ThaiPublica > คอลัมน์ > นาฬิกา-นาฬิโกง

นาฬิกา-นาฬิโกง

19 สิงหาคม 2013


หางกระดิกหมา

ปราชญ์นั้นสอนกันมานานแล้วว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด แต่เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เราก็ได้รู้อีกอย่างหนึ่งว่า ในประเทศไทยนี้ ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่แพงไม่แพ้เวลา ก็คือ “นาฬิกา” ของสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

เพราะปรากฏว่าสภาผู้แทนฯ ได้ไปสั่งซื้อนาฬิกาจำนวน 200 เรือน รวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท หรือคิดคร่าวๆ ก็ตกเรือนละ 75,000 บาท มาเพื่อแก้ปัญหา “สภาผู้แทนราษฎรประสบปัญหาในการนัดหมายเวลากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากนาฬิกาในห้องประชุมแต่ละห้องเดินไม่ตรงกันและบางเรือนไม่เดิน ทําให้การบริหารเวลาเกิดความผิดพลาด”

โดยสำนักงานเลขาธิการสภาออกมาชี้แจงว่า ที่แพงนี้ ความจริงก็ไม่แพง เพราะเงิน 15 ล้านนั้นไม่ใช่เป็นค่านาฬิกาอย่างเดียว แต่ยังรวมระบบการควบคุมเวลาและบริหารเวลาในรัฐสภาทั้งหมด มิหนำซ้ำนาฬิกา “เรือนแสน” ที่ว่าก็มีคุณสมบัติที่นาฬิกาอื่นไม่มีอีกมากมาย เช่น มีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมและระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งสัญญาณเวลาให้นาฬิกาเครื่องลูกข่ายทั้งหมด มีระบบ Back Up ให้กับชุดควบคุมเวลาในกรณีไฟดับ มีการเชื่อมต่อกับมาตรฐานเวลาในระบบของสำนักมาตรวิทยา มีการใช้สายใยแก้วนำแสง fiber optic สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ระหว่างอาคาร ฯลฯ

พอได้ยินอย่างนี้ คนไทยก็เลยเป็นอันได้ความรู้สำคัญอีกอย่างว่า เวลา ส.ส. ไม่เข้าประชุมให้ตรงเวลานั้น ไม่ใช่เพราะตั้งใจโดดประชุมหรือว่าสันดาน แต่เป็นเพราะนาฬิกาบนผนังสภามันเฮงซวย และไม่เชื่อมกับระบบดาวเทียมนี่เอง

คิดๆ ดูแล้วก็น่าอ่อนใจ เมื่อนึกว่าเสียงออดที่ปกติสามารถตามเด็กจำนวนนับร้อยนับพันให้เข้าห้องเรียนได้ตรงเวลามาตั้งแต่ไหนแต่ไรไม่ว่าประถมหรืออนุบาลนั้น กลับใช้ตาม ส.ส. ผู้เป็นผู้นำประเทศให้เข้าประชุมตรงเวลาไม่ได้ และอ่อนใจหนักเข้าไปอีกเมื่อนึกว่าทำไม ส.ส. ไม่รู้จักเอาไอโฟนหรือไอแพดซึ่งอัพเดตเวลาอัตโนมัติและเวลาตรงกันทุกเครื่องมาดูเวลา ทั้งๆ ที่เวลาอยู่ในห้องประชุมก็เห็นควักออกมาเล่น Candy Crush หรือดูรูปโป๊กันได้ถนัดดี ยังไม่ต้องพูดถึงนาฬิกาข้อมือด้วยซ้ำไป

แต่เอาเถิด ของมันพังยังไงก็ต้องเปลี่ยน จะไม่บ่นให้มากความ

แต่คำถามก็คือ จำเป็นหรือไม่ที่สภาจะต้องใช้นาฬิกาเรือนละเกือบแสน และการทำหน้าที่ของ ส.ส. มันจะต้องใช้นาฬิกาที่เชื่อมกับระบบดาวเทียมเอาเวลาเที่ยงตรงเป็นวินาทีหาอะไร ในเมื่อกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญซึ่งบอกเวลาละเอียดพิสดารที่สุดยังบอกเวลาเป็น “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2550 พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม สูกรสมพัตสร สาวนมาส ชุณหปักษ์ เอกาทสีดิถี สุริยคติกาล สิงหาคมมาส จตุวีสติมสุรทิน ศุกรวาร โดยกาลบริเฉท” อยู่เลย

ลองค้นดูสภาประเทศอื่นก็ไม่เห็นเขาเอานาฬิกาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต อย่าง Portcullis House หรือที่ทำงาน ส.ส. อังกฤษสมัยแรกๆ นั้น ไม่มีนาฬิกาเลยสักเรือนด้วยซ้ำ ส.ส. ที่โวยให้มีการหานาฬิกามาใส่เพิ่มยังถูกบอกให้รู้จักดูนาฬิกาข้อมือแทนหรือไม่ก็โผล่หน้าไปดูบิ๊กเบนที่ฝั่งตรงข้าม ยิ่งสภาซีเนตหรือสภาสูงของสหรัฐฯ นาฬิกายิ่งเก่าแก่จนขึ้นชื่อเลยด้วย คือ The Ohio Clock ซึ่งสภาสั่งมาใช้ตั้งแต่ ปี 1815 แต่แม้ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยจะมีคนไขลานอยู่ทุกอาทิตย์เพื่อให้เวลาตรงเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่นั่นคือสภาของประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงเกือบๆ สิบเท่าของประเทศไทย

ในเมื่อมองทางไหนก็ไม่เห็นเหตุผลอธิบายอย่างนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเขาจะต้องนึกว่ามีคอร์รัปชัน เพราะตามตำรา คอร์รัปชันของการจัดซื้อจัดจ้างจะมีหน้าตาอย่างนี้เป๊ะทีเดียว คือ “รัฐจะทำประเทศให้ยากจนขึ้นโดยเอาเงินไปใช้ในที่ไม่ควรใช้ เลือกของที่ไม่ควรเลือก โดยใช้ปริมาณสินบนมาตัดสินมากกว่าคุณภาพหรือราคา” โดยนัยนี้ ต่อให้ไม่มีอำนาจสอบสวนกระบวนการอะไร ประชาชนเขาก็ย่อมวินิจฉัยจากสิ่งที่เห็นอยู่เต็มตาได้เองว่าเรื่องอย่างนี้เป็นคอร์รัปชันแน่ เหมือนที่ฝรั่งมีสำนวนว่า “ถ้ามันดูเหมือนเป็ด เดินเหมือนเป็ด ร้องเหมือนเป็ด มันก็ต้องเป็นเป็ดวันยังค่ำ (If it looks like a duck, walks like duck, and quacks like a duck, it’s a duck)”

อย่างไรก็ดี ตำราฝรั่งใช้ไม่ได้กับเมืองไทย เพราะเมืองไทยนั้นเวลามีเรื่องอย่างนี้ทีไร ต่อให้ความผิดมันตำตาแค่ไหน ก็จะต้องเริ่มด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ที่น่าเจ็บใจคือเสร็จแล้วแทนที่คณะกรรมการตรวจสอบจะเอาผิดใครได้ ก็กลายเป็นว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะไปตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเฉยๆ ถ้าไม่พบอะไรผิดปกติในกระบวนการแล้วก็เป็นอันจบ แล้วคณะกรรมการก็แยกย้ายไปกินเบี้ยประชุมได้

ส่วนปัญหาที่ว่า ในเมื่อไม่มีอะไรผิดปกติในกระบวนการแล้ว มันไปผิดปกติในส่วนไหนคนเขาถึงรู้สึกว่ามันมีคอร์รัปชัน ดูเหมือนคณะกรรมการตรวจสอบเหล่านี้จะไม่สนใจตอบและไม่เห็นเป็นหน้าที่อีกต่อไป จนไปๆ มาๆ คณะกรรมการแบบนี้แทบจะกลายเป็นกลไกที่มีไว้สร้างความชอบธรรมให้หน่วยงานของรัฐด้วยคำว่า “ตรวจสอบแล้วกระบวนการถูกต้อง” แล้วก็แล้วไปเท่านั้น

วันก่อนก็เห็นข่าวรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรออกมาแถลงว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนาฬิกาทั้งหมด “มีการดำเนินการโปร่งใสตามระเบียบราชการทุกประการ” แล้ว ยังไม่รู้ว่าคณะกรรมการกิจการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้จะเชื่อแล้วจบเหมือนคณะกรรมการอื่นๆ หรือว่าจะสืบสาวจนกว่าจะหาอะไรที่ผิดปกติได้กันแน่

รู้อย่างเดียวว่า ถ้าระเบียบราชการมันโปร่งใสถูกต้องทุกอย่างแล้วสภายังต้องซื้อนาฬิกาเรือนละเกือบแสนแล้วละก็ ระเบียบและคนคุมระเบียบนี่ละที่เฮงซวยเสียยิ่งกว่านาฬิกา

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” น.ส.พ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2556