
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วินัยกับความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย” ในงานมหกรรมการเงินจัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการเงินในเครือดังนี้
หากจับชีพจรสังคมไทยในขณะนี้จะพบว่ามีความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยมีการถกกันเรื่องของอัตราการเติบโตกันอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นว่า การลงทุนของภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นส่วนของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศนั้น หากดำเนินไปอย่างรอบคอบและเหมาะสม ก็จะช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตไปได้ ในวันนี้ผมจึงอยากชวนให้สังคมไทยใช้เวลาครุ่นคิดประเด็นซึ่งต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอัตราการเติบโต อีกทั้งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับหัวข้อปาฐกถาในวันนี้ ซึ่งได้แก่วินัยและภูมิคุ้มกัน
การมีวินัยเป็นหลักพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ หากครอบครัวหรือประเทศต้องการที่จะเติบโตอย่างอย่างยืน โดยวินัยนำไปสู่การปลูกสร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยรองรับสถานการณ์หรือวิกฤติต่างๆ ได้โดยไม่ถึงกับทรุดตัวลง วินัยนั้นเป็นหลักคิดหรือทัศนคติซึ่งวัดเป็นตัวเลขมาตรฐานเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดได้ยาก อย่างไรก็ดี การประเมินวินัยนั้นสามารถดูได้ทางอ้อมจากระดับภูมิคุ้มกันหรือพัฒนาการในการสร้างภูมิคุ้มกันนั่นเอง
หากเปรียบประเทศเป็นเสมือนคนหนึ่งคนซึ่งประกอบด้วยหน่วยย่อยที่สุดคือภาคครัวเรือน ขยายเป็นภาคธุรกิจ เป็นภาครัฐ โดยมีภาคการเงินเป็นตัวเชื่อมโยงภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน การประเมินภูมิคุ้มกันของภาคใดภาคหนึ่ง โดยไม่มองถึงภาคอื่นๆ นั้นจะทำให้ภาพไม่ครบถ้วน เนื่องจากทุกภาคส่วนเชื่อมโยงกันหากภูมิคุ้มกันในจุดใดจุดหนึ่งโดนกระทบก็จะลุกลามไปยังจุดอื่นๆ ได้
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในอดีต ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือ เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้หากภูมิคุ้มกันของประเทศถูกทำลายลงโดยการขาดวินัยในแต่ละภาคส่วนในสังคม แม้กระทั่งหน่วยเล็กที่สุดอย่างภาคครัวเรือน ดังที่เห็นจากวิกฤติแฮมเบอร์กเอร์ ซึ่งครัวเรือนสหรัฐฯ ขาดวินัย ใช้เงินเกินตัว ขณะเดียวกันวิกฤติถูกขยายผล โดยภาคการเงินขาดวินัยในการปล่อยกู้และการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินและภาครัฐขาดวินัยในการก่อหนี้สาธารณะไว้มากเกินควร
ข้อเท็จจริงประการที่ 2 ปัญหาเศรษฐกิจจะนำไปสู่ปัญหาสังคม และเมื่อใดก็ตามที่เราพูดถึงปัญหาสังคม นั่นหมายถึงความทุกข์ร้อนที่จับต้องได้ อาทิ คุณภาพชีวิต การว่างงาน อาชญากรรม ซึ่งแม้แต่ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งก็จะถูกกระทบเช่นกัน ดังที่เราเห็นได้จากวิกฤติในหลายประเทศ ทุกครัวเรือนถูกกระทบจากปัญหาการประท้วง คุณภาพการให้บริการภาครัฐ ที่ทำให้การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่นเช่นเดิม
เมื่อท้ายที่สุดแล้วภูมิคุ้มกันที่บกพร่องในแต่ละภาคส่วนจะนำไปสู่ความทุกข์ร้อนของคนในสังคม จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม ที่จะร่วมกันสอดส่องดูแลรักษาภูมิคุ้มกันทั้งของตนเองและภาคส่วนอื่นไว้ให้ดี
วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผมจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนจากภาคครัวเรือน ในช่วงแรกจะเป็นการประเมินภาพภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนไทยในระยะสั้นและระยะยาว ช่วงที่สองจะชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของภูมิคุ้มกันในภาคครัวเรือนและภาคส่วนอื่น และช่วงสุดท้ายจะจบที่บทบาทหน้าที่ของภาคครัวเรือนในการดูแลรักษาและเพิ่มภูมิคุ้มกันในภาคครัวเรือนไทย
1. ภูมิคุ้มกันของครอบครัวไทย
หากนำตรรกะของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันของครอบครัวไทยในวันนี้จะเห็นว่ามีจุดที่น่าเป็นห่วง สัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภคาครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 79 แม้ส่วนหนึ่งเป็นการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจและการลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย แต่สัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าครัวเรือนไทยมีการกู้เงิน หรืออีกนัยหนึ่งคือนำรายได้ในอนาคตมาใช้เพื่อการบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งไม่คำนึงถึงหลักความพอเพียงและความมีเหตุผล
นอกจากนี้ จากข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้ (saving rate) ของครัวเรือนไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2533-2553) ที่ร้อยละ 11.3 เป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2554 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือนไทยที่เริ่มพร่องลง
เมื่อภูมิคุ้มกันระยะสั้นไม่ดีพอ การมีภูมิคุ้มกันในระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณอายุย่อมเป็นไปได้ยาก จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนในปี 2555 เรื่อง “การวิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของมนุษย์เงินเดือนก่อนวันเกษียณกับการเพิ่มโอกาสเกษียณสุข” จะพบว่า แรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี กลับพบว่าสัดส่วนของคนออมไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพภายหลังเกษียณมีสัดส่วนร้อยละ 39 โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่มีมากกว่ากลุ่มที่มีการออมเพียงพอ
การกระตุ้นให้ครัวเรือนไทยเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยสร้างวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การใช้จ่ายและก่อหนี้เกินตัวในระยะสั้น หากรู้ตัวดีและปรับตัวได้เร็วก็อาจจะส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นการปรับตัวเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่พร่องลง อย่างไรก็ดี หากมีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายและก่อหนี้อย่างต่อเนื่องแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันครอบครัวพร่องลงไปได้อีก
นอกจากประเด็นวินัยทางการเงิน ครอบครัวไทยบางส่วนมีภูมิคุ้มกันทางการเงินต่ำ โดยมีสาเหตุจากปัญหาโครงสร้างการกระจายได้ของไทยยังไม่ดี ครอบครัวที่ฐานะยากจนบางส่วนมีภาระหนี้ต่อรายได้สูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก การแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ด้วยมาตรการเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น รวมทั้งการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนไปติดกับดักการพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยแพงมาก เหล่านี้มีความจำเป็นแต่ต้องทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยต้องไม่ไปบั่นทอนวินัยของครัวเรือน หรือนำไปสู่การก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งต้องช่วยเหลือให้ตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจริงๆ โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ สำหรับการเพิ่มภูมิคุ้มกันของครอบครัวไทยกลุ่มนี้อย่างยั่งยืน ต้องเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดย อาทิ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีระบบสวัสดิการที่เหมาะสม
2. ความเชื่อมโยงของภูมิคุ้มกันในภาคครัวเรือนกับภาคส่วนอื่น
สังคมไทยรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่จะกระทบภูมิคุ้มกันภาคครัวเรือนที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย อาทิ สัดส่วนผู้สูงอายุต่อคนวัยทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสที่ผู้สูงอายุจะพึ่งพาบุตรหลานได้เต็มที่น้อยลง นอกจากนี้ประชากรจะมีอายุยาวขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี การรับรู้ยังไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทัศนคติ พฤติกรรมและการผลักดันให้เกิดการดูแลรักษาและเพิ่มภูมิคุ้มกันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเห็นเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นทุกภาคส่วนมีความเชื่อมโยงกันและมีส่วนเสริมภูมิคุ้มกันซึ่งกันและกัน ผมจึงอยากใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสำคัญที่ครัวเรือนไทยควรตื่นตัวเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมความพร้อมภูมิคุ้มกันตัวเองและเพื่อรวมพลังผลักดันให้มีกลไกเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น
บทบาทภาคธุรกิจ
ภาคธุรกิจเป็นแหล่งรายได้ของภาคครัวเรือนผ่านการจ้างงาน แม้ในภาพใหญ่ภาคธุรกิจจะมีระดับการกู้ยืมสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่อการลงทุน ซึ่งหากเป็นการลงทุนอย่างมีวินัย ระมัดระวัง ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตเป็นแหล่งรายได้ให้ครัวเรือนได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ แรงงานในระบบ ผู้จ้างยังช่วยสนับสนุนการออมเพื่อการเกษียณผ่านเงินที่ส่งให้กองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยหากจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และช่วยสนับสนุนนำเงินส่งเข้ากองทุนในระดับที่เหมาะสม นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของครัวเรือนไทยได้
อย่างไรก็ดี หากมองภาพตลาดแรงงานโดยละเอียดจะพบว่า ในปัจจุบันเริ่มเห็นความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานและความต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้น ความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานและความต้องการภาคธุรกิจนี้อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาชีพหรือการมีเงินเดือนเพิ่มน้อย รวมถึงการลดสัดส่วนการจ้างงานในระบบ การทดแทนด้วยแรงงานต่างชาติ เครื่องจักร หรือการย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศไทย ล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันภาคครัวเรือนไทย ดังนั้น จึงเป็นบทบาทของภาคครัวเรือนที่ต้องปรับตัวเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานอย่างสม่ำเสมอ
บทบาทภาครัฐ
ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดให้ระบบคุ้มภัยทางสังคม (social safety nets) เพื่อคุ้มครองให้ภาคครัวเรือนซึ่งรวมถึงแรงงานทั้งในและนอกระบบมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตและรองรับภัยหรือวิกฤติต่างๆ ระบบคุ้มภัยทางสังคมที่ดีควรจะมีงบประมาณเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นต่ำในวาระต่างๆ อาทิ การยังชีพยามชรา การเจ็บป่วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีบทบาทหน้าที่เป็นกันชนทางเศรษฐกิจในกรณีที่เกิดวิกฤติในภาคธุรกิจหรือภาคการเงิน การมีวินัยในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ โดยรองรับบทบาทคุ้มภัยทางสังคมและกันชนทางเศรษฐกิจ จึงเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยไปกว่าการอำนวยเศรษฐกิจให้เติบโต หากประเทศใดมีการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ มีระบบการบริหารจัดการภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้
อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างในหลายประเทศ หากภาคสังคมขาดความเข้าใจ ความสนใจและการมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันระยะยาวที่ดี ภาครัฐก็จะมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการเติบโตในระยะสั้น โดยทิ้งปัญหาภูมิคุ้มกันในระยะยาวไว้เป็นปัญหาสำหรับคนรุ่นหลัง ในกรณีประเทศไทย แม้ภาครัฐจะมีฐานะทางการเงินมั่นคงโดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมร้อยละ 44 แต่หากมองไปข้างหน้า ยังมีโครงการลงทุนอีกมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว หากมีระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมรัดกุม แต่ก็จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่ไปด้วย ภาคครัวเรือนจึงควรมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามว่า “ขณะนี้ภาครัฐได้เตรียมการและจัดสรรทรัพยากรรองรับภาระในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเพียงพอแล้วหรือไม่” โดยต้องเริ่มต้นจากการผลักดันให้มีข้อมูลที่เพียงพอและโปร่งใส เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเพียงพอของภูมิคุ้มกันได้
บทบาทภาคการเงิน
ภาคการเงินซึ่งเชื่อมโยงภาคต่างๆ ผ่านบทบาทการเป็นตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากรจากผู้ออมไปยังผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน ความมั่นคงของภาคการเงินส่งผลให้ทรัพยากรทุนสามารถหมุนเวียนในระบบได้โดยไม่สะดุด ในทางตรงข้าม จากปัญหาที่พบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ วิกฤติในภาคการเงินจะนำไปสู่การขาดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจการเงิน และส่งผลไปยังภูมิคุ้มกันของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนอย่างยืดเยื้อยาวนาน ในกรณีประเทศไทย ระบบธนาคารพาณิชย์ในเวลาปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง โดยระดับเงินกองทุนและการกันสำรองอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ในอนาคตภาคการเงินต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอเพื่อรองรับโอกาสการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและภาคธุรกิจไทยทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันภาคการเงินมีส่วนช่วยภาคครัวเรือนสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยจัดให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จำเป็น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ออมระยะยาว ผลิตภัณฑ์ประกันในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ดี การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ภาคการเงินจำเป็นต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ Corporate Social Responsibility แต่หมายถึงการรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และไม่จูงใจให้ภาคครัวเรือนขาดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวอย่างของการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บิดเบือนความเข้าใจผู้ใช้บริการ และจูงใจให้ใช้กู้ยืม โดยที่ผู้กู้ไม่ได้มีความสามารถในการชำระคืนและนำไปสู่ปัญหาสังคมมีให้เห็นมากมาย ทั้งกรณีการนิยมใช้บัตรเครดิตหลายใบ และใช้วงเงินทุกใบจนครบโดยไม่ระวังถึงความสามารถในการชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งการให้สินเชื่อประเภทที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือสินเชื่อเช่าซื้อบางประเภท โดยอาจให้น้ำหนักกับความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตน้อยเกินไป เพราะเห็นว่ามีหลักประกัน ในกรณีเหล่านี้แม้จะเป็นสถาบันการเงินมีฐานะแข็งแกร่งเพียงพอรองรับความเสียหาย และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน แต่ความเสียหายเชิงสังคมที่จับต้องได้ อาทิ การหนีหนี้ การทิ้งหลักประกันและกลายเป็นหนี้เสีย ก็จะถูกสังคมตั้งคำถามถึงวินัยและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจของภาคการเงินและนำไปสู่ความเสียหายของชื่อเสียงสถาบันซึ่งยากจะฟื้นคืน หากความเสียหายนี้เกิดกับคนจำนวนมากก็จะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือของวินัยทางการเงินของระบบการเงินระดับประเทศ
อย่างไรก็ดี ในระบบการเงินไทยก็มีตัวอย่างที่ดีของการให้บริการควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านวินัยการเงิน เช่น “มีวินัย จ่ายตรงตามกำหนด ลดดอกเบี้ย” ซึ่งนำไปสู่ประโยชน์ร่วมทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ถือเป็นประโยชน์ในแง่ความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่ากิจกรรม CSR
บทบาทหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน
ปัจจุบัน ระดับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของประเทศไทย (Financial Access) อยู่ในระดับที่สูง โจทย์สำคัญของผู้กำกับดูแลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับภาคครัวเรือนจึงต้องเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างฉลาดและนำไปสู่ความเจริญที่ยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักอย่างชัดเจน โดยในทางหนึ่ง ธปท. ทำหน้าที่กำกับดูแลให้สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ให้ข้อมูลครบถ้วนชัดเจน และควบคู่กันนี้ ธปท. ได้ตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เพื่อให้ความรู้ทางการเงินกับผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิที่ควรได้รับ การติดต่อทำได้ผ่าน call center เบอร์โทรศัพท์ 1213
ในกรณีของประเทศไทยนั้น บทบาทผู้ให้บริการทางการเงินนอกการกำกับดูแลของ ธปท. อาทิ สถาบันการเงินภาครัฐฯ และสหกรณ์ มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐฯ จะต้องร่วมมือกันขยายขอบเขตการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคครัวเรือนที่ใช้บริการผ่านผู้ให้บริการเหล่านี้อย่างทั่วถึงด้วย โดยการส่งเสริมระบบการประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ การส่งเสริมวินัยทางการเงินของผู้ใช้บริการ และการกำกับดูแลให้บริการด้วยความเป็นธรรม
บทบาทหน้าที่ของภาคครัวเรือนในการดูแลรักษาและเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ในช่วงต้นของปาฐกถา ผมได้ชี้ว่าภูมิคุ้มกันภาคครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณพร่องลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากละเลยอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งก็คือปัญหาของทุกคน การสร้างความเข้มแข็ง ของภูมิคุ้มกันให้ฟื้นกลับขึ้นมาทำได้ด้วยการเสริมวินัยทางการเงินเท่านั้น
โดยทั่วไป วินัยในความหมายทั่วไปอาจเกิดได้จาก 3 แหล่ง ได้แก่ การมีกรอบกฎเกณฑ์บังคับ การมีความรู้ถึงกรอบและประโยชน์ในการทำตามวินัย และการมีทัศนคติที่ถูกต้อง โดยทัศนคติถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นเข็มทิศกำหนดพฤติกรรมให้นำพาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีโดยไม่ต้องมีเกณฑ์บังคับ ทัศนคติที่ดีงามตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันได้แก่ ความเพียงพอ การมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน ควรจะถูกเผยแพร่และปลูกฝังและนำมาใช้ปฏิบัติจริงให้มากขึ้น โดยเริ่มจากหน่วยที่เล็กแต่สำคัญที่สุด คือภาคครัวเรือน
ในวันนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาคครัวเรือนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยและภูมิคุ้มกัน และช่วยกันปลูกฝังและส่งผ่านหลักคิดนี้ต่อไปยังสังคมไทย เพื่อขยายผลให้เสียงในสังคมช่วยกันตั้งคำถาม ตรวจสอบวินัยและระดับภูมิคุ้มกันของทั้งตนเองและภาคส่วนอื่นอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านมีส่วนร่วมช่วยกัน “ปลุกคนไทยให้มีวินัยทางการเงิน” โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติในครอบครัวตนเอง และขยายวงให้กว้างออกไปจนกลายเป็นค่านิยมอันดี ซึ่งจะเป็นเข็มทิศกำหนดพฤติกรรมของสังคม เพื่อน นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทยอย่างแท้จริง