Hesse004
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ศาลในเมืองจี้หนาน ประเทศจีน ได้เริ่มต้นพิจารณาคดีรับสินบนของ “ป๋อ ซี ไหล” (Bo Xi Lai) อดีตนักการเมือง “จรัสแสง” ของจีน ผู้ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น “แคนดิเดต” ผู้นำแดนมังกรรุ่นที่ 5 ต่อจาก “หู จิ่น เทา”
ป๋อ ซี ไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครรัฐฉงชิ่ง (Chongqing) เคยเป็นอดีตกรรมการกรมการเมือง หรือ “โปลิตบิวโร” และเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์
ป๋อ คือ ดาวรุ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับ “สี จิ้น ผิง” และดูเหมือนว่าทั้งคู่ถูกจับให้เป็น “คู่ท้าชิง” ผู้นำจีนคนต่อไปหลังหมดยุคของหูแล้ว
ช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาขานครฉงชิ่ง ป๋อ ซี ไหล ได้สร้างชื่อให้กับตัวเอง ด้วยการพัฒนาให้เมืองฉงชิ่งกลายเป็นอีกต้นแบบหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Chongqing Model
ตลอดระยะเวลา 5 ปี (2008-2012) ที่ป๋อได้รังสรรค์มหานครฉงชิ่งให้เจริญเติบโตนั้น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองจีนวิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า แนวทางดำเนินนโยบายของป๋อ ซี ไหล นั้นแตกต่างจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในมณฑลอื่นๆ ที่มักจะเน้นคอนเซปต์ “รัฐเข้าราษฎร์ถอย”

หากแต่ป๋อกลับเลือกดำเนินนโยบายประชานิยม โดยยอมให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องชำระคืนภายหลัง พูดง่าย ๆ คือ ให้เปล่าเลย เช่น อุดหนุนเงิน 5 หมื่นหยวนจากกองทุนพัฒนาแก่กิจการส่วนบุคคลขนาดเล็กที่จ้างงานต่ำกว่า 20 คน โดยหวังว่าเมื่อธุรกิจขนาดเล็กเติบโตแล้วจะได้เพิ่มจำนวนการจ้างงานให้เกิดขึ้น 1
นอกจากนี้ ป๋อ ซี ไหล ยังสร้างชื่อในฐานะมือปราบผู้มีอิทธิพลในมหานครฉงชิ่ง จนทำให้เหล่ามาเฟียในฉงชิ่ง ถูก “นโยบายกำจัดผู้มีอิทธิพล” ของป๋อ ซี ไหล เล่นงานเสียจนเข็ดขยาด และนโยบายดังกล่าวทำให้ฉงชิ่งได้รับความชื่นชมเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง
…แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อ ป๋อ สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และชัดเจนขนาดนี้แล้ว แต่เพราะเหตุใดผู้นำจีนอย่างนายหู จิ่น เทา จึงไม่เคยเดินทางไปเยือนมหานครฉงชิ่งเลย
จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2012 เคราะห์กรรมของป๋อ ซี ไหล เริ่มต้นขึ้น เมื่อ “หวังลี่จุน” อดีตผู้บัญชาการตำรวจลูกน้องคนสนิทของป๋อ ได้หลบหนีการจับกุมเข้าไปลี้ภัยในสถานทูตสหรัฐที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน
หวังลี่จุน คายความลับหลายอย่างของป๋อออกมา เช่น สมัยที่ป๋อเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ป๋อใช้ให้ลูกน้องแอบดักฟังโทรศัพท์ของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกหลายคน
แต่เรื่องที่กลายเป็น “จุดสลบ” ของป๋อ ซี ไหล คือเหตุการณ์ฆาตกรรมนายเนลล์ เฮย์วู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษ โดยหวังลี่จุนกล่าวหาว่าภรรยาของนายป๋อ คือ นางกู่ ไค ไหล เป็นผู้ลอบวางยาพิษนายเฮย์วู้ด โดยมูลเหตุจูงใจฆาตกรรมครั้งนี้มาจากผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ลงตัว และที่สำคัญคือ นายป๋อเองก็รับทราบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด
หลังจากเรื่องนี้ถูก “เปิดแผล” ออกมา ป๋อ ซี ไหล ไม่คิดว่าตัวเองจะพังเพราะ “เมีย” และชะตากรรมของเขาก็เริ่มตกต่ำลงทันที
เขาเริ่มถูกขุดคุ้ยเรื่องการรับสินบนจากนักธุรกิจใหญ่ของเมืองต้าเหลียน และปกปิดความผิดของเมียที่วางยาพิษฆ่านักธุรกิจชาวอังกฤษ
ภายในสองเดือน ป๋อ ซี ไหล ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถูกขับออกจากพรรค พร้อมโดนตั้งข้อหารับสินบน คอร์รัปชัน ยักยอกเงินหลวง และลุแก่อำนาจ
…เขาถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาลเมืองจี้หนาน
คดีป๋อ ซีไหล กลายเป็นอีก “ตำนาน” หนึ่งของการเมืองจีน ที่คนระดับผู้นำพรรคถูกนำมา “เสียบประจาน” ถึงความ “ริยำตำบอน” สมัยตอนที่ตัวเองเคยมีอำนาจอยู่
นอกจากนี้ คดีป๋อ ซี ไหล ยังเป็นอีกคดีที่ชาวจีนให้ความสนใจกับการลงโทษอดีตผู้นำที่กระทำผิด ลุแก่อำนาจ หลังจากที่เคยมีการตัดสินคดี “แกงก์สี่คน” ช่วงสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1976

คดีป๋อ ซี ไหล ยังเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ภายใต้นโยบายต่อต้านและปราบปรามการคอร์รัปชันของนายสี จิ้น ผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ที่ประกาศไว้ชัดเจนว่าเขาจะเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ให้ถึงที่สุด
เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันมิใช่เพียงแค่ “จัดอีเวนท์รณรงค์” หรือทำกันแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” เหมือนอย่างที่เคยทำๆ กันมา
หมายเหตุ: 1ผู้สนใจแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Chongqing Model ของ ป๋อ ซี ไหล โปรดดูบทความเรื่อง “กรณี ป๋อ ซีไหล” กับ แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองจีน โดย ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง