ThaiPublica > คนในข่าว > พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ เปิด”มหิดลโมเดล” ครัสเตอร์ป้องกัน “แม่วัยใส” เกิดน้อยด้อยคุณภาพ

พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ เปิด”มหิดลโมเดล” ครัสเตอร์ป้องกัน “แม่วัยใส” เกิดน้อยด้อยคุณภาพ

13 กันยายน 2013


ซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่จบไปไม่นานนัก ดูจะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจริงของวัยรุ่นไทยในยุคนี้อย่างแท้จริง และสอดรับกับตัวเลข “แม่วัยใส” ของไทยที่ตัวเลขพุ่งขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียไปแล้ว โดยตัวเลขจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนท้อง 1,000 คน เป็นแม่วัยใสที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 53 คน หากเทียบตัวเลขขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 10 คน ต่อ1,000 คน ข้อมูลสถิติและรายงานวิจัยชี้ว่าวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์อายุเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2539 จากอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 ปี ปี 2547 ลดลงมาอยู่ที่ 15-16 ปี

เรื่องนี้อาจจะไม่ต้องนำมาพูด และต้องหามาตรการแก้ไขและป้องกัน หากไม่เป็นเพราะโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อกุมภาพันธ์ 2556 ระบุว่าอัตราการเพิ่มประชากร เมื่อ 50 ปีก่อน เคยสูงมากเกิน 3% ต่อปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.5% ต่อปี และแนวโน้มจะลดต่ำลงและมีอัตราเข้าใกล้ศูนย์ หรืออาจจะติดลบหลังปี 2569

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ประเมินจำนวนการเกิดของปี 2553 ว่าไม่เกิน 800,000 ราย และคาดว่าจะลดลงไปเรื่อยๆจนเหลือน้อยกว่า 500,000 รายต่อปีในช่วงปี 2558-2593 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า

ที่มาภาพ : มหิดลโมเดล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มาภาพ : มหิดลโมเดล มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะที่ประเทศไทยพัฒนามา 50 ปี แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือ middle income trap เรายังก้าวไม่ข้ามกับดักนี้ จึงทำให้มองว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “แก่ก่อนรวย”

มากไปกว่านั้น ภาวะที่เด็กเกิดน้อย แต่มีอัตราของแม่วัยใสมากขึ้น เพราะ “เด็ก” ที่อายุไม่เกิน 18 ปี แม้สภาพร่างกายจะพร้อมรับการมีเพศสัมพันธ์ แต่รายงานวิจัยส่วนมากยืนยันว่ายังเป็นช่วงที่ไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และการเป็นแม่ ไม่ว่าจะผ่านการแต่งงานหรือตั้งใจตั้งครรภ์ก็ตาม

ยิ่งวัฒนธรรมประเพณีของไทย สังคมไม่ยอมรับเด็กวัยรุ่นท้องก่อนแต่งงาน ท้องในวัยเรียน ทำให้ถูกสังคมตีตรา ถูกกันออกจากระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และการช่วยเหลืออื่นๆ ทำให้แม่วัยใสและลูก “ขาดโอกาสการเข้าถึงการมีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี”

ด้วยเหตุนี้ ผู้เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นปัญหานี้จึงเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้สภาวะนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ลงมือแก้ไขและป้องกัน ก็จะยิ่งเข้าสู่ภาวะการเกิดน้อยด้อยคุณภาพมากขึ้น แล้วอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

รศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ในเรื่องนี้เป็นนโยบายของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะให้เอาความเข้มแข็งของ “มหิดล” 7 คณะ ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วรวมเป็นคลัสเตอร์ มาทำงานวิจัยและทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จึงเกิดเป็นกลุ่มภารกิจเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการดูแลแม่วัยใส ซึ่งเราเรียกว่า “มหิดลโมเดล”

ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลมีหลายคณะ หลายส่วนงานที่มีความเข้มแข็งเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมานานแล้ว โดยเฉพาะที่คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลรามาฯ ตอนนั้นได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทำคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียน ในช่วงที่มีปัญหาวัยรุ่นมากๆ เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว

รศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ก็ไปชวนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้จัดตั้งคลินิกวัยรุ่น และกระตุ้นให้ราชวิทยาลัยขยายอายุในการดูแลเด็ก ปกติแล้ว “หมอเด็ก” จะดูแลเด็กถึง 15 ปี แต่เนื่องจากวัยรุ่นอายุเกิน 15 ปี และไม่มีคนดูแล ฉะนั้นหมอเด็กก็จะขยายอายุในการดูแลเด็กในช่วงวัยรุ่นด้วย จึงขยายเป็นถึง 18 ปี เพื่อให้การดูแลตรงนี้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และศิริราชพยาบาล ก็มีความเข้มแข็งในการดูแลเด็กวัยรุ่นในโรงพยาบาล

“เราคิดว่าแค่นั้นไม่พอ เรายังไปสร้างคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียน เพราะจริงๆ โรงเรียนจะมีระบบดูแลช่วยเหลือ ระบบคัดกรอง เด็กที่มีภาวะยากลำบาก ได้แก่ เด็กยากจน เด็กที่เรียนไม่ดี เด็กที่มีปัญหาชู้สาว เด็กที่ติดยาเสพติด เด็กที่หนีเรียน ฯลฯ เป็นระบบคัดกรองวัยรุ่นในหลายเรื่อง ไม่เฉพาะเพศสัมพันธ์อย่างเดียว เพื่อไม่ทำให้เด็กรู้สึกมีปมมาก ฉะนั้นหมอเด็กจึงไปช่วยเสริมพลังให้ครูสามารถดูแลปัญหาเบื้องต้น และจะได้ใกล้ชิดกับเด็กดีขึ้น ถ้าจำเป็นก็ส่งต่อมายังคลินิกวัยรุ่นที่โรงพยาบาลได้ เป็นสายด่วน โดยก่อนหน้านี้เด็กก็จะต้องทำเวชระเบียน ไปรอคิวยาว ซึ่งเด็กวัยรุ่นไม่ชอบ ก็จะหนี แต่สายด่วนนี้มาถึงก็ได้ตรวจทันที และมีประวัติการคัดกรองจากโรงเรียนส่งมาให้แล้ว”

ต่อมาก็ขยายเป็นคลินิกพิเศษของวัยรุ่นที่ดูแลเด็กเป็นกลุ่ม เช่น คลินิกคุณแม่วัยใส คลินิกเด็กติดเกม คลินิกเด็กอ้วน คลินิกเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน ฉะนั้นก็เป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งมีคลิกนิกอยู่ที่ทั้งรามาฯ และศิริราชฯ

ส่วนคณะพยาบาลศาสตร์ก็จะมาช่วยในเรื่องการดูแล เช่น เมื่อคนไข้ “แม่วัยใส” ที่มาคลอด มาอยู่หวอดแล้ว แม่วัยใสที่มาคลอดจริงก็จะได้รับการดูแลต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปถึงการเยี่ยมบ้านด้วย

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนและการสาธารณสุข เพราะฉะนั้นเขาก็จะลงพื้นที่ และมีความรู้เรื่องของพ่อแม่ ครอบครัวศึกษา เรื่องเพศศึกษาในชุมชน

คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะดูแลสิทธิสตรี สิทธิการเข้าถึงบริการคนด้อยโอกาส เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มต่างชาติ ซึ่งจะมีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเยอะมาก

คณะประชากรศาสตร์จะดูแลปัจจัยเรื่องครอบครัวเป็นองค์รวม ปัจจัยครอบครัวที่จะส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นมีทัศคติที่ดี การศึกษาพบว่า เด็กวัยรุ่นที่ท้องและไม่ท้อง มีปัจจัยครอบครัวที่ต่างกัน ดังนั้นปัจจัยครอบครัวจึงสำคัญมาก ถ้าพ่อแม่สนใจ ดูแล พูดคุย ให้เวลา เด็กวัยรุ่นจะมีอัตราการท้องที่น้อยกว่าครอบครัวที่ไม่สนใจ เราจึงคิดว่าปัจจัยครอบครัวจึงสำคัญ เรียกว่า Family factor Family matter เป็นโปรแกรมของสถาบันประชากร

นอกจากนี้ก็มีสถาบันอาเซียน เพื่อพัฒนาสุขภาพอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้ดูแลปฐมภูมิ พวก อสส. อสม. ที่จะไปดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ (primary health care) กลุ่มนี้จะดูแลวิธีการให้การดูแลเด็กวัยรุ่น วิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ วิธีการเลื่อน (postpone) โอกาสในการการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ในโรงพยาบาลชุมชนตอนนี้เรียกเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เขาก็จะไปเสริมกำลังกลุ่มอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ รพสต. ให้มีความสามารถในการดูแล ให้คำแนะนำกับวัยรุ่นได้

ขณะเดียวกันเรามีสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว ซึ่งจะไปช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ซึ่ง พมจ. มีแนวคิดจะสร้างศูนย์พัฒนาครอบครัวให้อยู่ในชุมชน แต่ว่าขาดองค์ความรู้ ดังนั้นสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัวก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับศูนย์พัฒนาครอบครัว ให้มีความสามารถ คือไปติดอาวุธให้เขาแนะนำวัยรุ่นที่จะมาใช้บริการของศูนย์พัฒนาครอบครัวได้ โดยจะโฟกัสที่เด็ก ในขณะที่สถาบันประชากรจะโฟกัสที่ครอบครัวหรือผู้ใหญ่เป็นปัจจัยเสริมเข้ามา

มหิดลโมเดล- no sex

จริงๆ “แม่วัยใส” เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เรื่องเดียว เพราะว่าถ้าทำเรื่องนี้เรื่องเดียวก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราก็ทำด้วย ขณะเดียวกันเราก็ทำการป้องกันขั้นต้นๆ ด้วย (primary prevention) ก็คือเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ เราสอนให้เขามีเพศสัมพันธ์เมื่อวัยที่เหมาะสม นั่นคือ No Sex

แต่จริงๆคำว่า No Sex ก็คือ postpone sex โดยการสอนให้เขามีความรู้ ทักษะชีวิต มีความรักตัวเอง มีความมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง (self-esteem) ถ้าเขารักตัวเอง ก็จะไม่ทำสิ่งไม่ดี บางคนรักตัวเองแต่ว่าไม่มีทักษะชีวิต ปฏิเสธไม่เป็น ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงปล่อยเลยตามเลย เราก็ต้องสอนทักษะชีวิต อีกทั้งสอนความรู้เรื่องเพศศึกษา ฉะนั้นกลุ่มที่ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยง ยังเป็นกลุ่ม “innocent” (ไร้เดียงสา) อยู่ เราจะสอนความเหล่านี้เพื่อให้ยืดระยะเวลามีเซ็กส์ออกไป ให้มีในวัยอันควร

สำหรับกลุ่มทุติยภูมิที่ “มีเพศสัมพันธ์” แล้ว เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้มีเพศสัมพันธ์แล้วเยอะเหมือนกัน เราก็จะสอนให้เขามีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันการติดโรค เพราะโรคเอดส์เป็นอีกเรื่องที่พบมากในวัยรุ่น ฉะนั้นจึงต้องสอนเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยและการคุมกำเนิดทั้งหลาย

ในระดับตติยภูมิหรือ “ท้องแล้ว” จะทำอย่างไรให้การท้องมีคุณภาพ ไม่ไปทำแท้ง หรือทำแท้งในกรณีที่มีภาวะบ่งชี้และทำแท้งโดยคณะกรรมการตัดสิน เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น มีโรคแทรกซ้อน และเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัย ถูกต้อง

ถ้า “ท้องต่อ” ก็จะดูแล เพราะบางคนท้องตอนอายุ 12 ปีเอง ตัวเขาเองยังเด็ก เขาก็ยังดูแลตัวเองไม่ได้ เขาก็ดูแลการตั้งครรภ์ไม่ได้ ดังนั้นก็จะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดออกมาแล้วลูกตาย หรือลูกไม่ได้รับการเลี้ยงดู

“เพราะเด็กจะไปดูแลเด็กได้อย่างไร ตัวเขาเองยังเด็กอยู่เลย ฉะนั้นการให้นมลูก การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้อง การพาลูกมาฉีดวัคซีน คงเป็นไปไม่ได้ ก็จะเกิดประชากรรุ่นใหม่ที่มีปัญหาเข้ามาอีก ปัญหาของสังคมก็จะตามมา

เราพบว่าร้อยละ 25 ของแม่วัยรุ่นจะท้องซ้ำภายใน 2 ปี เพราะว่าไม่ได้แก้ปัญหาให้เขาเลย แค่คลอดเสร็จก็กลับไปอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ในปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ เขาจึงท้องกลับมาอีก”

ฉะนั้น เราดูแลแม่วัยรุ่นทั้ง 3 ระดับ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเอาเรื่อง “แม่วัยรุ่น” เป็นเรื่องนำ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมสนใจและเห็นชัดเจน แต่ภูเขาใต้น้ำคือกลุ่มวัยรุ่น ทั้งที่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง เราก็ดูแลทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม

สำหรับโครงการนี้ที่เราได้ทุน 10 ล้านบาท เพื่อมาทำเป็น “ต้นแบบ” เราคิดว่าต่างคนต่างทำจะไม่เกิดผลสำเร็จเราจึงกำหนดพื้นที่เป็น area based คือจะกำหนดพื้นที่และระดมสรรพกำลัง โดยเอาความเข้มแข็งของมหิดลและไปดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยชวนผู้นำชุมชน กศน. อบต. นายอำเภอ อสม. นายกเทศมนตรี โรงพยาบาล ตำรวจ โรงเรียนที่อยู่ในเขต มาทำงานร่วมกับมหิดล โดยมีเป้าหมายคือ ศาลายา แล้วเอาทุกโครงการไปลง ทั้ง community based โดยไปดูครอบครัว ไปดูศูนย์พัฒนาครอบครัว ไปดูโรงเรียน ไปพัฒนาและติดอาวุธให้โรงเรียน ให้มีระบบคัดกรอง มีการดูแล มีการส่งต่อ และโรงพยาบาลพุทธมณฑล และ รพสต. อีก 3 แห่ง จะเป็น hospital based

มหิดลโมเดล

นี่คือการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ ถ้าทำสะเปะสะปะ ก็จะตอบโจทย์ไม่ได้

หากพื้นที่นี้ทำแล้วได้ผล โดยจะมีการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับการแทรกแซงนี้ (intervention) และกลุ่มที่ไม่ได้รับ เราจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าคนที่ได้รับมหิดลโมเดล กับที่ไม่ได้รับจะมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์ อัตราการท้อง อัตราการที่ลูกเสียชีวิต และอัตราการกลับมาท้องซ้ำ ที่เราบอกว่า 25% เราคิดว่าเราจะลดได้แน่นอน

นอกเหนือจากนี้ เราจะทำเรื่อง “สิทธิประโยชน์” ด้วย ว่าในกลุ่มที่ทำการศึกษาเราจะให้สิทธิประโยชน์ เพราะรู้ว่าแม่วัยรุ่นยากจน ถ้าเขามารักษาด้วย 30 บาทฯ ที่โรงพยาบาลพุทธมณฑล เขาจะได้รับการดูแลเรื่องฝากท้อง ซึ่งมีการดูแลตั้งแต่ก่อนคลอด มาคลอด หลังคลอด และตามไปเยี่ยมบ้าน ให้มาฉีดวัคซีนลูกฟรี มีผ้าอ้อมสำเร็จรูป มีนมให้ สอนการเลี้ยงดู ลูกเขาจะเป็นเด็กที่มีคุณภาพที่ดีกว่าอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับหรือไม่

แล้วแม่หลังคลอดเราจะฝังยาคุมกำเนิดให้เขา ซึ่งราคาประมาณ 2,500 บาท อันนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสิทธิประโยชน์ 30 บาทฯ แต่ว่าต่อให้ฉีดยาคุมกำเนิดทุก 3 เดือน แม่วัยใสก็จะลืม เพราะเขายังเด็ก แล้วก็ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ซึ่งถ้าชุดสิทธิประโยชน์นี้ ถ้าได้ผลจริงเราก็จะเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ทีเปลี่ยนตับรายละล้านคุณยังจ่ายได้เลย อันนี้แค่ไม่กี่พันบาท และสามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวมได้ ก็ให้เป็นสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ที่ครอบคลุม

สมมติว่าเราทำการศึกษาแล้วพบว่าโครงการชุดนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 5,000 บาท เราก็ขอให้ สปสช. ให้การสนับสนุนและให้แม่วัยใสเบิกจ่ายได้ ก็คือมาให้บริการฟรีเพื่อให้คุณภาพของแม่ดี ลูกดี และไม่กลับไปท้องอีก นั่นคือชุดสิทธิประโยชน์

อันที่สองที่เราจะขอความร่วมมือ ก็คือการศึกษา ถ้าท้องโดยทั่วไปสถานศึกษาต้องให้เขาเรียนหนังสือ แต่ในความจริง เด็กจะถูกให้ออก เพราะไม่อยากให้เป็นตัวอย่าง ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ยังบังคับใช้ไม่ได้ เราก็ขอความร่วมมือของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือโรงเรียนเขตศาลายาให้รับนักเรียนกลุ่มนี้ท้องก็ไปเรียนได้ หรือว่าถ้าไม่เรียนแล้วจริงๆ ก็จะให้ฝึกอาชีพ มิเช่นนั้น พอเขามีลูกอีกคนก็จะทิ้ง เพราะไม่มีเงินเลี้ยงลูก ไม่มีนม ไม่มีปัจจัย คือ เด็กกลุ่มนี้ครอบครัวก็จะไม่เอาด้วย เนื่องจากอับอายขายหน้า โรงเรียนก็ไม่เอา สามีก็ทิ้งเพราะว่าเธอใจง่ายเอง เป็นต้น เขาก็จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจเยอะมาก เราก็ไปฝีกอาชีพให้เขาด้วย ฉะนั้นเราก็จะติดอาวุธให้เขาในเรื่องอาชีพด้วย นอกเหนือจากการเลี้ยงดู เพื่อให้เขาดำรงชีวิตหลังคลอดได้ และถ้าเรียนได้ก็จะยิ่งดี

พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์

นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะเสริมเขาไปในพื้นที่ศึกษา โดยการสนับสนุนจาก อบจ. อบต. โรงเรียน และ กศน. ดังนั้นก็คิดว่าปัจจัยทางครอบครัว (family factor) และปัจจัยทางชุมชน (community factor) จะเป็นปัจจัยเสริม เราจึงกำหนดเป็นพื้นที่ตัวอย่างตาม “โมเดลมหิดล” ก่อน คิดว่าโครงการจะทำอย่างน้อย 2 ปี เพราะเราบอกว่าภายใน 2 ปี เขาจะไม่ท้องกลับมาใหม่ เพราะฉะนั้น เราจะติดตามไป 2 ปี โดยใช้ทุกสรรพกำลังของมหิดลโมเดลลงไปในพื้นที่พร้อมกัน

ไทยพับลิก้า: ปัจจุบันสิทธิการเข้าถึงการศึกษายังไม่มีหรือว่ายังไง

ในความเป็นจริง เมื่อมีเด็กคนหนึ่งท้อง โรงเรียนก็ไม่อยากให้อยู่ มีเพียงบางโรงเรียนเท่านั้นที่ให้เรียน เช่น โรงเรียนหนองชุมแสงที่เพชรบุรี แต่ส่วนใหญ่จะให้ออกไปเรียน กศน. เพราะอยู่แล้วจะเป็นแบบอย่างให้คนอื่นท้องไปด้วย ก็คือโรงเรียนไม่สนับสนุนให้เด็กท้องมาเรียนกับเด็กปกติเท่าไหร่ แต่เราอยากทำให้เป็น norm ว่าท้องก็ไม่เป็นไร หรือถ้าไม่ได้จริงๆ กศน. ก็ต้องสนับสนุนเต็มที่

อย่างที่โรงเรียนหนองชุมแสงวิทยาให้นักเรียนท้องมาเรียน เนื่องจากให้นักเรียนที่ท้องไปเรียนที่อื่นไม่ได้ เพราะถูกตีตรา แต่ที่นี่มีคนท้องเยอะ และเขามี OSCC หรือมีศูนย์พักพิงที่โรงเรียน คือถ้าแม่ใกล้คลอด ก็ไม่ต้องกลับบ้าน ให้อยู่ศูนย์พักฟื้นและเรียนหนังสือจนกระทั่งคลอด ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก แต่อาจจะทำไม่ได้ในมหิดลโมเดล ก็ต้องรอดูว่าถ้ามหิดลโมเดลสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ไปตีตรา ไม่ทำให้เด็กท้องรู้สึกอับอาย ก็อาจจะโอเค

นอกจากนี้ในเรื่องสิทธิประโยชน์ ส่วนใหญ่เด็กเขาจะข้ามเขต เพราะว่าเด็กอยู่ในพื้นที่เขาจะอาย จึงไปเรียนนอกพื้นที่ ไปใช้บริการโรงพยาบาลนอกพื้นที่ เพราะว่าถ้าอยู่ในเขต พ่อแม่ก็จะถูกไปเล่าลือแล้วเขาก็จะอับอาย กลัวเพื่อบ้านจะรู้ ฉะนั้นเป็นเหตุให้เขาไม่สามารถใช้ 30 บาทฯ ได้ จึงเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ ฉะนั้นสิทธิประโยชน์ที่เราก็จะเสนอนั้นเป็นสิทธิประโยชน์นอกเขต เหมือนเกิดอุบัติเหตุ คือ ไปใช้บริการโรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ว่ามีการลงทะเบียนชัดเจน เพื่อให้เขาเข้าถึงการรักษา คือระบบมันมี แต่การปฏิบัติมันไม่ใช่ อย่างที่บอกว่าเด็กและพ่อแม่อายจึงยอมจ่ายเงินไปใช้บริการที่อื่น หรือถ้าไม่มีเงินก็จะไม่ใช้บริการสุขภาพที่มีอยู่เลย

มหิดลโมเดล-ระบบคัดกรอง
ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเป็นองค์รวมหรือไม่

มีคณะแพทย์ที่ทำเป็นองค์รวมคือโรงเรียนและโรงพยาบาลเชื่อมกัน และมีไปเยี่ยมบ้าน แต่เรายังไม่มีกำลังลงไปทำชุมชน เพราะว่าถือโรงเรียนเป็นเป้านิ่ง มีเด็กมาเรียนอยู่แล้ว จึงลงไปช่วยครู ฉะนั้นองค์รวมคือทำกับโรงพยาบาล โรงเรียน ผู้ปกครอง ทำร่วมกัน แต่ถ้าเด็กที่ไม่อยู่ในโรงเรียน เด็กที่ไม่มาโรงพยาบาลเราก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นครั้งนี้จะลงไปดูปัจจัยชุมชนด้วย ก็คือคนที่ไม่มาใช้ school based และ hospital based ก็จะเป็น community based ซึ่งจะเป็นตัวมาเสริม ก็จะทำให้ครบถ้วนขึ้น และกำหนดพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ทำที่ รพ.ศิริราชที่หนึ่ง รพ.รามาธิบดีที่หนึ่ง พยาบาลก็ไปเยี่ยมบ้านอีกที่หนึ่ง ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นองค์รวมว่าการแทรกแซงที่เราให้เขาไปนั้น จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการหรือไม่ ครั้งนี้ก็ระดมกำลังกันและกำหนดพื้นที่เป้าหมาย

ไทยพับลิก้า: ตอนที่เชิญหลายๆ มหาวิทยาลัย เขาก็เอาด้วยใช่ไหม

ตอนนั้นต่างคนต่างไปทำคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลตัวเอง และไปเอาโรงเรียนใกล้ๆ มาร่วม มีจุฬาฯ คณะแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลา คณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลเด็กประมาณ 9 แห่ง ที่ทำคลินิกวัยรุ่นเชื่อมโยงโรงเรียนและโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่ออกไปถึงชุมชน

ผลที่ได้ก็ออกมาเป็นจุดๆ อย่างรามาฯ ทำจนเป็นโมเดลของรามาฯ มันเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร มันไม่เกิดการขยายผลไปที่กระทรวงศึกษาธิการได้ ส่วนในโรงพยาบาลที่ยังไม่สำเร็จเพราะว่าภาระงานเยอะมาก ปกติที่ไม่มีคลินิกวัยรุ่นเขาก็ทำงานกันไม่ไหวแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่า คุณทำงานหนักตรงนี้อันหนึ่งเพื่อไม่ต้องไปแก้ปัญหาเรื่องคลอดและอื่นๆ ที่ตามมา เพราะถ้าจุดเริ่มต้นดีมีการป้องกัน ปัญหาที่จะตามมาก็จะน้อยลง คือเพิ่มภาระในระยะแรกนิดหนึ่ง แต่ต่อไปภาระจะดีขึ้นและผลลัพธ์จะดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะงานเยอะมาก

ถ้าตรงนี้ที่เราใช้ความเป็นมหิดล จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงาน มันไม่มีพลัง ตอนนี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มภารกิจ ทำเป็นโมเดลที่ชัดเจน ทำผลงานวิจัยวิจัยให้ชัด แล้วนำเสนอขับเคลื่อนเป็นนโยบาย

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมามีความกังวลมาตลอดใช่ไหมคะว่าเด็กที่เกิดมาอาจจะด้อยคุณภาพ และเรื่องอนาคตของประเทศ

ไม่ได้กังวล มันชัดเจน มันแน่นอน มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าลูกที่เกิดจากแม่วัยใส เทียบกับแม่ที่พร้อม ผลลัพธ์ต่างกันแน่นอน

ไทยพับลิก้า : จากปัญหาคุณแม่วัยใส และคุณภาพเด็กไทย จนตอนนี้ก็ยังไม่มีนโยบายใดที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

เราไปขับเคลื่อน ไปพูดหลายเวที ตอนแรกก็เอาด้วยแต่พอถึงเวลาจริงๆ การขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็หายไป เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติ เป็นเรื่องระดับนโยบายประเทศ มีการพูดมานานแต่ก็ไม่ปฏิบัติ งบประมาณก็ไม่ลงมา คือพูดเสร็จแล้วไม่มีแผนปฏิบัติ (action plan) ไม่มีการติดตาม

“เราอยู่ในเรื่องนี้มา 12 ปีแล้ว จริงๆ ทำวิจัยเรื่องวัยรุ่นตั้งแต่ 2541 ที่ได้รับทุนจาก WHO ทำเรื่องวัยรุ่น ต่อมาอีก 3-4 ปี ก็ทำวิจัยเรื่องเด็กติดเกม เด็กอ้วน และมาทำแม่วัยใสมา 10 ปีแล้ว”

พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์

จริงๆ เรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการศึกษาและกระทรวงสาธารณสุข อย่างคลิกนิกแม่วัยรุ่น และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปดูชุมชน 3 กระทรวงรวมกัน เหมือนที่เราทำ school based, hospital based และ community based รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน ทั้งสนับสนุนเรื่องทุนทรัพย์ โรงพยาบาลให้ฟรี ไปเยี่ยมบ้านเราก็จะแจกเป็นของแทนเงิน ซึ่งกำลังคิดว่าอาจจะทำเป็นคูปองไปเบิกฟรีที่ซื้อจริง โดยมีระยะเวลาเป็นสัปดาห์ กำลังคิดวิธีให้เขาไม่เอาเงินไปใช้อย่างอื่น ไม่ไปใช้ในสิ่งที่ใช้กับลูก มิฉะนั้นเด็กอาจจะเอาไปใช้หมด หรือซื้อของไปขายต่อได้

ไทยพับลิก้า: คลินิกวัยรุ่นที่โรงพยาบาลและโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ยังคงทำอยู่ ก็ดีมาก แต่ก็เป็นเพียงน้ำหยดเดียวในมหาสมุทร ไม่ได้ทำให้ความเค็มของมหาสมุทรน้อยลง แต่ว่าทำเป็นโมเดลคนอื่นก็มาดู ใครมีกำลังก็เอาไปทำตาม

ตอนนี้ขอให้ใช้พลังมหาวิทยาลัยและทำให้ชัดเจน แล้วไปเสนอขับเคลื่อนให้เป็นนโยบาย ก็ตอนนี้ทุกคนก็ทำกันอยู่ ทุกคนมีผลงานวิจัยอยู่แล้ว ก็เป็นโอกาสที่มารวมพลังกัน