ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ไอโอดี” เตรียมยกระดับ “ธรรมาภิบาล” บริษัทไทยใช้เกณฑ์ “ASEAN CG Scorecard ” จากรูปแบบไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

“ไอโอดี” เตรียมยกระดับ “ธรรมาภิบาล” บริษัทไทยใช้เกณฑ์ “ASEAN CG Scorecard ” จากรูปแบบไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

9 กรกฎาคม 2012


ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี (Thai Institute of Directors : IOD) ซึ่งทำหน้าที่ประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมจัดงาน “National Director Conference” เป็นครั้งแรก ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 โดยเชิญกูรูระดับโลก และระดับภูมิภาคร่วมถกเกี่ยวกับทิศทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมกรรมการบริษัทในประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC ( ASEAN Economic Community) ปี 2558 ดังนั้นวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ อาจถือได้ว่า เป็นวันสำคัญของกรรมการบริษัทไทย หรือ “ national day “ ของกรรมการ

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าวว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือยกระดับธรรมาภิบาลของประเทศไทย และสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่บริษัทเอกชนไทยต้องมีธรรมาภิบาลที่สูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่น ภายใต้บริบทที่จะมีการเปิดเสรีในตลาดอาเซียน ตามระเบียบของ AEC ในงานจะมีการเปิดตัว โครงการ “การประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในระดับภูมิภาค หรือ ASEAN CG Scorecard ซึ่งจะเป็นตัวแบบที่ใช้กันได้ทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน

ปัจจุบันในแต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ประจำแต่ละประเทศที่ใช้กัน เช่น กรณีประเทศไทยมีเกณฑ์ที่ IOD พัฒนาขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีสถาบันการที่เกี่ยวข้องพัฒนาขึ้นมา แต่โครงการ ASEAN CG Scorecard ซึ่งเริ่มจากประเทศอาเซียน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยนำผู้รู้ด้านธรรมาภิบาลมาศึกษาร่วมกัน และมีการแต่งตั้งผู้เชียวชาญจากสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มาดูเกณฑ์แต่ละประเทศที่มีอยู่แล้วนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับอาเซียนในอนาคต เพื่อเป็นตัวแบบหรือเกณฑ์กลางที่เหมาะทั้ง 10 ประเทศ

ดร.บัณฑิตกล่าวว่า หลักเกณฑ์ของ ASEAN CG Scorecard จะเน้นหลักการปฏิบัติจริงมากกว่ารูปแบบการปฏิบัติการหรือระบบการทำงานที่ควรจะมี ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่จะเน้นเรื่องระบบการทำงานที่ควรจะมี เช่น มีคณะกรรมการ มีการแยกคณะกรรมการกับผู้บริหาร คณะกรรมการควรจะดูเรื่องนโยบาย มีเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการที่ควรจะมี และเรื่องกรรมการมีอิสระ

นั่นคือรูปแบบที่พึ่งปฏิบัติ หรือระบบการทำงานที่ควรจะมีในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไทยก็เน้นรูปแบบนี้ในการประเมินธรรมาภิบาลของบริษัท แต่ขณะนี้สิ่งเหล่านี้บริษัทส่วนใหญ่ได้ทำไปแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นต่อไปคือ การปฏิบัติจริงตามกระบวนการที่มีอยู่

เพราะฉะนั้นเวลาทำคำถามในการประเมิน สมัยก่อนจะถามว่า คูณมีระบบวางไว้หรือไม่ ก็จะถามว่า มีหรือไม่มี แต่คราวนี้จะถามมากขึ้นว่าเมื่อมีแล้วปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้มากน้อยขนาดไหน และถ้าปฏิบัติได้ ด้วยเหตุผลอะไร และถ้าปฏิบัติไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไร หรือแผนรองรับกรณีฉุกเฉินของบริษัท สมัยก่อนก็ถามว่า มีแผนหรือไม่ แต่ต่อไปจะถามในเชิงลึกว่า มีแผนอย่างไร ทำอะไรไปบ้าง เช่น มีการพูดต่อให้พนักงานฟังไหม แล้วสื่อให้พนักงานฟังทำอย่าไร ปิดประกาศไว้เฉยๆหรือ หรือทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึกว่าต้องออกมาพูดมากขึ้นว่าทำจริงจังมากน้อยแค่ไหน

“ลักษณะของคำถามยังคงยึดหลักที่เคยประเมินอยู่แล้ว แต่คำถามจะลึกลงไปอีกว่าบริษัทนั้นมีได้มีการตื่นตัวเรื่องเหล่านี้อย่างไร นี่จะเป็นจุดแตกต่างที่นอกจากเน้นรูปแบบที่มีอยู่แล้วจะเน้นการลงมือปฏิบัติจริง” ดร.บัณฑิตกล่าว

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD

กรรมการผู้อำนวยการ IOD คาดการณ์ว่า การจัดทำตัวแบบ ASEAN CG Scorecard จะเสร็จเรียบร้อยได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า หลังจากนั้นก็จะนำเกณฑ์กลางนี้ไปใช้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตัวแบบนี้จะเป็นต้นแบบแรกเป็นมาตรฐานระหว่างพื้นที่อาเซียนด้วยกัน ถ้าเราใช้เกณฑ์มาตรฐานนี้ในการประเมินก็จะวัดความแตกต่างในประเทศอาเซียนได้ ซึ่งเป็นไปได้ในอนาคต ตัวแบบนี้จะกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานในอนาคตที่บริษัทต่างประเทศจะใช้ในการวัดและเปรียบเทียบการปฏิบัติตามหลักต่างๆ ของธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัทในอาเซียน เพื่อจะแยกแยะและประกอบการตัดสินใจที่จะร่วมธุรกิจ

ถ้ามองต่อไปใน 2-3 ปีข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐก็คงชะลอตัวลง ทำให้โอกาสทางธุรกิจจะมาอยู่ที่เอเชียมากขึ้น เพราะฉะนั้นบริษัทในยุโรปและสหรัฐคงอยากมาแสวงหาบริษัทร่วมลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในเชิงธุรกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะสูงขึ้น เนื่องจาก AEC เปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุน หรือเข้าไปร่วมทุนประเทศไหนก็ได้ในอาเซียนเพื่อจะได้สิทธิประโยชน์

แต่ในโลกปัจจุบันประเด็นสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องต้นทุน เพราะการเปิดเสรีของตลาดทำให้สินค้า บริการ แรงงาน เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้ รวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตก็สามารถซื้อได้ทั่วโลกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความแตกต่างด้านต้นทุนจะมีไม่มาก แต่ปัจจัยที่จะแยกแยะความแตกต่างของธุรกิจจะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการบริหารจัดการว่าใครจะเก่งกว่ากัน ซึ่งเรื่องความเก่งเป็นเรื่องของระยะสั้น แต่ระยะยาวเขาต้องการความยั่งยืน และการที่ธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องมาจากการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี เนื่องจากจะช่วยลดวามเสี่ยงและมองประโยชน์ระยะยาว

“ธุรกิจหรือบริษัทใดมีหลักการบริหารที่มีธรรมาภิบาลที่ดี จะเป็นที่หมายตาของต่างประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี หรือ good governance จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับในอาเซียนที่จะดึงธุรกิจต่างๆ มาเป็นพันธมิตรด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ธุรกิจไทยถ้าจะเสริมความสามารถแข่งขันของตัวเองก็ควรที่จะต้องยกระดับเรื่องของธรรมภาบิบาล นี่คือโจทย์ทั่วโลก ซึ่ง IOD พยายามทำในเรื่องนี้ เมื่อต้นแบบ ASEAN CG Scorecard เสร็จแล้วก็จะนำมาใช้ในการประเมินเชิงลึกกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ควบคู่ไปกับเกณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ ”ดร.บัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการเริ่มปฏิบัติเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลที่ดีมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยใช้กรอบหลักเกณฑ์การวัดของ IOD ที่พัฒนาขึ้นมา โดยมีพื้นมาจากหลักปฏิบัติที่ควรปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาOECD ที่เป็นตัวแบบ

ดร.บัณฑิตระบุว่า การปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในอดีตที่เริ่มในปี 2544 เรียกว่า การประเมินธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ขณะนั้นคะแนนตอนนั้นออกมาอยู่ที่ 50 จากเต็ม 100 คะแนน และปีที่แล้ว 2554 คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 77 เต็ม 100 คะแนน

โดยหลักที่ใช้ในการประเมินมี 5 หมวด 1. สิทธิของผู้ถือหุ้น 2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3. บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท 4. การเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส และ5. การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท

ดร.บัณฑิตกล่าวว่า ทั้ง 5 หมวดที่ IOD ใช้ประเมินธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ในแต่ละหมวดจะมีกระบวนการและวิธีการที่คาดหวังว่าวิธีการเหล่านี้ ถ้าบริษัททำจะเป็นวิธีการที่ดี ซึ่งปี 2544 คะแนนที่ออกมาคือ 50 คะแนน และล่าสุดในปี 2554 ได้ 77 คะแนน

“ถ้าดูตัวเลขเหล่านี้ก็พูดได้ว่าธรรมาภิบาลในบริษัทจดทะเบียนไทยได้พัฒนาดีขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีพื้นที่ หรือมีช่องว่างที่จะพัฒนาต่อไปได้อีก”กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าว

ทั้งนี้ใน 5 หมวดนั้น หมวดที่ท้าทายมากสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย ถ้าดูจากหมวดที่มีคะแนนต่ำสุด และมีความแตกกันมากระหว่างบริษัทหนึ่งกับอีกบริษัทหนึ่ง คือ หมวดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยหมวดนี้เฉลี่ยได้ 61 คะแนนจากภาพรวม 77 คะแนน ถือว่าเป็นหมวดที่ได้คะแนนต่ำสุด และเป็นหมวดที่มีความแตกต่างมากที่สุด คือคะแนนของแต่ละบริษัทมีตั้งแต่คะแนนเป็นตัวเลขเดียวไปจนถึงคะแนนเกือบเต็ม100

ทั้งนี้ ความหมายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะครอบคลุมถึง ลูกค้า ผู้บริหาร เจ้าหนี้ พนักงานของบริษัท และสังคมเพราะฉะนั้น การที่บริษัทได้คะแนนไม่ดีหมายความว่า รูปแบบของบริษัทในการปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากเท่าที่ควร เช่น ไปลงทุน เกิดน้ำเสีย ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจกระทบในแง่การทำงาน

อันดับสองที่ได้คะแนะไม่ดี คือการทำหน้าที่กรรมการ ดร.บัณฑิตระบุว่า เป็นอีกหมวดหนึ่งที่สามารถปรับปรุงได้ เพราะบริษัทยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

สำหรับหมวดที่เป็นจุดแข็งได้คะแนนสูงสุด คือ เรื่องของสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยบริษัทจดทะเบียนฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิทธิผู้ถือหุ้น แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็เห็นความแตกต่างชัดเจน หมวดนี้คือพยายามไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสียเปรียบในการจัดการของบริษัท อีกหมวดที่บริษัทจดเบียนฯ ทำได้ดี คือ การเปิดเผยข้อมูลดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในรายงานประจำปีจะมีการระบุสิ่งที่ควรเปิดเผยไว้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในหมวดที่เป็นจุดอ่อน ดร.บัณฑิตกล่าวว่า ต้องทำให้เข้มแข็งแล้ว และยังต้องดูความท้าทายในแง่ของการเดินออกจากวิธีการหรือรูปแบบที่ควรจะมีไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย

เพราะฉะนั้นโจทย์ของไทยไม่ใช่แค่ดีขึ้นจากตัววัดปัจจุบัน แต่ต้องดีขึ้นจากตัววัดความท้าทายในอนาคต เช่น ในเรื่องของ ASEAN CG Scorecard ที่จะมีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้นจะเน้นทั้งในเรื่องของการมีกระบวนการทำงานที่ควรจะมี และการปฏิบัติจริงตามกระบวนการที่ควรจะมี อันนี้จะเป็นความท้าทายของบริษัทจดเบียนฯ

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD

“หลักในการประเมิน ASEAN CG Scorecard คงไม่หนีหลักเดิมที่มีอยู่ใน 5 หมวดดังกล่าวข้างต้น แต่น้ำหนักจะขยายให้ลึกขึ้น คือ เน้นการปฏิบัติตามอย่างจริงจังจากปัจจุบันเน้นรูปแบบของกระบวนการที่ควรจะมี ซึ่ง IOD คงต้องทำพร้อมกันทั้ง 2 อันคือ การประเมินหลักธรรมาภิบาลที่ทำอยู่ในปัจจุบัน กับตามเกณฑ์ต้นแบบ ASEAN CG Scorecard” ดร.บัณฑิตกล่าว

ดร.บัณฑิตกล่าวย้ำว่าหลักในการปฏิบัติธรรมาภิบาลที่ดีนี้จะไม่ใช้การบังคับให้ทำ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งประเด็นนี้มีถกกันมากว่าทำไมไม่บังคับออกเป็นกฎสั่งให้ทำ ซึ่งสามารถทำได้ และการบังคับเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ เป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่จะเป็นการสร้างภาระทำให้บริษัทที่ควรจะปรับตัวก็ถูกบังคับให้ปรับตัว และคนที่ทำดีอยู่แล้วก็ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่แล้ว ที่สำคัญการบังคับผลจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น แต่ที่สิ่งทีสำคัญคือการเปลี่ยนแนวความคิด และเตรียมความพร้อม ซึ่งกลไกการแข่งขันจะสามารถช่วยได้ เพราะเป็นการคาดหวังของนักลงทุน ผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ ดร.บัณฑิตกล่าวว่า IOD ยังมีเป้าหมายจะขยายความคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารจัดการไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะการมีธรรมาภิบาลที่ดีไม่ใช่โจทย์เฉพาะของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ต้องเป็นโจทย์ที่จะต้องใช้ได้มากขึ้นกับบริษัททุกประเภท รวมถึงองค์กร มูลนิธิ ที่ทำหน้าที่สาธารณะด้วย เช่นสมาคมต่างๆ ที่ดูแลเงินของสาธารณะ เนื่องจากถ้ามีหลักปฏิบัติที่ดีอยู่ ก็ควรยึดนำมาปฏิบัติจะทำให้การจัดการของสาธารณะมีระเบียบปฏิบัติที่ดี มีความโปร่งใส

กรรมการผู้อำนวยการ IOD ระบุว่า ธรรมาภิบาลมีทั้งเรื่องของภาครัฐและภาคเอกชน โดยของภาคเอกชนทำดีขึ้น แต่ของภาครัฐตัวเลขตกต่ำต่อเนื่อง โดยจากการวัดขีดความสามารถแข่งขันของ World Economic Forum ล่าสุดปี 2554 จะเห็นการจัดอันดับของประเทศไทย ในส่วนของการทำงานบริหารรัฐกิจพบว่าตัวเลขค่อนข้างลดลง

อาทิ ด้านประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐลดลง 20 อันดับ จากปี 2550 เคยอยู่อันดับที่ 54 แต่ปี 2554 อยู่ที่อันดับ 74 ส่วนเรื่องความโปร่งใสในการทำนโยบายของภาครัฐจากปี 2550 อยู่ที่อันดับ 39 ตกที่มาอยู่ที่อันดับ 75 ในปี 2554 และความน่าเชื่อถือต่อนักการเมืองจากที่เคยอยู่อันดับที่ 60 ในปี 2550 ตกมาอยู่ที่อันอับ 91 ในปี 2554

“พูดง่ายๆ คือประเด็นนี้ควรปรับปรุงด้วย อันดับพวกนี้สะท้อนให้เห็นชัดถึงปัญหาคอรัปชั่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน นี่เราพูดถึงปี 2550-2554 ครอบคลุมหลายรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าเป็นผลลัพธ์จากการทำงานของรัฐต่อเนื่องมา ในแง่นี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐก็ต้องพยายามปรับปรุงธรรมาภิบาลด้วย เพราะภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้น ถ้าเรามีความบกพร่องไม่ดีพอในประเด็นเหล่านี้ก็จะเป็นข้อจำกัดของการทำนโยบาย ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”ดร.บัณฑิตกล่าว