ThaiPublica > คอลัมน์ > การพนันหรือการเสี่ยงโชค

การพนันหรือการเสี่ยงโชค

9 มิถุนายน 2013


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

การพนันกับการเสี่ยงโชคแตกต่างกันในลักษณะของการเล่นและผลกระทบ ถึงแม้การเสี่ยงโชคจะดูไร้เดียงสา แต่ถ้าหากมีการมอมเมามากๆ ก็อาจมีผลเสียไม่ต่างไปจากการพนัน

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมการสัมมนาและวิจารณ์บทความเรื่อง ‘การพนันหรือการเสี่ยงโชค’ ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และพวกเมื่อเร็วๆ นี้ ขอนำเอาบางประเด็นที่ได้คุยกันในวันนั้นมาเป็น “อาหารสมอง”

คำว่า ‘การพนัน’ สื่อความหมายด้านลบในภาษาไทย เมื่อครั้งที่พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ออกมานั้นสังคมไทยไม่รู้จักคำว่า ‘การเสี่ยงโชค’ เนื่องจากเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง และมีความหมายที่แตกต่างออกไป (แม้แต่คำว่า ‘สวัสดี’ ก็เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการใน พ.ศ. 2486 หลังจากที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้บัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2476 ใครอยากให้ใครชมตลอดเวลาก็ต้องชื่อสวัสดิ์ เพราะสวัส-ดี)

กฎหมายฉบับนี้ระบุแต่คำว่าการพนัน แต่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีหลากหลายรูปแบบที่คล้ายคลึงการพนันเกิดขึ้นจนกฎหมายตามไม่ทัน

การพนันของไทย ไพ่ ถั่ว โป ไฮโล บิลเลียด สนุกเกอร์ บาคาร่า ฯลฯ ตลอดจน ‘โจรแขนเดียว’ (slot machines ที่มากับฐานทัพอเมริกัน) นั้นคนไทยรู้จักกันมานานแล้วในนามของ ‘การพนัน’ และตรงกับลักษณะดังปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าว

ในประเทศไทยการเสี่ยงโชคเริ่มต้นกันเมื่อ 50 ปีก่อนด้วยการส่งชิ้นส่วนชิงโชค รายการหนึ่งให้คนซื้อผงซักฟอกและมีสร้อยคอทองคำปนมาด้วย (ผงซักฟอกยี่ห้อนั้นขายปลีกกันเป็นกิโล เพราะเพื่อนเล่นเลาะกล่องหาสายสร้อยก่อนและเอาผงซักฟอกมาชั่งขาย) และดีกรีหนักขึ้นทุกทีจนปัจจุบันไปไกลถึงเสี่ยงโชคจับรางวัลทองคำ โทรศัพท์มือถือ กันเป็นรายวัน และรายชั่วโมง

ในโลกตะวันตกนั้นความบันเทิงมิได้ครอบคลุมเฉพาะการท่องเที่ยว สวนสนุก ชอปปิ้ง ร้องเพลง บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ เท่านั้น หากกินไปถึงเรื่องการเอาเงินจำนวนน้อยไปเล่นให้สนุก เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ซึ่งการสนุกนี้มีทั้งการพนันและสิ่งที่เรียกว่า “การเสี่ยงโชค”

อย่างไรก็ดี คนตะวันตกเข้าบ่อนเพื่อการหย่อนใจเพราะถือว่าเป็นการบันเทิง อย่างหนึ่ง แต่คนไทยและคนตะวันออกส่วนใหญ่เข้าบ่อนเพื่อหาความเครียดเนื่องจากถือว่าเป็นการไปวัดดวงชะตาเพื่อความร่ำรวย

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ? ลอตเตอรี่ และหวย เป็นการพนันหรือการเสี่ยงโชค?

‘การพนัน’ คือการเล่นที่มีการวางเดิมพันซึ่งกำหนดโดยผู้เล่น มีการแข่งขันต่อสู้ มีผู้ประกอบการ (เจ้ามือ) มีลักษณะของการต่อรองกันถึงผลได้และผลเสียของคนสองฝ่ายส่วน ‘การเสี่ยงโชค’ ไม่มีการแข่งขันต่อสู้ มีลักษณะของการเสี่ยงทาย ไม่มีการต่อรองแพ้ชนะ ได้เสีย ฯลฯ

หากสิ่งที่เล่นกันมีลักษณะตรงไปตรงมาเช่นนี้ เส้นแบ่งระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ก็ชัดเจน อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นไม่หวังแค่เสี่ยงโชค หากมุ่งมั่นทุ่มเทเงินทองเพื่อหวังได้เสีย สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็น ‘การเสี่ยงโชค’ ก็อาจกลายเป็น ‘การพนัน’ ไปได้

ตัวอย่างเรื่องลอตเตอรี่ หากซื้อเพื่อหวังรางวัล ในแต่ละงวดก็เป็นการเสี่ยงโชค แต่ถ้าซื้อหลายใบเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อหวังรวยเป็นร้อยล้านก็อาจแปรเปลี่ยนเป็น ‘การพนัน’ ไปได้ เพราะผู้เล่นหวังได้เสีย เสมือนกับมีการแข่งขันเกิดขึ้น

ยิ่งการเล่นหวยแล้วมีทางโน้มที่จะเป็นการพนันมาก เนื่องจากเงินที่แทงหวย (ไม่ว่าจะแทงบน-ล่าง วิ่ง หรือเดินหรือนอน) นั้นเกิดจากการกระทำของผู้เล่นที่หวังได้-เสีย โดยใช้เงินที่ซื้อหวยนั้นเป็นเดิมพันเพื่อจะได้อีกหลายต่อ ดังนั้นการเสี่ยงโชคอาจแปรเปลี่ยนเป็นการพนันได้ ถ้าผู้เล่นเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการมุ่งได้-เสียเป็นสำคัญ

การพนันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนรวยล้นฟ้ากลายเป็นยาจกได้ในคืนเดียว เป็นสิ่งที่ทำให้คนหมกมุ่นจนไม่สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ เสียทั้งเวลา โอกาส เงินทอง และความเป็นไปได้ในการสูญเสียทุกอย่างที่ได้สร้างมาในชีวิตในเวลาอันสั้น

เรื่องที่น่ากังวลของสังคมไทยนอกเหนือจากการพนันที่มีอยู่ในทุกหย่อมหญ้าแล้วก็คือการเสี่ยงโชคชนิด ‘รวยเปรี้ยงปร้าง รวยซ้ำ รวยซ้อน’ ด้วยการใช้เบอร์ในฝาเครื่องดื่มชิงโชคกันทุกวัน ทุกชั่วโมง ปรากฏการณ์นี้กำลังสร้างบรรยากาศที่บ่มเพาะให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยหมกมุ่นในการใช้เงินน้อยต่อยอดเพื่อให้ได้เงินมาก สร้างความฝันลมๆ แล้งๆ (ซื้อน้ำมากินจนพุงอืดก็แทบไม่มีสิทธิ์ลุ้น) และที่สำคัญก็คือการบ่มเพาะจิตใจของการเป็นนักพนัน ตลอดจนบ่อนเซาะความเชื่อศรัทธาซึ่งเป็นสากลในเรื่องที่ว่าความสำเร็จในชีวิตมาจากการบากบั่นทำงาน

‘การเสี่ยงโชค’ ชนิดที่มอมเมาผู้คนจะหล่อหลอมและบ่มเพาะให้ผู้คนรักการพนันในระยะเวลายาว สิ่งที่ดูไร้เดียงสาในปัจจุบัน หากไม่ควบคุมให้อยู่ในความเหมาะสมแล้วจะกลายเป็นยาพิษสำหรับประชาชนในเวลาต่อไปได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์อาหารสมอง น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2556