Hesse004
ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธ (Arms Build Up) ที่ทำให้กองทัพทั่วโลกต่าง “เร่งสะสมอาวุธ” โดยนำเรื่องความมั่นคงของชาติและภัยคุกคามจากการก่อการร้ายมาเป็นเหตุผลในการจัดหาอาวุธ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กองทัพของแต่ละประเทศจึงเริ่มสะสมอาวุธกันมากขึ้นจนเกิดสภาพการแข่งขันกันสะสมอาวุธ (Arm Race) และปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้เกิด “อุปสงค์ของอาวุธยุทโธปกรณ์” (Demand for Arms) ขณะเดียวกันยังไปเพิ่ม “อำนาจต่อรอง” ให้กับผู้นำเหล่าทัพซึ่งมีบทบาทตัดสินใจในกระบวนการจัดหาอาวุธแต่ละครั้ง (Arm Procurement)
ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธจึง “เปิดช่อง” ให้บรรดาขุนทหารทั้งหลายสามารถแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการจัดหาอาวุธได้เช่นเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการอื่นๆ ของภาครัฐ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ต้องการเข้าไป “แตะต้อง” กองทัพ ด้วยความกังวลเรื่อง “เสถียรภาพทางการเมือง” ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่มีรัฐบาลหน้าไหนอยากจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในกองทัพจนกองทัพกลายเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า No Go Area
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธยังทำให้บริษัทค้าอาวุธสามารถเปิด “ตลาดค้าเครื่องประหัตประหาร” ได้โดยมีกองทัพทั่วทุกมุมโลกเป็นลูกค้ารายใหญ่
ดังนั้น น่าคิดเหมือนกันว่า เมื่อกองทัพอ้างเรื่องความมั่นคงในการจัดหาอาวุธ รัฐบาลไม่ก็อยากเข้าไปแตะต้องกองทัพ ส่วนบริษัทค้าอาวุธก็ยังเดินหน้าพัฒนาผลิตอาวุธออกมาขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะ “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธกันไปเพื่ออะไร?
ก่อนจะตอบคำถามว่าเราจะปฏิรูปการจัดหาอาวุธไปเพื่ออะไรนั้น ผู้เขียนขอแนะนำให้รู้จักองค์กรเอกชนระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อการติดตามสถานการณ์สงครามและการรักษาสันติภาพทั่วโลก
องค์กรที่ว่านี้ คือ Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI ซึ่งเป็น NGO ระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบและจับตาสถานการณ์สงคราม การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกองทัพทั่วโลก
SIPRI เป็น NGO ระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการทหารทั่วโลก
จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสี่ขององค์กร Think Tank ระดับโลก
เมื่อปีที่แล้วมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้จัดอันดับองค์กร Think Tank ของโลก ปรากฏว่า SIPRI ถูกจัดอันดับให้เป็น Research Institute ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสี่ขององค์กรที่มีอิทธิพลทางความคิดระดับโลกเลยทีเดียว 1
ในทุกๆ ปี SIPRI จะออก SIPRI Year Book หรือรายงานสถานการณ์ประจำปีที่เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ โดยในรายงานดังกล่าวประกอบไปด้วย ข้อมูล สถิติ บทวิเคราะห์ ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกองทัพทั่วทุกมุมโลก
เมื่อปี 2011 SIPRI Year Book ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เชิงวิชาการของผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณทหารและการจัดหาอาวุธ (Military Spending and Arms Procurement) บทวิเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า Corruption and arms trade: sins of commission ผู้เขียนมี 3 คน คือ Andrew Feinstein Paul Holden และ Barnaby Pace ทั้งหมดเป็นนักวิจัยของ SIPRI ที่อธิบายเบื้องหลังธุรกิจการจัดหาและค้าอาวุธของกองทัพต่างๆ ทั่วโลก
บทวิเคราะห์ชิ้นนี้สรุปวิธีฉ้อฉลในกระบวนการจัดหาอาวุธไว้ว่ามีอยู่ 4 รูปแบบที่พบเห็นอยู่เป็นประจำ ได้แก่ (1) การติดสินบนผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหาอาวุธ (Bribery) (2) เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของเหล่านายพล (Conflict of Interest) (3) การจ้างอดีตผู้นำเหล่าทัพให้เป็นที่ปรึกษาบริษัทค้าอาวุธหลังเกษียณอายุราชการแล้ว (Post-Employment) และ (4) การเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ในการทำธุรกิจให้กับผู้นำกองทัพ (The offer of preferential business access)
รูปแบบแรก คือ การติดสินบน (Bribery) ให้กับขุนทหารทุกระดับที่อยู่ในกระบวนการจัดหาอาวุธ วิธีการนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่บริษัทค้าอาวุธ (Dealers) และนายหน้าจัดหาอาวุธ (Broker) นิยมใช้มากที่สุด สินบนในที่นี้มิใช่แค่เพียง “เงิน” อย่างเดียว หากยังรวมถึงรถยนต์หรู บ้านราคาแพง เรือยอชท์ไว้อวดศักดา เครื่องบินเจ็ตสุดเท่ห์ เครื่องประดับและของฟุ่มเฟือยจิปาถะสำหรับ “หลังบ้าน” ของขุนทหารทั้งหลาย
ในบทความดังกล่าวได้ยกตัวอย่าง “ข้อครหา” เรื่องการติดสินบนอื้อฉาวระดับโลกในโครงการจัดหาอาวุธ Al-Yamamah Arms Deals ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจัดซื้ออาวุธจากรัฐบาลอังกฤษในลักษณะที่เป็น G2G โดยอังกฤษยอมขายอาวุธเพื่อแลกกับน้ำมันของซาอุฯ ตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา
รัฐบาลอังกฤษให้ BAE System ซึ่งเป็นบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษเป็นตัวแทนหลักในการดีลครั้งนี้
BAE System เป็นบริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป มีความเชี่ยวชาญการผลิตเครื่องบินรบ จะเป็นรองก็เพียงบริษัท Boeing เพียงบริษัทเดียว
อย่างไรก็ตาม การขายอาวุธของ BAE Systems ให้กับรัฐบาลซาอุกลับเกิดข้อครหาว่าบริษัทดันทะลึ่งไปจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ซาอุเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ2
เรื่องของ BAE System ได้ถูกขุดคุ้ยทั้งจากสื่อมวลชนอย่าง The Guardian และ Serious Fraud Office หรือ SFO (คล้ายๆ กับ ป.ป.ช. บ้านเรา) และ SFO ได้ชี้มูลว่า BAE System อาจจะละเมิดกฎหมายเรื่องการจ่ายสินบนข้ามชาติ
ผลการสอบสวนถูกส่งไปยังกระบวนการทางอัยการของอังกฤษเพื่อเตรียมดำเนินคดีสั่งฟ้องต่อไป แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นาย Tony Blair กลับสั่งให้ยุติการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับซาอุและความมั่นคงของชาติ3
กรณีของ BAE System จึงสะท้อนให้เห็นภาพเบื้องหลังของความเป็น “แดนสนธยา” ของกองทัพ ธุรกิจผลิตและค้าอาวุธ รวมทั้งการเมืองที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกันทั้งในและนอกประเทศ
ภาพเบื้องหลังดังกล่าวทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การเพรียกหา “ความโปร่งใส” และความรับผิดชอบหรือแม้กระทั่งการที่ผู้มีอำนาจในเหล่าทัพต้องถูกตรวจสอบได้นั้น ดูจะเป็นเพียง “ฝันกลางวัน” หรือฝันลมๆ แล้งๆ เกินไปหรือไม่
…เพราะภาพดังกล่าวยิ่งชี้ชัดให้เห็นสภาพพื้นที่ No Go Area ของกองทัพและธุรกิจค้าอาวุธ จนทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งของ Balzac นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่เคยกล่าวไว้ว่า
“Behind every great fortune there is a crime”!
หมายเหตุ:1 ผู้สนใจโปรดดู 2012 Global Go To Think Tanks Report, University of Pennsylvania
2 ผู้สนใจโปรดดู David Leigh; Rob Evans, David Gow ใน Fraud Office looks again at BAE ใน The Guardian.
3ผู้สนใจโปรดดู David Leigh; Rob Evans ใน Brutal politics lesson for corruption investigatorsใน The Guardian.
กรณี BAE System ผู้สนใจโปรดหาอ่านได้จาก เว็บไซด์ Campaigns Against Arm Trades (CAAT)