าใจว่ามีหลายประเทศที่ให้การยอมรับ Bitcoin ในฐานะตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (เช่น เยอรมัน) แต่หลายประเทศก็ยังไม่ยอมรับให้สถานะทางกฎหมายในฐานะเงินตราให้กับ Bitcoin และ Bitcoin ถูกใช้ไปในการค้าผิดกฎหมายเพื่อหลบหลีกการตรวจสอบของรัฐ (ตอนนี้ FBI เป็นผู้ครอบครอง Bitcoin รายใหญ่ของโลก เพราะเข้าไปจับธุรกิจผิดกฎหมายหลายแห่งที่ใช้ Bitcoin)

สำหรับประเทศไทย Bitcoin ยังไม่ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการแน่ๆ เพราะ มาตรา ๙ ของ พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดไว้ว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดทํา จําหน่าย ใช้ หรือนําออกใช้ ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”

เข้าใจว่าตอนนี้ทางการก็เริ่มมองดู Bitcoin ด้วยความเป็นห่วง จากมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็น่าคุ้มครองอยู่ เมื่อดูความผันผวนของมูลค่าของมัน

ในอนาคต ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น และสร้างความท้าทายให้กับระบบเดิมอีกไม่น้อย เราคงปฏิเสธความก้าวหน้าเหล่านี้ไม่ได้ และคงคิดว่าเราจะอยู่กับมันอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร รวมถึงก้าวให้ทันเทคโนโลยีและเข้าใจความเสี่ยงของมัน