ThaiPublica > คอลัมน์ > การใช้จ่ายเงินภาครัฐ-ไม่ใช่แค่ไม่โกง ต้องใช้ให้คุ้มค่าด้วย

การใช้จ่ายเงินภาครัฐ-ไม่ใช่แค่ไม่โกง ต้องใช้ให้คุ้มค่าด้วย

11 กันยายน 2014


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เป็นที่น่ายินดีที่กระแสการต่อต้านคอร์รัปชันกำลังดังกระหึ่ม หลายภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมไม้ร่วมมือกันในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งโครงการน้อยใหญ่ที่ดูเหมือนจะผุดออกมาให้เราเห็นกันอยู่ทุกวัน

ผมอยากชวนคิดต่อไปอีกนิดว่า การใช้จ่ายเงินภาครัฐ ไม่ใช่แค่ออกมายืนยันว่าไม่ได้ซื้อของแพงกว่าราคาตั้งแล้วจะเพียงพอ การใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนต้องใช้ให้คุ้มค่า ประหยัด มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ช่วงนี้กระแสนาฬิกาแพง ทีวีแพง ไมโครโฟนแพง กำลังมาแรง ผมขอเกาะกระแสไปกับเขาหน่อยแล้วกันครับ

ก่อนหน้านี้ นาฬิกาของรัฐสภาเรือนละเกือบแปดหมื่นบาทเคยเป็นประเด็นโด่งดังมารอบหนึ่งแล้ว และผู้รับผิดชอบให้เหตุผลว่า ต้องมีนาฬิกาที่เดินตรงกันทั้งตึก เพื่อให้ ส.ส. เข้าประชุมได้ตรงเวลา (เอิ่ม…)

ห้องประชุมใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : http://sv6.postjung.com/wb/data/802/802844-img-1409878949-1.jpg
ห้องประชุมใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : http://sv6.postjung.com/wb/data/802/802844-img-1409878949-1.jpg

และไม่นานมานี้ มีการเปิดตัวห้องประชุมของรัฐบาล มีการคุยว่าห้องประชุมนี้ใช้ไมโครโฟนตัวละแสนกว่าบาท ซื้อกันทีเกือบร้อยตัว และมีการคุยต่อไปอีกว่า ใช้เทคโนโลยีเดียวกับทำเนียบขาวเลยทีเดียว และเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อมีคนไปขุดมาว่า ไมโครโฟนตัวนั้นราคาแพงกว่าราคาที่ขายๆ กันอยู่เกือบสองเท่า และค่าทำห้องประชุมหนึ่งห้องสร้างโรงเรียนได้ทั้งโรงเรียน

มีคนไปขุดต่ออีกว่า ที่ทำเนียบขาว และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของประเทศใหญ่ๆ หลายๆ ประเทศในโลก ไม่ได้ใช้ไมโครโฟนรุ่นสุดยอดแบบในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีบ้านเรานะครับ เพราะเขาประชุมกันในห้องเล็กๆ นั่งกันได้ยี่สิบสามสิบคน ไม่ใช่ประชุมกันทีเกือบร้อยคนแบบบ้านเรา

กลายเป็นตลกร้าย ว่าความสำเร็จในการประชุมดูเหมือนจะแปรผกผันกับต้นทุนของการจัดห้องประชุมเสียนี่

เรื่องยังไม่จบครับ มีคนไปเจออีกว่า ไม่ใช่แค่ไมโครโฟน ห้องประชุมสุดยอดของเราใช้จอทีวีพลาสมา 60 นิ้ว ราคากว่าห้าแสนบาท! ฟังแล้วอยากอุทานเป็นภาษาโปรตุเกส เพราะผมเพิ่งไปเดินห้างมา เห็นทีวีจอยักษ์หกสิบนิ้ว ราคาเครื่องละไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น

ผมคงเข้าใจได้แหละครับว่า จอห้าแสนคงทำอะไรได้มากกว่าจอไม่กี่หมื่นบาทที่ผมไปเจอมา และผมคงไม่ได้ไปกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น (แต่ฟังดูก็น่าสงสัยอยู่) และโครงการพวกนี้ฟังดูแล้วเล็กมาก (งบไม่กี่ล้านบาทเอง) เมื่อเทียบกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่อื่นๆ

ผมว่าเรื่องนี้มีสองประเด็นที่น่าคิดครับ

หนึ่ง คือ รัฐและข้าราชการควรต้องสังวรณ์ไว้ตลอดเวลาว่า การทำหน้าที่ของรัฐ และใช้จ่ายเงินของภาครัฐ คือการทำหน้าที่ “ให้บริการ” แก่ประชาชนผู้เสียภาษี เงินทุกบาทที่กำลังใช้อยู่นั้นได้มาจากประชาชน ที่มอบให้รัฐเพื่อทำหน้าที่จัดหา “สินค้าและบริการสาธารณะ” ให้แก่ประชาชน

การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐที่ได้มานั้น ไม่ได้เป็นอำนาจหรือสิทธิพิเศษ แต่เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน

แม้ว่ารัฐจะไม่มีคู่แข่ง และอาจจะไม่มีแรงจูงใจที่จะลดต้นทุนการให้บริการ เพราะไม่มีตัววัดที่เป็นผลกำไร แต่จำเป็นอย่างยิ่งครับ ที่รัฐจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนให้ต่ำที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น (แม้ว่าหลายคนใช้เงินงบประมาณราวกับว่าเป็นเงินที่ได้มาฟรีๆ ก็ตาม)

การลดการทุจริต คอร์รัปชัน เป็นส่วนสำคัญในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้รัฐใช้เงินภาษีให้น้อยลงในการให้บริการประชาชน มีเหลือไปใช้ในโครงการที่มีประโยชน์อื่นๆ หรือใช้เงินเท่าเดิมแต่จัดหาบริการที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเงินไม่ไปตกอยู่ในกระเป๋าหรือตู้เสื้อผ้าของใครบางคน

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ ผมว่าเราต้องแน่ใจด้วยว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐใช้ลงไปนั้น มีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุดจริงๆ

เลิกเถอะครับ กับการอวดร่ำอวดรวย บอกว่าของที่เราใช้นั้นเทียบกับประเทศนั้นประเทศนี้ กลับมาเน้นการพัฒนาคุณภาพของผลงานบริการสาธารณะ และจัดหาบริการเหล่านั้นแก่ประชาชนโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุดได้ไหมครับ การวัดผลและต้นทุนของบริการภาครัฐจึงมีความสำคัญยิ่ง

จริงครับ จอไม่กี่หมื่นอาจจะทำไม่ได้ทุกอย่างที่จอห้าแสนทำได้ แต่มันเพียงพอกับการทำงานจัดหาบริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้กับประชาชนไหมละครับ?

การจัดทำการศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของโครงการภาครัฐ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เป็นแค่เพียงตรายางที่พร้อมจะประทับผ่านเมื่อผู้มีอำนาจสั่งการลงมา เพราะมันเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจและต้นทุนของโครงการ ที่จะนำไปจัดอันดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงิน เพราะอย่าลืมว่า เราไม่ได้มีเงินร่ำรวยล้นฟ้าที่จะทำอะไรก็ได้ ต้นทุนเท่าไรก็ได้ แม้ว่ามันจะฟังดูดีขนาดไหน (จำนโยบายจำนำข้าวได้ไหมครับ)

รวมไปถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐด้วย แม้จะมีการนำเสนอมาเป็นแพ็คเกจ แต่ผมเชื่อว่าบางโครงการยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง อนุมัติกันแบบรีบๆ ไม่มีรายละเอียด มีต้นทุนสูงมหาศาล ไม่จำเป็น และมีผลพลอยได้ต่อการพัฒนาประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขอให้จับตาดู และตรวจสอบกันหน่อยนะครับ

ประเด็นที่สอง คือ การเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ ในการจับทุจริต ฮั้วประมูล ล็อกสเปก และการใช้จ่ายแบบเกินตัวแบบไร้สาระ กว่าวิธีอื่นๆ เป็นไหนๆ

นักสืบพันทิป นักสืบเฟซบุ๊ก และประชาชนทั่วไป พร้อมที่จะต้มมาม่า นั่งขุดคุ้ย วิเคราะห์ เปรียบเทียบ เสาะหาข้อมูล มานำเสนออย่างละเอียดกว่าการจ้างนักสืบเสียอีก

ผมเลยอยากเสนอด้วยซ้ำว่า ในการประมูลโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ควรมีการเปิดเผยราคากลาง ผลการประมูล และมาตรฐานการตรวจรับงานอย่างโปร่งใส เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างกว้างขวาง แม้จะไม่สามารถนำไปสู่การจับทุจริตได้ แต่ก็สร้างความละอายใจ ไม่กล้าทำกันโจ๋งครึ่มอย่างทุกวันนี้

ผมเข้าใจว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะนำมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างระดับสากลมาใช้กับโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่สำคัญๆ และหลักการสำคัญของมาตรการเหล่านี้คือการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล และการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขัน และสามารถตรวจสอบได้

ผมว่าเรามาร่วมรณรงค์ไม่ยอมรับการทุจริต คอร์รัปชัน และการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมาตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐกันเถอะครับ อย่าปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นประเพณีที่ยอมรับกันได้ง่ายๆ

เงินภาษีและอนาคตของเราอยู่ในมือทุกคนครับ