นับตั้งแต่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 หรือที่เรียกกันแบบเข้าใจง่ายว่า พ.ร.ก. ให้อำนาจะนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที 27 ม.ค. ทาง ธปท. เพิ่งออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนต่ำเป็นพิเศษวงเงิน 300,000 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นวงเงินของ ธปท. ไม่เกิน 210,000 ล้านบาท และวงเงินของสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. ดังกล่าว ทำให้ ธปท. มีต้นทุนที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท จากปกติที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดปี 2553 ธปท. ที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ 62,709 ล้านบาท
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายตลาดการเงิน ระบุว่า หากสถาบันการเงินมาขอใช้วงเงินซอฟต์โลนจาก ธปท. เต็มวงเงิน 210,000 ล้านบาท จะทำให้ ธปท. มีภาระดอกเบี้ยจ่ายประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อ ธปท. ปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนให้สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อกับลูกค้า ทาง ธปท. จะต้องดูดเงินกลับเข้ามาในจำนวนเงินที่ ธปท. ปล่อยออกไป ทำให้ ธปท. มีต้นทุนในการดูดเงินกลับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ถ้าใช้วงเงินซอฟต์โลนไม่หมด ภาระดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงไปด้วย
อนึ่ง เงินที่ ธปท. นำไปปล่อยกู้ soft loan นั้น โดยหลักการเท่ากับ ธปท. พิมพ์เงินไปดำเนินการ เพราะ ธปท. ไม่มีแหล่งรายได้ที่ไหน แต่เมื่อ ธปท. พิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบแล้วก็จะต้องดูดเงินออกในสัดส่วนที่เท่ากันด้วย เพื่อดูแลไม่ให้เงินที่พิมพ์เพิ่มเข้าไปกระทบอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง ธปท. จะต้องดูแลสภาพคล่องให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 3% ต่อปี
ดังนั้น ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยซอฟต์โลนที่ ธปท. ปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินคือ 0.01% ต่อปี กับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3% ต่อปี ที่ ธปท. ต้องจ่ายเพื่อดูดซับสภาพคล่องกลับคืนหรือดูดเงินออกจากระบบตลาดเงิน จึงเป็นต้นทุนที่ ธปท. ต้องแบบรับภาระแต่ละปี แต่โครงการนี้มีระยะเวลา 5 ปี หมายความว่า ธปท. ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม นางผ่องเพ็ญปฏิเสธว่า เงินที่ปล่อยกู้ซอฟต์โลนไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินเพิ่ม เพราะ ธปท. ดูดซับสภาพคล่องกลับทั้งหมด
สำหรับหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้ความช่วยเหลือเงินกู้ผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ หรือ ซอฟต์โลน นั้น นางผ่องเพ็ญ ระบุว่า มีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยตรง และต้องอยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามประกาศกระทรวงการคลัง และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับซอฟต์โลน คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ เพื่อให้การปล่อยกู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ธปท. จึงกำหนดบทลงโทษกรณีสถาบันการเงินปล่อยกู้ผิดวัตถุประสงค์ หรือผิดเงื่อนไขตามที่ประกาศไว้ โดย ธปท. จะลงโทษปรับในอัตรา 10% ของวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยผิดวัตถุประสงค์ เช่น วงเงินสินเชื่อที่รับจัดสรร 30,000 ล้านบาท แต่สินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้าวงเงิน 50 ล้านบาท เป็นการปล่อยผิดวัตถุประสงค์ ก็จะถูกลงโทษปรับในอัตรา 10% ของวงเงินสินเชื่อ 50 ล้านบาท
(อ่านรายละเอียด ประกาศ ธปท. เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี พ.ศ. 2554)
นางผ่องเพ็ญคาดว่า สถาบันการเงินจะสามารถให้ซอฟต์โลนกับลูกค้าได้ประมาณวันที่ 8 มี.ค. นี้ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการคือ ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนเรื่องเขตพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งกระทรวงการคลังจะส่งรายละเอียดให้ ธปท. ทราบภายในวันที่ 17 หรือไม่เกิน 20 ก.พ. นี้ จากนั้น ธปท. จะส่งรายละเอียดพื้นที่น้ำท่วมให้สถาบันการเงินทันที เพื่อให้สถาบันใช้เป็นข้อมูลพิจารณาสินเชื่อให้ลูกค้า และภายใน 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ ธปท. ส่งข้อมูลพื้นที่ให้สถาบันการเงิน ทางสถาบันการเงินต้องนำเสนอขอวงเงินซอฟต์โลนส่งให้ ธปท. เมื่อครบ 2 สัปดาห์ ธปท. จะใช้เวลา 3 วัน เพื่่อพิจารณาจัดสรรวงเงินให้แต่ละสถาบันการตามความเหมาะสม และจะโอนเงินเข้าบัญชีสถาบันการเงินที่อยู่ใน ธปท. ทันที เพื่อให้สถาบันการเงินนำเงินไปปล่อยกู้ต่อให้ลูกค้า
“ทางกระทรวงการคลังบอกว่า จะส่งรายละเอียดเขตพื้นที่ให้ ธปท. ภายใน 1-2 วัน ถ้าเป็นไปตามกำหนดคืออย่างช้าวันที่ 20 ก.พ. นี้ ธปท. ก็จะส่งต่อให้สถาบันการเงินทันที หากเป็นไปตามกำหนดการนี้ คาดว่าสถาบันการเงินจะเริ่มปล่อยกู้ให้ลูกค้าได้ในวันที 8 มี.ค.นี้” นางผ่องเพ็ญกล่าว
สำหรับวงเงินที่สถาบันการเงินจะขอมานั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายตลาดการเงิน ระบุว่า ยังไม่ต้องลงรายละเอียด และการพิจารณาความเหมาะสมจัดสรรวงเงินให้แต่ละแห่งนั้น ธปท. จะดูข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อในเขตพื้นที่นั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง ธปท. มีข้อมูลอยู่แล้ว โดยการจัดสรรวงเงินทั้งหมดจะไม่เกิน 210,000 ล้านบาท ถ้าสถาบันการเงินขอมาแล้วมีวงเงินโดยรวมแล้วเกินวงเงินที่กำหนด จะต้องแบ่งปันจัดสรรให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าว
“ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อโครงการซอฟต์โลนวงเงิน 300,000 ล้านบาท สถาบันการเงินจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมด เนื่องจากสถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้า 2.99% ขณะที่ ธปท. คิดอัตราดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเพียง 0.01% เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสถาบันการเงินเบิกวงเงิน soft loan จาก ธปท. ไปเท่าไร ก็ต้องชำระคืน ธปท. เต็มจำนวน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายตลาดการเงินกล่าว
ล่าสุด ธปท. สรุปพื้นที่ที่ประสบภัยพิภิบัติในปี 2554ที่กระทรวงการคลังส่งมาให้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ softloan มีจำนวนทั้งสิ้น77 จังหวัด 877 อำเภอ 6,646 ตำบล
(ดูข้อมูลเพิ่มเติมตรวจสอบรายละเอียดเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน )
http://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Fin_AssisToEconSector/Pages/index.aspx
ทั้งนี้ วงเงินซอฟต์โลนจำนวน 300,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (อ่าน 55 ปี บทบาท ธปท. ช่วยภาคเศรษฐกิจจริง : soft loan 3 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์)