ThaiPublica > คนในข่าว > “ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ถอดบทเรียนขบวนการเสรีไทย ความรักชาติ ความกล้าหาญของ “จำกัด พลางกูร” – เพื่อชาติ เพื่อ humanity

“ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ถอดบทเรียนขบวนการเสรีไทย ความรักชาติ ความกล้าหาญของ “จำกัด พลางกูร” – เพื่อชาติ เพื่อ humanity

6 พฤศจิกายน 2013


ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

ดร.ฉัตรทิพย นาถสุภา ผู้ค้นคว้า ผู้อำนวยการสร้าง ผู้เขียนบทละคร และหนังสือ “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้า ถึงเบื้องหลังของการค้นคว้า เขียนหนังสือ และการทำละครเกี่ยวกับ “จำกัด พลากูร” ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง สามารถนำมาเป็นบทเรียนปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอุดมคติบางเรื่องเกี่ยวกับแนวทางประชาธิปไตย

ไทยพับลิก้า: อะไรเป็นแรงบันดาลใจ หรือจูงใจให้สนใจเขียนเรื่องของจำกัด พลางกูร และทำละครเรื่องเพื่อชาติ เพื่อ humanity

ฉัตรทิพย์ : มีแรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจจากการได้รับเชิญไปพูดเรื่อง “60 ปีวันสันติภาพไทย” ในปี 2548 เนื่องจากเป็นงาน “วันสันติภาพไทย” ผมจึงเลือกพูดเรื่อง “ความสำคัญของเสรีไทย” เนื่องจากรู้อยู่เลาๆ ว่า การที่เราประกาศสันติภาพได้ เพราะว่าเรามีขบวนการเสรีไทย

เมื่อพูดในวันเสรีภาพ ก็ต้องพูดโยงกับเสรีไทย พูดเสรีไทยก็ต้องโยงกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ระหว่างค้นเรื่องขบวนการเสรีไทย ทำให้ผมได้ความรู้ว่า ขบวนการเสรีไทยมีความสำคัญมากกว่าที่ผมรู้ ว่าเราเสี่ยงมากที่จะเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

“ตอนแรกเราคิดแค่ว่า ขบวนการเสรีไทยช่วยให้เราได้รับการปฏิบัติดีขึ้น ทำให้ไม่เป็นผู้แพ้สงคราม ก็รู้ทำนองนี้ และคิดว่าคนทั่วๆ ไปก็รู้ทำนองนี้ ไม่ได้รู้เป๊ะ”

แต่พอไปค้นคว้าก็รู้ว่าสำคัญมากกว่าที่คิด เพราะถ้าไม่มีเสรีไทยเราอาจโดนยึดครอง โดนปลดอาวุธ โดนเสียค่าปฏิกรรมสงคราม โดนแบ่งแยกดินแดน ซึ่งประเทศอื่นๆ เขาโดนกัน แต่ทำไมเราไม่โดน พอไปอ่านเข้าก็พบว่าเพราะขบวนการเสรีไทย ผมจึงเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งชื่อ “ความสำคัญของขบวนการเสรีไทย”

พอค้นเรื่องนี้ก็ทราบต่อไปอีกว่า คนที่สำคัญในขบวนการนี้ อาจารย์ปรีดีสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นหัวหน้า และเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย และคนที่สำคัญรองจากอาจารย์ปรีดีคือ คุณจำกัด พลางกูร ก็เลยคิดว่า ต้องเขียนเรื่องคนๆ นี้อย่างจริงจัง เหตุที่จำกัดสำคัญรองจากอาจารย์ปรีดี มี 2 ประการ

หนึ่ง นายจำกัดเป็นคนก่อตั้งคณะกู้ชาติ ร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ คณะนี้มีมาก่อนองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือขบวนการเสรีไทยในประเทศ แล้วคณะกู้ชาติกลายมาเป็นแกนกลางขององค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศ ซึ่งนายจำกัดได้เป็นเลขาธิการ

ผมคิดว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศสำคัญมากกว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่นนอกประเทศ เพราะถ้าไม่มีองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศ หรือขบวนการเสรีไทยในประเทศ ลำพังการไม่ส่งเอกสารเข้าร่วมสงครามคงไม่มีพลังต่อรองอะไร แต่ประเทศมีพลังต่อรองเพราะมีองค์การที่เป็นจริง มีกำลังที่เป็นจริง และมีพลพรรคที่เป็นจริงในประเทศ ประมาณ 10,000 คนที่มีอาวุธด้วย

สอง การที่อาจารย์ปรีดีให้นายจำกัดเดินทางไปเจรจากับสัมพันธมิตร ทำให้สัมพันธมิตรและโลกภายนอกรู้เป็น “ครั้งแรก” ว่ามีองค์การต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศ และยังสามารถหว่านล้อมให้”เจียง ไคเชก” รับรองเอกราชให้ไทย โดยเมื่อเจียง ไคเชก ไปพบรูสเวลต์หลังสงครามโลกยุติ ก็ยืนยันตามที่ตกลงไว้กับนายจำกัด

เพราะฉะนั้น จีนเป็นประเทศแรกที่รับรองเอกราชให้ไทย นี่คือความสำคัญซึ่งเป็นผลงานของนายจำกัด

จากเหตุผล 2 ประการ ผมเลยคิดว่าต้องเขียนเกี่ยวกับนายจำกัด แล้วจะเขียนอย่างไร ก็ไปดูแล้วพบว่ามีคนเขียนถึงเขาบ้าง เช่น “มาลัย ชูพินิจ” ซึ่งเขาได้สัมภาษณ์อาจารย์ปรีดี หลังสงครามโลกเลิกเกือบจะทันที ก็เขียนเรื่อง “X.O Group เรื่องภายในคณะเสรีไทย” และก็มีฝรั่งชื่อ Edwin Ride ที่ไว้ในหนังสือของเขาบทหนึ่งถึงนายจำกัดว่า

“จำกัด พลางกูร ได้มอบชีวิตของเขาให้แก่ประเทศชาติและแม้กระทั่งทุกวันนี้มีคนจำนวนน้อยมากที่รับรู้ความจริงถึงความล้ำลึกของความรักชาติ และความกล้าหาญของ …จำกัด พลางกูร”

Edwin Ride เขียนตามบันทึกของพ่อเขาซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังอังกฤษที่มาประจำที่กุยหลิน มาคอยรับคนอังกฤษที่แตกหนีมาจากฮ่องกง เพราะญี่ปุ่นยึดฮ่องกงได้ คนนี้นายจำกัดมาเจอแล้วเขาช่วยให้นายจำกัดได้ขึ้นเครื่องบิน

“เพราะฉะนั้น เหตุผลหนึ่งที่เขียนหนังสือ และทำละครเรื่องนี้ คือต้องการจะลบล้างคำของ Edwin Ride ทำให้คนไทยรู้จักนายจำกัดมากขึ้น”

แต่ตอนเริ่มเขียนแรกๆ ไม่มีบันทึกของนายจำกัด แต่เคยเห็นคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เอามาพิมพ์ประมาณ 10 หน้า ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร และก็มีคนอื่นเขียนบ้างอย่างที่เล่าให้ฟัง ก็เลยคิดว่า เขียนเป็นละครดีกว่า เพราะเขียนเป็นหนังสือวิชาการอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่บทละครฉบับแรกเขียนสั้นๆ แต่เมื่อเขียนไปได้พักหนึ่ง ก็มีคนคนหนึ่ง เป็นคนที่ผมรู้จัก เอาบันทึกทั้งหมดของนายจำกัดมาให้ แล้วบอกว่า ห้ามบอกว่าเขาเป็นใคร และห้ามอ้างอิง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบันทึกทั้งหมดของนายจำกัด ได้รับการเปิดเผยแล้ว โดยคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร (ภรรยานายจำกัด)ได้มอบให้ไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

บันทึกของนายจำกัดมีประมาณ 1,000 หน้า ผมอ่านเป็นสิบๆ เที่ยว ก็คิดว่า น่าจะเขียนวิชาการได้ ก็เลยเขียนเป็นหนังสือวิชาการคู่กับเขียนบทละครใหม่ เอาบทละครต้นฉบับมาปรับปรุงใหม่

ตัวอย่างสมุดบันทึกของจำกัด พลางกูร (หน้าปกเล่ม 8 )
ตัวอย่างสมุดบันทึกของจำกัด พลางกูร (หน้าปกเล่ม 8 )

“ดังนั้น จึงเขียน 2 อย่างพร้อมๆ กัน และก็เสร็จพร้อมๆ กัน ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเต็ม รวมถึงการเดินทางไปจุงกิง เพื่อแกะรอยสถานที่ที่จำกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก โรงแรม และโรงพยาบาลที่เขาเสียชีวิต ซึ่งไกลมากต้องข้ามแม่น้ำไปอีกฝังหนึ่ง เพราะฉะนั้น นายจำกัดเสียชีวิตอย่างเดียวดายจริงๆ”

หนังสือเพื่อชาติ เพื่อ humanity พิมพ์เองและขายเอง พิมพ์หนังสือ 3,000 เล่ม ขาย 2,000 เล่ม อีก 1000 เล่ม ให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

“แต่เชื่อไหม 2,000 เล่มจนถึงขณะนี้ยังขายไม่หมด เวลาผ่านไป 7 ปีแล้วยังขายไม่หมด เหลืออีกประมาณ 400 เล่ม ก็ไม่ใช่จะขายง่าย ทั้งที่ราคาไม่แพง”

ไทยพับลิก้า : จากบันทึกของนายจำกัด เราเรียนรู้อะไรบ้าง จากเหตุการณ์ที่เขาบันทึก และสิ่งที่เขากระทำ

ฉัตรทิพย์ : เรื่องความเสียสละ กับความมุ่งมั่น ชัดเจน ถ้าอ่านจากบันทึกนายจำกัดจะเห็นชัดว่า การเดินทางไปจีนมีความยากลำบาก เพราะเส้นทางระหว่างทางไปถึงจีนมีทหารญี่ปุ่นมากมาย จึงอันตรายมาก และไปถึงจีนก็ไม่รู้ว่าจีนจะว่าอย่างไร

เมื่อไปถึงก็ยากมากในการจะพบเจียง ไคเชก ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่ค่อยส่งเสริมไทยเท่าไร ทำให้นายจำกัดต้องเที่ยวเดินหาว่าสถานทูตอังกฤษและสถานทูตอเมริกาในจุงกิงตั้งอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะไปคุยโดยตรงและไปฝากส่งโทรเลข ซึ่งลำบากมาก

“เมืองจุงกิง ผมไปแล้ว เป็นเมืองหน้าผาริมแม่น้ำ ก็ต้องเดินขึ้นเดินลงทุกวัน เหมือนปีนกระไดทุกวัน แต่นายจำกัดก็ต้องหาทางไปต่างๆ นานา และภาษาก็ไม่รู้ นายไพศาลก็ไปด้วยบ้าง แต่บางที่ก็ไปเอง และจุงกิงยามนั้น ญี่ปุ่นก็บอมบ์เรื่อยๆ และคนก็แออัด คืออยู่ไม่สบาย”

ดังนั้น ต้องมีความมุ่งมั่น และเสียสละมาก ถึงทำภารกิจได้สำเร็จ

อีกอย่างที่ผมชอบนายจำกัดคือ จากบันทึกจะเห็นว่าเขาใฝ่รู้มาก คือเขามุ่งมั่นกับภารกิจเขา และหาความรู้ และหาข้อมูลเพื่อให้ภารกิจนั้นสำเร็จ ทั้งกับงาน และการวางแผน คิดข้ามช็อตด้วยว่า สงครามสงบประเทศจะไปทางไหน และวางแผนล่วงหน้าเตรียมการไว้เสมอ

คือ เขาคิดถึงประเทศชาติและสังคมอยู่ทุกขณะจิต ขณะเดียวกันก็คิดถึงภรรยา และครอบครัว คือทำทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน เป็นสามีที่สมบูรณ์ เป็นลูกที่สมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันก็อ่านหนังสือเยอะมากเพื่อให้รู้สถานการณ์

“แปลกที่อายุเพียง 28 ปี แต่ทำทุกอย่างพร้อมกันได้ แต่เขาเป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้าทุกคนเหมือนนายจำกัด ประเทศเราคงไปได้ไกล”

นายจำกัดเป็นคนที่เหมาะสมที่จะเป็น “โมเดล” ของคนไทย

ไทยพับลิก้า : หลังจากละครแสดงจบไปแล้ว อาจารย์ได้รับอะไรบ้างกับละครเรื่องนี้ และประทับใจอะไรมากที่สุด

ฉัตรทิพย์ : ปลื้มใจในแง่สังคม คือเห็นผู้คนตอบรับดีเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นการปรองดองของหลายๆ ฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะฝ่ายคณะเจ้า และฝ่ายคณะราษฎรก็เกิดขึ้นจริง การประนีประนอมของหลายๆ ฝ่ายโดยยึดหลักประชาธิปไตยของคณะราษฎร และความสำคัญของประชาชนที่เป็นกองกำลังที่เป็นจริงของประเทศชาติ

“คือเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ แล้วการตอบรับดีในปัจจุบัน มีคนพูดถึงเรื่องอย่างนี้ ก็แสดงว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้”

ไทยพับลิก้า : ทำไมมองว่า การปรองดองของคณะฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร (ในฉาก ม.จ.ศุภสวัสดิ์พบกับนายจำกัด) ถึงมีนัยสำคัญมาก จะสื่อถึงอะไร

ฉัตรทิพย์ : สำคัญ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อถึงความขัดแย้งของสังคมไทย คล้ายๆ ว่า เรามีความยืดเยื้อของพลังอนุรักษ์นิยมสูง ประเทศเรามีปัญหานี้ แต่การพบกันระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์กับนายจำกัด ถือเป็นการรับรองเส้นทางของ 2475 โดยตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม และมีผลสำคัญทำให้ประเทศไม่แตกแยกกันในตอนนั้น

ถ้าคนดูละครแล้วชอบ ก็อาจเป็นการบอกว่า แนวทางประนีประนอมแบบนี้ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้ผมปลื้มเพราะผมรู้สึกว่า แนวทางประชาธิปไตยแบบมีการเมืองอย่างยุติธรรม (fair play in politics) เป็นไปได้ โดยประชาชนมีความสำคัญต่อชีวิตของประเทศชาติ คือ อุดมการณ์อะไรที่ปรากฏในละครนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากคิดว่าเป็นอุดมคติ แต่เป็นอุดมคติที่ใครๆ ก็รับได้ อันนี้รู้สึกอย่างนั้น

“รู้สึกว่า เส้นทางประชาธิปไตยที่เกิดจากการประนีประนอมของคณะราษฎร กับคณะอนุรักษ์เป็นไปได้ และสวยงาม”

อีกอันหนึ่งคือ ให้เห็นพลังงานของชาวบ้าน ประเทศชาติดำเนินไปไม่ได้ถ้ามีแต่ส่วนหัวอย่างเดียว ต้องไปทั้งตัว ในเวลาวิกฤติ และทุกเวลาเราต้องไปกันทั้งตัว ไม่เช่นนั้นมันไม่ไปจริง ของเราบางที่เราก็ลืมไป เราเน้นส่วนหัวมากไป

ชาวบ้านคือกำลังที่เป็นจริงของประเทศในทุกๆ เรื่อง สังคมจะเจริญได้ต้องเจริญทั้งหมด และเสรีไทยก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนคือกำลังที่เป็นจริงของประเทศ

ที่กล่าวมานั้นเป็นความปลื้มแง่ส่วนรวม แต่ที่ปลื้มหรือชอบใจส่วนตัวก็คือ เราพูดๆ กันในกองละครว่า การจัดทำละครเรื่องนี้มีลักษณะเป็น “สหกรณ์แห่งความรัก” คือการจัดการละครเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จได้ เพราะว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันคนละหน่อย ด้วยความสมัครใจ รักใคร่กัน การจัดองค์กรของคณะละครไม่ได้จัดองค์กรแบบสายบังคับบัญชาข้าราชการ เราไม่ใช่ละครราชการ ไม่ใช่ระบบทุน เพราะเราไม่ได้จ้างคนมาเล่น ทุกคนมาเล่นเพราะเรารักกัน และศรัทธาคุณจำกัด

เราพูดเรื่องระบบสหกรณ์ ระบบที่คนมาร่วมกันทำอะไรด้วยความสมัครใจ โดยมีทรัพยากรไม่มาก แต่ละคนมีไม่เยอะ แต่เราก็ออกกันคนละเล็กละน้อย และทุกคนยอมเสียสละคนละนิดละหน่อย แรงงานก็ฟรี คนรักๆ กันก็ช่วยออกเงินไม่มาก แต่รวมกันแล้วเป็นกองใหญ่

“เราบริหารแบบสมัครใจ บริหารแบบประชาธิปไตยมากเลย การจัดองค์กรแบบสหกรณ์ ทำด้วยความรัก ความสมัครใจ โดยมีจุดหมายร่วมกันที่เป็นธงชัยว่า เราต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่อสังคม”

ดังนั้น อยากให้การจัดการแบบนี้มากขึ้น และมีการทำแบบนี้ในหลายๆ ส่วนของสังคม เพราะถ้ามีแบบนี้มากก็ไม่ต้องใช้การบังคับ และจะเป็นองค์กรทำคู่ขนานกับระบบทุนก็ได้ เหมือนละครก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เราก็ทำใหญ่ๆ ได้ และองค์กรท้องถิ่นควรมีรูปแบบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรทางวัฒนธรรม องค์กรทางวิชาการ ต้องมีแบบนี้มากๆ เชื่อว่าจะทำงานตามเป้าหมายสำเร็จได้

“รูปแบบสหกรณ์อย่างนี้ ถ้าแพร่ไปองค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ ก็คงดี เพราะนี่คือระบบชุมชน ที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วก็ทำได้โดยไม่ต้องมีเงินมาก แม้ว่าจะใช้เงินเยอะ แต่ถ้าเราช่วยกันก็ไม่ต้องไปเอานายทุนมาก็สำเร็จได้”

อีกอย่างคือ สังคมไทยมีลักษณะเป็นชุมชนค่อนข้างมาก เพราะเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรม ดังนั้นเราจะต้องระดมหรือฟื้นขึ้นมาให้ดี เพราะเป็นทุนเดิมของเราที่มีอยู่เยอะ ทั้งความเป็นชุมชน และครอบครัวของสังคมไทย เราไม่ใช่ระบบปัจเจกอย่างตะวันตกที่ขึ้นกับผลประโยชน์และเหตุผลหลายอย่าง แต่ของเราเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง คือจากความรักกัน

“ของที่เรามีอยู่แล้ว เราน่าจะรื้อฟื้น เพราะมันเป็นของๆ เรา เป็นความทันสมัยแบบไทย Modernity แบบไทย เราก็เอาเทคโนโลยีมาใส่ เหมือนละครเวที เราก็มีเทคโลโลยี มีไฟ มีระบบเสียงที่ทันสมัย แต่ฐานคือความรัก”