“รถคันแรก”หนึ่งในนโยบายประชานิยมที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เสร็จเรียบร้อยในวันที่ 13 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่กี่วันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติให้กรมสรรพสามิตเริ่มกระบวนการคืนภาษีรถคันแรกให้กับประชาชนใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
เดิมคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์รถคันแรก 5 แสนคัน โดยรัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณไว้ใช้ในการคืนภาษี 3.2 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ขอเข้าร่วมโครงการนี้กันอย่างถล่มทลายเกินความคาดหมาย
ข้อมูลจากรมสรรพสามิต ล่าสุด ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2555 มีผู้มาขอใช้สิทธิ์รถคันแรกกับกรมสรรพสามิตแล้ว 798,372 คัน คิดเป็นวงเงินภาษีที่ต้องคืนประมาณ 5.89 หมื่นล้านบาท
นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ทำให้ปี 2555 เป็น “ปีทอง” ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อานิสงของมาตรการรถคันแรกส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ทะลุ 2 ล้านคัน คาดว่าเป็นยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ 1.3-1.4 ล้านคัน และในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการรถคันแรกเกือบ 8 แสนคัน
ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทรถยนต์มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เห็นได้จากการจ่ายโบนัสประจำปี อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศจ่ายเงินโบนัสปลายปีให้พนักงาน 8.5 เท่าของเงินเดือน
ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้โดยตรง นโยบายรถคันแรกยังไปดึงให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายภาคส่วน อาทิ กลุ่มบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเบี้ยประกันภัยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ผลของมาตรการรถคันแรกทำให้ยอดสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในไตรมาสที่ 3/2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 30%
ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล (NPL)” ตามมาในภายหลัง
ต่อประเด็นความกังวลดังกล่าว นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ใช้สิทธิรถคันแรกเป็นเอ็นพีแอล ผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินไม่ไหว จนถึงขั้นถูกยึดรถ ก่อนที่บริษัทลีสซิง หรือไฟแนนซ์จะอนุมัติสินเชื่อ ผู้กู้ต้องผ่านการกระบวนการกลั่นกรองคุณสมบัติและความสามารถในการชำระหนี้จากไฟแนนซ์มาแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้สิทธิ์ต้องวางเงินดาวน์ 15-25% ของราคารถ และต้องมีบุคคลค้ำประกันด้วย
หลังจากที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ก่อนรับเงินคืนภาษีจากกรมสรรพสามิต ผู้ใช้สิทธิ์ต้องครอบครองรถอย่างน้อย 1 ปี โอกาสที่จะเกิดเอ็นพีแอลจึงมีน้อยมาก เพราะผู้ใช้สิทธิ์สามารถผ่อนชำระหนี้ไฟแนนซ์ได้นานเกิน 1 ปี
นายสมชายกล่าวว่า ช่วงที่มายื่นเอกสารขอใช้สิทธิ์รถคันแรก “ผู้ใช้สิทธิ์ต้องทำหนังสือยินยอม” สัญญาสละสิทธิการโอนรถยนต์คันแรกภายใน 5 ปี หากผู้ใช้สิทธิ์ทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายรถยนต์ก่อนครบกำหนด 5 ปี หรือ ถูกไฟแนนซ์ยึดรถก่อน 5 ปี ผู้ใช้สิทธิ์หรือไฟแนนซ์ต้องนำเงินภาษีมาคืนกรมสรรพสามิตพร้อมกับดอกเบี้ยก่อน จากนั้นกรมสรรพสามิตจะแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกยกเลิกคำสั่ง “ปลดล็อคห้ามโอนภายใน 5 ปี” เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิ์ หรือไฟแนนซ์สามารถโอน หรือขายรถยนต์ให้ผู้อื่นต่อไปได้
กรณีผู้ใช้สิทธิ์ถูกไฟแนนซ์ยึดรถยนต์ขายทอดตลาด กรมสรรพสามิตมีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ โดยเงินรายได้จากการขายทอดตลาดส่วนหนึ่ง บริษัทไฟแนนซ์ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าภาษีคืนให้กับกรมสรรพสามิต จากนั้นเป็นหน้าที่บริษัทไฟแนนซ์ต้องติดตามเร่งรัดหนี้ตามกฎหมายกับผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกต่อไป
ทั้งนี้ มีกรณีเดียวที่ผู้ใช้สิทธิ์ไม่ต้องนำเงินภาษีมาคืนกรมสรรพสามิต คือ “ผู้ใช้สิทธิ์เสียชีวิต”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยอมรับว่า มาตรการคืนภาษีให้กับผู้ที่ต้องการมีรถยนต์คันแรกมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม และสุดท้ายจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีภาระที่จะต้องจัดหางบประมาณมาใช้ในการคืนภาษีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลล่าสุด มีผู้ใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีแล้ว 8 แสนราย คิดเป็นวงเงินเกือบ 6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิมถึง 2 เท่าตัว กรมสรรพสามิตจึงต้องเตรียมแผนจัดหางบฯ ที่จะมาคืนภาษีที่เพิ่มขึ้นมากกว่างบฯ ที่ตั้งไว้เดิม
นายสมชายกล่าวว่า นโยบายรถคันแรกเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หากงบฯ ไม่พอ กรมสรรพสามิตก็ต้องทำเรื่องไปขอให้รัฐบาลจัดสรรงบฯ เพิ่มเติม อย่างในปีงบประมาณ 2556 กรมสรรพสามิตได้รับการจัดสรรงบฯ ที่จะใช้ในการคืนภาษีรถคันแรก 18,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเช็คคืนภาษีรถคันแรกให้กับผู้ใช้สิทธิ์ไปแล้ว 5 งวด จำนวน 31,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 2,300 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2557 เดิมคาดว่าจะขอรับการจัดสรรงบฯ จากรัฐบาล 30,000-35,000 ล้านบาท แต่อาจต้องทำเรื่องของบฯ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่ประชาชนสนใจมาตรการรถคันแรกเกินความคาดหมาย โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2555 มีผู้ใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีเกือบ 8 แสนราย ล่าสุด กรมสรรพสามิตจึงทบทวนตัวเลขประมาณการกันใหม่ โดยคาดว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จะมีผู้มาใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีรถคันแรกไม่เกิน 9 แสนคัน คิดเป็นวงเงินที่ต้องคืนภาษีประมาณ 6-6.5 หมื่นล้านบาท