ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ฟริเกตพิฆาต” สัญชาติ “เกาหลีใต้” โฉมหน้าใหม่ “นาวีไทย” ตัวเรือแบบ “สเตลท์” ล่องหนลดการตรวจจับ

“ฟริเกตพิฆาต” สัญชาติ “เกาหลีใต้” โฉมหน้าใหม่ “นาวีไทย” ตัวเรือแบบ “สเตลท์” ล่องหนลดการตรวจจับ

14 สิงหาคม 2013


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม รับกองเกียรติยศที่กระทรวงกลาโหม  ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมพิธี
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม รับกองเกียรติยศที่กระทรวงกลาโหม ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมพิธี

ภายหลัง “กองทัพเรือ” เดินเครื่องโครงการจัดซื้อ “เรือฟริเกต” สมรรถนะสูง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 จนในที่สุด “สนามไชย 1” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม เซ็นผลักดันโครงการดังกล่าว

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อ “เรือฟริเกต” จำนวน 1 ลำ มูลค่า 14,600 ล้านบาท ให้แก่ “กองทัพเรือ” สมใจ หลังต้องแห้วจากโครงการ “เรือดำน้ำ” ก่อนหน้านี้

“เรือฟริเกต” ลำนี้ต่อโดยบริษัท แดวู-Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co., Ltd. (DSME) จากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ที่ชนะการคัดเลือกแบบ “เรือฟริเกต” ตามที่คณะกรรมการพิจารณาและคัดเลือกแบบกองทัพเรือต้องการ

หากย้อนไปดู กว่า “กองทัพเรือ” จะได้โครงระดับบิ๊กโปรเจกต์ ก็ต้องรออยู่หลายปีเลยทีเดียว นั่นก็เพราะการจัดซื้อเรือ 1 ลำ ต้องใช้เงินมหาศาลมากกว่ายุทโธปกรณ์ชิ้นอื่น เพราะเรือมีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยี อุปกรณ์การรบครบทุกมิติ

โดยเฉพาะ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสอง U-206 A จากประเทศเยอรมนี จำนวน 6 ลำ มูลค่า 7.6 พันล้านบาท ที่ “ราชนาวี” ที่ใช้เวลาดำเนินโครงการดังกล่าว 2 ปี เพื่อหา “เรือดำน้ำ” มารักษาน่านน้ำของไทย และคานอำนาจจากประเทศรอบบ้านที่เริ่มสะสม “เรือดำน้ำ”

แต่เมื่อโครงการเรือดำน้ำมือสอง U-206 A ถูกระงับจาก “บิ๊กโอ๋”พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม ทำให้ต้องเก็บเข้าตู้ไป เมื่อช่วงต้นปี 2555 กองทัพเรือจึงเปลี่ยนมาทำโครงการจัดซื้อ“เรือฟริเกต” สมรรถนะสูง แทน

เพราะดูแล้ว หากดึงดันจะคิดโครงการเรือดำน้ำใหม่ ความเป็นไปได้ที่จะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก็น้อยมาก แถมยังมีปัญหาอีกมากมายตามมา ยิ่งหากโครงการ “เรือดำน้ำ” ใหม่ถูกยื้อเวลาอีก คงทำให้การจัดหายุทโธปกรณ์ทดแทนยิ่งล่าช้าไม่ทันการ

พล.ร.อ.สรุศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ดังนั้น “บิ๊กหรุ่น” พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้แต่งตั้ง “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาและคัดเลือกแบบ “เรือฟริเกต” ลำใหม่

พร้อมกำหนดแผนความต้องการกองทัพเรือ จัดซื้อ “เรือฟริเกต” 2 ลำใหม่ แบบทีละลำ เพื่อมาทดแทน “เรือฟริเกต” ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้า และเรือหลวงพุทธเลิศหล้า ที่จะปลดประจำการในปี 2558 และ 2560 ตามลำดับ

โดรงการ “เรือฟริเกต” สมรรถนะสูงนั้น กองทัพเรือได้กำหนดสเปกต่างๆ พร้อมเปิดให้บริษัทอู่ต่อเรือจากต่างประเทศเข้ายื่นเสนอแบบเรือให้ทางคณะกรรมการคัดเลือกของกองทัพเรือพิจารณา โดยมี 13 บริษัทอู่ต่อเรือจากประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี สเปน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจากเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ เสนอตัวเข้ามาแข่งขันให้พิจารณาตั้งแต่ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา

จากนั้น ภายหลังคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติแต่ละบริษัทแล้ว ก็ตัดออกจนเหลือเพียง 5 บริษัทอู่ต่อเรือ ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย อาทิ จีน อิตาลี สเปน และแดวูกับฮุนได ของเกาหลีใต้ และมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีเพียง 2 บริษัท ที่ผ่านคุณสมบัติ คือ บริษัทจากประเทศสเปน และ บริษัทแดวู จากประเทศเกาหลีใต้

จนในที่สุด เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจเลือกบริษัทแดวู ของเกาหลีใต้ เป็นผู้ต่อเรือให้กองทัพไทยในราคา 1.46 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทแดวู มีขีดความสามารถในการสร้างเรือที่มีประสิทธิผลทางยุทธการในการปราบเรือดำน้ำ ภายใต้งบประมาณของกองทัพเรือที่มีอยู่กำจัด

โครงการจัดหาเรือฟริเกต ระยะที่ 1 (Frigate Acquisition Project Phase 1) มีระยะเวลาดำเนินการโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2556-2561 โดยภายหลังทำสัญญาทางอู่จะทำการต่อเรือให้ กองทัพเรือภายใน 1,800 วัน นอกจากนี้ ในระหว่างการต่อเรือ กองทัพเรือจะทำการส่งกำลังพลไปฝึกศึกษาเรียนรู้เรือ ระบบเรือ (platform system ) ระบบการรบ (combat system ) ที่ประเทศเกาหลีใต้เพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

งานนี้ทำให้บรรดา “นายทหารเรือ” ต่างโล่งอก เพราะตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการจัดซื้อ “เรือฟรีเกต” ต้องพบกับข่าวลือมากมาย โดยเฉพาะข่าวแนวโน้มที่จะมีใบสั่งให้กองทัพเรือต้องจำใจซื้อเรือจีน และเมื่อกองทัพเรือได้ตัดสินมาเป็นเรือเกาหลีใต้ ก็ทำให้ข่าวลือทุกอย่างนั้นจบลงโดยปริยาย

“เรือฟริเกตนี่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาคัดเลือก เพราะชิ้นส่วน อุปกรณ์ ระบบต่างๆ ที่จะมาติดตั้งกับเรือมีเป็นพันรายการ จึงต้องมีการพิจารณาคัดเลือกอย่างละเอียด เพื่อให้กองทัพเรือได้เรือฟริเกตที่ทั้งเก่งและดี มีสมรรถนะสูงในการรบ 3 มิติ เรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือลำใหม่นี้จะเป็นรุ่นที่พัฒนาปรับปรุงมาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ รับรองว่าทันสมัยเพราะใช้ Stealth Technology ทั้งตัวเรือและระบบต่างๆ เน้นลดการถูกตรวจจับโดยฝ่ายตรงข้าม ทั้งลดการแผ่รังสีความร้อน ลดการสะท้อนของเรดาร์ ลดเสียง” พล.ร.อ.จักรชัย ยืนยัน

เรือฟริเกต รุ่นใหม่เกาหลีใต้
เรือฟริเกตรุ่นใหม่จากเกาหลีใต้

นอกจากนี้ พล.ร.อ.จักรชัย ยังระบุว่า มั่นใจในระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธ ระบบไฟฟ้า ระบบเดินเรือ และเรดาร์ เพราะระบบแบบนี้ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน โดยเฉพาะเป็นเหตุผลด้านยุทธการที่ กองทัพจะต้องปฏิบัติการรบร่วมกับกองทัพอากาศ มีการเชื่อมโยงระบบการรบของเรือรบกองทัพเรือกับเครื่องบินของกองทัพอากาศ ทั้ง Link E, Link RTN โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเรือหลวงฟริเกตชุดตากสิน-นเรศวร และเรือหลวงจักรีนฤเบศร กับ Link G, เครื่องบิน กริพเพน ซึ่งเป็นเครื่องบินรบเจเนอเรชัน 4.5 ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศ เนื่องจากการรบในสมัยใหม่จะต้องเป็นการรบร่วมมากกว่า 1 เหล่าทัพ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ Network Centric Warfare

ในระหว่างนี้ กองทัพเรือกำลังประชุมดำเนินการในแผนการต่อเรือ “ฟริเกต” ในขั้นตอนตามเวลาที่กำหนด โดยช่วงกันยายน 2556 จะส่งคณะกรรมการพิจารณาและคัดเลือกแบบฯ ชุดแรก พร้อมเจ้าหน้าที่กลเรือ กลจักร ไฟฟ้า อาวุธ สื่อสาร เดินเรือ พลาธิการ ฯลฯ จำนวน 18 นาย แบ่งเป็น 2 ทีม ไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อไปตรวจพิจารณาแบบรายละเอียดการเริ่มสร้าง “เรือฟริเกต” และควบคุมการทำงาน พร้อมคัดเลือกอุปกรณ์ให้ตรงตามที่กองทัพเรือต้องการ โดยใช้เวลาคุมงาน 5 ปี เรียกได้ว่า กองทัพเรือส่งทีมคุมไซต์งานต่อ “เรือฟริเกต” แบบวันต่อวันเลยทีเดียว

ในส่วนการจัดกำลังพลประจำเรือ 136 นาย ไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีระยะเวลาทั้งหมดจนถึงกรกฎาคม 2561 ที่ทาง “เรือฟริเกต” จะเข้าประจำการที่กองทัพเรือไทย

ว่ากันว่า ออปชันเสริมของการต่อเรือจากบริษัท แดวู ในครั้งนี้ คือ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอู่ต่อเรือเอกชนของไทยที่สนใจด้วย เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับเพิ่มการพัฒนาศักยภาพของการต่อเรือรบภายในประเทศไทยในอนาคต

ส่วนจะถึงขั้นเกาหลีใต้เข้ามาร่วมทุนตั้งอู่ต่อเรือรบในไทยตามแนวคิดของผู้ใหญ่กองทัพหลายคนเลยหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของอู่เอกชนที่จะไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และงบประมาณกองทัพเรือไทย ในการสร้างเรืออย่างต่อเนื่อง

ตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในการพัฒนาให้มีศักยภาพ ปัจจุบันมีความต้องการ “เรือฟริเกต” อย่างน้อยอีก 2 ลำ เพื่อทนแทนเรือ “ฟริเกต” รุ่นเก่า และเพื่อความมั่นคงของประเทศ

คงต้องติดตามกันว่า โฉมหน้า “เรือฟริเกตพิฆาต” ลำใหม่ของไทย ที่ปรับปรุงจากเรือพิฆาต KDX-I จากเกาหลีใต้ จะมีรูปโฉมและศักยภาพอย่างที่กองทัพเรือคาดหวังไว้หรือไม่ ซึ่งอีก 5 ปี คงได้รู้กัน และการจัดซื้อ “เรือฟริเกต” ลำต่อไปชาติใดจะเป็นผู้ต่อเรือ

สำหรับคุณสมบัติ “เรือฟริเกต” นั้น เป็นแบบที่พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) มีการออกแบบและสร้างเรือโดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐอเมริกาและกองทัพเรือเกาหลี อีกทั้งได้รับการรับรองว่าเป็นแบบที่ได้รับรองจากสถาบันจัดชั้นเรือซึ่งเป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classifications Society) โดยแบบเรือดังกล่าวมีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล บรรจุกำลังพล 136 นาย ลักษณะของเรือออกแบบให้ใช้ Stealth Technology ลดการแพร่คลื่นแม่เหล็กจากตัวเรือ รวมทั้งลดการแพร่เสียงใต้น้ำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบอาวุธจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ รวมทั้งป้องกันตัวเองในระยะประชิด ตามมาตรฐานยุโรป สหรัฐฯ และที่กองทัพเรือมีใช้งานและกำลังจัดหา การสร้างเรือ จะดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในระหว่างปี 2556–2561 โดยมีค่าจ้างสร้างเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 14,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อะไหล่เครื่องมือ เอกสาร ส่วนสนับสนุน การทดสอบทดลอง การฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ฟริเกต

“เรือฟริเกต” ปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ เรียงลำดับความสำคัญจากการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ ปฏิบัติการต่อต้านภัยทางอากาศ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศได้อย่างสมบูรณ์ และสอดคล้องกับความต้องการของกองทัพเรือ

ส่วนของ platform system มีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ (Flight Deck) และโรงเก็บอากาศยาน สามารถใช้งานกับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน ได้ เช่น S 70B Sea Hawk, MH -60S Knight Hawk มีอุปกรณ์ช่วยการลงจอด (landing aids แบบ harpoon grid) มีระบบและอุปกรณ์การลงจอด ยึดตรึง เคลื่อนย้าย เฮลิคอปเตอร์ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกระดับ level 2 class A ตามมาตรฐาน US Navy Standard NATO

สำหรับ ระบบอำนวยการรบ (combat system) และระบบย่อยของระบบการควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ (command and surveillance) และระบบอาวุธ (armament) ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ ทั้ง Evolved Sea Sparrow Missile-ESSM มีระบบตอร์ปีโด ปราบเรือดำน้ำ ที่สามารถปรับปรุงให้ใช้งานกับ อาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่ อากาศ SM2 รวมทั้งมีระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่พื้น (Advanced Harpoon Weapon Control System- AHWCS) และอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิด Raytheon

“สำหรับ ระบบอำนวยการรบ (combat system) ประกอบด้วยมีระบบการควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์(command and surveillance) และระบบอาวุธ (armament)มีระบบปืนซึ่งประกอบด้วย อาวุธปืนหลัก ปืน 76/62 มม. Oto-Melara พร้อม Stealth Shield และ อาวุธปืนรอง ปืนกล 30 มม. และปืนกล 50 นิ้ว ระบบเป้าลวง (decoy system) โดยมีแท่น TERMA หรือ รุ่นที่ดีกว่า พร้อมระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และทำการลวง (Break Lock) เรดาร์ควบคุมการยิงของเรือ, อากาศยาน และอาวุธปล่อยนำวิถีได้ รวมทั้งสามารถรองรับการใช้งานเป้าลวงตอร์ปีโด (torpedo decoy)”

ระบบตรวจการณ์ เรดาร์ตรวจการณ์อากาศระยะไกล แบบ 3 มิติ ของ SABB อุปกรณ์หมายรู้และพิสูจน์ฝ่าย IFF ระบบโซนาร์ รวมทั้งมีระบบโทรศัพท์เสียงใต้น้ำ ระบบเดินเรือที่เชื่อมต่อกับระบบเดินเรือและระบบอำนวยการรบได้

อ่านบทความ”ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพแล้วหรือยัง?” (มี3ตอน)