และแล้วร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนเพื่อไทย ด้วยคะแนนเสียง 284 ต่อ 152 งดออกเสียง 21 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง
หลังจากผ่านการอภิปรายของ ส.ส. ทั้งสองฝ่ายถึง 28 ชั่วโมง
ตลอด 2 วันเต็มที่ผ่านมา ได้มี “คำถาม” เกิดขึ้นมากมายต่อกรณีการออกกฎหมายกู้เงินของรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการกู้เงินจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้รวบรวมบรรดา “ข้อสังเกต ” จากฟากฝั่งพรรคฝ่ายค้านในการประชุมสภาที่น่าสนใจมานำเสนอดังต่อไปนี้
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไม่ได้มีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม แต่ยังมีองค์ประกอบด้านอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การศึกษา การสาธารณสุข เทคโนโลยี ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง
2. มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่รัฐบาลต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพราะงบประมาณรายจ่ายของประเทศผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของทุกปีนั้น มีงบลงทุนที่เพียงพอในการที่จะนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โดยสามารถดูได้จากตัวเลขของกระทรวงการคลังเองที่ระบุงบประมาณในปีงบประมาณรายจ่าย 2556-2563 ว่าในแต่ละปีมีจำนวนเท่าใด จะเห็นได้ว่า บางปีใช้งบประมาณเพียง 20,000 ล้านบาท แต่ปีที่มีการใช้งบประมาณมากที่สุดคือปี 2559 วงเงินกว่า 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถที่จะกู้ได้ตามช่องว่างทางการคลังที่ให้สิทธิกู้ตามปีงบประมาณ
3. โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มักจะไม่ขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะดำเนินโครงการหรือไม่ เช่น ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่มีนโยบายในการสร้างทาง ทำให้ในสมัยรัฐบาลดังกล่าวไม่มีงบประมาณที่จะสร้างทางรวมไปถึงงบซ่อมแซมและบำรุงรักษาด้วย
4. หนี้สาธารณะในวันนี้อยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่หลังกู้เงินแล้วตัวเลขของหนี้สาธารณะจะเกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
5. การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เมื่อรวมทั้งต้นและดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท หรือทุกๆ นาทีประชาชนต้องเสียเงิน 1.5 แสนบาท เพื่อใช้หนี้
6. การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้ระบบเงินตึงขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะมีการแย่งชิงเงินกู้ระหว่างรัฐกับเอกชน อัตราดอกเบี้ยในระบบจะสูงขึ้น หากดอกเบี้ยเพิ่มทุก 1% ประเทศจะเป็นหนี้เพิ่ม 6 แสนล้านบาท
7. การที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ระบุว่าเงินกู้ดังกล่าวจะใช้หนี้ได้หมดใน 50 ปีนั้น เป็นการพูดในสมมุติฐานที่อัตราดอกเบี้ยในอีก 50 ปีข้างหน้าจะยังคงที่เท่ากับในปัจจุบัน เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แผนที่มีการวางไว้ว่าจะใช้หนี้ได้หมดภายใน 50 ปี คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และอาจจะใช้หนี้ยาวนานมากถึง 100 ปี
8. ในเรื่องของโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลขาดทุนในปีแรก 2.2 แสนล้านบาท แต่ถึงมือชาวนาเพียง 1 แสนล้านบาท เท่านั้น เหตุใดรัฐบาลถึงไม่นำเงิน 2 ส่วน คือ 1 แสนล้านบาท ให้ชาวนาเหมือนเดิม และอีก 1.2 แสนล้านบาท คืนมาเพื่อทำโครงการเหล่านี้
9. เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านที่ประชุมสภาไปแล้ว รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่าในปีงบประมาณ 2556-2560 จะมีการปรับลดการขาดดุลงบประมาณ และหลังจากปี 2560 เป็นต้นไปรัฐบาลกล้าที่จะจัดงบสมดุลหรือไม่
10. การเสนอกฎหมายฉบับนี้เป็นการยัดไส้ ไม่มีความชัดเจนในการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะรายละเอียดโครงการที่ข้าราชการกระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลนำเอกสารประกอบจำนวน 200 กว่าหน้าให้เป็นบัญชีแนบท้ายกฎหมายฉบับนี้เพื่อที่จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถโยกย้ายโครงการตามความต้องการของรัฐบาลได้
และยังเปิดโอกาสให้ กมธ.วิสามัญฯ สามารถพิจารณาปรับลดงบประมาณในแต่ละโครงการได้ แต่ท้ายที่สุดไม่มีการทำตามข้อเสนอดังกล่าว เพราะจะได้โยกงบประมาณและโครงการได้สะดวก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุเอกสารประกอบในบัญชีแนบท้ายเพื่อป้องกันการทุจริต
11. ต่อไปข้างหน้าจะไม่มีงบลงทุนใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณอีกแล้ว เนื่องจากงบลงทุนจะถูกนำเป็นไปดอกเบี้ยของเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะไม่รับภาระในการชำระเงินต้นแต่จะชำระเฉพาะดอกเบี้ยปีละ 1-3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ส่วนเงินต้นถูกผลักให้เป็นภาระของรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ควรที่จะระบุในกฎหมายว่าจะรับภาระการชำระหนี้เงินต้นด้วย
12. ในจำนวนโครงการทั้งหมดที่เสนอมา มีโครงการมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีมติ ครม. รองรับ แต่ได้ขอให้สภาอนุมัติการกู้เงินก่อน ซึ่งถือว่าตรงกันข้ามกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ ครม. ต้องอนุมติโครงการก่อนที่จะให้สภาอนุมัติงบประมาณ เสมือนกับสภาตีเช็คเปล่าให้ ครม. ไปกรอก
13. การลงทุนระบบราง เป็นการจัดสรรตามภาคนิยม ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน และไม่มีการนำหลักวิชาการมาใช้ โดยเฉพาะการสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย สรุปว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในเส้นทาง กทม.-หนองคาย เป็นเส้นทางที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสมควรที่จะถูกสร้างเป็นลำดับแรก
แต่รัฐบาลกลับสร้างเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่แทน นอกจากนี้เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ยังเชื่อมโยงกับประเทศจีนลำบาก ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ตามที่รัฐบาลระบุไว้ การเชื่อมไทยสู่โลกก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถลาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ได้ และเมื่อผ่านพ้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็อาจจะรวมไปถึงการผ่านร่างในวาระที่ 2 และที่ 3 ในอนาคต เพราะ “เสียงข้างมาก” ที่มีอยู่ในมือ
กระนั้น หนทางที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ราบเรียบสำหรับรัฐบาลเสมอไป อันเป็นผลมาจาก “ปัจจัย” ที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ “กลุ่ม 40 ส.ว.” ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้
โดยกลุ่ม 40 ส.ว. มองว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 169 และมาตรา 75 ที่จะถือว่าการอนุมัติโครงการของ ครม. เป็นการอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ จากเดิมที่การอนุมัติจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้มีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทั้งฉบับ โดยเฉพาะการที่มาตรา 15 ที่บัญญัติว่าวิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการจะต้องใช้วิธีประมูลได้ถูกยกเลิกไปด้วย ทั้งที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้
และร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับ ระบุเพียงให้รับฟังความเห็นสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 87(1), (2) และ (3)
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนฯ ตามคำร้องการบังคับใช้ จะส่งผลต่อร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาในอนาคตเพราะขาดเครื่องมือในการนำไปปฏิบัติ
แม้ว่าจะยังไม่สะดุดลงทีเดียว เนื่องจากรัฐบาลสามารถที่จะนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาใช้แทนได้ แต่จะทำให้การดำเนินโครงการเกิดความล่าช้าได้