การจำหน่ายข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ถูก “สวมรอย” ให้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางในการทุจริตเกิดขึ้น เมื่อมีการขายข้าวสารในโครงการรับจำนำ ด้วยราคาส่วนลดถึง 50% และไม่ต้องเปิดประมูล โดยอุปโลกน์ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้จัดทำข้าวถุงใน “โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน”
โดยนับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2555 จนถึงเดือน มิ.ย. 2556 กระทรวงพาณิชย์มีการอนุมัติขายข้าวสารในโกดังให้ อคส. ไปแล้วทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน แต่ อคส. ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นขั้นตอน โดยบริษัทที่ทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวพร้อมบรรจุถุงมีประมาณ 6-7 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 5 เสือค้าข้าว อาทิ บริษัทเจียเม้ง, พงษ์ลาภ, นครหลวงค้าข้าว รวมถึงบริษัทสิงห์โตทอง และ โชควรลักษณ์ โดย อคส. ได้มีการส่งมอบข้าวไปปรับปรุงสภาพแล้ว 9 แสนถึง 1 ล้านตัน
ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ คณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตรวจสอบ พบว่าข้าวส่วนใหญ่ที่อ้างว่านำไปช่วยเหลือประชาชนในราคา (ขนาด 5 กิโลกรัม) ไม่เกิน 70 บาทต่อถุง ประกอบด้วย ยี่ห้อ “ข้าวถุง อคส.” และ “ข้าวถุงถูกใจ” กระจายไปสู่มือประชาชนจริงๆ ประมาณ 10% หรือไม่ถึง 1 แสนตัน เท่านั้น ที่เหลือคาดว่าจะถูกนำไปขายให้พ่อค้าส่งออกและบรรจุเป็นข้าวถุงยี่ห้ออื่น
มีการพบข้อพิรุธในขั้นตอนการทำสัญญากับผู้รับมอบข้าวถุง อคส. ที่ได้ปรับปรุงคุณภาพแล้ว นำไปจัดจำหน่าย ส่งมอบ และทำการตลาด ทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด, บริษัทคอน-ไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ร่มทอง จำกัด ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าทั้ง 3 บริษัทนี้ เคยมีประวัติการทำธุรกิจค้าข้าวสารแต่ประการใด
จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท สยามรักษ์ จำกัด เป็นบริษัทที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 การดำเนินกิจการในปัจจุบันที่ระบุตามเอกสารนำส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่าทำธุรกิจ “จำหน่ายและส่งออกดอกไม้หอมอบแห้งและเครื่องหอมต่างๆ” มีนายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 20 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2554
ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทำหมายเหตุงบการเงินบริษัทสยามรักษ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 และ ปี 2553 ว่า บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 57.01 ล้านบาท และ 19.23 ล้านบาท ตามลำดับ และมีผลประกอบการขาดทุนสะสมเกินจำนวน 39.55 ล้านบาท และ 7.15 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนั้น บริษัทยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินการงานต่อเนื่องของบริษัท
ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้รายงานหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทสยามรักษ์อีกครั้งว่า บริษัทมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 57.53 ล้านบาท มีขาดทุนสะสมเกินทุนเรือนหุ้น จำนวน 32.53 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท
บริษัทสยามรักษ์ เคยส่งแผนการตลาดข้าวถุงให้ อคส. อนุมัติ ระบุว่า มีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้าขนาดใหญ่และขนาดปานกลางในต่างจังหวัด 280 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอีก 1,140 แห่ง รวมเป็น 1,420 แห่ง เป็นต้น แต่สุดท้าย อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อยๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่
อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ร้านค้าที่บริษัทสยามรักษ์หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวแต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 70 บาทต่อถุง โดยร้านค้าในแผนการตลาดที่บริษัทสยามรักษ์อ้างถึง ส่วนหนึ่งเป็นร้านค้าข้าวถุงที่เคยทำธุรกิจร่วมกับบริษัทเจียเม้ง
บริษัท คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด ระบุในบัญชีงบการเงินที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ว่าเป็น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเคยมีการขอเพิ่มประเภทธุรกิจที่ให้บริการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ว่า ประกอบกิจกิจการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย โดยมีนางอันนา เตชะอัครเกษม เป็นกรรมการของบริษัท
ส่วน บริษัท ร่มทอง จำกัด ตั้งอยู่ ที่เลขที่ 134/236 หมู่ที่ 1 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน มีนางกรวรรณ วังสถาพร เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีผลขาดทุนสุทธิ 364,063 บาท และในปี 2555 มีผลขาดทุนสุทธิ 471,035 บาท โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2552 เคยยื่นขอเพิ่มการประกอบกิจการ ด้านซื้อขายและเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากทุกชนิดของรัฐบาล เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากการกุศล สลากออนไลน์ รวมถึงการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสลากทุกชนิด และประกอบกิจการบ้านจัดสรร
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากข้าวถุงในโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจ ที่ กขช. อนุมัติให้ อคส. นำข้าวในสต็อกรัฐบาลออกไปจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องประมูลในราคาลด 50% นั่นคือ ต้นทุนซื้ออยู่ที่ราคาเพียง 7,600 บาทต่อตัน หรือเทียบกับว่าข้าวถุง 5 กิโลกรัม มีต้นทุนที่ 38.125 บาทต่อถุง เท่านั้น หากมีการลักลอบไปขายในท้องตลาดทั่วไปหรือขายให้แก่พ่อค้า เพื่อนำไปแปรสภาพเป็นข้าวตราอื่นๆ ซึ่งราคาในท้องตลาดขายอยู่ที่ถุงละ 100-150 บาท จะสร้างผลกำไรมหาศาลให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังนับหมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า บริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงทั้ง 3 แห่ง อาจจะเป็นแค่นอมินีที่รับดำเนินการแทนเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจค้าขายข้าว เพราะจริงๆแล้วคาดว่าผู้บงการใหญ่เป็นนักการเมืองและบริษัทที่ปรับปรุงคุณภาพข้าว ที่ร่วมมือกันดำเนินการอย่างแยบยล ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ตรวจสอบได้ยากมาก แต่เท่าที่มีการรายงานข้อมูล พบว่าข้าวคุณภาพดีจะถูกบรรจุถุงในตราที่เป็นพรีเมียมของบริษัท และขายในราคาแพง ส่วนข้าวเกรดรองลงไปจึงจะมีการบรรจุถุงตรา อคส. และร้านถูกใจขายให้ประชาชน
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า ได้มีการเชิญเจ้าของบริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงอคส.ทั้ง 3 แห่งมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทางบริษัทสยามรักษ์ได้มีการทำสัญญาขายคืนข้าวสารให้กับบริษัทเจียเม้ง โรงสี และบริษัทผู้ปรับปรุงข้าวให้กับ อคส. รายอื่นๆ ด้วย
ส่วนอีก 2 บริษัท แจ้งว่าได้มีการขายคืนบ้างเป็นบางส่วนแต่ไม่ได้มีการทำสัญญา และข้าวอีกส่วนหนึ่งมีการจำหน่ายให้ในท้องตลาดตามปกติจริง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าสัญญาที่ อคส. ทำกับผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดได้เปิดช่องเอาไว้ว่าบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะนำไปขายใครก็ได้ ซึ่งการตีความตรงนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพิจารณา ภายหลังจากที่ทางกรรมาธิการฯ จะได้มีการรวบรวมหลักฐาน ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกันต่อไป
“จากการตรวจสอบของเราพบว่า ทั้ง 3 บริษัท ไม่เคยมีการทำธุรกิจด้านการค้าข้าวมาก่อน บางบริษัททำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำบ้านจัดสรร แต่ก็มีความพยายามทำการตลาดข้าวถุงบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งเราคงจะต้องมีการเรียกข้อมูลหลักฐานมาเพิ่มเติมว่าสัญญาของ อคส. ที่ทำกับผู้จัดจำหน่ายแต่ละรายนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ก่อนรวบรวมเสนอต่อ ป.ป.ช. ต่อไป” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา ได้เดินหน้าตรวจสอบการทุจริตในเรื่องนี้แล้ว ทำให้ทาง อคส. และกระทรวงพาณิชย์ ตกลงที่จะยุติโครงการข้าวถุงธงฟ้าแล้ว โดยมีข้าวที่ส่งมอบให้บริษัทผู้ปรับปรุงไปประมาณ 9 แสนตันเศษ จึงถือว่าคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา สามารถช่วยสกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการนี้ได้กว่า 1.5 ล้านตัน ซึ่งการจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่นั้น กระทรวงพาณิชย์ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้โครงการมีประโยชน์และช่วยให้ข้าวถุงไปถึงมือประชาชนจริงๆ”
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กล่าวว่า โครงการข้าวถุงธงฟ้าเพื่อประชาชนนี้ ทำให้ตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวลดลง เนื่องจากทางกระทรวงพาณิชย์มักจะอ้างว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลจำเป็นต้องขาดทุน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้กินข้าวในราคาถูกลง ขณะที่ความจริงแล้วข้าวที่ระบายออกไปไม่ได้ถึงมือร้านค้าทั่วไปหรือร้านถูกใจ แต่ถูกลักลอบไปขายให้แก่พ่อค้าและตลาดมืด รวมทั้งยังมีปัญหาการทุจริตอื่นๆ ในโครงการจำนวนมาก ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวงวดวันที่ 31 พ.ค. 2556 ได้
ปัจจุบัน รัฐบาลมีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วมากกว่า 6.3 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.3 แสนล้านบาท และเงินกู้ของกระทรวงการคลังอีก 4 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการขาดทุนอย่างต่ำที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประเมินไว้ในขณะนี้มีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท