ThaiPublica > เกาะกระแส > กูรูการเงิน การคลัง เสนอออกกฏหมายคุมประชานิยม “ล้อมคอก” รัฐบาลมือเติบ

กูรูการเงิน การคลัง เสนอออกกฏหมายคุมประชานิยม “ล้อมคอก” รัฐบาลมือเติบ

18 มีนาคม 2013


สัมมนา "วิพากษณ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง" ที่มาภาพ : น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ
สัมมนา “วิพากษณ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง” ที่มาภาพ : น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ

ประเด็นความเป็นห่วงเรื่องนโยบายประชานิยมมีมานาน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่นโยบายประชานิยมก็ยังเบ่งบานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ล่าสุด คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดสัมมนาหัวข้อ “วิพากษ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง” โดยวิทยากรผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9

เหตุผลที่ต้องวิพากษ์ประชานิยม

แม้ประเด็นเรื่องนโยบายประชานิยมจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยิ่งนานวัน “ความเป็นห่วง” เรื่องนี้ก็มากขึ้น ดังนั้น ในการจัดเวทีสัมมนาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายประชานิยม วิทยากรทุกท่านจึงเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ต่อไป

ดร.กอบศักดิ์มีความเห็นว่า “เราต้องพูดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมีความเห็นว่า “ประชานิยมที่ทำอยู่หลายเรื่อง กำลังส่งผลเสียหายเป็นหนี้สาธารณะในจำนวนที่สูง จนกระทั่งกระทบต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในที่สุด”

นายธีระชัยมีความเห็นว่า “ถึงเวลาที่ต้องตีกรอบการบริหารเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น”

ดร.นิพนธ์มีความเห็นว่า “ประชานิยมมีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเป็นเรื่องการกระจายรายได้ ข้อเสียคือสร้างปัญหาด้านวินัยการคลัง หาเสียงให้ประชาชนมีสิทธิ์ แต่ไม่สนใจความรับผิดชอบทั้งของประชาชนและนักการเมือง เพราะฉะนั้น ส่วนที่เป็นข้อเสียประชานิยมต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติอย่างที่เกิดในต่างประเทศ

ดร.เอื้ออารีย์มีความเห็นว่า “เพื่อให้ทราบว่า นโยบายประชานิยมสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามหลักการ”

ดีกรีประชานิยมกับการเมือง

นอกจากนี้ ทุกคนยังเห็นพ้องกันว่า ประชานิยมคือ “นโยบายเศรษฐกิจที่หวังผลทางการเมือง” แต่ดีกรีของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ดีกรีจากเบาไปหนัก คือ

ดร.เอื้ออารีย์มีมุมมองว่า “เพียงบางส่วน แต่บางนโยบายก็หวังผลทางสังคมระยะยาวได้ เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค คืออาจพัฒนาไปสู่ระบบสวัสดิการในระยะยาวได้”

นายธีระชัยมีมุมมองว่า “ไม่ถึงกับทุกกรณี แต่กรณีประเทศไทยจะเกี่ยวเยอะ”

ดร.กอบศักดิ์มีมุมมองว่า “โดยส่วนใหญ่ช่วงหลังๆ นโยบายออกมาเพื่อหวังผลทางการเมือง”

ดร.นิพนธ์มีมุมมองว่า “ปัญหาของประเทศคือ ปัญหาความยากจน ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาความเดือนร้อน เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักการเมืองคือการแก้ปัญหานี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้ผลทางการเมืองประกอบกัน”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมีมุมมองว่า “ชื่อก็บอกแล้วว่าต้องการทำเพื่อให้ประชาชนนิยม เพื่อหวังคะแนนเสียง ก็คือการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง

“หม่อมอุ๋ย” ห่วงหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 80% จะ “เอาไม่อยู่”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ประชานิยมเริ่มจากพรรคไทยรักไทยเป็นล่ำเป็นสัน แต่ประชานิยมที่ใช้ได้ก็มี เช่น 30 บาท รักษาทุกโรค เงินที่ใช้ตอนนั้นประมาณ 80,000 ล้านบาท ไม่ได้มากกว่าเงินที่รัฐบาลในอดีตอุดหนุนโรงพยาบาลมาก่อน หรือค่อนข้างใกล้เคียงกัน และได้ผลถึงรากหญ้าจริงๆ

แม้แต่ประชานิยมแบบกองทุนหมู่บ้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็บอกว่าเข้าท่า ใช้เงินไป 78,000 ล้านบาท และเงินตอนนี้กู้อยู่ตามหมู่บ้าน บางแห่งก็งอกเงยเป็น 3 เท่าตัว บางแห่งก็เหลือบ้าง บางที่สูญเสียก็มีบ้างแต่น้อยกว่าเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) ของธนาคารพาณิชย์

“ผมก็ติดตามประชานิยมเหล่านี้ ไม่ได้ห่วงอะไร ก็เป็นประชานิยมที่ดี แต่พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบันเริ่มมีประชานิยมแปลกๆ อย่างรถคันแรก ก็ไม่เป็นไร ถ้าดูในแง่ผลกระทบคงขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่ทำหนเดียว ในที่สุดจะเลิก ก็ไม่กระทบฐานะการเงินระยะยาว บ้านหลังแรกก็มีกระทบ แต่มันยังซึมๆ อยู่” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

แต่ในที่สุด เมื่อเจอเรื่องจำนำข้าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธบอกว่าต้อง “สะดุ้ง” และเป็นห่วง เพราะรัฐบาลไม่หยุด และมีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 1.4-1.7 แสนล้านบาทต่อปี และปีหน้าอาจจะขาดทุนถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 65.96% ในปี 2562

นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้ทุกพรรคคิดแต่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะใช้นโยบายประชานิยมอะไรมาหลอกลวงประชาชน และประชาชนก็ไม่เห็นผลเสียของนโยบายเหล่านั้น เพราะกว่าจะเห็นผลเสียก็อีก 7-8 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ถ้าเราไม่ช่วยเบรก ช่วยตะโกนว่า “ไม่ไหวแล้ว” ประเทศจะอยู่ไม่ได้ หนี้สาธารณะจะกลายเป็น 80% ถึงเวลานั้นเชื่อว่าประเทศจะเอาไม่อยู่

“เป็นความกลัวที่ผมนอนไม่หลับจริงๆ ซึ่งจะขอสู้เรื่องนี้ให้หยุดให้ได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

“กอบศักดิ์” ชี้ 3 ประเด็น ที่ต้องห่วงประชานิยม

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากภาคเอกชน ได้สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำไมต้องเป็นห่วงเรื่องประชานิยมว่า ไม่แปลกใจถ้า “หนี้ภาครัฐ” จะเพิ่มขึ้น ถ้าเรามีวิธีการทำงบประมาณในลักษณะไม่ระมัดระวังลักษณะเช่นนี้ มีหลายเรื่องที่หลายคนกังวล มาจากหลายประเด็น และหลายอย่างเป็นการเข้าไปแทรกแซงระบบตลาด จนทำให้ระบบตลาดมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นตลาดข้าว ตลาดแรงงาน และตลาดอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า มีประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้หลายคน “กังวลใจ” อีกอย่างน้อย 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ที่บอกว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีแค่ 44% ความจริงไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เพราะยังมีหนี้อื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่หลายที่ โดยเฉพาะในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างกรณีเอสเอ็มอีแบงก์กับกรณีไอแบงก์ที่มีปัญหา หรือกรณี ธ.ก.ส. ที่ต้องเพิ่มทุน เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นตัวอย่างของการที่รัฐบาลต้องเอาเงินไปโปะโครงการที่ซุกซ่อนต่างๆ ในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ เรื่องของกองทุนประกันสังคม ที่หลายคนตายใจ ดูแล้วเหมือนกับว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินมากถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้าลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอกับสัญญาที่บอกไว้กับประชาชน เพราะความจริงเงินส่วนนี้ยังขาดอีกมาก รัฐบาลก็ต้องทุ่มเงินเข้าไปช่วยเพื่อให้ประกันสังคมอยู่ในได้ในช่วงหลัง

“เพราะฉะนั้น ถ้ารวมกันแล้วคิดว่าหนี้สาธารณะไม่ได้มีเพียงแค่ 44% นี้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ประเด็นที่ 2 ที่หลายคนกังวลใจและเป็นห่วงเรื่องประชานิยม คือ “พฤติกรรม” ของรัฐบาลที่เปลี่ยนไป โดยช่วงหลังคิดง่าย ทำง่าย คือ เมื่อคิดโครงการอะไรขึ้นมา แม้วงเงินจะเป็นจำนวนเงินไม่น้อย เช่น 4 แสนล้านบาท ก็มีความกล้าที่จะทำ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดที่ว่า “44% ไม่ใช่ปัญหา ยังสามารถใช้จ่ายได้อีก” และขณะเดียวกันก็ไม่มีความ “ระมัดระวัง” ในการใช้จ่ายเงินที่พูดถึง รวมถึงเราเริ่มเห็นรัฐบาลในช่วง 5-10 ปี มีข้อเสนอแนะเรื่องสวัสดิการสังคม ซึ่งแม้เป็นเรื่องที่ดี แต่จะมีภาระต่องบประมาณไปอีกนาน และต้องใช้เงินจำนวนมาก

อาทิเช่น เบี้ยคนชรา ทุกปีต้องจ่าย ช่วงแรกอาจจะจ่าย 40,000 ล้านบาท ช่วงหลัง 80,000 ล้านบาท หลังจากนั้นก็จะเป็นภาระที่ต่อเนื่อง นี่แค่โครงการเดียว ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้เราต้องให้สวัสดิการแก่ประชาชนทุกคน ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะทำไปเรื่อยก็จะมีปัญหา

“ยิ่งกว่านั้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทุกคนก็แห่กันประกวดว่าใครจะมีโครงการให้กับประชาชนมากที่สุด ประเภท marketing sale ประชานิยมต่างๆ ไม่น่าแปลกใจที่ต้องกังวลใจ สมัยก่อนพูดแล้วไม่ทำก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่สมัยนี้พูดแล้วจะทำให้ได้ตามที่สัญญากับประชาชน” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่มาภาพ :  http://www.bangkokbiznews.com
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com

ประเด็นที่ 3 หนี้สาธารณะที่เราพูดว่ากำลังเพิ่มขึ้น อย่างที่อดีตรองนายก (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร) บอกว่าจะไปถึง 60, 70, 80% เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี ซึ่งปกติแล้วเราจะยอมให้หนี้เพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี อย่างเช่นปี 2540 ปี 2551 ที่เกิดวิกฤติ เรายอมที่จะใช้จ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปได้ แต่ ณ ขณะนี้ เป็นครั้งแรกๆ ที่เมืองไทยเศรษฐกิจกำลังจะไปได้ดี แล้วเราทำให้รัฐบาลเป็นหนี้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ประมาณการว่าจะเป็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 50% ซึ่งรวมเงินกู้ 2 ล้านล้าน และเรื่องการบริหารจัดการน้ำเรียบร้อยแล้ว

“แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขที่หลายคนวิเคราะห์มาให้ดู จะมีตัวเลขโครงการต่างๆ ในประชานิยมที่ยังไม่นับ เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลพูดโครงการ 4 ล้านล้านบาท ซึ่ง 2 ล้านล้าน จะหาทางใส่เข้าไปที่หลัง ดังนั้น ถ้ารวมๆ กันแล้วผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าว

ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ดร.กอบศักดิ์ประเมินว่า มีโอกาสที่อีก 5 ปีข้างหน้า วิกฤติเศรษฐกิจโลกอาจวนมาถึงเอเชียอีกรอบหนึ่ง เพราะในช่วงที่เงินไหลเข้าจำนวนมากนั้นสร้างความเปราะบางให้เศรษฐกิจ และสุดท้ายอาจจบด้วยวิกฤติเศรษฐกิจในแถบนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เรามีความจำเป็นต้องใช้จ่ายกันรอบใหญ่อีกรอบหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยรอดผ่านไปได้ แต่ถ้าเราไม่เก็บออมกันในช่วงนี้ เมื่อวันที่ลำบากมาถึงจริง เราก็จะผ่านไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง ต้องใช้จ่ายอย่างกระเบียดกระเสียร

“ตรงนี้ขอพูดง่ายๆ ว่า ที่ถกเถียงกันว่า 44% มากหรือยัง ผมคิดว่า “กลางๆ” สำหรับประเทศที่ประหยัด ถือว่าไม่มาก แต่ถ้าเราทำตัวเป็นลูกเศรษฐีมือเติบ ใช้เงินเหมือนกับว่าพิมพ์เงินได้เอง ผมว่า 44% อาจขึ้นเพิ่มขึ้นเป็น 50 หรือ 60% ได้ และคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วพอสมควร” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

บทเรียน “ประชานิยม-รัฐใช้จ่ายเกินตัว” หนทางสู่วิกฤติ

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ยังบอกว่า ถ้าไปย้อนดูประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เราจะเห็นว่าผลกระทบของประชานิยมต่อเศรษฐกิจนั้นมีให้เห็นต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ปัญหาการเงินและการคลังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วง 40 ปีที่ผ่านมาวิกฤติการคลังทั่วโลกเกิดขึ้นประมาณ 63 ครั้ง ในบางประเทศเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราได้ยินกันตลอด ทั้งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ก็ต่างมีปัญหาการคลัง

ในช่วงก่อนหน้า ถ้าเราย้อนกลับไปในปี 1980 ก็มีวิกฤติทางภาคการคลังเกิดขึ้นบ่อยมาก ช่วงนั้นเป็นวิกฤติการคลังในกลุ่มลาตินอเมริกา ซึ่งมีการกู้หนี้ยืมสินเก่งมาก โดยนำมาใช้ในโครงการที่เราพูดกันบ่อยๆ คือ โครงสร้างพื้นฐาน พอหลังจากนั้นก็ทำให้เกิดหนี้เกือบ 50% ในเวลาไม่กี่ปี จากนั้นก็เกิดโศกนาฏกรรม เรียกว่า “ตายหมู่” ของกลุ่มประเทศเหล่านั้น

ที่มาภาพ : http://kevingilmour.net/
ที่มาภาพ: http://kevingilmour.net/

หลังวิกฤติปี 1997 ที่เมืองไทย ก็มีประเทศต่างๆ เกิดวิกฤติการคลัง เช่น รัสเซีย ในปี 1998 มีปัญหาฐานะการคลัง ต้องหยุดพรรคชำระหนี้ หรืออาร์เจนตินา ในปี 2002 ก็ประกาศพักชำระหนี้เช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งเมืองไทย ที่เราจะรู้สึกว่าหนี้ไม่ค่อยเยอะ รัฐบาลมีวินัยในช่วงที่ผ่านมา แต่ความจริงเมืองไทยก็เคยเกิดปัญหาหนี้ภาครัฐและปัญหาวินัยทางการคลังมาแล้วในสมัยปี พ.ศ. 2493-2502 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว เบิกเงินเกินบัญชี สุดท้ายต้องไปกู้ยืมแบงก์ชาติมาซื้อตั๋วทางการคลังเหล่านั้น

“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ ถ้ากลับไปดู ปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร ที่ทำให้ประเทศต่างๆ เกิดปัญหาวิกฤติการคลังซ้ำแล้วซ้ำอีก คำตอบชัดเจนว่ามาจากการใช้จ่ายเกินตัว มาจากความไม่พอเพียงของภาครัฐ กู้ยืมมากในส่วนของของในและต่างประเทศ ช่วงหลังบางคนบอกว่ากู้ในประเทศไม่เป็นไร แต่มีตัวอย่างว่ากู้ในประเทศก็เจ๊งได้เช่นเดียวกัน อาทิ เม็กซิโก และยุโรปปัจจุบันก็กู้ในประเทศทั้งนั้น ซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายไม่ระมัดวัง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

มีตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศที่ใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง เช่น กรีซ กู้ไปใช้โครงการประชานิยมเพื่อซื้อใจประชาชนให้รักรัฐบาล ในที่สุดก็มีปัญหาหนี้สาธารณะ

นอกจากกรีซแล้ว ดร.กอบศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีของสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีวินัยการคลังที่ดี แต่สิ่งที่ “ฆ่าสเปน” ซึ่งอยากให้เป็นตัวอย่าง “เตือนใจ” ประเทศไทย คือ สเปนมีสวัสดิการสังคมที่ใจดีจนเกินไป ในช่วงเศรษฐกิจดีไม่เห็น แต่ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจะมีปัญหา คือ เขากำหนดว่า ช่วงตกงานจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล 70% ของเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน และหลังจากนั้นได้รับอีก 50% เป็นเวลา 18 เดือน รวมกันแล้วตกงานไม่ต้องทำอะไร ได้เงินจากรัฐบาลเป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ถ้าคนตกงาน 7% ก็รับได้ แต่ปัจจุบันคนตกงานที่สเปน 20% จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลที่มีหนี้ไม่เยอะ แต่สุดท้ายก็เจ๊งได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤติทางการคลังยังมาจากการ “ปกปิด” ไม่ยอมรับความจริงเรื่องหนี้ภาครัฐ บางประเทศมีการซุกซ่อนหนี้ไว้นอกงบประมาณ เช่น กรณีของกรีซ ใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ ซุกซ่อนหนี้ไว้นอกงบประมาณ ส่วนกรณีอาร์เจนตินา ซุกซ่อนไว้ที่รัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น

ประโยคที่ชอบพูดกันว่า “ประเทศผมมีหนี้ไม่มาก ยังใช้จ่ายได้อีก” ดร.กอบศักดิ์บอกว่า คือประโยคที่ประเทศที่เกิดวิกฤติพูดกันมาก่อน

4 ปัจจัยเสี่ยงของนโยบายประชานิยม

การใช้จ่ายในนโยบายประชานิยมและการมีหนี้จำนวนมาก มีความเสี่ยงที่ต้องกังวลใจเมื่อมองจากมุมมองของเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากการแทรกแซงระบบตลาดทำให้เกิดการบิดเบือนไปแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องคิดอย่างจริงจังอีก 4 เรื่อง ได้แก่

1. ความน่าเสียดายในการใช้เงินเหล่านั้น เนื่องจากโครงการเหล่านั้นมีผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศชาติไม่มากนัก ขณะเดียวกันยิ่งคิดโครงการง่าย ความเสียหายก็ยิ่งมาก

“ผมคิดว่าเป็นประเภทการเอาเงินไปทิ้งแม่น้ำ และถ้าคิดว่าเราเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนประชานิยม แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คิดว่าจะสร้างอนาคตประเทศชาติได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง”

2. เบียดบังอนาคตประเทศ ถ้ายังใช้เงินแบบเป็นหนี้มากๆ บอกได้เลยว่างบลงทุนไม่ต้องพูดถึง เพราะแค่ภาระจ่ายดอกเบี้ยและหนี้ต่างๆ ก็จะกินงบประมาณส่วนอื่นไปหมด ที่ไม่ใช่งบประจำหรืองบเงินเดือนซึ่งไม่สามารถเบียดบังได้

3. ความคล่องตัวของรัฐบาลในการดูแลปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงไปหากเกิดเหตุขับขันขึ้นมา เพราะรัฐบาลไม่มีพื้นที่หรือช่องว่างทางการคลังที่จะดูแลได้ สุดท้ายก็จะลากยาวเหมือนที่เกิดขึ้นที่ยุโรปในปัจจุบัน ที่สำคัญ ทุกอย่างที่เราทำในวันนี้ อีก 5-6 ปีให้หลังจะเป็น “ชนวน” ให้เกิดวิกฤติขึ้นมาได้

4. เมื่อมีหนี้มากขึ้น จะถูกทุกคนจับจ้องมาก และมีคำถามว่ารัฐบาลจะจ่ายหนี้คืนได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติการคลังเสร็จแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยทำการทดลองและศึกษาพบว่า ประเทศที่เกิดวิกฤติจะมีหนี้เฉลี่ย 70-80%

“ดังนั้น พอเห็นตัวเลขที่มีการพูดถึงกันก็เริ่มหนักใจ เพราะเรากำลังไปสู่จุดนั้น” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า ประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติการคลังจะต้องเผชิญปัญหาที่น่ากลัวคือ

มีปัญหา “ต้นทุน” เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5%
มีปัญหา “ไม่สามารถกู้ยืมต่างประเทศ” ได้อีกอย่างน้อย 3-5 ปี
มีปัญหา “การค้าระหว่างประเทศ” ลดลงอย่างน้อย 10%
และขณะเดียวกัน ปัญหาอาจจะลุกลามไปถึงเรื่องค่าเงิน เรื่องของสถาบันการเงิน เรื่องของเศรษฐกิจ
แล้วโดยมากพบว่า “จีดีพี” ของประเทศเหล่านี้จะลดลง 10% ในช่วง 8-10 ปีให้หลัง

แต่ที่น่า “เสียดาย” ที่สุด คือ “เสียโอกาส” ในการพัฒนาประเทศ

“เราบอกจะเร่งพัฒนาประเทศในช่วงนี้ แต่ประเทศเหล่านั้นประสบปัญหา 10 ปีที่ไม่มีการพัฒนาขึ้นเลย เช่น ญี่ปุ่น 20 ปีแล้ว แม้แต่ลาตินอเมริกาก็เป็น 20 ปีแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราต้องพูดตั้งแต่วันนี้ วันที่หนี้ยังไม่มากเกินไป คือที่สัดส่วน 44% ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่เราวางกรอบไปได้ ถ้าเรารอให้ปัญหาเกิดขึ้นมาแล้วมานั่งถกเถียงกัน นั่นคือเรามาล้อมคอกเมื่อสายเกินไป” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง

“ธีระชัย” เสนอ 6 แนวทางสร้างกติกาบริหารเศรษฐกิจยั่งยืน

ขณะที่นายธีระชัยแสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ถึงเวลาต้องตีกรอบการบริหารเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น” และพยายามเสนอแนวคิดการตั้งกติกาใหม่ สำหรับการบริหารเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ทุกครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อทุกรูปแบบ เพื่อ “จุดประกาย” และผลักดันให้เป็นรูปธรรม

นายธีระชัยเริ่มตั้งแต่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่า กว่า 80 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 17 ฉบับ ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในการแก้รัฐธรรมนูญ 17 ฉบับ มีการแตะเรื่องเศรษฐกิจน้อยมาก การแก้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มักเป็นเหตุผลทางการเมือง

สาเหตุเพราะช่วง 70 ปีแรกของ 80 ปีที่ผ่านมา การทำเศรษฐกิจบริหารด้วยระบบราชการ ซึ่งราชการจะเสนอแนวคิด นักการเมืองก็ทำตาม ดังนั้น ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยนั้น นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ จะคล้ายกัน เมื่อราชการเป็นหลักในการเสนอนโยบายเศรษฐกิจมหภาคก็จะไปตามหลักวิชาการ แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง

อย่างแรก คือ เดิมเราใช้ “ข้าราชการนำการเมือง” มาพลิกกลับกลายเป็น “นักการเมืองนำข้าราชการ”

อย่างที่สอง มีการนำ “ประชานิยมอย่างเต็มรูปแบบ” มาใช้เป็นครั้งแรก และเป็นการใช้ที่มีการพลิกแพลงในการเชิงการตลาด จนสามารถชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้จนถึงทุกวันนี้

นายธีระชัยระบุว่า นโยบายประชานิยมก็มีข้อดี แต่ประเด็นข้อเสียก็เกิดขึ้นได้ถ้าบริหารจัดการไม่ดี อาทิ การรับจำนำข้าวโดยใช้ปริมาณเป็นหลัก ก็ทำให้คนไม่สนใจคุณภาพข้าว การอุดหนุนรถคันแรกก็ทำให้คนไปสร้างหนี้ครัวเรือน ตรงนั้นเป็นข้อกังวลอันหนึ่ง แต่มีข้อกังวลมากกว่านั้น โดยถ้าดูตัวอย่างต่างประเทศในเรื่องประชานิยมจะสรุปได้ 3 ข้อ

ข้อแรก ใช้แล้วเสพติด ถอนตัวไม่ขึ้น เลิกไม่ค่อยได้

ข้อสอง เมื่อนำมาเป็นอาวุธในการเลือกตั้ง จะแตกแขนงใช้ไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น

ข้อสาม นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตได้

“เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เราน่าจะคิดในการที่จะวางกรอบ ตีกรอบ เหมือนเป็นถนนเส้นหนึ่ง ที่รัฐบาลจะไม่เดินหลุดจากขอบนี้ออกไป ผมมีข้อเสนอทั้งหมด 6 เรื่องด้วยกัน เป็นแนวคิดที่อาจยังไม่สมบูรณ์ หรืออาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนต่อในบางจุด แต่ไม่เป็นไร เพราะผมอยากเป็นคนจุดประกาย” นายธีระชัยกล่าวว่า

เรื่องที่ 1 ควรมีการวางกรอบของแหล่งเงิน ถ้าเราแบ่งเป็นประชานิยมที่จำเป็นแห่งชีวิต และประชานิยมที่ไม่จำเป็นแห่งชีวิต เช่น การช่วยเหลือเกษตรกร การอุดหนุนรถยนต์คันแรก นโยบายประเภทหลังควรตั้งกติกาให้รัฐหารายได้มาชดเชย เช่น ต้องเก็บภาษีเพิ่ม หรือลดค่าใช้จ่ายอย่างใดอย่างหนึ่งลง วิธีนี้น่าจะทำให้ปัญหาในเรื่องประชานิยมเบาลง

เรื่องที่ 2 การแข่งขันทางการเมือง เราควรจะวางกรอบว่า พรรคการเมืองไหนก็ตาม ถ้าประกาศนโยบายประชานิยมในการหาเสียง ควรประกาศด้วยว่าจะใช้เงินเท่าไร และเอาเงินจากไหน ถ้าจะเก็บภาษี ต้องบอกว่าเก็บภาษีอะไร ประชาชนจะได้เข้าใจว่ามีทางได้และมีทางเสีย ไม่ใช่มีแต่ทางได้ และต้องบอกด้วยว่าทางเสียจะเกิดเมื่อไร

ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญประกาศไว้ นโยบายที่ประกาศแล้วต้องทำ ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องได้ เมื่อเป็นแบบนี้ นโยบายประชานิยมที่ประกาศต้องให้ประชาชนเห็นภาพทั้งสองด้าน

เรื่องที่ 3 ควรกำหนดกรอบว่า ในการรับจำนำสินค้าเกษตร ห้ามรัฐบาลจำนำเกินกว่าราคาตลาด การช่วยเหลือเกษตรควรเป็นแนวทางที่เห็นด้วย แต่การช่วยมีสองส่วน คือ เรื่องเงินหมุนเวียนหรือกระแสเงินสด กับอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการอุดหนุนต้นทุน ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ควรนำมาปนกัน โดยการช่วยเหลือกระแสเงินสด ใช้ระบบจำนำถูกต้อง แต่การช่วยเหลือแบบอุดหนุนไม่ควรจะใช้ระบบจำนำ ควรจะเป็นการจ่ายอุดหนุนโดยตรงให้เกษตรกร หรือถ้าจะทำสูงกว่าราคาตลาด ก็ต้องใช้วิธีซื้อเข้ามา

เรื่องที่ 4 ดูตัวอย่างในต่างประเทศ ถึงเวลาที่จะให้ “รัฐสภา” ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันดูแลมากเฉพาะฝั่งรายจ่ายผ่านกระบวนการงบประมาณ ถึงเวลาให้รัฐบาลต้องเสนอแผนงานต่อรัฐสภาทุกปีทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านรายได้ ด้านรายจ่ายงบประมาณ และการสร้างหนี้สาธารณะ และเมื่อเสนอแล้วต้องปฏิบัติตามนั้น โดยระบุว่า ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา ควรเขียนในกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี “หน้าผาการคลัง” ของประเทศไทยเกิดขึ้น คือ มีข้อกำหนดว่า ห้ามรัฐบาลใช้จ่ายชั่วคราว เช่น ห้ามจ่ายเงินเดือนข้าราชการจนกว่าจะหาวิธีหรือมาตรการแก้ปัญหาแล้วนำมาเสนอกับรัฐสภาจนกว่าจะตกลงกันได้

เรื่องที่ 5 ควรมีการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลผ่านกระทรวงการคลัง ทำการประเมินภาระหนี้สาธารณะของรัฐให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ ทั้งภาระปัจจุบันและภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำทั้งโครงการที่จบแล้วและโครงการที่ยังไม่จบ ในส่วนโครงการที่ยังไม่จบก็ต้องทำการคาดการณ์ความเสียหายล่วงหน้าด้วย แล้วประกาศตัวเลขพร้อมรายละเอียดเป็นประจำทุกไตรมาสให้ประชาชนทราบ

แนวทางนี้จะเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ดี ทำให้รัฐบาลมีข้อกังวล จะได้เริ่มวางแผนไว้บ้าง

เรื่องที่ 6 ขบวนการกู้เงินนอกระบบงบประมาณต้องทำเฉาะเรื่องเร่งด่วนจำเป็นเท่านั้น ในอดีต รัฐบาลกู้เงินนอกระบบงบประมาณทำเรื่องไทยเข้มแข็ง ต่อมาทำเรื่องบริหารจัดการน้ำ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็พอเข้าใจได้

แต่พอมาใช้กระบวนการนี้กับโครงการลงทุนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นโครงการลงทุนใหญ่โตมโหฬารต่อเนื่องหลายปี และทำนอกระบบงบประมาณ “ผมว่าแปลก” งบประมาณรัฐบาลสามารถใช้ได้ทั้งงบประจำและงบลงทุน

เพราะฉะนั้นเสนอว่า ควรมีการวางกรอบโดยแก้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า การกู้เงินและการอนุมัติโครงการต่างๆ ควรปิดช่องให้ทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน

“ผมคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราเน้นเรื่อง Governance Rule ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นที่ถกเถียงในอดีต แต่ถึงเวลาที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราในอนาคตควรมาเน้น Economic Rule เพราะ Rule of Law จะต้องครอบคลุมทั้งสองด้าน” นายธีระชัยกล่าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอออกกฎหมายบังคับรัฐ “เปิดข้อมูล-โปร่งใส”

ด้าน ดร.นิพนธ์ ผู้ถูกเรียกขานว่า “ขาประจำ” ในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายประชานิยม ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่อง “ข้อมูลข่าวสาร” เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงจากการนั่งอยู่ในกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เริ่มต้น คือ ปี 2542 จนปัจจุบันแล้วพบปัญหาคือ

หลักการข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ ข้อมูลของรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลที่เป็นความลับต้องยกเว้น แต่หลักปฏิบัติของราชการไทย คือ ข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ ตรงข้ามกับกฎหมาย และนักการเมืองมีอำนาจดำเนินนโยบาย แต่ไม่มีภาระต้องรายงานต่อรัฐสภาและสาธารณะ ดังนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ประชาชนต้องไปขอ แต่เวลาไปขอข้าราชการก็ปฏิเสธก่อน และหาทางตุกติกเพื่อไม่ให้ข้อมูล เป็นการสร้างภาระต้นทุนต่อประชาชน

เพราะฉะนั้น แม้ประเทศไทยมีกฎหมายทางการคลังไม่แพ้ต่างประเทศ มีตั้งแต่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และการออกกฎหมายรัฐธรรมนูญหมวด 8 ปี 2550 มีการกำหนดให้ออกกฎหมายวินัยการเงิน การคลัง ซึ่งยังไม่มีการประกาศออกใช้ และแม้จะมีการตรากฎหมายให้มีบทบัญญัติที่เข้มงวดเพื่อจำกัดการใช้เงินนอกงบประมาณ หรือการกู้ยืมโดยไม่ค้ำประกัน

แต่ ดร.นิพนธ์เชื่อว่าจะได้ผลไม่มาก เพราะนักการเมืองจะมีวิธีหลีกเลี่ยง จึงเสนอว่า แนวทางการสร้างวินัยทางการคลังที่สำคัญควรมี “กฎหมายบังคับให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล” เกี่ยวกับภาระหนี้ผูกพันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การทำระบบบัญชีคงค้างสำหรับโครงการที่ยังไม่จบอย่างที่นายธีระชัยเสนอ เพื่อประมาณการภาระหนี้พวกนี้ การจัดการทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังเสนอต่อรัฐสภา สร้างระบบการบริหารความเสี่ยงด้านการคลัง ตลอดจนมีหน่วยงานวิชาการที่เป็นอิสระในรัฐสภา

โดยควรให้มีการตั้งหน่วยงานอย่างสหรัฐเอมริกาทีเรียกว่า CBO (Congressional Budget Office) ขึ้นมาในรัฐสภา ทำการวิเคราะห์เรื่องการเงิน การคลัง ทั้งประจำปีและในอนาคต 5 ปี 10 ปี 15 ปีข้างหน้า เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และเวลาตรวจสอบหรือกำกับรัฐบาล จะได้ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

“การตั้งหน่วยงานวิเคราะห์เรื่องการเงินการคลัง เราอาจต้องผสมรูปแบบของแคนนาดา ส่วนสหรัฐอาจไม่ตรงกับประเทศไทยเท่าไร ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่ เป็นทิศทางของกระบวนการประชาธิปไตยที่จะต้องมีความรับผิดและโปร่งใส และนี่คือทิศทางที่อยากจะเห็นให้เราเดินไปทางนี้” ดร.นิพนธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.นิพนธ์เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายธีระชัย โดยเฉพาะการที่ให้รัฐบาลต้องแถลง ทำตัวเลขต่างๆ และรายงานต่อรัฐสภา หรือเวลาทำรายจ่ายประจำปีก็ต้องทำรายได้ด้วยว่าจะหามาอย่างไร และการมีหน้าผาการคลัง เป็นการสร้างระบบที่สร้างวินัยให้รัฐบาล ทำให้ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลเริ่มตระหนัก

“แต่จะไปบังคับเขาบอกว่า ห้ามจำนำเกินราคาตลาด สงสัยจะยาก มีบางเรื่องไม่ง่าย แม้กฎหมายเขียนได้ อย่างในฝรั่งเศส ในเยอรมัน ก็มีกฎหมายที่เรียกกว่า Golden Rule หรือ “กฎทอง” ซึ่งเข้มมาก แต่ใช้ไม่ได้ผล มีวิธีหลีกเลี่ยง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้พอสมควร” ดร.นิพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร..นิพนธ์ระบุว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือ “ไม่รู้ว่าหนี้มีเท่าไร”

พร้อมยกตัวอย่างว่า ในกรณีกรีซ จริงๆ รัฐบาลก็ไม่รู้ว่าตัวเองสร้างภาระหนี้เท่าไร หรือกรณีประเทศไทย ไปถาม “รัฐมนตรีบุญทรง เตริยาภิรมย์” ว่า วันนี้จะขาดทุนจากจำนำข้าวเท่าไร จะเกิดหนี้เท่าไร หรือถามรัฐมนตรีแต่ละคนเลยว่า เวลานี้เรามีภาระนี้เท่าไร “ผมเชื่อว่าเขาไม่รู้”

“นั่นคือปัญหาสำคัญที่สุดของบ้านเมืองนี้ คือ เราไม่รู้ปัญหาของเราว่ามันคืออะไร และถ้าไม่รู้ เราก็เพลินกับการใช้เงิน การเป็นนักการเมืองสนุกมากกับการใช้เงิน แล้วไม่ต้องมีภาระในการรายงานอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นใครๆ ก็อยากเป็น” ดร.นิพนธ์กล่าว

“นิพนธ์” ห่วงภาระหนี้ผูกพันฯ เพิ่ม เสี่ยงเกิดวิกฤติการคลัง

ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกพรรคนิยมใช้เงิน “นอกงบประมาณ” ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐเอามาดำเนินนโยบายประชานิยม เรียกว่า “กิจกรรมกึ่งคลัง” ซึ่งทำให้เกิด “ภาระหนี้ผูกพันในอนาคต” (Contingent Liability)

กิจกรรมกึ่งคลัง เป็นการทำตามนโยบายรัฐบาลโดยใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินของรัฐหรือหน่วยงานอื่นก็ได้ เช่น ธนาคารประชาชน การพักชำระหนี้ พวกนี้เป็นปัญหากิจกรรมกึ่งคลัง

ปัญหากิจการกึ่งคลังมักนำไปสู่การก่อหนี้ในอนาคต ทำให้ดุลงบประมาณไม่สะท้อนความเป็นจริง บิดเบือนขนาดแท้จริงของภาครัฐ และถ้าใช้กิจการกึ่งคลังมากจะเกิดผลกระทบต่อลูกหลาน ที่สำคัญ กิจการกึ่งคลังไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา

“ภาระหนี้ผูกพันในอนาคตที่เกิดจากกิจกรรมกึ่งคลังเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น และจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลัง ซึ่งจะร้ายแรงจนทำให้เกิดวิกฤติได้เหมือนที่เกิดวิกฤติการเงินโลกในสหภาพยุโรป” ดร.นิพนธ์กล่าว

ที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยบอกว่ามีหนี้น้อยเพียง 44% แต่เรามีความเสี่ยงจากเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก แล้วเงินทุนไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรเป็นจำนวนมาก แต่วันที่เงินไหลออกจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าค่าเงินบาทไหลอ่อนค่าลง แล้วฐานะการคลังไม่ดีอย่างที่ ดร.กอบศักดิ์บอก แบบนี้ประเทศไปเลยนะ ถ้าค่าเงินตก

“นี่คือความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดขึ้น” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว

ดร.นิพนธ์กล่าวต่อไปว่า ทีดีอาร์ไอได้ทำการประมาณการขนาดของหนี้สาธารณะเมื่อเดือนมกราคมต้นปีที่ผ่านมา พบว่าภาระการก่อหนี้ในโครงการของรัฐมีโอกาสทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเกิน 60% ถ้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 6% ต่อเนื่อง และมีการคาดคะเนว่า ถ้าเศรษฐกิจโต 4% จะเกิดปัญหาว่าปี 2558 จะเกิน 60% แต่ถ้าเศรษฐกิจโตเกิน 6% ไม่เป็นไร

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

ดร.นิพนธ์มีความเห็นว่า ประเทศไทยมีนโยบายควบคุมกิจกรรมกึ่งคลังและภาระหนี้โดยมีการตรากฎหมายที่เข้มงวดใกล้เคียงประเทศอื่น แต่นักการเมืองมีหนทางหนีและหลีกเหลี่ยงได้ เพราะฉะนั้น กฎหมายที่ตราใหม่ต้องเน้น “เปิดข้อมูลมีความโปร่งใส” ต่อสาธารณะ และรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ว่าข้อมูลที่ทำมาต้องถูกต้อง และควรทำบัญชีภาระหนี้ให้รัฐสภามีบทบาทตรวจสอบกิจการกึ่งคลังและภาระหนี้ในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม ควรแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณซึ่งเก่ามาก ใช้มาตั้งแต่ปี 2502 โดยกำหนดให้รัฐบาลนำเสนอแผนรายได้เหมือนในฝรั่งเศสและเยอมัน จะได้สร้างวินัยไปในตัว ซึ่งจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐในกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายด้านการเงินการคลัง” ดร.นิพนธ์กล่าว

“ดร.เอื้ออารีย์” เผย กฎหมายวินัยการเงินการคลังผ่านกฤษฎีกาแล้ว

ส่วนนักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.เอื้ออารีย์ มีความเห็นว่า ในส่วนของบริบททางกฎหมายมี 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก ภาพรวมของสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมเรื่องการเงินการคลังไว้เป็นเรื่องเดียวกัน และมีความชัดเจนโดยกำหนดไว้ในหมวดที่ 8 เรื่องการเงิน การคลัง และงบประมาณ มีทั้งหมดประมาณ 5-6 มาตรการ โดยหลักการที่ดียังคงอยู่ดังเดิม เช่น การออกกฎหมายรายจ่ายประจำปีต้องผ่านรัฐสภา ส่วนเรื่องใหม่ๆ ก็เช่น มาตรา167

แต่ที่น่าสนใจคือ ในมาตรา 167 วรรคสาม เขียนไว้ว่า ให้มีกฎหมายการเงิน การคลังของรัฐ เพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ ร่างกฎหมายการเงินการคลังของรัฐได้ผ่านขั้นตอนตรวจร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และน่าจะมีผลบังคับใช้ได้เร็ววัน

“ถามว่ากฎหมายการเงินการคลังออกบังคับใช้ช้าไปไหม โดยหลักกฎหมายนี้ในช่วงแรกหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องออกมาบังคับใช้ภายใน 2 ปี หลังรัฐบาลแถลงนโยบาย ซึ่งในรัฐบาลที่แล้วไม่ทัน แต่ถ้าดูในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถือว่ายังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายนี้จะออกมาบังคับใช้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด” ดร.เอื้ออารีย์กล่าว

หนุนข้อเสนอแก้กฎหมายให้รัฐสภากำกับทั้ง “รายจ่าย-รายรับ” ของรัฐ

ส่วนที่สอง ดร.เอื้ออารีย์กล่าวถึงเรื่องนโยบายประชานิยมว่า ข้อเสนอของนายธีระชัยเรื่องบทบาทของรัฐสภาที่ควรเข้ามาดูในเรื่องการอนุมัติงบประมาณมีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยน่าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศหรืออาจเป็นประเทศเดียวที่บอกว่า การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละครั้งจะพูดเฉพาะงบประมาณรายจ่าย

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะแรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่มีการบังคับใช้การอนุมัติงบประมาณ เราให้รัฐสภาเข้ามาตรวจสอบทั้งงบประมาณขาเข้าและขาออก หรือทั้งสองขาเลย แต่ในปี 2502 เรามีแนวคิดว่า การหาเงินและการหารายได้เข้ารัฐเข้าประเทศควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐสภาก็มีหน้าที่ดูแลเงินออกพอแล้ว ส่วนขาเข้ารัฐบาลก็ทำหน้าที่ดูแลไป

“กลายเป็นว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องให้รัฐสภาอนุมัติ เราจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับแหล่งเงินที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นงบประมาณแต่ละปี กู้มาหรือไม่อย่างไร” ดร.เอื้ออารีย์กล่าวและเสนอว่า

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตรงนี้ ทำให้รัฐสภากลับเข้าไปมีบทบาทในเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ของรัฐบาล เพื่อให้รัฐสภาสามารถเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ ช่วยกันพิจารณาได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยทำมาแล้ว แต่เรายกเลิกไปกว่า 50 ปี บวกกับสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ควรจะทำให้หลักเกณฑ์เดิมกลับมาใหม่ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต่อนโยบายประชานิยมหลายเรื่อง ดร.เอื้ออารีย์บอกว่า “เห็นด้วย” เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และประชานิยมอาจเป็นเรื่องความนิยมของประชาชน เพียงแต่ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่พรรคการเมืองต่อไปนี้จะกล้าพูดเรื่องหลักเศรษฐกิจจริง เพราะประชานิยมเป็นเรื่องการนำเสนอ “ลดแหลก แจกกระจาย” ให้กับประชาชนปีต่อปี หรืออาจจะ 2 ปี แต่รัฐบาลไหนกล้าที่จะบอกว่า นโยบายเหล่านี้จะกลายเป็นรัฐสวัสดิการ

“แนวคิดรัฐสวัสดิการมีมานานแล้ว ตั้งแต่อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราเอาแนวคิดทุนนิยมมาใช้มาก ทำให้เกิดการแข่งขัน แต่ทำให้การกระจายรายได้แคบลง ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างคนจนคนรวยกว้างมากขึ้นด้วย” ดร.เอื้ออารีย์กล่าวพร้อมตั้งคำถามว่า ประชานิยมอาจตอบโจทย์ตรงนี้หรือไม่

คำตอบคือ อาจมีบางโครงการ แต่บางโครงการก้ำกึ่ง เช่น รถคันแรก ซึ่งรัฐบอกเป็นนโยบายยกระดับให้คนจนมีรถใช้ แต่ประเด็นคือ คนที่เข้ามาใช้สิทธิตรงนี้จริงๆ เป็นคนจนจริงหรือไม่ รัฐบาลมีการตรวจสอบตรงนี้อย่างไร หรือมีการไปเอาสิทธิ์คนแก่หรือคนไม่มีใบขับขี่มาใช้ ในส่วนนี้สรรพสามิตยอมเสียรายได้ ดังนั้น ถ้ามีคนตุกติกไปหาตัวแทนมาสวมสิทธิ์อย่างนี้ รัฐบาลทำอย่างไร มีบทลงโทษหรือไม่

“จะเสนอว่า ถ้ารัฐบาลตรวจพบว่าคนใช้สิทธิไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย แต่กลับมาใช้สิทธิ์รถคันแรก สวมสิทธิ์คนอื่นมา จะสามารถไปปรับเขาได้ไหม สัก 3 เท่าของรายได้ที่ลดลงของกรมสรรพสามิต เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูสักหน่อย” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

แนะตั้ง “ศาลบัญชี” เหมือนฝรั่งเศส ตรวจเข้มงบประมาณ

ส่วนที่สาม ทางออกและข้อเสนอแก้ปัญหาประชานิยม ดร.เอื้ออารีย์ยกตัวอย่างที่น่าสนใจของต่างประเทศ คือ ปัจจุบัน ฝรั่งเศสใช้วิธีการตรวจเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณไปแล้วแต่ละปีโดยผ่านทางศาลที่เรียกว่า “ศาลบัญชี” ระบบนี้คือผู้พิพากษามีการสอบเข้าและโยกย้ายไม่ได้ มีความเป็นอิสระ

“แนวคิดนี้เกิดในไทยคือ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) คือได้แนวคิดมาจากศาลบัญชี แต่ความเชี่ยวชาญของบุคลากรเรายังไม่ไปถึงตรงนั้น เราจึงสร้างในลักษณะองค์กรอิสระก่อน โดยฝันว่าเราจะไปได้ไกลอย่างศาลบัญชี” ดร.เอื้ออารีย์กล่าว

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่าง “วัฒนธรรม” ของคนฝรั่งเศส ที่ควรนำมาเป็นตัวอย่าง คือ วัฒนธรรมการตรวจสอบงบประมาณของประชาชนฝรั่งเศสที่เสียภาษีแต่ละปีค่อนข้างเข้มงวด โดยผ่านระบบการตรวจสอบของศาลบัญชี ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

บทบาทหน้าที่ของศาลบัญชีคือตรวจสอบบัญชี แต่ที่น่าสนใจคือ มีการตรวจสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้งบประมาณของรัฐบาลด้วย และแต่ละปีศาลบัญชีจะจัดทำรายงานประจำปีว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่ และนำไปยื่นให้ประธานาธิบดีโดยตรง โดยรายงานประจำปีของศาลบัญชีจะมีลักษณะเป็นการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ว่า งบประมาณที่ขอไปและการกู้ยืมไปใช้จ่ายในรอบปีเกิดผลแค่ไหน ถ้าไม่ดี ศาลบัญชีจะวิจารณ์โดยไม่ไว้หน้า พร้อมเสนอทางออกให้ด้วย

“สิ่งที่รัฐบาลกลัวคือ ถ้าถูกวิจารณ์เสียหาย การของบประมาณจะยากขึ้นในปีต่อไป เพราะประชาชนจะจับจ้องว่า จะเอางบไปทำอะไร ขอเท่าไร ใช้จ่ายอะไร” ดร.เอื้ออารีย์กล่าว

ที่สำคัญ วันที่ประธานศาลบัญชียื่นรายงานประจำปี วันนั้นจะเป็น “วาระแห่งชาติ” ประชาชนฝรั่งเศสทุกคนจะคอยจ้องมองว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีที่เขาเสียไปทำอะไร ได้ประโยชน์มากน้อยกลับมาแค่ไหน รวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงจะคอยจ้องว่า ศาลบัญชีได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรไว้บ้าง นี่คือวัฒนธรรมของเขา

“ยังมองประเทศอย่างมีความหวังว่าจะไปในลักษณะนั้นมากขึ้น” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

นั่นคือแนวความคิดและความเห็นของกูรูผู้รู้ทุกท่าน ที่แสดงความเป็นห่วงและนำเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาการใช้จ่ายไม่ระมัดระวังของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม

ในช่วงท้ายของการสัมมนาฯ มีการสรุปถามความคิดเห็นของวิทยากรทุกคน และแสดงมุมมองเกี่ยวกับจังหวะการเดินหน้าต่อจากนี้ไป เพื่อให้แนวคิดที่เสนอมาเป็นรูปธรรม ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

จี้ “วุฒิสภา” เดินหน้าวางกลไกกฎหมายสร้างวินัยการคลัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ทั้งหมดเห็นด้วยว่า เรื่องประชานิยมต้องมีกรอบ กรอบที่เสนอมา จุดที่เราต้องเดินต่อคือ ถ้าคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เห็นด้วย ต้อง “รวมพลัง” เหล่านี้ไปปิดประตูนั่งคุย เพื่อหาจุดร่วมที่ตรงกัน จบแล้ววางแผนเดินต่อไป

“ผมคิดว่า พลังของความต้องการทำดี พลังของความดี ในที่สุดจะสร้างกรอบให้คนที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะดิ้นไม่ได้ แต่ต้องสร้างกรอบให้ทุกระดับทั้งข้างล่าง ข้างบน ด้านข้างๆ เพื่อหวังผลให้ประชาชนได้รู้ จำต้องออกสื่อทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศชาติ แต่ประเด็นคือ กรรมาธิการฯ จะเอาด้วยหรือเปล่า เห็นด้วยหรือเปล่า” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ดร.นิพนธ์เห็นด้วยว่า “การรวมกันเป็นพลัง” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต้องเริ่มต้น ถ้าปล่อยไปแบบนี้ เราเริ่มมองเห็นอนาคตรางๆ แล้วว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคนเป็นรัฐบาลปัจจุบันไม่ต้องรับผิด ระบบปัจจุบันนี้ไม่ใช่ระบบที่จะสร้างความรับผิดขึ้นมาได้ เป็นเรื่องที่วุฒิสภาต้องคิดกัน แล้วทำให้คนที่เป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศ นอกจากความโปรงใสแล้ว ต้องมีความรับผิด

ขณะเดียวกัน นายธีระชัยเห็นด้วยที่ต้องมีการระดมความคิดเพื่อหาจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเสนอ คือ ทางวุฒิสภา พอได้ข้อสรุปที่ตกผลึกชัดเจนแล้ว ต้องทำให้เป็นวาระที่สนใจ เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความสนใจให้เกิดการถกเถียงการหาทางออกเรื่องนี้ในทุกสถาบันการศึกษา ทุกเวที และต้องทำทั่วประเทศ

“การทำให้เรื่องให้น่าสนใจต้องไปย้ำว่า เงินเราเอง เราไม่มีการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ก็จะไม่มีใครทำ” นายธีระชัยกล่าว

“หนุน” สร้างกติกาใหม่ รักษาวินัยคลังในอีก 50 ปีข้างหน้า

ด้าน ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า เอกชนก็มีความเป็นห่วงประเทศชาติ ถ้าวันไหนประเทศชาติลำบากขึ้นมา เกิดวิกฤติ เอกชนก็ล้มหายตายจากเช่นเดียวกัน เอกชนก็มีความปรารถนาอยากจะให้มีกรอบใหม่

“ที่บอกว่าเรามีกฎกติกามากขนาดนี้ แต่ทำไมเดินมาได้ถึงขนาดนี้ ผมคิดว่ากติกาที่เราพูดไว้มันเป็นกติกาเก่า ทำมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่บริบทขณะนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่เรื่อสำคัญกว่านั้นคือ เด็กได้เปลี่ยนไปแล้ว เด็กสมัยเก่าซื่อๆ ตรงๆ เด็กสมัยนี้ฉลาด มีลูกเล่นแพรวพราว และหาช่องโหว่ได้ทุกจุด เราก็ต้องมาหาทางตีกรอบ เพื่อจะได้ควบคุมได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า

ก่อนปี 2502 รัฐบาลก็ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว โชคดีที่ปี 2502 มีการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณ รวมถึงตีกรอบหลายๆ อย่าง และมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี ทำให้รัฐบาลไทยมีวินัยการคลังมาตลอดอย่างน้อย 40 ปี

แต่ ณ วันนี้ พอ “เด็กสมัยนี้” เปลี่ยนไป กฎเกณฑ์ก็ต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ก็ด้วย ซึ่งตรงนี้ทางเอกชนก็ต้องการช่วยสนับสนุนและปรารถนาให้ประเทศชาติเดินไปได้

ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่า ถ้าเรามีกรอบชัดเจน รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่สูญหายไปในอดีต เช่น สมัยก่อน เก็บภาษีได้เกินก็ใช้หนี้หมด ปัจจุบันเก็บภาษีเกินก็คิดว่าจะตั้งงบกลางปีอะไรดี และจะไปทำโครงการประชานิยมอะไรดี ลักษณะเช่นนี้ถือว่าแย่ แต่เราจะตีกรอบอย่างไรเพื่อที่จะให้เด็กคนใหม่อยู่ในกรอบของเราอีก 50 ปี การสัมมนาครั้งนี้ ถ้าทำถึงจุดไหนได้ เอกชนก็จะมีความสุขใจอย่างยิ่ง

“เรื่องการพัฒนาประเทศทิ้งให้เราได้ เรื่องการแข่งขันทิ้งให้เราได้ แต่ถ้าเรื่องบ้านไฟไหม้ เอกชนก็ได้แต่หวังว่าทางการจะช่วยกันวางกรอบให้มีเสถียรภาพทีดี” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ขั้นตอนการทำให้แนวคิดให้เป็นรูปธรรม

ก้าวต่อไปที่ต้องเดินเพื่อเป็นทางออกเรื่องนี้มี 3-4 ส่วน ที่ ดร.กอบศักดิ์เห็นว่ามีความสำคัญ ต้องดำเนินการ ดังนี้

เรื่องแรก การทำให้ทุกๆ คนมีพลัง โดยการให้ข้อมูลทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ และประชาชน ครั้งนี้ที่รัฐบาลเอาตัวรอดได้ก็เพราะว่าไม่มีความจริงเปิดเผยออกมา ทุกอย่างถูกหมกเม็ดซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ และเมื่อไปขอข้อมูลก็จะพบว่าไม่มีข้อมูลให้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต้องเริ่มต้นก่อน

หลังจากนั้น “หัวใจ” สำคัญที่ตามมาคือ สร้างโครงสร้างต่างๆ ที่จะใช้เป็นกรอบในการดูแลปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบ CBO ก็น่าสนใจมาก ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการวิเคราะห์ผลกระทบการใช้จ่ายงบประมาณระยะยาวว่าเป็นอย่างไร

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า เคยเห็นรายงานวิเคราะห์ของ CBO เขาเขียนชัดเจนว่า ช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังอย่างไรบ้าง แล้วต้องตัดสินใจอย่างไร ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเราไม่มีใครช่วยคิด เรื่องหนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องสะสมต้องเข้าใจถึงจะทำได้

ดังนั้นต้องสร้างโครงสร้างนี้ หน่วยงานแบบ CBO จะอยู่นอกหรือในรัฐสภาก็ได้ แต่ต้องมีโครงสร้าง เพราะเมื่อมีข้อมูลแล้วต้องมีคนมาตีความให้เพื่อให้ทุกคนเอาไปใช้ได้ เพราะการตีความไม่ง่าย ต้องอาศัยการประมาณการ การเข้าใจกฎหมายต่างๆ ขณะเดียวกัน แม้แต่ “ศาลบัญชี” ก็น่าสนใจ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“ผมคิดว่า CBO คือขั้นตอนก่อนอนุมัติให้เงิน ศาลบัญชีคือหลังใช้เงินไปแล้วต้องตรวจว่าสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศหรือเปล่า หรือใช้ไปอย่างเดียว” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

พอหลังจากนั้น ดร.กอบศักดิ์บอกว่า สิ่งสำคัญต่อไปคือ การ “เขียนกฎหมาย” ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ลงโทษ” คนที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

เพื่อเขาจะได้คิดว่าเป็น “เงินของเรา ไม่ใช่เงินของเขา” ถ้าเรายอมปล่อยให้ล่วงเลยไป เขาก็ใช้กันสนุกสนาน ว่าเงินของเราซื้อเสียงเขา ซื้อความเชื่อมั่นเขา ทำให้เขาใช้เงินสนุกสนาน แต่เมื่อไรมีกฎหมายชัดเจน ที่คนเหล่านี้ทำแล้วมีผลตามมา เขาจะได้ระมัดระวัง

“ถ้าไม่มีผลที่ตามมา เขาจะระมัดระวังทำไม” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

จากนั้นก็มานั่งคิดเรื่อง “จิตวิญญาณ” ของทุกคน ดร.กอบศักดิ์คิดว่า ท้ายที่สุดไม่มีอะไรดีเท่ากับคนคนนั้นมี “สำนึก” แต่ปัญหาของเราคือ ยากที่จะได้คนนั้นเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ

เพราะฉะนั้น กฎหมายเราต้องเข้มเข้าไปอีก ถ้าเราไม่ได้คนที่มีจิตวิญญาณ เพื่อให้กฎหมายบีบบังคับให้เขาทำตัวแบบมีจิตวิญญาณ โดยในใจลึกๆ เขาอาจจะอยากใช้จ่ายมาก แต่กฎหมายเขียนว่า ถ้าเกิดไปทำลักษณะนั้นแล้วมีผลกระทบคนอื่นต้องลงถูกลงโทษ ก็น่าจะช่วยได้

“ผมไปสัมมนา หลายๆ สิ่งที่น่าเสียดายของชีวิตของการไปสัมมนาหลายๆ ครั้งคือว่า พูดแล้วจบไป เพราะว่าการบ่นเป็นเรื่องง่าย แต่จะเดินต่อไปนี่จะทำอย่างไร วันนี้เราพูดกับคนมีอำนาจอยู่ในมือ เราเป็นรัฐสภาเราเขียนกฎหมายได้ ถ้าไม่ได้เราจะมาเป็นทำไม” ดร.กอบศักดิ์กล่าวและบอกว่า

ถึง “จังหวะ” ที่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น เมื่อครั้งปี 2502 ที่เกิดขึ้นมาได้เพราะรัฐบาลเป็นหนี้แบงก์ชาติมาก ก็ “ยื่นหมูยื่นแมว” ว่า ถ้าให้กฎหมายงบประมาณผ่านจะยกหนี้ให้ ครั้งนี้ถ้าเราไม่ทำอะไร เราจะไปถึงจุดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่ ก็ควรต้องทำตั้งแต่วันนี้

“ตอนนี้เรามีคำตอบแล้ว ถึงเวลาเดิน ถึงไม่ได้ 100% ก็ต้องเดิน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว