Hesse004
ปี 2018 นับเป็นจุดเริ่มต้น “ปีทอง” ของฟุตบอลเวียดนามอย่างแท้จริง
เริ่มจากฟุตบอลเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดที่นครกวางโจว ประเทศจีน เวียดนามคว้าตำแหน่งอันดับ 4 ไปครองได้ นับเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของนักเตะสกุลเหงียนในเวทีเอเชีย
…ล่าสุดเวียดนามคว้าแชมป์รายการ AFF Suzuki 2018 ได้อย่างสมราคา หลังจากการแข่งขันเลกแรก ทีมนักเตะเจ้าของฉายา Golden Dragon “มังกรทอง” ตุนความได้เปรียบด้วยการเสมอกับมาเลเซียแบบมีสกอร์ 2:2 ที่สนามบูกิตจาริล ในถิ่นของเสือเหลือง มาเลเซีย
และเมื่อค่ำคืนวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พวกเขากลับมาจบแมตช์ชิงชนะเลิศแบบ “ดรีมทัวร์นาเมนต์” ด้วยการบดเอาชนะมาเลเซียไปด้วยสกอร์ 1:0 ที่สนามหมีดิ่ญ (Mỹ Đình) ในกรุงฮานอย คว้าแชมป์ต่อหน้าแฟนฟุตบอลเรือนล้านที่รอประกาศศักดาความเป็น “เจ้าฟุตบอลภูมิภาคอาเซียน” หลังจากที่พวกเขาเคยครองแชมป์รายการนี้เมื่อปี 2008
แล้วปัจจัยใดเล่าที่ทำให้เวียดนาม “กลับมา” คราวนี้ได้อย่างน่าเกรงขาม
…บทความเรื่อง The Rise of Vietnamese Football: How the country’s soccer talents are succeeding on the world stage ของ Duncan Forgan เขียนบทวิเคราะห์ฟุตบอลเวียดนามยุคนี้ได้น่าสนใจ
Forgan ชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยสามประการที่ทำให้ทีมฟุตบอลเวียดนามชุดนี้มีดีพอที่จะไปต่อได้ถึงขนาดผ่านเข้าไปเล่นบอลโลกรอบสุดท้าย ได้แก่
ปัจจัยประการแรก ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ฟุตบอลเวียดนามล้มเหลวไม่เป็นท่า กลายเป็น “หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม” ความคาดหวังของแฟนบอลมีสูง แต่นักบอลและโค้ชทำไม่ได้
ฟุตบอลเวียดนามมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน นักเตะล้มบอล มีการล็อกผลการแข่งขัน กรรมการขี้โกง รับสินบน จนสุดท้ายมีการสอบสวน สะสางเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง และเอาตัวผู้บริหารสมาคมฟุตบอลรวมถึงนักเตะติดคุก
พูดง่ายๆ คือ ฟุตบอลเวียดนามต้องเริ่มสร้างทุกอย่างกันใหม่จาก “ติดลบ”
สมาคมฟุตบอลเวียดนามยุคใหม่ตั้งความหวังกับทีมเยาวชนไว้สูงมาก ทุกอย่างมุ่งพัฒนาที่เยาวชน โดยดึง “มืออาชีพ” จากสโมสร Arsenal และ JMG Academy พร้อมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากฮองอันยาลาย (Hoang Anh Gia Lai) สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของวีลีก
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยแรก คือ การเปลี่ยนจาก “ข้างบน” ก่อน เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีการทำงานแล้วจึงเริ่มเปลี่ยนโค้ช
ปัจจัยประการต่อมา คือ การดึงโค้ชชาวเกาหลีใต้ ” ปาร์ค ฮัง ซอ” (Hang Seo Park) มาทำทีมชาติ U23 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ปาร์คเข้ามารับงานคุมทีมชาติเวียดนามเมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 โดยเข้ามาแทนที่ เหลียน ฮู ธัง กุนซือคนก่อนที่ลาออกไปด้วยเหตุผลทำทีมชาติเวียดนามตกรอบแรกซีเกมส์ที่มาเลเซีย
ปาร์คเคยเป็นอดีตผู้ช่วยกุ๊ด ฮิ้ดดิ้ง ยอดโค้ชชาวดัตช์ที่พาเกาหลีใต้จบอันดับสี่ฟุตบอลโลกปี 2002 แน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่า “โค้ชเกาหลีใต้” แล้ว พละกำลัง ความแข็งแกร่ง สปีดบอลที่เร็วและเน้นกดดันคู่แข่ง คือลายเซ็นของฟุตบอลกิมจิ
…สิ่งที่ปาร์คใส่ให้นักเตะหนุ่มสกุลเหงียน คือ ความเชื่อมั่น ทัศนคติทางบวก ความเป็นมืออาชีพ นักฟุตบอลมีหน้าที่ “เล่นฟุตบอล” ไม่ใช่มาเดินแบบ ไม่มีแอ็ค ไม่จำเป็นต้องเท่ห์ ไม่จำเป็นต้องโชว์รอยสัก แต่ต้องโชว์ความมุ่งมั่นในสนาม
…ผลคือ นักเตะเหล่านี้สร้างผลงานให้เห็นแล้วว่าพวกเขาล้มทีมอย่างญี่ปุ่นได้ในเวทีเอเชียนเกมส์ รวมทั้งต่อกรกับทีมชั้นนำของเอเชียได้อย่างไม่เกรงกลัว
ปัจจัยประการสุดท้าย คือ ความกระหายของนักเตะเวียดนาม… นักเตะสกุลเหงียนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาฝีเท้าและความแข็งแกร่งตลอดเวลา พวกเขารู้ดีว่า การ “ผ่านไทย” เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขามีความฝันจะไปต่อในระดับเอเชียและเวทีโลก
…อนาคตเวียดนามจะกลายเป็นเกาหลีใต้สาขา 2 ที่ทีมชั้นนำระดับเอเชียจะไม่สามารถ “เคี้ยว” ได้ง่ายๆ เหมือนเดิม แต่จะเจอบอลสไตล์ที่เกมรุก “ดุดัน” และเกมรับเหนียวแน่น
สิ่งที่น่าชื่นชมอีกเรื่อง คือ ความเป็นมืออาชีพของเด็กเหล่านี้ พวกเขาไม่มานั่งโพสต์อินสตาแกรมก่อนนอนดูถูกคู่แข่งว่าให้รีบนอนหลับฝันดี เพราะพรุ่งนี้เมื่อเจอทีมเราแล้วจะ “ฝันร้าย” หรือตอบโต้คอมเมนต์แฟนบอลว่าถ้าเก่งจริงมึงมาเตะบอลกับกู
นักเตะเหล่านี้มีความเป็น “มืออาชีพ” มากพอที่จะแยกแยะว่า ฟุตบอล คือ ความหวังของคนทั้งชาติ ฟุตบอล คือ อาชีพที่มีเกียรติและเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ดังนั้น แฟนบอลทั้งแฟนบอลตัวเองและแฟนบอลคู่แข่งต่างก็มีความคาดหวังในเกมไม่แพ้กัน
การสร้างทีมฟุตบอลเวียดนามชุดนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งในวงการกีฬา พวกเขาสร้างทีมขึ้นมาจาก “วิกฤติ” เรียนรู้บทเรียนเก่าๆ ที่เคยล้มเหลวมาก่อน
ผิดกับคนบางกลุ่ม ที่ไม่เคยเรียนรู้อะไรเลยจากความพ่ายแพ้ หรือความล้มเหลวซ้ำซาก หนำซ้ำยังโทษโน่นโทษนี่ไปเรื่อย แถมยังคงอ้างความฝันแบบลมๆ แล้งๆ ขายฝันไปวันๆ ว่าเราจะไปให้ไกลถึงฟุตบอลโลก