ThaiPublica > คอลัมน์ > ย้อนมองเศรษฐกิจปี 56 ตรวจสภาพรับปี 57

ย้อนมองเศรษฐกิจปี 56 ตรวจสภาพรับปี 57

24 พฤศจิกายน 2013


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ธปท.ปรับจีดีพี

ใกล้สิ้นปีไปทุกที ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนปี 2556 และมองไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึงกันแล้วครับ

ปี 2556 ที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยความหวัง ถ้ายังจำกันได้ ปี 2553 เรามีวิกฤตการเมือง ปี 2554 เราโดนน้ำท่วมใหญ่ ปี 2555 เป็นปีแห่งการฟื้นตัว การลงทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม การบริโภค ซ่อม สร้าง เป็นไปอย่างคึกครื้น มิหนำซ้ำเรามีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ทั้งรถคันแรก บ้านหลังแรก โครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว

จบปี 2555 เศรษฐกิจไทยโต 6.4% หลังจากไม่โตเลยในปี 2554 เพราะน้ำท่วม เฉพาะไตรมาสสุดท้ายปี 2555 เศรษฐกิจไทยโตไปถึง 19% แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะแรงอัดจากการผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบตามเส้นตายโครงการรถคันแรก และฐานที่ต่ำเพราะน้ำท่วมในไตรมาส 4 ปีก่อน

เข้ามาปี 2556 ทุกคนคิดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดี น่าจะโตได้สัก 5% เพราะแรงส่งแรงเหลือเกิน แต่พอตัวเลขไตรมาสแรกออกมา ตัวเลขผิดหวังไปพอควร เศรษฐกิจติดลบไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ไม่ว่ากันเพราะไตรมาสก่อนมันดีเหลือเกิน

เข้าไตรมาสสอง เอ๊ะทำไมเศรษฐกิจมันดูแผ่วๆ คนเริ่มทิ้งใบจองรถคันแรก ไม่ไปรับรถ ราคาสินค้าเกษตรเริ่มแย่ ราคายางเริ่มตก การส่งออกไม่ไปไหน แล้วคุณ Bernanke ดันออกมาขู่เรื่อง Fed จะลดการทำ QE อีก ตลาดหุ้นก็เริ่มร่วงหลังจากขึ้นไปถึงจุดสูงสุด

ตัวเลข GDP ออกมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน แปลว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ
เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) และไทยเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสสองถึงร้อยละ 5 ของ GDP ในช่วงเวลาที่นักลงทุนห่วงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาพอดี หุ้นไทยเลยโดนกระหน่ำแบบไม่ยั้ง

ตัวเลข GDP ไตรมาสสามที่ออกมายังคงสร้างความผิดหวังให้กับนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศที่ไม่มีที่ท่าว่าจะฟื้น การบริโภคภาคเอกชนติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การลงทุนภาคเอกชนหดตัว การลงทุนภาครัฐก็ล่าช้า การส่งออกก็แป๊ก ราคาสินค้าเกษตรแย่กันไปหมด ดีว่าการท่องเที่ยวมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว พยุงเศรษฐกิจไว้ได้

จากต้นปีที่เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้สัก 5% เหลืออีกไตรมาสเดียว ตอนนี้ประมาณการเศรษฐกิจโดนปรับลดกันฮวบฮาบ เหลือไม่ถึง 3% กันหมดแล้ว การส่งออกก็โดนปรับลดเหลือ 0% คือไม่โตเลย

ผมว่ามีสี่เรื่องที่น่าจับตามองครับ

หนึ่ง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการบริโภคภาคเอกชน บทเรียนที่สำคัญที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการยืมเงินในอนาคตมาใช้ผ่านการสร้างหนี้นั้น หมดฤทธิ์ได้อย่างเร็วแบบไม่น่าเชื่อครับ

เหมือนคนติดมอร์ฟีน เริ่มหมดแรงเมื่อฤทธิ์ยาหมด

ปีที่แล้วเรากระตุ้นการบริโภคกันอย่างบ้าคลั่ง หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านมาไม่ถึงปี ดูเหมือนว่าบัญชีของภาคครัวเรือนเริ่มจะตึงตัว เงินที่เคยเหลือจับจ่ายใช้สอย ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ การบริโภคเลยลุ้นไม่ค่อยขึ้นว่าจะโตได้อย่างรวดเร็ว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น รายได้ไม่เพิ่ม หนี้ที่ก่อไว้เกินตัวอาจจะกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ สร้างปัญหาให้ภาคธนาคารได้อีกรอบ โดยเฉพาะถ้าดอกเบี้ยกลับมาอยู่ในขาขึ้น และรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายจ่ายและหนี้

สองคือปัญหาเรื่องข้าว ปัญหาธนาคารของรัฐ และหนี้รัฐบาล ผมว่าปัญหาเรื่องนโยบายข้าวเป็นเรื่องใหญ่ และจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผมคงไม่ต้องบรรยายแล้วนะครับว่านโยบายข้าวปัจจุบันแย่ขนาดไหน และส่งผลเสียหายแก่อุตสาหกรรมข้าว ภาระการคลัง และผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมขนาดไหน

ปัจจุบันเงินที่ใช้ซื้อข้าว ไม่น่าจะต่ำกว่าหกแสนล้านบาท และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ และนับเป็นหนี้สาธารณะแล้วกว่า 4.1 แสนล้านบาท และเพิ่งจะอนุมัติให้กู้เพิ่มอีก 7 หมื่นล้านบาท แม้ว่านี่ไม่ใช่ภาระขาดทุนทั้งหมด เพราะเรายังมีสต็อกข้าวที่มีมูลค่าอยู่ แต่การขายข้าวทำได้ช้ามาก ในขณะที่คุณภาพข้าวลดลงเรื่อยๆ มีการคาดการณ์ว่าภาระขาดทุนไม่น่าจะน้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาทต่อปี

การทำนโยบายการคลังแบบปลายเปิดเช่นนี้ เกิดภาระมหาศาล และไม่รู้จะจบอย่างไร เป็นนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง การให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยชาวนาไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอ ถ้าเรายังไม่รู้เลยว่าต้นทุนของโครงการนี้เป็นเท่าไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการนี้ “คุ้มทุน” และ “คุ้มค่า” หรือไม่

เงินปริมาณมหาศาลแบบนี้ เราสร้างรถไฟรางคู่ได้ปีละหลายสายเลย หรือเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกเยอะ

นอกจากนี้ การช่วยเหลือแบบนี้สร้างความคาดหวังจากรัฐที่ไม่ถูกต้อง และเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เมื่อเราช่วยชาวนาด้วยต้นทุนมหาศาลขนาดนี้ และเกษตรกรอื่นๆ เช่นชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่อ้อย ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มน้ำมัน หรือคนยากจนอื่นๆ (เช่นคนขายพวงมาลัย ฯลฯ) ทำผิดอะไรหรือ จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในปริมาณมากขนาดนี้

นอกจากนี้ การใช้สร้างภาระการคลังแบบมหาศาลแบบนี้ เป็นการเบียดบังเอาทรัพยากรด้านการคลัง และอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดของการทำโครงการภาครัฐได้ นี่ขนาดเรายังไม่ได้เริ่มทำโครงการสองล้านล้านเลย หนี้รัฐบาลก็ค่อยๆปรับสูงขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจเสียแล้ว

สาม คือปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออกไทย การส่งออกของไทยน่าผิดหวังมาหลายปี จำวาทกรรม white lies ได้ไหมครับ เราเคยคาดหวังว่าการส่งออกไทยควรจะโตได้ปีละ 15% แต่เราเห็นการส่งออกโตแค่เล็กน้อยมาสองสามปีแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นครับ ผมว่ามีสองสามประเด็น

ประเด็นแรกคือความต้องการสินค้าจากตลาดสำคัญของไทย ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าเศรษฐกิจใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกาจะมีสัญญาณฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวมาจากการลงทุนและผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (เช่น ภาคพลังงาน) มากกว่าการบริโภค การฟื้นตัวของสหรัฐจึงยังไม่ค่อยส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของเรามากนัก ถ้าดูการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐ ตอนนี้ลดไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับตอนก่อนวิกฤตครับ

สอง นโยบายสินค้าเกษตรที่บั่นทอนปริมาณการส่งออก และความโชคร้าย เช่น โรคกุ้ง

และสามคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสินค้าส่งออกที่สำคัญของเรา เช่น hard disk และสินค้าอิเล็คโทรนิคอื่นๆ ที่ความต้องการอาจจะลดลงเพราะโครงสร้างสินค้าเปลี่ยนไป (ใครๆก็หันไปใช้ tablet กันหมดแล้ว) แต่โชคดีที่เราได้การท่องเที่ยวและการส่งออกรถยนต์มาเป็นพระเอกในปีนี้ ไม่งั้นแย่เลยครับ

ปีหน้าการส่งออกจะแก้ไขปัญหา และกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่ น่าจับตาดูครับ

สี่ คือการลงทุนภาครัฐ ประเทศไทยขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และเราต้องการการลงทุนจริงๆ หลายๆคนหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว มาช่วยลากเศรษฐกิจไทยขึ้นจากภาวะชะลอตัว พรบ. สองล้านล้าน มีการพูดถึงกันเยอะ แต่ก็เผชิญกับปัญหาไม่น้อยทีเดียว เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่า พรบ. สองล้านล้าน จะผ่านหรือไม่ ก็หวังนะครับ ว่าการลงทุนของภาครัฐจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนให้นำเงินมาลงทุนได้ในไม่ช้านะครับ

แต่อย่างไรก็ดี มีอยู่สองสามเรื่องให้น่าห่วงครับ หนึ่ง คือ ความคุ้มทุนและการจัดความสำคัญของเงินลงทุน ที่อาจถูกละเลย สอง คือความโปร่งใส การตรวจสอบการใช้เงิน และภาระการคลัง และสาม การปฏิบัติตามแผนการลงทุน ที่แผนการลงทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่จะล่าช้า และกินเวลานาน

ปีหน้าฟ้าใหม่หวังเราเศรษฐกิจไทยจะได้เจอเรื่องดีๆบ้างนะครับ หลังจากผิดหวังมาเกือบตลอดปีนี้ และหวังว่าการเมืองเราจะนิ่งให้เศรษฐกิจได้ขับเคลื่อนกันเสียที ไม่อย่างนั้นก็คงจะลุ่มๆดอนๆกันต่อไป