ThaiPublica > คอลัมน์ > District of Corruption…หรือความโปร่งใสจะยังไม่ปรากฏในทำเนียบขาว?

District of Corruption…หรือความโปร่งใสจะยังไม่ปรากฏในทำเนียบขาว?

3 มิถุนายน 2013


Hesse004

“We’re the Most Transparent and Ethical Administration in U.S. History.”
Barack Obama

เหตุผลที่ยกวาทะอันคมคายของนาย Barack Obama ขึ้นมาก็ด้วยเหตุที่ว่า Obama เคยเป็นสัญลักษณ์ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ชูสโลแกนหาเสียงว่า Change เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

Obama กลายเป็นความหวังของชาวอเมริกันที่เบื่อหน่ายกับรัฐบาล Republican ภายใต้การบริหารงานของ Bush ผู้ลูก ซึ่งบริหารประเทศยาวนานถึง 8 ปี

อย่างไรก็ดี ความหวังที่จะ Change ของชาวมะกันดูเหมือนจะกลายเป็นเพียง “ฝันลมๆ แล้งๆ” และกำลังจางหายไปพร้อมกับคำพูดเท่ๆ แม้ว่า Obama จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ในคำรบที่สองก็ตาม

โดยทั่วไปเรามักคิดว่าประเทศที่ศิวิไลซ์แล้วจะเผชิญปัญหาคอร์รัปชันน้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่ารูปแบบคอร์รัปชันของประเทศที่พัฒนาแล้วมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการให้สินบนธรรมดาจนทำให้คอร์รัปชันมีลักษณะที่ “ถูกกฎหมาย” มากกว่า “ถูกศีลธรรม”

ในบางสังคมที่พัฒนาแล้วหรือมีระบบทุนนิยมที่เข้มแข็งนั้น การคอร์รัปชันได้ซ่อนเงื่อนไขของการใช้อำนาจรัฐเพื่อตอบสนองหรือเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองที่อยู่ในรูปของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ หรือล็อบบี้ยิสต์

การคอร์รัปชันในรูปแบบดังกล่าวจึงมีลักษณะที่เรียกว่า Cronyism หรือ พวกพ้องนิยม

หากจะว่าไป การคอร์รัปชันมีอยู่หลายรูปแบบ แบบที่เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถเรียกรับสินบนกับประชาชนก็เป็นรูปแบบหนึ่ง (Petty Corruption) แบบที่นักการเมืองทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติหารับประทานกับโครงการต่างๆ ของรัฐหรือออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์กับพวกพ้องตัวเองก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง (Grand Corruption หรือ Political Corruption) แบบที่อำนาจตุลาการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง (Judicial Corruption)

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล Obama รวมไปถึงการบริหารงานในรอบที่สอง ตัว Obama เอง กำลังถูกตั้งคำถามถึงประโยคที่เคยกล่าวไว้ในสมัยตอนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในท่วงทำนองที่ว่า

“การบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัฐบาลกระผมจะต้องเป็นยุคที่โปร่งใสและมีคุณธรรมมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา”

แน่นอนที่สุดว่า คำกล่าวแบบ “ได้ใจ” ชาวบ้านเช่นนี้สร้างความ “เชื่อมั่น” และ “อุ่นใจ” ว่า ถึงอย่างไรเสีย ชาวอเมริกันได้ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่เลือกผู้นำมือสะอาดปราศจากราคีและเต็มไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Obama ยังรอดไม่พ้น “สันดอน” ของเรื่องอื้อฉาวหรือ Scandals เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปีที่แล้ว มีภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งออกฉายทั่วอเมริกาเพื่อตั้งคำถามและ “เปิดโปง” เบื้องหลังเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ภายใต้การทำงานของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน

ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) เรื่องที่ว่านี้มีชื่อว่า District of Corruption

โปสเตอร์หนัง District of Corruption ภาพยนตร์สารดีทางการเมืองที่ตีแผ่ความไม่ชอบมาพากล ของการบริหารประเทศภายใต้การนำของ Barack Obama ที่มาภาพ :http://judicialwatch.org
โปสเตอร์หนัง District of Corruption ภาพยนตร์สารดีทางการเมืองที่ตีแผ่ความไม่ชอบมาพากล
ของการบริหารประเทศภายใต้การนำของ Barack Obama
ที่มาภาพ :http://judicialwatch.org

District of Corruption ไม่ใช่ภาพยนตร์การเมือง แต่เป็น “ภาพยนตร์สารคดีทางการเมือง” ที่ว่าด้วยเรื่องราวความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 3 คน ได้แก่ นาย Bill Clinton นาย George W. Bush และ นาย Barack Obama นายใหญ่แห่งทำเนียบขาวคนปัจจุบัน

ทั้ง 3 คนนี้ครองตำแหน่งคนละสองสมัยหรือคนละ 8 ปี ซึ่งว่ากันว่ายิ่งอยู่นานอะไรที่ไม่ดีมักจะ “โผล่” ออกมาให้เห็นเสมอ

District of Corruption เป็นผลงานการกำกับของ Stephen K. Bannon ผู้กำกับมากฝีมือที่ถนัดทำหนังสารคดีการเมืองอเมริกา โดยเคยฝากผลงานมาแล้ว เช่น In the Face of Evil: Reagan’s War in Word and Deed (2004) ซึ่งตั้งคำถามถึงการก่อสงครามโดยไม่จำเป็นและแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ ในยุคของรัฐบาลนาย Ronald Reagan

การสร้างหนังสารคดีทางการเมืองโดยเฉพาะมีประเด็นที่ “อ่อนไหว” ต่อการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทนั้น ทำให้ District of Corruption ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากกลุ่ม Judicial Watch ที่ว่ากันว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคมแบบ Watch Dog รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เพราะ Judicial Watch ดำเนินงานภายใต้สโลแกนที่ว่า Because No one is above the law!

ด้วยเหตุนี้ การทำงานต่อต้านพฤติกรรมคอร์รัปชันขององค์กรแห่งนี้จึง “เล่นไม่เลือก” ทั้งรัฐบาลที่มาจาก Democrat และ Republican ซึ่งองค์กรแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 โดยมีนาย Larry Klayman อดีตอัยการและนักเคลื่อนไหวเป็นผู้ก่อตั้ง

สำหรับบทหนังเรื่องนี้ ได้รับอิทธิพลจากหนังสือระดับ Best Seller ของ New York Times เรื่อง The Corruption Chronicles, Obama’s Big secrecy, Big corrupt, and Big government ซึ่งเป็นผลงานของนาย Tom Fitton ประธาน Judicial Watch คนปัจจุบัน

Fitton ได้เปิดโปงเรื่องราวอื้อฉาวความไม่ชอบมาพากลและเบื้องหลังการทำงานของรัฐบาล Obama เช่น นโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ซึ่ง Obama ต้องการให้เป็น “สัญลักษณ์ของรัฐบาล” โดยรัฐให้การสนับสนุนเงินลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและให้บริษัทผู้ผลิตโซล่าเซลล์ชื่อ Solyndra กู้ยืมเงินกว่า 500 ล้านเหรียญ ซึ่งในเวลาต่อมา Solyndra กลับยื่นเรื่องขอล้มละลาย แต่รัฐบาลยังคงดึงดันเอาเงินภาษีไปอุ้มเพื่อฟื้นฟูบริษัทแห่งนี้ต่ออีก

เรื่องเช่นนี้ นอกจากจะถูกตั้งคำถามถึงความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าในการใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว รัฐบาล Obama ยังถูกตั้งข้อสงสัยด้วยว่ามีส่วน “เอี่ยว” หรือมี “นอกใน” กับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

ท้ายที่สุด ถ้าเราย้อนรอยดูประวัติศาสตร์เรื่องอื้อฉาวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไล่เรียงมาตั้งแต่คดี Watergate ของ Richard Nixon เรื่องฉาวกรณี Iran Contra สมัยรัฐบาล Reagan กรณีคดี Whitewater ของ Clinton หรือเรื่องข่าวการติดสินบนของล็อบบี้ยิสต์ชื่อดังอย่าง Jack Abramoff ในสมัย Bush ผู้ลูก ไล่เรื่อยมาจนถึงการเปิดโปงเบื้องหลังการทำงานของผู้ชาย “ภาพดี” อย่าง Obama แล้ว

…ดูเหมือนว่าคงจะยากเต็มทีที่เราจะพยายามหาความโปร่งใสได้ภายในทำเนียบขาว