ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3.5 แสนล้านบาท อ้างเหตุผล “เร่งด่วน” – 1 ปี เบิกเงิน 1.2 หมื่นล้าน

พ.ร.ก.กู้เงินฯ 3.5 แสนล้านบาท อ้างเหตุผล “เร่งด่วน” – 1 ปี เบิกเงิน 1.2 หมื่นล้าน

17 สิงหาคม 2013


ประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่มาภาพ :http://www.dailynews.co.th
ประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่มาภาพ :http://www.dailynews.co.th

หลังจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2555 ผ่านการรับรองจากรัฐสภามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ทยอยออกกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๕, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ 2555 พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการมากมายหลายชุด อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ (กยอ.), คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 30 กันยายน 2556 ก่อนที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

นับจากวันที่ 5 มีนาคม 2555 รัฐบาลนำร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาโดยอ้างเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวไปด้วยคะแนนเสียงด้วยคะแนน 91 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ปรากฏว่ากว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีส่วนราชการเจ้าของโครงการมาเบิกจ่ายเงินกู้ไม่ถึง 12,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เท่านั้น

ข้อมูลสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 ทั้งสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดสรรเงินกู้ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการ 349,998.98 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการระยะเร่งด่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กบอ. 25,661.11 ล้านบาท, โครงการตามยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศของ กยอ. 10,000 ล้านบาท และ โครงการลงทุนระยะยาวของ กบอ. 314,337.87 ล้านบาท

สำหรับโครงการระยะเร่งด่วน ก่อนที่รัฐบาลออก TOR เชิญชวนนักลงทุนมายื่นซองประกวดราคา วันที่ 25 เมษายน 2555 สำนักงบประมาณเรียกหัวหน้าส่วนราชการมาประชุมชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนของการขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาล ต่อมามีส่วนราชการ 13 แห่ง อาทิ กรมป่าไม่, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมชลประทาน, กรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น จัดทำโครงการระยะเร่งด่วน 9 โครงการ เสนอต่อที่ประชุม กบอ. ส่งต่อให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงินลงทุน 30,269.17 ล้านบาท

แผนการกู้เงินตามพรก 3.5 แสนล้านบาท

สำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินกู้ให้กับส่วนราชการทั้ง 13 แห่ง วงเงิน 25,392.72 ล้านบาท สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการจัดหาแหล่งเงิน โดยการทำสัญญากู้เงินแบบ Term loan กับธนาคารพาณิชย์ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันที่ 30 เมษายน 2555 ทำสัญญากู้เงินกับธนาคารกรุงไทย วงเงิน 3,500 ล้านบาท
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 กู้เงินกับธนาคารกรุงไทย 6,500 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 วันที่ 30 เมษายน 2556 กู้เงินกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน 15,393 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 25,393 ล้านบาท

นับจากวันทำสัญญาเงินกู้จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ส่วนราชการเจ้าของโครงการ 13 แห่ง เบิกเงินกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 11,734.85 ล้านบาท

จากนั้นนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน นำรายชื่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ผ่านการคัดเลือกส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

เดิมทีรายชื่อดังกล่าวมี 5 กลุ่ม แต่กิจการค้าร่วมญี่ปุ่น-ไทยถอนตัว จึงเหลือแค่ 4 กลุ่ม ได้แก่ ITDPower china JV, บริษัทโคเรีย วอเตอร์ ซอสเซสคอร์ปอเรชั่น จำกัด, กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ และกิจการร่วมค้า ซัมมิทเอสยูที ซึ่งเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามาดำเนินโครงการภายใต้กรอบแนวคิด conceptual plan หรือ ออกแบบไปพร้อมกับก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งหมด 9 โมดูล โดย สบน. จัดเตรียมวงเงินกู้เอาไว้ 291,000 ล้านบาท แต่ผลจากการเจรจาต่อรองกับผู้ชนะการประกวดราคา วงเงินลงทุนลดลงเหลือ 284,754.78 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ชนะการประกวดราคาโครงการน้ำ3.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล ยังไม่นับรวมแผนการใช้จ่ายเงินกู้อีกหลายรายการ อาทิ แผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน ที่มอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการเอง 10,000 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษา 8,730.83 ล้านบาท, แผนงานสนับสนุนโครงการ conceptual plan อีก 4,607.04 ล้านบาท และแผนการกู้เงินตามยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศของ กยอ. อีก 10,000 ล้านบาท สรุป สบน. ต้องเตรียมจัดหาวงเงินกู้ทั้งสิ้น 324,606.27 ล้านบาท

ก่อน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท สิ้นสุดผลการบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 วันที่ 27 มิถุนายน 2556 หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ ในวันเดียวกันนั้น นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลังลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 324,606.27 ล้านบาท กับสถาบันการเงิน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กสิกรไทย และออมสิน ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

สำหรับเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งจะคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว อ้างอิงกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน บวก 1.83% (ณ วันที่ทำสัญญา ดอกเบี้ยเงินฝาก+1.83%=3.82%) กระทรวงการคลังต้องจัดงบประมาณมาชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน สามารถชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนดได้โดยไม่เสียค่าปรับ ส่วนราชการเจ้าของโครงการสามารถทยอยเบิกเงินกู้ตามความต้องการใช้เงินจริง หากยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้ ธนาคารก็ไม่คิดดอกเบี้ย