โครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาลที่ถูกคัดค้านจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมถึงความไม่โปรงใสและไม่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นคิดโครงการ การออกกฎหมาย การเปิดประมูล แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง โดยพยายามเดินหน้าผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ จนกระทั่งล่าสุดมาถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามคำสั่งศาลปกครองที่พิพากษาตัดสินว่า
“จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง … ทั้งนี้ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (Module)” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง 27 มิถุนายน 2556
รัฐบาลใช้งบ 184 ล้าน ทำประชาพิจารณ์
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพียง “พิธีกรรม” จึงมีเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคม แต่รัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าท่ามกลางเสียงต่อต้านไม่เห็นด้วย
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการนำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ณ วันที่ 17 กันยายน 2556 ได้กำหนดการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ 7 ตุลาคม – 29 พฤศจิกายน 2556 ครอบคลุม 36 จังหวัด รวมมีผู้เข้าร่วมประชุม 40,000 คน ใช้งบประมาณ 184,643,920 บาท โดยรัฐบาลคาดหวังว่าเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครบทั้ง 10 แผนงาน (Module) 9 สัญญา จะเดินหน้าโครงการในขั้นตอนต่อไปได้ทันที
แต่มีข้อสังเกตจากงานเสวนา ผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ “ประชาสัมพันธ์ หรือ ประชาพิจารณ์?” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 โดยสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งมีตัวแทนจากนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่บางจังหวัดเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างกว้างขวาง
นักวิชาการ-ภาคประชาสังคมค้านประชาพิจารณ์
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า เวทีการประชาพิจารณ์ หรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นการ “โฆษณา” และ “ประชาสัมพันธ์” มากกว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นการใช้เงินงบประมาณ 184 ล้านบาท อย่างสิ้นเปลื้อง ไม่คุ้มค่า และไม่ทั่วถึง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มีทั้งหมด 65 จังหวัด ไม่ใช่แค่ 36 จังหวัด
ที่สำคัญ ข้อมูลเอกสารที่จะนำไปให้ประชาชนทำประชาพิจารณ์ไม่ใช่ “แผนแม่บท” ที่มีรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ และมีผลการศึกษาผลกระทบด้านบวกด้านลบ แต่เป็นเพียง “แผนงาน”
เพราะข้อมูลที่รัฐบาลทำเป็นเพียงเอกสารที่รวบรวมโครงการต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วของกรมชลประทาน กับที่ออกแบบโครงการไว้ แต่ยังไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบด้านบวกด้านลบ เช่น Module 5 ที่จัดทำโครงการทางผันน้ำ เป็นต้น ดังนั้น ข้อมูลที่รัฐบาลจัดทำเป็นข้อมูลด้านบวกด้านเดียว ไม่ได้มีข้อมูลด้านลบหรือข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ต่อคนในพื้นที่จัดทำโครงการและคนในพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า เงินงบประมาณ 184 ล้านบาทที่ใช้เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจะประมาณ 4,600 บาท ถือว่าแพงมาก และจำนวนคนที่ระบุแต่ละจังหวัดมีประมาณ 800-2,000 คน เอารายชื่อมาจากไหน และน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะปกติการรับฟังความคิดเห็นประชาชนควรมีประชาชนผู้มีส่วนร่วมประมาณ 5,000-10,000 คน
ที่สำคัญ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนว่ารายละเอียดของโครงการหน้าตาเป็นอย่างไร และพื้นที่ไหนบ้างจะถูกกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังในวันเดียวไม่น่าจะเพียงพอ และไม่ทั่วถึง
ดร.สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ถือว่าผิดหลักการที่สำคัญทั้งหมดคือ หลักวิศวกรรม หลักกฎหมาย หลักการมีส่วนร่วม และหลักความโปร่งใสในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ไม่ควรดำเนินการการต่อไป
สมาคมโลกต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมฟ้องเพิ่ม 5 คดี
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หลังจากพูดคุยกับภาคนักวิชาการและภาคประชาชนในเวทีนี้แล้ว พบว่ามีหลายประเด็นที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไม่ทำไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง มีหลายประเด็นโดยเฉพาะกระบวนการที่ กบอ. นำเสนอต่อสารธารณชนมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องของสมาคมฯ และภาคประชนเพิ่มขึ้นอีก 5 คดี
1. การฟ้องเพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 36 จังหวัด ที่ กบอ. ได้นำเสนอมีหลายประเด็นที่อาจขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของ เช่น การเชิญกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเข้ามารับฟังยังไม่ครบถ้วน การนำเนื้อหารายละเอียดไม่ได้เป็นตามคำสั่งของศาลปกครอง เช่น ให้เอาแผนแม่บทไปรับฟัง แต่รัฐบาลพยายามเอา module ไปรับฟัง ซึ่งขัดหรือแย้งต่อคำพิพากษาของศาลอยู่แล้ว
2. เรื่องของการเพิกถอน อาจจะต้องฟ้องอธิการบดี และสถาบันการศึกษาที่ยอมรับให้เป็น “ตรายาง” ในการไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ขัดต่อหลักกฎหมาย และขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
3. อาจต้องฟ้องเพิกถอนหลายๆ โครงการที่สอดไส้เข้ามาอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ได้อยู่ในโครงการน้ำบริหารตั้งแต่ต้น
4. ฟ้องความเป็นโมฆะของสัญญาเงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้ไปเซ็นลงนามไว้กับ 4-5 สถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นนิติกรรมอัมพราง ไม่ได้มีการส่งมอบเงินกันจริง ตามที่อดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยให้คำแนะนำเรื่องนี้ไว้
5. การเพิกถอนการจัดทำแม่น้ำสายใหม่จากอําเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกําแพงเพชร อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ไม่ตอบโจทย์ที่ วสท. ได้ตั้งประเด็นไว้ คือ หนึ่ง การมีส่วนรวมของประชาชน สอง ขาดการดำเนินการที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและคำสั่งพิพากษาของศาลปกครองกลาง และ สาม ขาดหลักวิชาการที่ชัดเจน
“เรื่องที่จะฟ้องก่อนหรือเร็วที่สุดคือการเพิกถอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น อาจฟ้องวันที่ 1 ต.ค. นี้ ต้องดำเนินการก่อนที่รัฐบาลจะเอาเงินไปใช้ 184 ล้านบาท ส่วนกรณีอื่นยังมีเวลาทยอยดำเนินการ” นายศรีสุรรณกล่าว
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ต้องเอาแผนแม่บทไปคุยกับประชาชนทั้ง 65 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2554 ให้เรียบร้อย เสร็จแล้วได้ข้อสรุปมาจึงมากำหนดเป็นแผนงานหรือ module แล้วจึงไปศึกษาผลกระทบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ (EHIA) โดยขั้นตอนการศึกษา EHIA มี 5 เวที ต้องรับฟังความเห็น กระบวนการเหล่านี้อย่างน้อย 2 ปี ดูจากประสบการณ์คดีมาบตาพุดอย่างน้อย 2 ปี เร็วกว่านี้ไม่ได้
“เสร็จจากการศึกษาอีเอชไอเอก็ส่งให้ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการ) จากนั้นส่งองค์กรอิสระ เสร็จแล้วให้หน่วยงานของรัฐนำไปฟังความเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย แล้วนำเข้า ครม. เสร็จแล้วจึงดำเนินการเซ็นสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนมันเยอะมาก จะไปเปิดเวทีแค่ 36 จังหวัด 2 เดือน เสร็จสรุป แล้วบอกว่าเป็นไปตามคำพิพากษา เป็นไปไม่ได้” นายศรีสุวรรณกล่าว
รัฐบาลมีแต่ “แผนอยากจะทำ” ขับเคลื่อนยาก
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประธาน กล่าวว่า การทำแผนแม่บทจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบด้านบวกด้านลบ มีการลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้น แผนแม่บทต้องผ่านการกลั่นกรองทุกสิ่งทุกอย่างที่พร้อมจะดำเนินการ แต่รายละเอียดโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลมีแต่ “กรอบแนวคิด” กับ “แผนที่อยากจะทำ” ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
“แผนแม่บทของรัฐบาล เขาก็จิ้มๆ เอามาจากโครงการของกรมชลประทาน รับรองว่าขับเคลื่อนไม่ได้ และจัดประชาพิจารณ์แบบนี้ไม่มีความหมาย เพราะ” นายปราโมทย์กล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำให้จบภายใน 1 วัน เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ตามแผนงานจะมีการสร้างโครงการป้องกันน้ำมากถึง 5 module จะใช้เวลาในการสรุปความคิดเห็นประชาชนใน 1 วัน ได้อย่างไร เพราะหากดูกรณีเขื่อนแม่วงก์ ยังใช้เวลาในการพูดคุยหารือไม่ต่ำกว่า 4-5 วัน แต่นี่ 5 module และบาง module มีการสร้างเขื่อนถึง 18 เขื่อน แต่ให้ประชาชนยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยภายในวันเดียว
“เพราะฉะนั้น เวทีของรัฐบาลไม่น่าจะใช่การประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง เป็นแต่เพียงการรับฟังหรือสักแต่ว่ารับฟัง ไม่ใช่ขั้นตอนตามที่ศาลสั่ง เพราะเป็นการเอาแค่แผ่นพับไปเสนอให้ประชาชน ดังนั้น ไม่ควรจัดเวทีนี้ให้เปลืองงบประมาณ” นายหาญณรงค์กล่าว
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า จากการศึกษาขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ หรือ public hearing ควรมีด้วยกัน 8 ขั้นตอน ที่ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลอย่างละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง พร้อมเปิดให้หารือร่วมกันทุกฝ่ายจากนักวิชาการด้านต่างๆ และภาคประชาชน ไม่ใช่จัดเวทีเปิดลานกว้าง ดึงคนมาร่วมฟังให้ได้ตามเป้าหมาย แล้วก็สรุปเอาว่า นี่คือการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว
นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) กล่าวว่า กระบวนการประชาพิจารณ์ที่รัฐบาลกำลังจัดทำถือเป็นวิกฤติวิชาการ วิกฤติความบิดเบือน วิฤกติความเท็จตามที่เอกสารราชการออกมา โดยรวมไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้เงินภาษีในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ ควรฟ้องศาลปกครองกลางให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อยุติเวทีประชาพิจารณ์ เพราะชัดเจนว่าไม่ปฏิบัติไปตามเงื่อนไขที่ศาลปกครองพิพากษา และถ้ายังดื้อจัดต้องล้มเวทีประชาพิจารณ์
“เมื่อมีเวทีประชาพิจารณ์ ถึงประชาชนไม่ยอม ก็ผ่านอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องทำให้ไม่เกิดเวทีนี้ขึ้นมา” นางสาวสมลักษณ์กล่าว
แต่นายปรเมศวร์ มินศิริ เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชน กล่าวว่า ไม่ควรล้มเวที แต่ต้องไปนำเสนอความคิดเห็นส่วนที่ประชาชนไม่เห็นด้วย โดยต้องเตรียมตัวให้พร้อม และทำเป็นเอกสารลายเตรียมไปเสนอในเวทีประชาพิจารณ์ด้วย
ขณะที่ประชาชนตัวแทนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี ปทุมธานี ลพบุรี และสมุทรสงคราม ได้แสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ มีแต่ข้อมูลหยาบ จึงไม่รู้ว่าโครงการที่จะสร้างในจังหวัดนั้นอยู่บนพื้นที่ใดบ้าง และมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
แต่ประชาชนที่เป็นตัวแทนจังหวัดต่างๆ ได้เตรียมพร้อมรับมือในการทำประชาพิจารณ์ โดยกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่รวมตัวกันเตรียมข้อมูล และจัดทำแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อเตรียมเสนอในเวทีประชาพิจารณ์ของรัฐบาล เนื่องจากไม่เชื่อว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะรู้ดีกว่าคนท้องถิ่น
นี่คืออีกเวทีหนึ่งที่นักวิชาการและภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
เปิดใจ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” กับการสร้างเขื่อน
ปัญหาการสร้างเขื่อนแม่วงก์กลายเป็นวิวาทะระหว่าง “ปลอดประสพ สุรัสวัสดี” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) กับ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประธาน
โดยทาง “ปลอดประสพ” ลั่นต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ “ปราโมทย์” เชื่อไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม
ในงานเสวนาผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ “ประชาสัมพันธ์ หรือ ประชาพิจารณ์?” อดีตอธิบดีกรมชลประธานได้อธิบายถึงประสบการณ์การสร้างเขื่อนที่ประสบความสำเร็จ และชี้แจงกรณีเขื่อนแม่วงก์ที่เห็นต่างจากรองนายกรฐมนตรี และประธาน กบอ.
“ปราโมทย์” บอกว่า การสร้างขื่อนที่ไหนก็ตาม จะต้องมีการศึกษา 2 ส่วน คือ ศึกษาความเหมาะของโครงการ กับ ศึกษาผลกระทบต่างๆ
ตัวอย่างเช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล ขั้นตอนดำเนินการเริ่มตั้งแต่การศึกษาด้านวิศวกรรม ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และศึกษาผลกระทบต่างๆ ทั้งผลกระทบต่อประชาชน ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันก็ลงไปพบปะประชาชน กล่าวคือ ขณะทำงานศึกษาก็พบประชาชน พบปะชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร แล้วออกมาเป็นผลการศึกษา
กรณีเขื่อนแม่วงก์ก็เหมือนกัน สมัยผมเป็นอธิบดีกรมชลประธาน หรือก่อนหน้าผมเป็นอธิบดีกรมชล ก็มีการศึกษาก่อนแล้วนำเสนอให้ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) สผ. ไม่ผ่าน ผมก็ไปทำการศึกษาเพิ่มเติมแล้วเสนอให้ สผ. อีกครั้ง ไม่ผ่าน “ไม่ผ่านก็จบ”
ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะจุน้ำได้แค่ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เรื่องนี้ทำอะไรหนีไม่พ้นความจริง อย่าไปบอกว่าเขื่อนแม่วงก์มีอิทธิฤทธิ์มากมายดักน้ำช่วยสิงห์บุรี อ่างทอง ได้ “ไม่ใช่” เพราะเขื่อนแม่วงก์ดักน้ำพื้นที่ลุ่ม 800 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้นเอง เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำสะแกกรังที่มีอยู่ 5,200 ตารางกิโลเมตร และข้อมูลน้ำที่ดูได้ทุกวัน จะเห็นว่าน้ำไหลจากนครสวรรค์เข้ามาหน้าเขื่อนเจ้าพระยา 330 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ เขื่อนแม่วงก์อาจมีส่วนช่วยดักน้ำได้ไม่เกิน 40-50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบบนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยเลย
เพราะฉะนั้น ควรจะดำเนินให้ถูกทิศถูกทาง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับชาติ ต้องรู้ว่าความจริงคืออะไร อันนี้สำคัญที่สุด
“ความเป็นจริงเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ผมได้วิพากษ์ไว้ตั้งแต่มิถุนายน 2555 และความจริงที่ผมพูดเป็นความจริง เขาจะทำให้เกิดความชอบธรรม หักหน้าผม ไม่ได้หรอก ในแง่การบริการจัดการ การทำให้เกิดประโยชน์ ท่านรองนายกฯ ผมเข้าใจท่านคงประสาทเสียเหมือนกัน ดิ้นไปทางนู้นทางนี้ เขาต้องใจเย็นๆ ต้องคิดพิจารณาอะไรต่างๆ เพราะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาใหญ่ๆ มันมีอะไรเกี่ยวข้องเยอะ มีกฎระเบียบอะไรที่ต้องนำดูให้หมด”
ผมทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบ การจะขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่ผมดูแล เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใหญ่โตขนาดไหน ผมเอาเข้า สผ. ต่อสู้กันก็ผ่าน เขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่เชิงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ต้องเอาเข้า สผ. ผ่านก็ทำ เขื่อนแม่วงก์ก็เหมือนกัน สมัยผมเป็นอธิบดีกรมชลประธาน หรือก่อนหน้าผมเป็นอธิบดีกรมชล ก็เอาเข้า สผ. ไม่ผ่าน ก็หยุด
กรณีเขื่อนแม่วงก์ มีคนมาบอกผมว่า เป็นโครงการพระราชดำริ ผมบอกว่า “ไม่ใช่”
เพราะเรื่องราวอะไรต่างๆ ที่เป็นโครงการพระราชดำริ ผมก็ทำงานมาเป็นผู้แทนกรมชลประธาน มีหน้าที่ต้องบันทึกชัดเจนที่ผมรับรู้รับเห็นก่อนปี 42 ไม่มี และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงหยุด และพระองค์ท่านไม่เคยทรงยุ่ง
ผมออกจากกรมชลประทานปี 2542 มันเกิดหลังผมหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่เรื่องนี้ต้องระวังให้ดีถึงแม้จะเป็นเป็นโครงการพระราชดำริ อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นโครงการพระราชดำริเต็มๆ แต่ผมไม่เคยไปบอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมารับสั่งให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ “ไม่ใช่”
แต่เป็นหน้าที่ของนักพัฒนา นักจัดการ ต้องทำให้ครบเครื่อง ตอบโจทย์ให้ได้ และผมเป็นผู้ดูแล เขื่อนแม่วงก์ ถึงแม้ติดขัดสมัยผม ผมก็ขับเคลื่อนตามระบบ เมื่อไม่ผ่าน ก็ยอมรับไป
เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ไม่ใช่โครงการพระราชดำริ มีคนพยายามบอกผมว่าให้ทำเป็นโครงการพระราชดำริ พูดตรงๆ ผมก็กราบบังคมทูลในลักษณะที่เล่าขานให้พระองค์ทราบ
พระองค์ท่านก็ตรัสว่า “ไม่ได้ ไม่ได้ เดี๋ยวเต้น”
ได้ยินอย่างนั้น ผมรู้ และเข้าใจว่า “ทรงไม่เห็นด้วย” ผมก็หยุด แล้วก็ไปจัดการกันเอง
ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ผมบอกว่า รัฐบาลกำลัง “หลงทาง” ไม่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง ต้องศึกษาหารูปแบบโครงการที่เหมาะสมก่อน ฟลัดเวย์รูปแบบเป็นอย่างไร ไม่มีใครไม่รู้ ขีดเส้นลากมันยาวลงมาก 300 กว่ากิโลเมตร มันตอนโจทย์หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เขาจะรู้ไหมว่ามันตอบโจทย์
โครงการต่างๆ ก็ไปช้อปมาจากของกรมชลประทานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเขื่อนแม่วงก์ ลำพูน เชียงใหม่ แม่แจ่ม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน่าน ก็ไปจิ้มๆๆ ของกรมชลประทานทั้งนั้น แล้วไปกวาดมาหมด ซึ่งไม่ตอบโจทย์ อย่างที่บอก มีแต่ “แผนอยากจะทำ” ไม่มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม
ผมทำมากับมือ ผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนมาแบบนี้ แล้วเวลานี้ศาลชี้มาถูกต้อง โดยเฉพาะมาตรา 67 วรรคสอง ของกฎหมายรัฐธรรมนูญสำคัญมาก แต่ตอนผมเป็นอธิบดี รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่เกิด เขาทำกันเป็นหลักสากล ดังนั้น ไม่ว่าโมดูลอะไรต้องทำตามมาตรา 67 วรรคสอง
“ผู้ที่มาบริหาร กบอ. เขาไม่เคยทำงานแบบผม และไม่เคยลงมือจับของจริง คุณปลอดประสพ เคยทำอะไร คุณธงทองทำอะไร เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ เกี่ยวกับประชาชน เพราะฉะนั้นแนวคิดต่างกัน ประสานกันไม่ติด พูดไปก็ไม่ฟัง”