ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (5)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ผู้นำอาหรับ (5)

11 มกราคม 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://tortaharn.net
ที่มาภาพ : http://tortaharn.net

ประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปีของหลายๆ ประเทศ ต่างบันทึกตรงกันอย่างหนึ่งถึงจุดจบของบรรดาเหล่าทรราชและกังฉินคนแล้วคนเล่าว่า ท้ายสุดต่างประสบชะตากรรมเหมือนกัน นั่นก็คือถูกสาปแช่ง ถูกพลังของประชาชนลุกฮือโค่นล้ม บ้างก็ถูกสังหาร บ้างก็ถูกจองจำ ถูกทรมานจนตายอย่างน่าอนาถ ครอบครัวแตกฉานซ่านเซ็น ทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน ผลสุดท้ายก็ไม่เหลือแม้แต่สตางค์แดงเดียว และหลายคนไม่มีแม้กระทั่งแผ่นดินจะกลบฝังศพ

แต่ประวัติศาสตร์ก็สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ผู้นำคนแล้วคนเล่าต่างไม่เคยสำนึกและไม่หลาบจำกับอภิมหาสุภาษิตที่เป็นอมตะนิรันดร์กาลที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” หรือกว่าจะสำนึก ทุกอย่างก็สายเกินการณ์เสียแล้ว

เช่นเดียวกับครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี วัย 74 ปี แห่งตูนิเซีย ซึ่งขณะนี้กำลังเดินตามรอยชะตากรรมของบรรดาอดีตผู้นำทรราชทั้งหลายในประวัติศาสตร์ เมื่อต้องสูญสิ้นทุกอย่าง ทั้งอำนาจวาสนาหรือแม้กระทั่งแผ่นดินที่จะซุกหัวอยู่ นับตั้งแต่ต้องหลบหนีออกจากตูนิเซีย จำใจไปลี้ภัยชั่วคราวที่ซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับนางไลลา อดีตนางพญาหงส์แห่งคาร์เธจ เมื่อแผนเดิมที่จะหนีไปเสวยสุขพร้อมกับลูกหลานที่ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม มีอันพังพาบหลังจากประธานาธิบดีนีกอลา ซาร์กอซี ที่นายเบน อาลี พยายามสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวมายาวนาน ปฏิเสธหน้าตาเฉย ไม่ยอมให้ลี้ภัยอยู่ที่นี่ตามแรงกดดันของกระแสสังคมโลก หนำซ้ำยังอายัดทรัพย์สินเงินทองราว 3,500 ล้านดอลลาร์ ที่ยักยอกไปจากประชาชนแล้วนำไปซุกซ่อนอยู่ตามธนาคารต่างๆ ในฝรั่งเศส รวมทั้งยังยึดเครื่องบินลำหนึ่งของครอบครัวนายเบน อาลี เพื่อรอการตรวจสอบ ไม่นับรวมไปถึงการสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคาร 12 บัญชี ของคนสนิทของนายเบน อาลี 4 คน รวมมูลค่าแล้วมากถึง 12 ล้านยูโร

ยิ่งกว่านั้น ระหว่างลี้ภัยอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย ก็ใช่ว่านายเบน อาลี และนางไลลาจะอยู่อย่างเป็นสุขดังใจหวัง เนื่องจากรัฐบาลชุดหลังการปฏิวัติประชาชนของตูนิเซียได้ขอให้ทางการซาอุดีอาระเบียช่วยตรวจสอบนายว่า ขณะนี้ เบน อาลี ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือกำลังป่วยหนัก เนื่องจากมีข่าวลือว่าสุขภาพทรุดโทรมลงจนอาจจะเสียชีวิตแล้ว เฉกเช่นเดียวกันกับอดีตผู้นำเผด็จการหลายคนซึ่งมักจะอายุสั้นหลังพ้นตำแหน่ง เช่น อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ และอดีตพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์เลวี แห่งอิหร่าน หากนายเบน อาลี ยังดวงแข็งยังอยู่ดี ก็ขอให้ส่งตัวกลับไปรับโทษที่แผ่นดินเกิด ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุกรวมแล้วกว่าร้อยปีในความผิดอุกฉกรรจ์หลายกระทง รวมไปถึงความผิดที่ว่าเป็นตัวการสั่งการให้ตำรวจยิงผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

อาทิ ศาลตูนิเซียตัดสินจำคุกนายเบน อาลี 16 ปี ในข้อหาคอร์รัปชันและฟอกเงิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ตัดสินจำคุกรวมแล้วกว่า 50 ปี ใน 2 คดีสำคัญด้วยกัน นอกจากนี้ ศาลยังตัดสินจำคุกอดีตผู้นำตูนิเซียเป็นเวลา 15 ปี ในข้อหาครอบครองอาวุธ ยาเสพติดและโบราณวัตถุ ปรับอีก 54,000 ยูโร หรือกว่า 2 ล้านบาท ไม่นับรวมการตัดสินจำคุกสองสามีภรรยาหมายเลขหนึ่งอีก 35 ปี พร้อมปรับนายเบน อาลี เป็นเงิน 50 ล้านดินาร์ หรือราว 1,000 ล้านบาท ส่วนนางไลลาถูกปรับ 41 ล้านดินาร์ หรือประมาณ 900 ล้านบาท ในข้อหานำกองทุนสาธารณะไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยตำรวจพบเงินสดและอัญมณีจำนวนมหาศาลในคฤหาสน์ส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม นายเบน อาลี ยังคงปากแข็งยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แถมยังยืนยันว่ายังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หากแต่ถูกหัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลอกให้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่ากลัวจะมีคนวางแผนลอบสังหาร นายเบน อาลี กล่าวด้วยว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของแผนการที่จะชูให้ตัวเองเป็น “ตัวร้าย” เพื่อให้ชาวตูนิเซียเตรียมรับระบบการเมืองใหม่ที่จัดทำโดยกลุ่มหัวรุนแรง

นอกจากจะถูกศาลตูนิเซียตัดสินว่าทำผิดในข้อหาร้ายแรงหลายกระทงแล้ว นายเบน อาลี ยังตกเป็นเป้าหมายของการสอบสวนในฝรั่งเศส เมื่อกลุ่มต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศแห่งฝรั่งเศส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในฝรั่งเศสและอาหรับ และกลุ่มเอ็นจีโออีกอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้ยื่นฟ้องศาลปารีส กล่าวหานายเบน อาลี และภริยาว่า คอร์รัปชัน ฟอกเงิน และใช้เงินของรัฐไปซื้อหาสินทรัพย์ในฝรั่งเศส

เบน อาลี  อดีตผู้นำตูนีเซีย ที่มาภาพ :http://www.thairath.co.th
เบน อาลี อดีตผู้นำตูนีเซีย ที่มาภาพ :http://www.thairath.co.th

แต่ทนายความของนายเบน อาลี กล่าวว่า ลูกความของตัวเองไม่มีอสังหาริมทรัพย์และบัญชีเงินฝากในฝรั่งเศสหรือประเทศอื่นในยุโรปแต่อย่างใดทั้งสิ้น พร้อมเสริมว่า จะแนะนำลูกความให้เดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียไปอยู่ในสหภาพยุโรป เพื่อจะได้ไม่ถูกส่งตัวข้ามแดน โดยอ้างว่าไม่มีศาลสถิตยุติธรรมที่ไหนในยุโรปสามารถยอมรับการพิจารณาคดีของศาลตูนิเซียได้ เนื่องจากละเมิดกฎเกณฑ์การพิจารณาคดีและการตัดสินอย่างเป็นธรรมทั้งหลายแหล่ ขณะที่สหภาพยุโรปลงมติอย่างเงียบๆ ให้ยึดทรัพย์สินของนายเบน อาลี และครอบครัวเช่นกัน โดยสวิตเซอร์แลนด์ได้อายัดเงินไว้ 60 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทนายความฝรั่งเศสคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “ทั้งหมดนี้เป็นแค่ก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง แต่ก็เหมือนกับหยดน้ำในมหาสมุทร”

บ้านแตกสาแหรกขาด

ด้านนางเนสรีน เบน อาลี ลูกสาวคนโตที่เกิดกับนางไลลา และนายโมฮัมเหม็ด ซาเคอร์ เอล มาเตรี สามีจอมเสเพล ซึ่งหลังจากสิ้นอำนาจวาสนาใหม่ๆ ได้หนีไปลี้ภัยที่ดูไบ ขณะที่สมาชิกครอบครัวอีกหลายคนของนายเบน อาลี และนางไลลา ได้หลบหนีไปอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เนื่องจากส่วนใหญ่มีคฤหาสน์และทรัพย์สินรวมมูลค่าราว 10-20 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 300-600 ล้านบาท แต่ทุกคนก็ไม่อาจรอดพ้นจากบ่วงกรรมเช่นกัน

นางเนสรีนถูกศาลตูนิเซียตัดสินจำคุก 8 ปี ส่วนนายเอล มาเตรี ถูกศาลตัดสินจำคุก 16 ปี พร้อมกับต้องจ่ายค่าเสียหายอีกหลายล้านยูโรในข้อหาใช้อำนาจและอิทธิพลในทางมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินผืนหนึ่ง จากนั้นก็ปั่นราคาจนที่ดินมีราคาสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่า โดยลูกสาวและลูกเขยของนายเบน อาลี ได้ซื้อที่ดินผืนหนึ่งด้วยการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริงในราคาตารางเมตรละ 23 ดินาร์ หรือ 11.50 ยูโร ทั้งๆ ที่ราคาจริงสูงถึง 350 ดินาร์ต่อตารางเมตร จากนั้นก็ปั่นราคาขายในราคาตารางเมตรละ 1,500 ดินาร์

ส่วนทรัพย์สินของนายเอล มาเตรี ในแคนาดา ซึ่งรวมถึงบ้านพักตากอากาศมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 77 ล้านบาท) ในเวสต์เมาท์ที่เพิ่งซื้อเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้าและเป็นที่เกิดของลูกๆ หลายคน รัฐบาลแคนาดาได้ประกาศอายัดทรัพย์สินเหล่านั้น โดยในตอนแรกรัฐบาลแคนาดามีแผนจะนำทรัพย์สินที่อายัดไว้ไปประมูลเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ภาษีโรงเรือนที่นายเอล มาเตรี ค้างชำระ อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายใหม่ของแคนาดาที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ระบุชัดว่า ห้ามอายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศโลกที่สาม ทำให้รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจจะคืนเงินและทรัพย์สินของสองสามีภรรยาที่อายัดไว้กลับให้กับรัฐบาลตูนิเซีย

นับตั้งแต่เกิดเรื่อง นายเอล มาเตรี ได้วิ่งเต้นขอโยกย้ายที่อยู่ชั่วคราวจากดูไบไปเจนีวา เพื่อจะได้ดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่ลงทุนอยู่ในยุโรปได้สะดวกขึ้น แต่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธคำขอนี้ ทำให้นายเอล มาเตรีตัดสินใจเดินทางไปพำนักที่สาธารณรัฐเซเชลส์ หมู่เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรอินเดีย โดยใช้พาสปอร์ตการทูตที่หมดอายุแล้ว แต่แล้วก็ถูกตำรวจสากลจับกุมเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2555 ตามหมายจับทั่วโลกของรัฐบาลตูนิเซีย และถูกส่งตัวกลับไปรับโทษที่ตูนิเซีย

ชะตากรรมอดีตบิ๊กแห่งตระกูลทราเบลซี

ส่วนนายเบล ฮุสเซน ทราเบลซี พี่ชายของนางไลลา พร้อมกับภรรยา ลูกๆ และพี่เลี้ยงเด็ก ได้นั่งเครื่องบินส่วนตัวมุ่งหน้าไปหลบภัยที่เมืองมอนทรีออลเมื่อต้นปี 2554 หลังรัฐบาลนายเบน อาลี ถูกกำลังประชาชนโค่นล้ม เนื่องจากมีสถานภาพพลเมืองแคนาดา อีกทั้งมีเงินฝากในบัญชีธนาคารหลายบัญชี ในตอนแรกแคนาดาเพียงแค่อายัดทรัพย์สินเหล่านั้นตามคำขอของตูนิเซีย แต่ประกาศจะไม่ส่งตัวนายเบล ฮุสเซน กลับไปรับโทษในบ้านเกิดตามหมายจับของตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปล เนื่องจากแคนาดาและตูนิเซียไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยรัฐมนตรีกิจการอพยพของแคนาดาแถลงว่า นายเบล ฮุสเซน และญาติพี่น้องของนายเบน อาลี อีกหลายคนมีสิทธิพำนักอยู่ที่แคนาดาในฐานะผู้อาศัยถาวร ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย

นางไลลา เบน อาลี (ทราเบลซี) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ของผู้นำตูนิเซีย นายเบน อาลี
นางไลลา เบน อาลี (ทราเบลซี) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ของผู้นำตูนิเซีย นายเบน อาลี

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ศูนย์พลเมืองและการอพยพแคนาดากลับแถลงในเวลาต่อมาว่า กรุงออตตาวาจะไม่ให้ที่ลี้ภัยแก่ครอบครัวนายเบน อาลี “แคนาดาไม่ขอต้อนรับนายเบน อาลี รวมทั้งญาติสนิทและสมาชิกรัฐบาลตูนิเซียที่ถูกขับไล่” โดยให้เหตุผลว่า คณะกรรมการตรวจคนเข้าเมืองแคนาดาพิจารณาเห็นว่า พี่เขยของอดีตผู้นำตูนิเซียขาดคุณสมบัติของผู้อาศัยถาวร ซึ่งต้องพำนักอยู่ในแคนาดาอย่างน้อย 730 วัน ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากนายเบล ฮุสเซน ได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยไว้แล้ว ทำให้กระบวนการยกเลิกสถานภาพผู้อาศัยถาวรของนายเบล ฮุสเซน ก่อนจะเนรเทศกลับตูนิเซียคงต้องล่าช้าออกไป

หนีสุดชีวิต

สำหรับชะตากรรมของครอบครัวเบน อาลี ก็ไม่ได้ดีไปกว่าครอบครัวทราเบลซีของนางไลลาสักเท่าใดนัก นางนาเจต เบน อาลี น้องสาวของนายเบน อาลี ถูกจับกุมที่เขตซูซ ห่างจากกรุงตูนิสประมาณ 150 กิโลเมตร จนถึงขณะนี้ เครือญาติของนายเบน อาลี รวมทั้งน้องชายคนหนึ่ง ถูกจับกุมรวมแล้วกว่า 30 คน โดยทุกคนกำลังถูกสอบสวนในข้อหาปล้นสมบัติของแผ่นดินไปเข้ากระเป๋าส่วนตัว

ขณะที่นิตยสารเดอ สปีเกล ของเยอรมนีเผยว่า นางฮายเอต เบน อาลี วัย 58 ปี น้องสาวของนายเบน อาลี และนายฟาธี อาร์ วัย 61 ปี ผู้เป็นสามี ยังคงหลบหนีอย่างไร้ร่องรอยท่ามกลางการตามล่าของตำรวจเยอรมนีในข้อหาฟอกเงิน โดยตำรวจเมืองดาร์มสตัดท์ ทางตอนใต้ของแฟรงค์เฟิร์ต ได้ไปค้นทาวน์เฮาส์สุดหรูบนเนื้อที่ 200 ตารางเมตร เพื่อรวบรวมหลักฐานต่างๆ รวมไปถึงการตรวจสอบบัญชีธนาคารและตามล่าหาทรัพย์สินอื่นๆ ที่อาจซุกซ่อนอยู่

เดอ สปีเกล รายงานว่า สองสามีภรรยาคู่นี้ได้ซื้อทาวน์เฮาส์หรูนี้ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2533 ก่อนจะหายตัวเข้ากลีบเมฆหลังจากนายเบน อาลี สิ้นอำนาจวาสนา เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับทาวน์เฮาส์แห่งนั้นเผยว่า ปรกติหน้าต่างทาวน์เฮาส์มักจะปิดสนิท บ่งบอกว่าไม่มีใครอยู่ นานๆ ครั้งสองสามีภรรยาจึงจะมาพำนักราวปีละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีกระเป๋าขนาดใหญ่ 7-8 ใบ แต่อยู่แค่ไม่กี่วันก็กลับไปพร้อมกับกระเป๋าเหล่านั้น

นางฮายเอต เบน อาลี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของสายการบินตูนิสในแฟรงค์เฟิร์ต แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เผยว่าไม่เคยเห็นเธอมาทำงานเป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่งแล้ว แม้จะรับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน เช่นเดียวกับนายฟาธี อาร์ สามีของเธอ ซึ่งนานๆ ครั้งถึงจะไปปรากฏตัวที่สำนักงานการท่องเที่ยวตูนิเซียในแฟรงค์เฟิร์ตและอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ยังรับเงินเดือนสูงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าตำแหน่งของนายฟาร์ธี อาร์ จะรับผิดชอบด้านการติดต่อกับบริษัทนำเที่ยวของเยอรมนี แต่นายฟาร์ธี อาร์ มักจะอ้างกับนักธุรกิจเยอรมนีอยู่บ่อยครั้งว่าตัวเองเป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยว