ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ทักษิณ” ฝ่าด่านนิรโทษเหมาเข่ง เพิ่มรอยปริเพื่อไทย โฟกัสรอยร้าวถึงราก “เสื้อแดง”

“ทักษิณ” ฝ่าด่านนิรโทษเหมาเข่ง เพิ่มรอยปริเพื่อไทย โฟกัสรอยร้าวถึงราก “เสื้อแดง”

25 ตุลาคม 2013


เปิดตัว “เนติบริกร” คนใหม่ หลังเวทีนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” ตามเสียงนกหวีด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการ “set zero” การเมืองใหม่อีกรอบ เผย-รอยแตกแยก “ทางสู้สุดซอย-ทางถอยสุดทาง” ของเพื่อไทยและคนในชินวัตร

ฉากหน้าการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม อาจอยู่ในมือของ 18 อรหันต์ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง

แต่ฉากหลังมีมือกฎหมายระดับ “เนติบริกร” อดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ-อดีตรองนายกรัฐมนตรี-อดีตเสนาบดีมหาดไทย ปัจจุบันรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่มีดีกรีระดับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไว้ใจใกล้ชิดเป็นพิเศษ ช่วยจัดการเสนอคำแปรญัตติแบบคำต่อคำ

ผ่านการวางตัวหนึ่งในคณะกรรมาธิการอย่างนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ฉายา “หัวเขียง” เป็นเพียง “หัวเชิด” ในสภาผู้แทนราษฎร

และเป็นที่รับรู้กันในพรรคเพื่อไทยว่ามีการเทียวไป-เทียวกลับ รับคำรับปากจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งในนครดูไบ-กรุงเทพฯ หรือ ฮ่องกง-สิงคโปร์-กรุงเทพฯ เดือนละหลายรอบ ในช่วงที่ผ่านมา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian

หลักการตีโต้ฝ่ายตรงข้ามของ “เนติบริกร-โภคิน(พลกุล)” ที่โน้มน้าวคนในพรรคระดับแกนนำสายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ คือ หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการยกเว้นนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการให้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การนิรโทษกรรมเป็นไปตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามวรรค 1 คือ นิรโทษกรรมให้กับทุกคน ไม่ยกเว้นแกนนำ หรือผู้สั่งการให้มีการเคลื่อนไหว

และจะไม่ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นโมฆะ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 สาระสำคัญในวรรคแรกก็คือ นิรโทษกรรมประชาชนในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดต่อเนื่องมา ส่วนวรรคสอง การนิรโทษกรรมประชาชนไม่รวมแกนนำ หากวรรคสองเสีย วรรคแรกยังคงอยู่ไม่เสีย แปลว่าทุกคนจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดรวมทั้งแกนนำด้วย

ภายใต้การกำกับของอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทยอย่างนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง แห่งวังบัวบาน

เมื่อถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม วันที่ 18 ตุลาคม 2556 โค้งสุดท้าย ของการประชุมกรรมาธิการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม นายประยุทธ์ ในฐานะรองประธาน กรรมาธิการ คนที่หนึ่ง จึงชิงลงมือเสนอถ้อยคำใหม่ในมาตรา 3 แบบ “เหมาเข่ง-สุดซอย” ความว่า “ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

และการกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จากเดิม เคยระบุเสียงแข็งทั้งพรรค ทั้งตระกูล “ชินวัตร” เรียบเรียงไว้ในมาตราเดียวกันนี้ ความว่า “มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น”

“ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

“การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว”

ประเด็นสำคัญที่ถูกยกมาอ้างถึงเพื่อสนับสนุนการแก้ไข “หัวใจ” ของการนิรโทษกรรม คือประเด็นที่ นายอุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. ที่เคยเตือนตรงๆ กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยว่า “เนื้อหาในมาตรา 3 นั้นอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องหลักความเสมอภาค”

ความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงถูกคณะกรรมาธิการหยิบมาพลิก เพื่อบิดพลิ้วให้เข้าทาง “พ.ต.ท.ทักษิณ” โดยมาตราดังกล่าวนั้นบัญญัติว่า…

“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ ทำให้นักโทษการเมืองที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษ และญาติพี่น้องทั้ง 1,933 ครอบครัว ที่รอฉลองอิสรภาพ พร้อมกับเทศกาลปีใหม่ขึ้นต้นปี 2557 คงต้องเก็บฉาก

เพราะตารางเวลาการพิจารณาและการเสนอกฎหมาย อาจสะดุดหยุดล้มกลางคน นับแต่นาทีที่คำแปรญัตติ “รวมเข่ง” ออกสู่สาธารณะ

ทั้งนี้ หากกฎหมายผ่านทั้ง 3 วาระ และเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยสัญญากับคนเสื้อแดงไว้ คือ นักโทษคดีการเมืองตั้งแต่กันยายน 2549 – พฤษภาคม 2553 อันประกอบด้วย ผู้ถูกจับกุมในคดีการเมือง 1,833 คน นับเป็น 1,151 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 1,644 คน จำคุก 5 คน และเป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 150 คน ในจำนวนนี้ได้ประกันตัวไปแล้ว 137 คน ยังอยู่ในเรือนจำอีก 13 คน และผู้ที่ถูกออกหมายจับทั่วประเทศอีกราว 100 คน ทั้งหมดนี้ “พ้นโทษ” ทันที

ตามแผนการเดิมนั้น เพื่อไทยขีดเส้นทางไว้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 จะสามารถผ่านวาระ 3 ทะลุไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน และหากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง คาดว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจสามารถนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

แต่เมื่อจู่ๆ เสียงเป่านกหวีดข้ามประเทศส่งสัญญาณ “set zero” ดังกึกก้องในพรรคเพื่อไทย ทำให้เสียงของคนส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการ ทั้งในกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และในแนวร่วมเสื้อแดง จึงแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

รอยแตกจุดแรก–จุดเดิม เกิดขึ้นทันทีในกรรมการยุทธศาสตร์บางคนถึงกับช็อคและเคร่งเครียดกับท่าทีที่เปลี่ยนไปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว จึงเลือกที่จะเงียบ ไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะในสายของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยในฝ่ายนี้คาดการณ์ว่า จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จะมีมวลชนออกมาต่อต้านและปะทะกัน ถึงระดับที่ไม่สามารถจัดการประชุมในวาระ 3 ได้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ :http://a9.vietbao.vn/images
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ :http://a9.vietbao.vn/images

ต่างจากกลุ่มของนายสมชาย-นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เปิดไฟเขียว ให้ยืนยันเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษ ที่ครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณให้ถึงที่สุด

สอดรับกับ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ที่เปิดหน้าออกมาแถลงข่าว ให้เดินหน้ายึดถือถ้อยคำที่ “เนติบริกร-โภคิน” ส่งสัญญาณทะลุเข้าไปถึงห้องประชุม ให้ “นิรโทษเหมาเข่ง”

รอยปริอีกจุด แตกจากเนื้อในเสื้อแดง คือแนวทางของ “แกนนอน” กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ประกาศต่อต้าน และจะจัดชุมนุม ไม่รับหลักการนิรโทษแนวทาง “เหมาเข่ง” เป็นแนวร่วมขบวนเดียวกับกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

รอยแยกอีกสาย เกิดขึ้นที่กลุ่ม นปช. สายนางธิดา โตจิราการ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ขับเคลื่อนควบคู่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษตามสัญญาณของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่หนุนให้แก้ไขมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแทน

ทางถอยของเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรในเวลานี้จึงมีทางเดียว คือ “ถอนคำแปรญัตติ” แล้วกลับไปใช้ร่างเดิม มาตรา 3 ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ แต่ทางสายนี้ก็นับว่าไม่ราบรื่น เพราะจากนี้ไปคนเสื้อแดงและแนวร่วมเพื่อไทยก็ไม่อาจไว้ใจพรรคนี้อีก

แต่ถ้าไม่ถอย ยังยืนยันเดินหน้า ก็อาจต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางการเมืองที่ไม่แน่ว่าจะรับมือไหว

ทางหนึ่งคือ อาจเกิดม็อบมหาศาลเท่ากับม็อบที่เคยต้านการขายหุ้นชินคอร์ปมูลค่ากว่า 7.6 หมื่นล้าน

ทางหนึ่งคือ อาจเกิดการปะทะระหว่างม็อบแดง-เหลือ ที่เป็นฐานมวลชนเก่าของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือกลุ่มม็อบอุรุพงษ์-นักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ร่วมขบวนกับม็อบสวนลุมฯ ในนามของ คณะเสนาธิการร่วม “กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ” (กปท.)

ทางหนึ่งคือ แนวต้านโดยตรงในสภา โดยพรรคฝ่ายค้าน-ประชาธิปัตย์ ที่จะใช้ต้นทุน 67 ปี เทหมดหน้าตัก ค้านแบบสุดชีวิต

ทางหนึ่งคือ แนวต้านนอกสภาจากรากของพรรคประชาธิปัตย์ โดยสายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ ที่ประกาศแยกทางจากพรรค ใช้ต้นทุนชีวิตทางการเมือง 30 ปี บอกลาครอบครัว เพื่อลงสู่ท้องถนน เพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ

ต้นเดือนพฤศจิการยน 2556 ปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว แต่จะเป็นฤดูร้อนทางการเมือง ที่อาจทะลุองศาเดือดอีกครั้ง!

ทักษิณ ตามรอย เนวิน ชิดชอบ ผู้บัญญัติคำ “set zero” ทางการเมือง

ในต้นเดือนธันวาคม 2551 กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เป็น ส.ส. ราว 30 กว่าคน ส่งสัญญาณกับพรรคพลังประชาชน (พลป.) ที่อาจถูกยุบในเวลานั้น ว่าจะพลิกขั้วไปร่วมจับมือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งในเวลานั้นเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เขากล่าวว่า “การเมืองเข้าสู่ภาวะเดดล็อก-ทางตัน แต่บ้านเมืองต้องมีทางออก กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ของเขาจะเป็น “แนวหน้า” ในการร่วมพลิกชะตาประเทศไทย และมอบความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลให้อยู่ในมือของประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคที่มีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 2”

“หมดเวลาแล้ว ที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะกลับประเทศโดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะบ้านเมืองเสียหายมามากแล้ว…ภารกิจเพื่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาก่อน คนอื่นจะสำคัญเหนือชาติไม่ได้ พวกเราต้องเชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว”

“ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจ เข้าสู่โหมด set zero นักการเมืองจึงมีโอกาสในการร่วมสร้างอนาคตของประเทศ ให้พ้นจากกระแสเงินและอำนาจของทักษิณและพวก”

ทิ้งบุญคุณที่ต้องทดแทนและแค้นต้องชำระ กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ไว้ด้วยความเจ็บปวด

ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27

ถัดจากนั้นมา 4 ปี ในช่วงเดือนเมษายน 2555 นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาแสดงความคิดเห็นให้การเมืองไทย set zero ใหม่อีกครั้ง

ในวาระที่สภาผู้แทนกำลังอลหม่านเรื่องการ “ปรองดองและนิรโทษกรรม”

เขากล่าวว่า “สิ่งเดียวที่จะเกิดความสมานฉันท์คือ ต้องจบเรื่องเก่าที่ผ่านมาให้ได้ก่อน ถ้าไม่เริ่มใหม่ไม่มีทางจบ เพราะในความเป็นจริงยิ่งนานวันไปยิ่งจะหาทางออกยากขึ้นทุกวัน หาทางออกไม่ได้ เพราะเวลานี้ต้องยอมรับว่าทุกฝ่าย พฤติกรรมที่แสดงออกไม่ต้องการสมานฉันท์ แต่ต้องการเอาชนะ แต่กลับทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเป็นผู้รับกรรม ถูกดำเนินคดี ทั้งฝ่ายที่เห็นต่างและฝ่ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ ประชาชนที่อยู่ตรงกลางก็ต้องรับกรรม บ้านเมืองจึงมีปัญหา”

สูตร “set zero” เอา “ฟืน” ออกจาก “กองไฟ” คือ “กลับไปเริ่มต้นใหม่ แต่จะเริ่มต้นใหม่ได้นั้นคือการนิรโทษกรรมเป็นหัวใจหลักหนึ่งที่ต้องเริ่มขึ้น เพราะหากเราไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ ไม่ set zero ก็ไม่มีทางนำไปสู่การสมานฉันท์ได้ เพราะแต่ละฝ่ายมองในมุมมองต่างกัน”

“วันนี้ถ้าไม่เอาฟืนออกจากไฟ เอาประชาชนบริสุทธิ์ออกมาก่อน ปัญหาจะลุกลามไปเรื่อย แต่ในขณะนี้พยายามนิรโทษกรรมให้กับผู้บริสุทธิ์กลับมีเสียงคัดค้าน …แต่นิรโทษให้กับคนคนเดียวกลับสนับสนุน ถือเป็นปัญหา และเรื่องนี้ต้องนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คนรับได้ว่าแม้ตนเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็เคารพเสียงข้างมากโดยไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง”

วันที่ 22 ตุลาคม 2556 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ผ่านเครือบางกอกโพสต์ว่า

“การนิรโทษกรรม คือ ก็ต้องถามก่อนว่า ถึงเวลา set zero หรือยัง ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ว่ากัน ทะเลาะกันต่อไป แต่ถ้าถึงเวลา set zero ก็ต้องถามว่า อะไรที่มันเป็นผลพวงของความขัดแย้งจนเป็นที่มาของการต่อสู้กัน ใช้กฎหมาย ใช้บุคลากร ใช้การปฏิวัติเพื่อห้ำหั่นกัน ผลพวงสิ่งเหล่านี้มันควรจะต้อง Set Zero อันนี้คือหลักมันง่ายๆ เลย ถามว่าการทะเลาะเบาะแว้งแบบนี้จะให้มีต่อไปหรือไม่ ถ้าเราคิดว่าไม่เป็นไรหรอก อยู่ไปแบบนี้ปล่อยไปเถอะ ก็ไม่ต้องไปทำ กลั่นแกล้งไป ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ใครจะล้างแค้นใคร ใครจะลอบทำอะไรต่อไปก็ว่ากันไปแบบนี้”

“ถามว่าถ้าเบื่อหรือยัง เบื่อแล้ว บ้านเมืองมันไม่ไหวแล้ว ก็ต้องถามว่ามันขัดแย้งกันมานานแล้ว จะเริ่มต้นใหม่ไหม จะหยุดไหม จะ set zero มั้ย แล้วเมื่อ set zero แล้ว กฎหมายมีหลักความยุติธรรมถูกต้องมั้ย คนเป็นกรรมการจะรักษาความเป็นกลางมั้ย ถึงแม้ว่าใครจะถูกตั้งมาโดยฝ่ายไหนก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักนิติธรรม ถ้าเอาตรงนี้เริ่มต้นได้บ้านเมืองก็จะไปรุ่งเรือง”