ThaiPublica > เกาะกระแส > สถิติ”แม่วัยใส” 130,000 คนปี’55 สูงขึ้นต่อเนื่อง ครม.สังคมเตรียมใช้ “มหิดลโมเดล – กลยุทธ์ one goal one plan” แก้ปัญหา

สถิติ”แม่วัยใส” 130,000 คนปี’55 สูงขึ้นต่อเนื่อง ครม.สังคมเตรียมใช้ “มหิดลโมเดล – กลยุทธ์ one goal one plan” แก้ปัญหา

14 มิถุนายน 2015


การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทยถือเป็นปัญหารุนแรง เมื่อปี 2553 ที่มีการพบศพทารกจำนวน 2,002 ศพ คดีตัวอย่างที่ว่านี้สัปเหร่อที่เกี่ยวข้องถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุกคดีละ 4 ปี รวมเป็น 8,008 ปี นั่นแค่วัดไผ่เงินวัดเดียว ยังมีวัดอื่นๆอีกที่มีปัญหาทำนองนี้อีกตั้งมากมาย แปลว่าสังคมเรามีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีบุตรที่ไม่พึงประสงค์อีกมากมายที่เกิดจากพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นที่ไม่ได้ป้องกันตัว

นพ.วิรัตน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เปิดเผยว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2555 ประเทศไทยมีแม่วัยรุ่นจำนวน 129,451 คน กล่าวคือผู้หญิงที่มีอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,000 คน เป็นแม่วัยรุ่น 53.8 คน (ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราขององค์การอนามัยโลก) รัฐบาลจึงมอบหมายนโยบายให้ 10 กระทรวง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหานี้

“ปัจจุบันการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมแล้ว จากตัวเลขวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ เดิมทีเป็นการเฝ้าระวังจากโรคเอดส์ ดูว่าเขามีเพศสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน และมีการป้องกันตัวกันมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าโรคเอดส์ลดลง แต่เราก็ยังทำการสุ่มตัวอย่างของวัยรุ่นเพื่อดูพฤติกรรมทางเพศ เรามีความไม่สบายใจเลยที่ว่า วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ผลการสำรวจนักเรียนในชั้นมัธยม 2 ประมาณร้อยละ 5 มีเพศสัมพันธ์แล้ว นักเรียนระดับมัธยม 5 มีถึงร้อยละ 20 ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ขณะที่การสำรวจปี 2555 ระดับอาชีวศึกษา ปวช.ปี 2 พบว่าร้อยละ 50% มีเพศสัมพันธ์แล้ว ในจำนวนนั้นพบว่าเป็นผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์มากกว่าผู้ชาย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะผลที่ตามมาคือเรื่องโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเรื่องท้องวัยรุ่น” นพ.วิวัฒน์กล่าว

นพ.วิวัฒน์กล่าวต่อว่า เรื่องท้องในวัยรุ่นเป็นปัญหาหนักมาก 3 รัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พยายามจะแก้ แต่ปัญหาเพิ่มขึ้นไปตลอด ถัดมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่าเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดลง รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลพิเศษ วันที่ 20 ตุลาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายให้เรื่องการท้องในวัยรุ่นเป็นวาระแห่งชาติ แสดงว่าทุกรัฐบาลมองว่านี่คือปัญหาระดับชาติ

แม่วัยใส

“ตอนนี้รัฐบาลมองเห็นปัญหาการท้องในวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ วันอังคารที่ 16 มิถุนายนนี้ ครม.สังคม จะพิจารณาเรื่องนี้ โดยจะผลักดันให้มียุทธศาสตร์เดียวที่เรียกว่า one goal one plan ต่อไปนี้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ทำเรื่องนี้ ให้ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์หนึ่งเดียว ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น ทั้งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยมี “มหิดลโมเดล” จะเป็นโครงการนำร่องของท้องถิ่นต่างๆที่จะนำไปใช้ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้ได้ เราตั้งเป้าหมายว่าใน10 ปี ตั้งแต่ปี 2558 -2567 จะลดปัญหาท้องในวัยรุ่นลงได้ครึ่งหนึ่ง กล่าวคือในปี 2555 ผู้หญิงอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,000 คน เป็นแม่วัยรุ่นประมาณ 53.8 คน เราอยากลดให้เหลือ 25 คน”

ด้านพญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ กล่าวว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยติดอันดับต้นๆของโลก ที่ผ่านมาได้พยายามลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่เป็นการต่างคนต่างทำในพื้นที่กระจายออกไป จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สำหรับมหิดลโมเดลนั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำงานเรื่องวิจัยเรื่องวัยรุ่นมานาน แต่ไม่สามารถผลักดันได้เพื่อแก้ปัญหาการท้องในวัยรุ่นให้ลดลงได้ จึงมีนโยบายบูรณาการการทำงาน 7 คณะให้ทำงานร่วมกัน โดยเชื่อมโยงและไปเสริมพลังให้ชุมชน ครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การทำงานบูรณาการตัวเด็กวัยรุ่น โดยไม่ได้มองเฉพาะเรื่องสุขภาพของเด็กวัยรุ่นเท่านั้น แต่ดูทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม ครอบครัว และดูหน่วยงานที่จะร่วมทำงานด้วย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเชื่อมโยงกันได้แก่ กลุ่มพัฒนาศักยภาพวัยรุ่นในชุมชน กลุ่มพัฒนาครอบครัว กลุ่มคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียน และกลุ่มคลินิกแม่วัยรุ่นในโรงพยาบาล

มหิดลโมเดล

สำหรับโครงการมหิดลโมเดลมีระยะการดำเนินงาน 3 ปีจากนี้ถึงตุลาคมปี 2560 เพื่อเป็นต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พื้นที่เป้าหมายคือเทศบาลตำบลศาลายา คณะทำงานทุกกลุ่มจะมีการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับมหิดลโมเดลกับที่ไม่ได้รับ จะมีอัตราเพศสัมพันธ์ อัตราการตั้งครรภ์ อัตราการที่ลูกเสียชีวิต และอัตราการกลับมาท้องซ้ำ มีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้คาดหวังว่ามหิดลโมเดล จะสามารถขยายผลในเขตเทศบาลอื่นๆทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหานี้ได้

“หากมีการตั้งครรภ์ แม่วัยรุ่นจะได้รับการดูแลการฝากท้อง ดูแลด้านสุขภาพ แต่เขายังเป็นเด็ก เขาต้องการมากกว่านั้นคือทางด้านจิตใจ ความพร้อมในการตั้งท้อง ความพร้อมในการดูแลลูก ความพร้อมด้านครอบครัว บางคนครอบครัวทอดทิ้ง เขาจะอยู่โดดเดี่ยว มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาด้านการเรียน เขาจะเลี้ยงดูตัวเองอย่างไร จะกลับไปเรียนหลังคลอดอย่างไร หรือเรียนกศน.หรือการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เขาจบการศึกษา มีอาชีพ เพื่อดูแลตัวเองและลูกได้”

นอกจากนี้ลูกของแม่วัยรุ่นที่เกิดมาแล้ว ที่ผ่านมาได้รับการดูแลไม่ดี บางครั้งแม่วัยรุ่นยังมีลูกตามมาอีก การดูแลย่อมไม่มีคุณภาพแน่ โครงการนี้จะมีการไปเยี่ยมบ้าน ดูแลเด็กให้มีโภชนาการที่ดี ให้ได้รับวัคซีน มีพัฒนาการที่ดี จนกระทั่งอายุสองขวบ ให้มั่นใจว่าพ้นระยะวิกฤติแล้ว รวมถึงการท้องซ้ำ พบว่าแม่วัยรุ่น 25 % กลับไปท้องใหม่ภายใน 2 ปี ทางโรงพยาบาลจะดูแลแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้ โดยมีมาตรการเรื่องยาคุมแบบฝัง ซึ่งได้ติดต่อประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขอให้เป็นการดูแลโดยไม่คิดเงินให้กลุ่มแม่วัยรุ่นเหล่านี้ (ราคาประมาณ 3,000 บาท) เพื่อไม่ให้เขากลับไปท้องซ้ำ นี่คือมหิดลโมเดล

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม