ThaiPublica > เกาะกระแส > “นิพนธ์ พัวพงศกร” พิสูจน์วิธีคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าวของ “หม่อมอุ๋ย” ถูกหลักบัญชี

“นิพนธ์ พัวพงศกร” พิสูจน์วิธีคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าวของ “หม่อมอุ๋ย” ถูกหลักบัญชี

21 ตุลาคม 2013


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดร.นิพนธ์ พัวพงศ์กร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ นายกัมพล ปั่นตะกั่ว นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ได้เขียนบทความเรื่อง “การขาดทุนทางบัญชีจากการจำนำข้าว” เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณผลขาดทุนจากการจำนำข้าว

โดยเนื้อหาในบทความระบุว่า หลังจากที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย นำเสนอผลคำนวณการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวในงานสัมมนาเรื่องมหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริตฯ ว่ารัฐบาลจะขาดทุนอย่างน้อยปีละ 2 แสนล้านบาท รัฐมนตรีหลายท่านต่างออกมาปฏิเสธว่า โครงการรับจำนำไม่ได้ขาดทุนมากขนาดนั้น

รัฐมนตรีพาณิชย์ นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล ให้สัมภาษณ์ว่า “การขาดทุนแบบสมเหตุสมผลจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี”

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าคิดอย่างโง่สุด ยอมขายราคาครึ่งเดียวของราคารับจำนำก็ยังขาดทุนไม่ถึง 2 แสนล้านบาท…และที่ระบุว่ามีเงินรั่วไหล เงินถึงชาวนาเพียง 210,000 ล้านบาทนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจ่ายโดยตรงเข้าบัญชีชาวนา”

ยิ่งกว่านั้น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า “การขาดทุน 4.25 แสนล้านนั้น มองว่าเป็นการเข้าใจผิดของหม่อมอุ๋ย ยอมรับว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่านไม่ได้เรียนบัญชี อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการขาดทุนทางบัญชีและการขาดทุนจริงของโครงการ เมื่อนำข้อมูลออกมาเปิดเผย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้”

บทความฉบับนี้จึงต้องการทำความกระจ่าง ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมูลค่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว และประโยชน์ “ส่วนเพิ่ม” ที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวให้รัฐบาล

บทความจะตอบคำถาม 3 ข้อ คำถามแรก คือ ทำไมตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลจึงแตกต่างจากตัวเลขการขาดทุนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คำถามที่สอง คือ วิธีการคำนวณการขาดทุนทางบัญชีของโครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวนอะไร คำถามที่สาม การขาดทุนจริงของโครงการจำนำข้าว “จะ” เป็นเท่าไหร่กันแน่

คำถามแรก เรื่องมูลค่าการขาดทุนที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอนั้น ต่างเป็นตัวเลขผลขาดทุน “ทางบัญชี” ทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่ตัวเลขผลขาดทุนทางบัญชีของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกัน เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลตีมูลค่าของข้าวในสต็อกด้วยต้นทุนข้าวที่ซื้อมา ในราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท หรือคิดเป็นข้าวสารตันละ 24,000 บาท ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งอ้างอิงข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ใช้วิธีตีมูลค่าข้าวในสต็อกด้วยราคาตลาด

คำถามที่สอง คือ โครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวณวิธีใด หากย้อนกลับไปดูตำราวิชาการบัญชีว่าด้วยการตีมูลค่าสินค้าคงคลัง (inventory valuation methods) จะมีหลักการตีราคา 2 รูปแบบ คือ

(1) คำนวณด้วยต้นทุนของสินค้า วิธีนี้มี 3 รูปแบบย่อย คือ สต็อกที่นำเข้ามาก่อนจะถูกขายออกก่อน (first in-first out), สต็อกที่เข้าก่อน ถูกขายที่หลัง (first in-last out) และค่าเฉลี่ยของสองวิธีแรก

(2) คำนวณด้วยราคาตลาดในการจัดหาสินค้านั้นมาทดแทน ทั้ง 2 วิธีต่างก็เป็นวิธีการที่ได้ยอมรับให้ใช้และมีสอนกันในวิชาการบัญชีทั่วไป

ฝั่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เลือกที่จะใช้วิธีการแรกในการตีมูลค่าข้าวที่เหลืออยู่ในคลังด้วยราคาต้นทุนที่ซื้อข้าวมา ผลการขาดทุนทางบัญชีจึงมีประมาณ 1 แสนล้านบาท

แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเลือกที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า LCM (Lower of cost or market) เป็นวิธีการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยการใช้ราคาตลาดในการจัดหาสินค้าชนิดเดียวกันมาทดแทน หรือราคาตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าของข้าวที่เหลืออยู่ในคลัง ผลขาดทุนจึงสูงกว่า

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า ในกรณีการจำนำข้าวรัฐบาลควรใช้วิธีทางบัญชีวิธีใดจึงจะเหมาะสม

ในวงการธุรกิจที่สินค้าคงคลังมีราคาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นักบัญชีทราบดีว่าหลักวิชาการทางบัญชีที่นิยมใช้กันคือการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยราคาตลาด เพราะว่าการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยต้นทุนสินค้าที่ได้มาจะไม่สามารถแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาตลาดของสินค้านั้นๆ ตกต่ำลงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมาอย่างรวดเร็ว การใช้ราคาต้นทุนจะก่อให้เกิดการบิดเบือนสถานะทางบัญชี ขัดกับวัตถุประสงค์ของวิชาบัญชีที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรับทราบสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจที่แท้จริงเพื่อให้การตัดสินใจบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในกรณีการจำนำข้าว รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารของประเทศจำเป็นต้องรับทราบสถานการณ์รายได้-รายจ่ายที่เป็นจริงให้มากที่สุด หากตัวเลขระบุว่าจะมีโอกาสขาดทุนมาก รัฐบาลก็จะได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางการคลังไม่ใช่ปล่อยให้ไฟไหม้บ้าน แล้วค่อยคิดซื้อประกันไฟที่หลัง

นี่คือเหตุผลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวเลือกใช้วิธีการ LCM โดยตีมูลค่าสต็อกข้าวด้วยราคาตลาดเพื่อสะท้อนฐานะที่แท้จริงของโครงการจำนำข้าว แม้ในตอนต้นรัฐบาลจะไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้วแต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับว่าการจำนำข้าว 2 ฤดูแรก (นาปี 2554/55 และนาปรัง 2555) ขาดทุนถึง 136,896 ล้านบาท มาวันนี้ราคาข้าวในตลาดลดลงไปมากจากวันที่ปิดบัญชี การขาดทุนก็ย่อมมากขึ้นเพราะรัฐบาลขายข้าวได้น้อยมาก

อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำบัญชีของธุรกิจเอกชนทั่วประเทศ และทราบดีถึงหลักบัญชีที่ถูกต้อง หรือแม้แต่องค์การคลังสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์เองยังเลือกตีราคามูลค่าสต็อกข้าวในโครงการจำนำข้าวด้วยราคาตลาด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังดูแลก็มีบัญชีแบบ mark to the market แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ทำบัญชีอีกแบบหนึ่ง

การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีตีมูลค่าข้าวด้วยต้นทุนการซื้อข้าว จึงเป็นการ “หลอกลวง” ตนเองและประชาชน ว่าจะมีภาระทางการคลังในอนาคตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

คำถามที่สาม การจำนำจะขาดทุนจริงเท่าไหร่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลปิดบังข้อมูลการขายข้าวทั้งๆ ที่การปกปิดดังกล่าวผิดกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ (ยกเว้นข้อมูลบางประเภท)

แม้รัฐบาลจะมีการเปิดเผยตัวเลขเงินรายได้จากการขายข้าว แต่ก็ไม่ยอมบอกว่าขายข้าวไปจำนวนเท่าไร เพราะหากเปิดเผย ประชาชนก็จะรู้ว่ารัฐบาลขายข้าวขาดทุนหนักกว่าที่รัฐบาลพูด และอาจหนักกว่าที่นักวิชาการประมาณการไว้ เพราะรัฐบาลขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดมาก ทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา

หลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลจะขาดทุนหนักมากเพราะขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาจากรายงานการปิดบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ที่ รมว.วราเทพ รัตนากร นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ พบว่าราคาข้าวที่ขายต่ำกว่าราคาตลาด คือราคาข้าวนาปี 2554/55 ที่ขายเฉลี่ย 14,435.71 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกันที่เฉลี่ย 19,635 บาทต่อตัน

เนื่องจากมีต้นทุนค่าซื้อข้าวและต้นทุนดำเนินการ 29,605.52 บาทต่อตันข้าวสาร จึงขาดทุนจริงตันละ 15,169.31 บาท และสำหรับข้าวนาปรังปี 2555 พาณิชย์ขายเฉลี่ยเพียง 12,839.45 บาทต่อตัน เทียบกับราคาตลาด 17,266 บาทต่อตัน และขาดทุนตันละ 11,781.61 บาท ถ้าคิดเฉพาะข้าวที่ขายไปจริงจำนวน 3.62 ล้านตันข้าวสารในสองฤดู มูลค่าการขาดทุนจริงคือ 49,561.10 ล้านบาท (ณ 31 มกราคม 2556)

เพราะฉะนั้น ประมาณการว่า เฉพาะการขายข้าวราคาต่ำให้พ่อค้าบางรายที่เป็นพรรคพวกทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 30% ของภาระขาดทุนทั้งหมด นี่คือเหตุผลแท้จริงที่รัฐบาลต้องปกปิดข้อมูลการข่ายข้าว และเมื่อความจริงถูกเปิดเผยเมื่อไร เชื่อว่าบรรดาข้าราชการที่มีส่วนในการขายข้าวและปกปิดข้อมูลเพื่อหวังลาภยศ มีหวัง “ติดคุกกันหัวโต”

ดร.นิพนธ์ทิ้งท้ายว่า บทความนี้ไม่ได้หวัง และคิดว่าคงไม่มีความหวังที่จะให้รัฐมนตรีบางคนเข้าใจและยึดหลักบัญชีที่ถูกต้อง แต่หวังว่าประชาชนจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องและเลือกคนที่พูดความจริงมาบริหารประเทศ

อ่านเพิ่มเติม วิธีคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล