ThaiPublica > เกาะกระแส > เบื้องลึกศึกชิงเก้าอี้คณบดีบัญชี มธ. วุ่น สมาคมศิษย์เก่าจี้สภาฯ แจงกระบวนการสรรหา

เบื้องลึกศึกชิงเก้าอี้คณบดีบัญชี มธ. วุ่น สมาคมศิษย์เก่าจี้สภาฯ แจงกระบวนการสรรหา

25 เมษายน 2013


หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ว่า “ประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฉีกผลการลงคะแนนเสียง หรือ โหวตสนับสนุนให้ส่งชื่อ ศ.ดร.พรชัย ชุนหจินดา ผู้สมัครเพียงรายเดียวให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิจารณาในวันที่ 29 เมษายน 2556” จนถึงบัดนี้ กระบวนการสรรหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ที่ล่าช้ากว่า 2 เดือน ก็ยังไม่ยุติ

บรรยากาศการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วันที่ 23 เม.ย.2556 เวลา 18.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วันที่ 23 เม.ย. 2556 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 เมษายน 2556 มีการประชุมสามัญประจำปี 2556 สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สพมธ.) ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย นายกสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ในฐานะตัวแทนสมาคมฯ ที่นั่งเป็นคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะพาณิชฯ มธ. ได้ชี้แจงและเล่าข้อเท็จจริงถึงการประชุมเพื่อการสรรหาคณบดีคณะพาณิชฯ มธ. ที่มีนายอภัย จันทนจุลกะ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ต่อที่ประชุมสพมธ.

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย นายกสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. (ขวามือ)
น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย นายกสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. (ขวามือ)

นางสาวโสภาวดีกล่าวว่า ตนเป็นคนนอกเพียงคนเดียวที่นั่งเป็นคณะกรรมการสรรหา ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ส่วนกรรมการที่เหลือจะเป็นตัวแทนคณาจารย์และนักศึกษา ช่วงแรกๆ ตนรู้สึกว่าการสรรหาครั้งนี้ไม่มีอะไรยาก เพราะมีผู้สมัครผ่านเข้ารอบมาแค่ 2 คน คือ ศ.ดร.พรชัย ชุนหจินดา กับ ศ.ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงทั้งจากที่ประชุมประชาคม และที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ค่อนข้างชัดเจน โดย ศ.ดร.พรชัยได้รับคะแนนคะแนนเสียงสูงสุดทุกเวที อาทิ ผลการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ โหวตให้เสนอชื่อ ศ.ดร.พรชัยเพียงรายเดียวส่งให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณา 7 เสียง ส่วนอีก 2 เสียง เสนอให้ส่งชื่อ ศ.ดร.ศิริลักษณ์เข้าไปรวมอยู่ด้วย

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข.
น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข.

“จะเห็นได้ว่า คะแนนเสียงจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ค่อนข้างชัดเจน แต่ไม่ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยใช้ระเบียบอะไรผลถึงออกมาให้เสนอชื่อผู้สมัคร 2 ราย หากมีผู้สมัครที่เป็นแคนดิเดตเข้ารอบมา 5-6 ราย กรณีนี้อาจจะเสนอชื่อให้สภาฯ 2 รายได้ แต่นี่ผ่านเข้ารอบมาแค่ 2 ราย กลับให้เสนอชื่อ 2 ราย ถ้าทำอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีกรรมการสรรหาฯ ในฐานะคนนอก จึงมีความรู้สึกว่ามีอะไรที่ผิดปกติ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ล็อค” นางสาวโสภาวดีกล่าว

นางสาวโสภาวดีกล่าวต่อว่า ขณะนี้คณะกรรมการสรรหายังไม่สามารถสรุปผลการสรรหาคณบดีฯ ได้ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงมาสั่งการเอง ขอให้มีการแก้ไขข้อความในบันทึกหลายๆ ข้อความซึ่งเป็นข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง ทำให้กระบวนการเสนอชื่อผู้ผ่านการสรรหาเกิดความล่าช้า เพราะมีการแทรกแซง

“เท่าที่ทราบและเชื่อได้ว่ามีกรรมการสรรหาที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกเรียกไปพบ และมีการเจรจาให้มีการแก้ไขข้อความที่ต้องนำเสนอสภาฯ จึงน่าเสียใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าที่ได้เห็นเหตุการณ์แบบนี้ ในระยะหลังๆ มักจะได้ยินข่าวในแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะมีการสรรหาคณบดีหรืออธิการบดี ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ แต่ไม่คิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ดิฉันทำงานภาคเอกชนมา การตัดสินใจเสนอชื่อใครเป็นคณบดีเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะคะแนนไม่ได้สูสี หากเราปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในคณะของเรา เรื่องแบบนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นไปทั่วสถาบันการศึกษาแห่งนี้” นางสาวโสภาวดีกล่าว

นางสาวโสภาวดีกล่าวต่อว่า คณะกรรมการสรรหาฯ มี 10 คน ประธานฯ งดออกเสียง ขณะนี้คณะกรรมการลงนามรับรองสรุปผลการสรรหาฯ ไปแล้ว 8 คน เหลือตนซึ่งเป็นคนนอกยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งก็คงไม่มีผลอะไร เรื่องนี้คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าในวันที่ 29 เมษายน 2556 ผลโหวตของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะออกมาเป็นอย่างไร

“ที่ผ่านมาผลโหวตมักจะพลิกเสมอ อย่างเช่น การรับฟังเสียง ดร.พรชัยได้คะแนนเสียงจากที่ประชุมประชาคมมากที่สุด และคณะกรรมการสรรหาฯ ก็โหวตให้ ดร.พรชัยชนะอีก แต่ท้ายที่สุดก็ต้องฟังเสียงโหวตจากสภามหาวิทยาลัยฯ ซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่แน่ใจว่าสภาฯ จะฟังเสียงคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ หากสภาฯ ไม่ฟังเสียงที่ประชุมประชาคม ไม่ฟังเสียงคณะกรรมการสรรหา ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรจะล้มเลิกกระบวนการสรรหาแบบนี้ไปเลย ไม่ต้องมานั่งคัดเลือกให้เสียเวลา เปรียบเสมือนว่าเป็นการสร้างภาพให้มีกระบวนการสรรหาเกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดไม่ได้ฟังเสียงกรรมการสรรหาหรือประชาคมเลย” นางสาวโสภาวดีกล่าว

รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.
รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.

ขณะที่ รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ซึ่งเข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นต่อจากนางสาวโสภาวดีว่า หากดูจากข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2556 มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ประธานสรรหาไม่ได้ขานผลโหวต และยังฉีกหลักฐานการโหวต ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงมากในกรรมการสรรหา 2. ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.กล่าวว่า มติของประชาคมไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับมติของสภามหาวิทยาลัย การแต่งตั้งคณบดีฯ ที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในสายอาจารย์จะทำให้การทำงานในอนาคตมีปัญหา ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของคณะพาณิชฯ มธ. จึงมีมติให้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. ขอรับฟังนโยบายของผู้สมัคร และเปิดให้ที่ประชุมประชาคมลงคะแนนเสียง 2. ถ้าเป็นไปได้ขอให้ส่งชื่อผู้สมัครเพียง 1 คน ซึ่งโดยมารยาทผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ควรถอนตัวเหมือนกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของคณะทำหนังสือถึงคณะกรรมการสรรหาฯ เสนอให้จัดการประชุมประชาคมเพื่อรับฟังนโยบายของผู้สมัคร มีผู้ที่เข้ารอบมา 3 คน คือ ศ.ดร.พรชัย ชุนหจินดา, ศ.ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย และ รศ.ดร.พิภพ อุดร ก็มาแถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย ก็เปิดให้มีการหยั่งเสียง ซึ่งผลโหวตออกมาว่า อ.พรชัยมีคะแนนนำทุกสาย

ผลการลงคะแนนโหวต

การหยั่งเสียงที่ประชุมประชาคม หลังฟังนโยบายมีความชัดเจนว่าใครจะได้เป็นคณะบดีพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. จากนั้นก็นำผลโหวตจากการประชุมประชาคมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเปิดให้มีการลงคะแนนเสียง 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ขอเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมให้จัดส่งรายชื่อผู้สมัครไปให้สภามหาวิทยาลัย 1 หรือ 2 รายชื่อ ปรากฏว่าผลโหวตรอบแรกคะแนนอยู่ที่ 6:3 กล่าวคือ 6 เสียง เสนอให้ส่งเพียงชื่อเดียว อีก 3 เสียง เสนอให้ส่ง 2 รายชื่อ โดยหลักแล้วประธานคณะกรรมการสรรหาควรจะเสนอชื่อผู้สมัครเพียงรายเดียว แต่ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ อ้างว่ามีกรรมการสรรหา 3 คน สงสัยขอให้ส่งรายชื่อผู้สมัคร 2 ชื่อ ก็เลยส่ง 2 ชื่อ

ตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา จึงสอบถามคณะกรรมการสรรหา ซึ่งได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการสรรหาฯ ว่าเป็นเรื่องจริง

จากนั้น ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ จึงนำความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯรอบแรก (เสนอชื่อผู้สมัคร 2 ราย ที่เข้ารอบ) ให้ที่ประชุมโหวตรับเป็นครั้งที่ 2 โดยไม่มีการขานคะแนน จากนั้นก็ฉีกผลโหวตต่อที่ประชุม นางสาวโสภาวดีซึ่งอยู่ในที่ประชุมจึงบอกให้เจ้าหน้าที่เก็บผลโหวตเอาไว้ เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ในที่สุดตัวแทนนักศึกษาที่นั่งเป็นกรรมการสรรหา ที่เดิมลงคะแนนเสียงให้ส่งรายชื่อผู้สมัคร 2 ราย ก็ขอเปลี่ยนใจโหวตให้ส่งชื่อ ศ.ดร.พรชัยให้สภาฯ พิจารณาเพียงรายเดียว ในช่วงท้ายของการประชุม คะแนนโหวตจึงเปลี่ยนจาก 6 ต่อ 3 มาเป็น 7 ต่อ 2

ต่อมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อมีผู้สมัครแค่ 2 คน ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สภาฯ จะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมของตัวบุคคลเป็นหลัก โดยไม่ต้องนำผลโหวตของประชาคมมาพิจารณา ถึงแม้คณะกรรมการสรรหาจะลงคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 ก็ไม่จำเป็นที่สภาฯ จะต้องเลือกคนที่มีคะแนนเสียงมากกว่า”

“ดิฉันทำงานที่นี่มา 35 ปี ได้รับรู้เรื่องราวแบบนี้แล้วมีความรู้สึกว่าสะเทือนใจ นี่หรือคือสถาบันอันทรงเกียรติ แล้วเราจะสอนอะไรเด็ก เราไม่ต้องมี Merit หรือ Key Performance เพียงแค่คุณรู้จักกับใครคุณก็อาจจะได้ดิบได้ดี ” รศ.ดร.กุลภัทรากล่าว

จากนั้นก็มีสมาชิก สพมธ. รายหนึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีนักศึกษานำข้อความไปลงบนเฟชบุ๊กว่า มีเพื่อนที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการสรรหาฯ ถูกข่มขู่ จึงถามนางโสภาวดีในฐานะกรรมการสรรหาว่าเรื่องนี้มีมูลหรือไม่ เหตุใดนักศึกษารายนี้จึงเปลี่ยนใจ

นางโสภาวดีตอบว่า “กรณีโดนข่มขู่ ตนไม่ทราบ เพราะไม่มาข่มขู่กันต่อหน้า แต่เข้าใจว่า เดิมนักศึกษาที่เป็นกรรมการสรรหาฯ โหวตให้ส่งรายชื่อ ศ.ดร.ศิริลักษณ์เข้าไปด้วย แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์มติชน อาจจะมีการคัดลอกแผนงานในช่วงที่มีการเสนอวิสัยทัศน์ นักศึกษารายนี้อาจจะมองว่า กรณีนักศึกษาลอกข้อสอบ หากถูกจับได้จะถูกภาคทัณฑ์หรือปรับตก แต่ถ้าอาจารย์เป็นคนคัดลอกเอง โดยเฉพาะคนที่จะมาเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เข้าใจว่านักศึกษาเปลี่ยนใจลงคะแนนให้เสนอชื่อรายเดียวในช่วงท้ายของการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ เพราะประเด็นคัดลอกแผนงานของคนอื่นมา แต่เรื่องข่มขู่ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร”

ช่วงท้ายของการประชุม สพมธ.วันที่ 23 เมษายน 2556 สมาชิกเสนอต่อที่ประชุมให้ทำจดหมายไปถามสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “มติของที่ประชุมประชาคมและมติของคณะกรรมการสรรหาฯ มีความสำคัญต่อการสรรหาตัวคณบดีฯ หรือไม่”

นางสาวโสภาวดีจึงขอเสียงจากที่ประชุม สพมธ. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ สพมธ. ทำจดหมายไปสอบถามความเห็นสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์