ThaiPublica > คอลัมน์ > คืนภาษีผลาญชาติ

คืนภาษีผลาญชาติ

2 กันยายน 2013


หางกระดิกหมา

สำหรับคอคอร์รัปชันทั้งหลาย ถ้ายังไม่ได้ตามข่าวทุจริตการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ขอให้รีบตามโดยพลัน เพราะไปๆ มาๆ ในบรรดาเรื่องโกงที่ได้เคยกระดิกมาในคอลัมน์นี้ ดูเหมือนจะมาแพ้เรื่องโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นี่หลุดลุ่ยเลยทีเดียว

ตามที่ได้พูดไปแล้วหลายครั้ง เรื่องคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการฉวยโอกาสโกงกินจากเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย คือหาเรื่องสร้างของอย่างเช่นสนามบิน รถไฟฟ้า ถนนหนทาง ฯลฯ แล้วก็ชักค่าหัวคิวสักครึ่งหนึ่งของงบที่ใช้ ซึ่งก็เรียกว่าพอจะฉิบหายได้เยอะแล้ว แต่เรื่องทุจริตการขอคืนภาษีนี่ยิ่งวินาศสันตะโรได้ยิ่งกว่านั้นคือนอกจากจะโกงได้ทีละเป็นหลักพันๆ ล้านไม่แพ้เมกะโปรเจกต์แล้ว ยังไม่เหลือกาก คือไม่เหลือแม้แต่สนามบิน รถไฟฟ้า หรือถนนคุณภาพห่วยๆ ให้เราไว้ดูต่างหน้าเงินที่ถูกโกงไปเลยด้วยซ้ำ

เบื้องต้นควรเข้าใจก่อนว่า การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ มาจากหลักการหยาบๆ ว่า ในเมื่อบางครั้งพ่อค้าเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าของตนตอนขาย (ภาษีขาย) ได้น้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตัวเองต้องจ่ายให้กับซัพพลายเออร์ตอนซื้อวัตถุดิบ (ภาษีซื้อ) พ่อค้าก็ควรจะเรียกคืนส่วนต่างระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อดังกล่าวจากรัฐได้ โดยยิ่งภาษีขายต่ำกว่าภาษีซื้อมาก พ่อค้าก็จะขอคืนภาษีได้มาก

ทั้งนี้ ในเรื่องขอภาษีคืนนี้ ไม่มีใครเก่งเกินพ่อค้าส่งออก เพราะพ่อค้าส่งออกนั้นถูกกำหนดให้เรียกเก็บภาษีขายได้ 0% คือไม่มีภาษีขายเลย ดังนั้นก็เลยแปลได้ว่า อย่างไรเสีย ภาษีขายของพ่อค้าส่งออกก็ต้องต่ำกว่าภาษีซื้อวันยังค่ำ และทำให้พ่อค้าส่งออกมีภาษีซื้อเท่าไหร่ก็สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ทัั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ลำพังการเป็นพ่อค้าส่งออกแล้วเรียกคืนภาษีได้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะตามกติกาการค้าเสรีนานาชาตินั้นถือกันอยู่แล้วว่าประเทศควรส่งออกแต่สินค้า ไม่ควรส่งออกภาษี ดังนั้นก็จำเป็นอยู่เองที่รัฐจะปล่อยให้พ่อค้าส่งออกไปเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ และในเมื่อไม่ปล่อยให้เขาเก็บภาษีขาย รัฐก็เลยต้องคืนภาษีซื้อที่เขาเคยจ่ายๆ มา ไม่เช่นนั้นก็จะผิดวัตถุประสงค์ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องการจะเก็บภาษีจากผู้ซื้อสินค้าคนสุดท้าย ไม่ใช่จากผู้ที่จริงๆ แล้วก็เป็นแค่พ่อค้าคนกลางอย่างผู้่ส่งออก

แต่ในกรณีทุจริตการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มันวินาศสันตะโรก็เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มันแทบจะไม่ได้เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าอย่างที่ว่ามานี้เลย แต่เป็นการที่มีพวกฉลาดชั่วทั้งหลายตั้งบริษัทขึ้นมา นัยว่าเป็นบริษัทที่รับซื้อสินค้ามาเพื่อส่งออก โดยอ้างว่าได้ชำระภาษีซื้อไปแล้ว แล้วก็ได้ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศแล้วโดยไม่มีภาษีขาย ดังนั้นจึงจะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

แต่แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าซึ่งพวกนี้ซื้อแล้วก็จะทำใบกำกับภาษีเท็จโดยแสดงภาษีซื้อสูงกว่าความเป็นจริง พอจะส่งออกก็ไปสำแดงราคาสินค้าเท็จกับศุลกากร จนสุดท้ายแม้กระทั่งการส่งออกก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้ทำโดยบริษัทซึ่งตั้งไว้หลอกๆ เมื่อขอคืนภาษีได้สมใจแล้ว บริษัทกำมะลอพวกนี้ก็จะปิดบริษัทหายเข้ากลีบเมฆไป เรียกได้ว่าถ้าทำสำเร็จ ประเทศก็ต้องควักเงินมาคืนภาษีโดยไม่ได้อะไรเลยนอกจากเอกสารเท็จ

นี่ถือเป็นเรื่องน่าเจ็บใจอย่างยิ่ง เพราะการโกงอย่างนี้เป็นการเจาะเอาเงินในคลังของประเทศมาเข้ากระเป๋าโจรได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายของประเทศเองแท้ๆ แต่เมื่อไปค้นดู ก็พบว่าทุกประเทศก็มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นช่องโหว่ด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นช่องโหว่ที่ปิดไม่ได้ เนื่องจากธรรมชาติของภาษีและกติกาการค้าเสรีนานาชาตินั้นบังคับไว้อย่างที่บอกแล้วข้างต้น

มิหนำซ้ำ การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จริงอยู่ เมื่อเกิดเรื่อง ทางหนึ่งก็ต้องมีการไล่เช็คบิลทั้งกรมสรรพากรและกรมศุลกากร เพราะการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ของทั้งสองกรมร่วมมือกันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ตรวจสอบอะไรก็ไม่เห็นผิดปกติสักอย่าง ทั้งที่กระบวนการโกงนี้แทบไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย ตั้งแต่ใบกำกับภาษี หลักฐานเอกสารต่างๆ ตัวบริษัท จนกระทั่งสินค้าในกรณีนี้ กล่าวคือ เศษเหล็กเป็นล้านๆ ตันที่อ้างว่ามีการส่งออก

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน การจะไปบุ่มบ่ามออกกลไกตรวจสอบก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มันทรหดยาวนานไปเลยก็อาจไม่ถูกอีก เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้คืนภาษีสักที อันจะกระทบต่อกระแสเงินสดและกลายเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมาย เผลอๆ ก็จะยิ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เรียกสินบนจากผู้ประกอบการแลกกับการคืนภาษีอย่างรวดเร็วอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การจะออกแบบกลไกที่ทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องปรามการโกงการขอคืนภาษี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินควรนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยาก และคงจะไม่มีคำตอบง่ายๆในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงว่า ธรรมดาการโกงภาษีแบบนี้ เป็นเรื่องของคอร์รัปชันแบบที่สร้างความเสียหายให้กับคนทั้งประเทศแบบเฉลี่ยๆ กันไป ไม่เจาะจงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนปกติไม่น่าจะมีใครรู้สึกเดือดร้อน และเห็นเป็นธุระที่จะลุกมาประท้วง แต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็นว่ายังอุตส่าห์มีข้าราชการน้ำดีในกรมสรรพากรช่วยขุดเอาเรื่องที่เสมือนไม่มีเจ้าภาพนี้ออกมาตีแผ่จนเกิดการตรวจสอบจนได้ จึงน่าเชื่อว่าบางทีกระแสการต่อต้านคอร์รัปชันที่กำลังทำๆ กันอยู่นี้ มันก็เริ่มส่งผลให้เห็นความเปลี่ยนแปลงดีๆ แล้วบ้างเหมือนกัน

อย่าเพิ่งท้อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2556