-
ซี่รี่ส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน : สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม(Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน
ซีรี่ส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investng” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล)ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซี่รี่ส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”
หากพูดถึงเทรนด์การลงทุนของโลก นักลงทุนได้ปรับสู่โหมดการจัดสรรการลงทุนบนหลัก ESG (environmental, social and governance) มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับนักลงทุนไทยที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนบนหลัก ESG แม้จะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ได้มีการริเริ่มจากนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ที่มีการออกผลิตภัณฑ์หรือกองทุนที่ลงทุนในกรอบ ESG มากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนไปพร้อมๆกับบทบาทการร่วมผลักดันให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจในกรอบ ESG ควบคู่กันไป
จากการพูดคุยกับนายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด ในฐานะนักลงทุนสถาบันและมุมมองของผู้ที่ได้นำกรอบ ESG มาใช้ ให้ข้อมูลถึงสัญญาณดังกล่าวว่า หากดูจากกองทุนส่วนบุคคลของ บลจ. เกียรตินาคินภัทร ที่มีทั้งนักลงทุนส่วนบุคคลและนักลงทุนนิติบุคคล พบว่าการที่นักลงทุนพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการลงทุน นอกเหนือจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนเหล่านี้จะสอบถามวิธีการทำงานของบริษัท ว่ามีแนวทางการจัดการกองทุนอย่างไร ปรัชญาการลงทุนคืออะไร มีกระบวนการการลงทุนอย่างไร ดังนั้นจึงเชื่อว่า การมีจุดยืนเรื่อง ESG ที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มแรก เป็นปัจจัยบวกหนึ่งที่นักลงทุนพิจารณา
นักลงทุนต้องการ “พอร์ตลงทุนที่ยั่งยืน”
นายยุทธพลเล่าว่า จากภาพจำของนักลงทุนที่ลงทุนมานานในบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงภาพจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ว่าท้ายที่สุดเขาอยากมีบริษัทแบบไหนในพอร์ตลงทุน พบว่าจะให้น้ำหนักไม่มากกับบริษัทที่มีแต่ตัวเลขทางการเงินหวือหวา หรือเป็นที่นิยมของตลาดในช่วงสั้น แต่จะให้น้ำหนักกับภาพของความยั่งยืนในระยะยาว คุณภาพบริหาร ปัจจัยพื้นฐาน มากกว่า
ผลการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น (shareholder) เริ่มเปลี่ยนมาพูดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) จนมาถึงปัจจุบัน ตัวขับเคลื่อนเรื่อง ESG หลัก ๆ มาจากการเรียนรู้ว่า การลงทุนที่ดูเฉพาะผลการดำเนินงานด้านการเงินอย่างเดียว ไม่เพียงพอ ผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นจะมุ่งเน้นทำผลงานระยะสั้นโดยไม่ให้น้ำหนักกับภาพระยะยาวไม่ได้ นี่คือที่มาของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) เป็นกรอบที่เริ่มจากความพยายามลดความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกับดูแลกิจการที่ดี ดังกรณีตัวอย่าง เช่น บริษัท Enron Corporation ที่มีการตกแต่งบัญชีและนำมาซึ่งปัญหาในที่สุด เป็นต้น
“ฉะนั้นการพยายามลดความเสี่ยง ด้วยแนวคิดการใช้ negative list คือ ถ้าธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยง จะไม่ลงทุน ไม่เข้าไปยุ่ง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับอาวุธสงคราม หรืออะไรที่ล่อแหลม จะถูกตัดออก จากนั้นก็ค่อยๆมีการพัฒนาไปในภาพที่กว้างมากขึ้น ซึ่งคำที่มักพูดถึงคือ sustainable investing (การลงทุนที่ยั่งยืน) ทำให้กระบวนทัศน์ในการพิจารณาการลงทุนเปิดกว้างขึ้น”
ดังนั้นในฐานะผู้ปฏิบัติเราจึงคิดในกรอบง่ายๆ ใช้สามัญสำนึกว่า ESG คืออะไร โดยตั้งคำถามว่า องค์กรนั้น ๆ เขามีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับสิ่งแวดล้อม การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างไร ความเท่าเทียม ความหลากหลาย สุดท้าย คือ องค์กรมีการควบคุมหรือกำกับดูแลอย่างไร เป็นหัวข้อหลักที่เราพิจารณากันในเรื่อง ESG แต่ในมิติการลงทุน การนำเรื่อง ESG มาผนวกด้วยทำให้โอกาสในการลงทุนมีความยั่งยืนในระยะยาว จากการศึกษาและติดตามงานวิจัยของหลายหน่วยงานออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนจาก ESG จะส่งผลต่อการลงทุนที่ดีให้กับนักลงทุนในระยะยาวได้
นายยุทธพลอธิบายเพิ่มเติมว่ากระบวนการลดความเสี่ยงด้วยการทำ negative list หรือตัดกลุ่มที่คิดว่ามีความเสี่ยงออกไป เพื่อมองหาบริษัทที่ให้ความใส่ใจในปัจจัยต่างๆ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของคำว่า sustainable investing และเมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้ว คนจะนึกถึงการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก (positive impact investing) มีการพูดถึงการมีส่วนร่วมในเชิงบวก (positive engagement) ตามมาด้วยมุมมองการจัดสรรทรัพยากรไปหาธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกแทน (impact investing) เช่น บริษัทที่ลงทุนในเครื่องมือลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เครื่องมือลดน้ำเสีย เป็นต้น
“นี่คือดีกรีของการลงทุนของทั้งนักลงทุนและกองทุนที่ถูกดีไซน์ออกมา สะท้อนแนวคิดว่ากองทุนนี้เป็นกองทุน ESG ทั่ว ๆ ไป หรือกองทุนนี้เป็นกองทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวก เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเงินที่นำมาลงทุนจะมุ่งเน้นไปทางไหน”
“ดังนั้นแนวโน้มความสนใจในการลงทุน ESG เป็นตัวเร่งสำคัญให้นักลงทุนไทยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนได้ เปรียบกับการดูอาหารในเมนู ถ้าอยากทานอาหารสุขภาพ แต่ในเมนูมีมั้ย ขณะที่ในต่างประเทศมีความคึกคักมากในเรื่อง ESG investing แต่ประเทศไทยมีบริษัทแบบนี้หรือไม่”
พร้อมให้ความเห็นว่า “เรื่องนี้ต้องดูย้อนไปถึงนโยบายที่มุ่งเน้นแต่ธุรกิจแบบเดิม ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ ของโลก ที่ผ่านมาอาจจะบอกว่าของเราค่อนข้างเหนื่อย บริษัทจดทะเบียนกว่า 600 บริษัท มี 50 บริษัทต้น ๆ เป็นบริษัทเกือบจะเดิมๆ ธุรกิจอุตสาหกรรมก็ประมาณเดิม แต่ขณะที่เราพยายามหาการลงทุนแบบ impact investing แต่หาไม่ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ที่เล็งเห็นผลเหล่านี้หรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันอย่างไร และต้องเป็นแนวนโยบายที่สะท้อนในทิศทางเดียวกัน”
ทำไม “นักลงทุน – ผู้ประกอบการ” ต้องสนใจ “ESG”
สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนและบริษัทต่างๆ หันมาให้ความสนใจเรื่อง ESG มากขึ้น นายยุทธพลมองว่ามาจากปัจจัยหลักๆ ดังนี้
1) การเติบโตของประชากรโลก ที่เติบโตในระดับทวีคูณ ได้สร้างแรงกดดันในการใช้ทรัพยากรโลก สร้างมลภาวะให้โลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่ละลาย สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยก็เจอปัญหามลพิษต่างๆ จากฝุ่นพิษ ซึ่งประชาชนสัมผัสได้ด้วยตัวเอง
2)การขยายตัวของความเป็นเมือง เมืองเติบโตมีความหนาแน่นมากขึ้น
3) อายุเฉลี่ยของคนสูงขึ้น เจเนอเรชันใหม่ๆ ของนักลงทุน ที่แต่เดิมผู้ครอบครองความมั่นคั่งของประเทศ ของครอบครัว เป็นกลุ่ม Gen X ที่อายุระหว่าง 40-50 ปี มีการทำงานมาระดับหนึ่ง แต่เวลานี้ เริ่มมีการโอนย้ายไปที่คนรุ่นใหม่ ชุดข้อมูลคนรุ่นใหม่คนละชุดกับรุ่น Gen X คนรุ่นใหม่มีการเสพข้อมูล ESG เป็นเรื่องปกติ มีค่านิยมที่เปลี่ยนไป มุมมองการเป็นเจ้าของเริ่มไม่มีความจำเป็น ปัจจัยนี้เป็นตัวผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้ตลาดเปลี่ยนไป ไม่ต้องมีการโน้มน้าวเรื่อง ESG สำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะ ESG เป็นวิถีชีวิตของเขา
4) ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย เครื่องมือใหม่ ๆ เหตุเกิดในที่แห่งหนึ่งของโลก หรือบริษัทหนึ่งกำลังถูกศาลในต่างประเทศฟ้องอยู่ เขาจะรู้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้บริษัทในประเทศไทยบอก หรือไม่ต้องรออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์
จากการศึกษาในตลาดที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่ามีเงินที่ไหลไปลงทุนในกองทุน ESG มากขึ้น ในสหรัฐอเมริกาไตรมาสหนึ่งสูงถึงหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้ ESG เติบโตต่อเนื่องได้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการออกผลิตภัณฑ์มาเพราะเชื่อเรื่อง ESG มีการสื่อสาร ให้ความรู้กับนักลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายย่อย จนนักลงทุนให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี และเชื่อว่าในระยะยาวทิศทางจะเป็นเช่นนี้
“มาตรฐานโลก” หนึ่งในเครื่องมือยกระดับ “การลงทุนยั่งยืน”
จากแนวคิดที่ต้องการให้โลกใบนี้ดีขึ้น หน่วยงานระดับนานาชาติ อาทิ สหประชาชาติ UNDP (United Nations Development Programme) UNPRI (Principles for Responsible Investment) เป็นต้น พยายามกำหนดแนวทางเรื่องความยั่งยืนในมิติต่างๆ กฏเกณฑ์ในการวัด รวมทั้งพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการประเมิน แต่ด้วย ESG เป็นเรื่องทั้งกว้างและลึกมาก และยังมีพลวัตรสูง มีความพยายามหาคำจำกัดความ ขอบเขตว่ามันอยู่ตรงไหน เพื่อให้มีแพลตฟอร์มและคำจำกัดความที่สื่อตรงกัน
นายยุทธพลกล่าวว่า “สำหรับของไทยก่อนหน้านี้ คำว่า ESG ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในขณะนี้ แต่มีแนวคิดการลงทุน โดยวิเคราะห์ วิจัย ดูว่าบริษัทมีความยั่งยืนหรือไม่ มีโอกาสถูกฟ้องร้องหรือไม่ การพูดคุยกับผู้บริหารแล้วเป็นอย่างไร เขาให้น้ำหนักกับผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ ข้อมูลที่รายงานมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง เชื่อถือได้หรือไม่ มีโอกาสถูกหน่วยงานรัฐทำโทษว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ตอนนั้นยังเป็นเรื่องกว้างๆ แต่ไม่ได้เรียกว่า ESG”
พอทิศทางของโลกมาเป็นเรื่อง ESG ที่มีการกำหนดทิศทาง มีความชัดเจนขึ้น เราในฐานะนักลงทุนสถาบันจึงพัฒนาตัวเอง ดูแนวทางของประเทศอื่น ๆ โดยปัจจุบันมีเครื่องมือ มีแพลตฟอร์มากมายในการประเมิน ESG ในทีนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น MSCI ในการประเมินเรื่อง ESG สาเหตุที่เลือก MSCI เพราะการประเมินมีความครอบคลุม 50-60% ของหลักทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ของบลจ.เกียรตินาคินภัทร(investment universe) ได้มีการนำสิ่งที่เรียนรู้จาก MSCI มาต่อยอดพิจารณาหุ้นที่ MSCI ครอบคลุมไปไม่ถึง ทำให้งานเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีหลักการมากขึ้น เป็นลักษณะครูพักลักจำเกณฑ์การประเมินของโลกมาใช้
การที่ใช้มาตรฐานโลก ความรู้หนึ่งที่ได้ คือ หลักการประเมินของนานาชาติ จะไม่ใช้เกณฑ์เดียวกันกับทุกบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีความสมเหตุสมผล เช่น จะมีการใช้เกณฑ์ประเมินชุดหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีความสุ่มเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากหน่อย เช่น บริษัทปิโตรเคมี บริษัทพลังงาน จะมีการนำชุดเรื่องสิ่งแวดล้อมไปจับมากหน่อย ทำให้คะแนน หรือคำถาม มีการให้น้ำหนักกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเอาชุดคำถามนี้ไปใช้กับบริษัทในกลุ่มธนาคาร เป็นต้น
นอกจากนี้ต้องเรียนรู้และต่อยอดวิธีการประเมินดังกล่าว ด้วยการจัดกลุ่มบริษัทเป้าหมาย กลุ่มแรก คือ บริษัทที่ไม่มีปัญหา เป็น positive list กลุ่มที่สอง watch list คือบริษัทที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีข่าว หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังไม่ใช่ประเด็นที่เป็นทางการ ทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และกลุ่มสุดท้าย คือ restricted group เป็นกลุ่มที่ไม่เลือกลงทุน หรือไม่ลงทุนเพิ่ม เป็นกลุ่มที่มีประเด็นเรื่อง ESG เช่น เคยถูกกล่าวโทษ หรือให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาการลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ โดยการจัดกลุ่มเหล่านี้จะมีคณะกรรมการของบริษัท รวมทั้งคณะกรรมย่อยที่ดูเรื่อง ESG พิจารณา ถ้าบริษัทไหนมีเรื่องหมิ่นเหม่ด้าน ESG ก็จะนำมาพูดคุยกันในคณะย่อย และถ้าป็นประเด็นสำคัญ ก็อาจจะต้องเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเพื่อจัดกลุ่ม
พร้อมกันนี้ต้องนำองค์ความรู้เรื่องการใช้ชุดประเมินที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละบริษัทที่จะทำการประเมิน เช่น ชุดประเมินบริษัทในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ที่ MSCI ใช้ติดตาม ทำให้รู้ว่า องค์ความรู้นานาชาติเขาใช้ประเมินบริษัทที่มีความล่อแหลมเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็นำองค์ความรู้นั้นมาใช้กับบริษัทในกลุ่มนี้ที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นบริษัทที่ MSCI ลงมาไม่ถึง รวมทั้งยังมีเครื่องมืออื่นอีก เช่น มีการใส่ปัจจัยการออกเสียงเวลาประชุมผู้ถือหุ้นลงในเกณฑ์ของเราด้วย เช่น เกณฑ์การกำกับดูแล เกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมบริษัทอย่างไร กรรมการไปนั่งอีกกี่บริษัท มีการเข้าประชุมมากน้อยเพียงไร ถ้ามาประชุมปีละไม่กี่ครั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต่อ ในฐานะผู้ลงทุนอาจจะไม่โหวตให้ หรือทำไม CEO ได้เป็น chairman of the board ทั้งที่หลักการไม่ควรเป็นคนเดียวกัน ควรแยกหน้าที่กัน นี่เป็นกระบวนการในฐานะผู้ถือหุ้น รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับแต่ละบริษัทที่จะจัดกลุ่ม เช่น เมื่อได้ข่าวว่าบริษัทไหนมีประเด็น ก็จะมีการสอบถามพูดคุยกับผู้บริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ได้อธิบาย
ขณะเดียวกันการให้ความร่วมมือกับภาพรวมอุตสาหกรรม เช่น การเป็นสมาชิก I Code (Investment Governance Code: I Code) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การเป็นภาคีกับนักลงทุนสถาบันในประเทศ ในเรื่อง positive engagment เพื่อให้ความร่วมมือในทิศทางเดียวกัน มีการส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปเป็นตัวแทนในคณะกรรมการด้าน ESG รวมถึงการสนับสนุนพนักงาน ทั้งนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุนในการศึกษาเรื่อง ESG ในหลักสูตรต่างๆ
แรงกระเพื่อมของนักลงทุนสถาบันต่อธุรกิจที่ยั่งยืน
นายยุทธพลกล่าวถึงบทบาทของนักลงทุนสถาบันว่า จากแนวปฏิบัติที่กล่าวมาข้างต้น ในการจัดกลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน โดยไม่ลงทุนในบริษัทที่มีปัญหา เพราะในฐานะนักลงทุนสถาบัน จะเป็นประโยชน์มากกว่าหากสามารถทำให้บริษัทเหล่านั้นตระหนักถึงความสำคัญของ ESG ว่าจะส่งผลดีกับบริษัท ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจในบริษัท จนอาจจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่มาให้ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ต้องตระหนักเองว่า ESG มีผลดีกับบริษัทอย่างไร เช่น ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำเสียได้ดี ก็จะลดโอกาสการถูกฟ้องร้อง ลดโอกาสที่เครื่องยนต์จะมีปัญหา ถ้าก่อสร้างตึกหรือโรงงานได้แข็งแรง ไม่มีการต่อเติมอาคารที่ผิดกฎหมาย จนตึกจะพังลงมาทับพนักงาน ก็จะไม่กระทบต่อซัพพลายเชนของบริษัท เพราะถ้าซัพพลายเชนมีปัญหา ต่อไปก็จะไม่มีใครส่งออร์เดอร์มาให้ เป็นต้น และคีย์สำคัญคือการทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ป้ายแปะไว้ว่า บริษัทำ ESG แต่ทำด้วยความตระหนักจริงๆ ซึ่งนักลงทุนสถาบันในไทยก็จะมาในทิศทางคล้ายๆ กันนี้
“ผมคิดว่าโดยทั่วไปบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการออกตราสารหนี้ ต่างตระหนักและเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งตลาดหลักรัพย์ฯ ได้ผลักดันและสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การรายงานต่างๆ จากเดิมที่นักลงทุนสถาบันจะได้ข้อมูลสำคัญ คือ รายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดกิจกรรม Opportunity Day ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนรายย่อยได้รับฟังข้อมูล เวลานี้ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามผลักดันให้บริษัทสมาชิกเริ่มพูดถึงการมี sustainability report หรือรายงานประจำปีด้านความยั่งยืน ควรมีบทหนึ่งที่รายงานเรื่อง ESG เพราะ ESG เป็นเรื่องสำคัญในการสื่อสารกับนักลงทุน”
ดังนั้น การลงทุนแบบเดิมที่ลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนให้หลากหลายกิจการ วันนี้การกระจายความเสี่ยงจำเป็นต้องยึดกรอบ ESG ดูความเกี่ยวโยง ความสัมพันธ์ของซัพพลายเชนที่ลึกซึ้งกว่าเดิม การที่บริษัทไม่ให้ความสำคัญกับรู้สึกของพนักงาน ไม่ให้ความเท่าเทียม ไม่ให้โอกาสในการแสดงออกหรือเสียงสะท้อน พนักงานใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพ จะนำมาซึ่งผลผลิตที่ต่ำลง หรืออัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องคิดต่อในมุมนี้ เป็นต้น
ปัจจุบันคำว่า universal owner เป็นเรื่องน่าสนใจ เหมือนประโยคที่ว่า เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว คือ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันหมด คำว่า universal owner เป็นกรอบความคิดที่ดี ความหมายคือ เวลาลงทุนในบริษัทหนึ่ง เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้า แต่มีการต่อเติมอาคารไม่ได้มาตรฐาน แล้วพังลงมา มีคนเสียชีวิตนับร้อย เจ็บนับพัน เหมือนที่เคยเกิดในประเทศบังคลาเทศ ที่เป็นผู้ผลิตหลักให้กับเสื้อผ้าหลายยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักกัน
“ดังนั้น เวลาจะลงทุนในบริษัทนี้ จะคิดว่าเป็นการลงทุนในบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า แต่จริงๆ แล้วเราลงทุนในเสื้อผ้ายี่ห้อต่างๆ เพราะเขาได้รับผลกระทบ”
“ESG” ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นวิถี
นายยุทธพลเล่าต่อว่าจากการให้ความสำคัญกับ ESG ที่มีมากขึ้นซึ่งสังเกตจากตลาดมีการออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศลักษณะ ESG จำนวนมาก ตามความสนใจของนักลงทุน แต่การเลือกลงทุนในบริษัทที่มุ่ง ESG นั้น ความยาก คือ บริษัทที่เราจะลงทุนเขาต้องทำแค่ไหนถึงจะพอ ทั้งหมดจึงต้องกลับไปที่สามัญสำนึกในการพิจารณา ตัวอย่างเช่น บริษัทจัดการกองทุนระดับโลกมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมา ระบุเลยว่าเป็นแผนก ESG จ้างนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ ฯลฯ โดยหากบริษัทที่ลงทุนด้านปิโตรเลียม ก็จ้างนักวิทยาศาสตร์มาศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสามัญสำนึกของบริษัทนี้ และเขามีศักยภาพที่จะทำได้”
นายยุทธพลยกตัวอย่างการทำงานของ บลจ.เกียรตินาคินภัทรว่า “เรามีการรวบรวมวิธีการต่างๆ ขึ้นมาเป็นกรอบในการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น วิธีการแบบนานาชาติ การหาความรู้ การติดตามเรื่องต่างๆ ไม่ให้ตกรถไฟ การใช้แพลตฟอร์มเครื่องมือต่างๆ การให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับการศึกษาเรื่อง ESG แล้วเอามาแปลงเป็นทางปฏิบัติ ว่าจะต้องปรับปรุงเครื่องมืออะไรบ้างในการจัดกลุ่มบริษัทที่จะลงทุน กรอบความคิด พารามิเตอร์ในการประเมิน ควรปรับปรุงหรือไม่ บางครั้งแบบประเมินระดับโลก หากเอาไม้บรรทัดนั้นมาใช้ ก็ตกระนาว แต่ก็ไม่ใช่ย่อหย่อน จนไม่มีความหมาย รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทปลายทาง ให้ผู้บริหารบริษัทรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ หรือตัดสินเขาว่าดีหรือเลว แต่พยายามช่วยกัน สนับสนุนกัน เป็น positive engagement ร่วมกัน”
“หลักการคือไม่พยายามตัดสินใคร เพราะแนวคิดหนึ่ง อาจจะเห็นว่าบริษัท ก ถูกรัฐฟ้องร้องเพราะมีการฮั้วราคา เราจะไม่ลงทุนเลยหรือ การหาจุดที่เหมาะสมของเราคือ ถ้าบริษัทถูกฟ้อง ถูกกล่าวโทษ ว่าฮั้วราคาแล้วไม่ลงทุน จะเป็นประโยชน์หรือไม่ เราได้ฟังเหตุผลจากบริษัทหรือไม่ ใครจะเป็นคนตัดสินว่าเขาโกงหรือไม่โกง นี่เป็นการเขย่า การควานหา เพราะบางครั้ง การชี้เป็นขาวหรือดำในเชิงนิติศาสตร์อาจจะไม่ตอบโจทย์เรื่องการลงทุน เพราะอาจตกไปในแง่ประจักษ์พยาน หรือทางเทคนิค ทำให้ศาลต้องยกประโยชน์ให้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจะทำให้เชื่อได้ว่า คุณภาพ ของการบริหารอาจจะมีปัญหา นี่คือเรื่องการหาจุดที่เหมาะสม หรือบางเรื่องอาจจะบอกว่า เขาให้ข้อมูลหรืออธิบายแล้ว ศาลก็ตัดสินว่าเขาไม่ผิด เราก็ต้องยอมรับ”
ฉะนั้น ถ้ามองจากภายนอก เรื่องเหมือนกัน ถูกฟ้องร้องเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางกรณีอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรม เราก็ไม่เอา แต่บางเรื่อง เขาอาจจะไม่ผิด จึงต้องหยิบยกขึ้นมาคุยกันในคณะกรรมการ แบ่งปันความเห็นกัน แต่ทั้งหมดการมีส่วนร่วม เป็นเรื่องสำคัญ ต้องสัมภาษณ์ พบปะ พูดคุยกัน
สำหรับนักลงทุนรายย่อย ขณะนี้มีโมเมนตัมมากขึ้นในการลงทุนในกองทุน ESG แต่ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร ชักชวนให้นักลงทุนเห็นภาพมากขึ้น โดยหลักการเลือกกองทุน เรื่องพื้นฐานที่นักลงทุนยังต้องให้ความสนใจ คือ ความคาดหวังในผลตอบแทนและความเสี่ยงที่จะรับได้ เมื่อรับรู้ว่าจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ก็จะบอกได้ว่า จะลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ เมื่อได้กรอบแล้ว จะเลือกลงทุนอะไร
พร้อมย้ำว่า “สิ่งสำคัญ “ESG” ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นวิถี”
“ก็อยากเชิญชวนว่า ปัจจัยความยั่งยืนมีผลจริงๆ ต่อบริษัท ต่อผู้ออกตราสารในระยะยาว ถ้านักลงทุนเชื่อและคล้อยตามแนวคิดนี้ว่าไม่ใช่เรื่องการตลาด หรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นเรื่องสัมผัสได้จริงๆ ก็อยากให้พิจารณาสนับสนุนกองทุนที่เชื่อในเรื่องแบบนี้ กองทุนที่ลงทุนหรือขับเคลื่อนกระบวนการลงทุนในปัจจัยเหล่านี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ แล้วช่วยกันผลักดัน โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมหวังจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับนักลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายย่อยในการคัดเลือกการลงทุน”