ThaiPublica > เกาะกระแส > รื้อ พ.ร.บ.ต้านก่อการร้าย-ฟอกเงิน “เพื่อไทย หักดิบ ปชป.” หวั่นโยงทักษิณ วิตก FATF ไม่ยอมรับร่างสุดท้าย

รื้อ พ.ร.บ.ต้านก่อการร้าย-ฟอกเงิน “เพื่อไทย หักดิบ ปชป.” หวั่นโยงทักษิณ วิตก FATF ไม่ยอมรับร่างสุดท้าย

23 ตุลาคม 2012


สภาผู้แทนราษฎร เตรียมผ่านกฎหมายสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่…) พ.ศ. ….(อ่านเพิ่มเติม) และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. …. ภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นไปตามแรงกดดันจาก “คณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน” (Financial Action Task Force on Money Laundering : FATF) ที่กำหนดรายชื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และประชาชน ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

โดยที่ผ่านมามีการแจ้งเป็นการ “ภายใน” ถึงข้อกังวลของบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม “สหภาพยุโรป” ที่เข้มงวดเรื่องธุรกรรมการฟอกเงินและการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ซึ่งส่อเค้าว่าจะมีคำสั่งระงับธุรกรรมบางอย่างจากประเทศไทย เพื่อเป็นการบีบให้รัฐบาลและภาคเอกชนของไทยเร่งออกกฎหมายในเรื่องนี้

ส่งผลให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ส่งผ่านความวิตกกังวลต่อปัญหา “แบล็คลิสต์” ไทยเป็นแหล่งฟอกเงินและไม่เอาจริงกับการต่อต้านธุรกรรมต้องสงสัย อันนำไปสู่เงื่อนไขตัดความร่วมมือทางการค้าสร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจการเงิน

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. ได้มีการเพิ่มความผิดมูลฐานขึ้นมาอีก 12 มูลฐานความผิด จากเดิมที่กฎหมาย พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยจำกัดอยู่เพียง 11 มูลฐาน ซึ่งไม่ครอบคลุมตามที่ FATF กำหนดไว้

ส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ประกอบด้วย

1. ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือการมีส่วนร่มในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด

2. ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

3. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

4. ความผิดอันเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอมหรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

5. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

6. ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครองครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

7. ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกาย จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน

8. ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์ หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

9. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด

10. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

11. ความผิดเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ของอาวุธ ที่ใช้หรืออาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงคราม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์

12. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

ที่มาภาพ : http://www.classwarfareexists.com

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ได้มีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา เช่น ความผิดมูลฐานควรจะรวมถึงการกระทำความผิดอาญานอกราชอาณาจักร หรือเป็นการสั่งการของคนที่อยู่ต่างประเทศด้วย

ขณะที่นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้เพิ่มความผิดมูลฐานขึ้นอีก 1 กรณี คือ ความผิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจการปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. …. ที่ได้มีการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ หลังจากทาง FATF เห็นว่า ความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบัน ยังมีช่องโหว่ไม่ครอบคลุมตามที่มาตรฐานสากลกำหนด ในการเข้าถึงเงินทุนของผู้ก่อการร้าย จึงควรให้มีการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศไทยเอง

โดยก่อนหน้านี้ คณะทำงานของ FATF เคยเข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 และมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่ตลอด โดยทาง FATF ได้แจ้งกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินว่า ประเทศไทยบกพร่องทางยุทธศาสตร์เรื่องการฟอกเงินและการก่อการร้าย รวมทั้งมีการไปชี้แจงต่อที่ประชุมที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือน ก.พ. แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยออกกฎหมายฟอกเงินมารองรับไม่ทัน จึงถูกขึ้นบัญชีดำในการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นิยามผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในข่ายดำเนินการตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ ครอบคลุมทั้งในและนอกราชอาณาจักร ทั้งในรูปของบุคคล นิติบุคคล คณะบุคคลหรือองค์กรตามรายชื่อ ซึ่งมีมติหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

โดยทาง ปปง.จะต้องส่งรายชื่อให้ รมว.ยุติธรรมมีการออกคำสั่งหรือประกาศให้ดำเนินการตามกฎหมาย คือ ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย หรือของผู้กระทำการแทน หรือกระทำตามคำสั่งของผู้ก่อการร้ายดังกล่าว ครอบคลุมถึงผู้เคยทำธุรกรรมกับผู้ก่อการร้ายด้วย

ในกรณีที่มีเหตุสงสัยว่าอาจมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือสนับสนุนทางการเงินให้ ก็สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามกฎหมายนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หากผู้ถูกอายัดทรัพย์สินหรือระงับธุรกรรมทางการเงิน มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาเพิกถอนรายชื่อออกจากบัญชี หรือขอให้ศาลเพิกถอนการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินได้ และเช่นเดียวกัน หากผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตในกรณีการนำทรัพย์สินมาชำระหนี้ ซึ่งเป็นการทำสัญญาไว้ก่อนวันที่บัญชีนั้นจะถูกอายัด หรือการรับเงินจากดอกเบี้ย เป็นต้น

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. …. ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการเพิ่มรายการบัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้ายว่า นอกเหนือจากบัญชีของสหประชาชาติแล้ว ควรรวมถึงกรณีที่มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้นั้นมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้ของเขตของอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้าย ที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือรับรอง

ประเด็นนี้ ทางกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมีผลต่อคดีที่เกี่ยวเนื่องกับแกนนำพรรคและแกนนำคนเสื้อแดง รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยถูกฟ้องคดีการชุมนุมทางการเมืองและก่อความไม่สงบในเดือน พ.ค. 2553 ความเห็นดังกล่าวจึงถูกตัดทอนออกไป

นอกจากนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงเกือบ 100 คน ที่เคยถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อายัดบัญชีการเงินในขณะนั้น ต่างทราบถึงผลกระทบและความเสียหายดังกล่าว จึงไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นอีก ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจส่วนตัว และความเป็นอยู่ของครอบครัว

แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินระบุว่า มีการแก้ไขถ้อยคำในกฎหมาย เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดมีการหวั่นเกรงว่า การแก้ไขดังกล่าวอาจส่งผลต่อมุมมองของ FATF ว่าประเทศไทยไม่จริงใจในการออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย นำไปสู่การระงับธุรกรรมทางเศรษฐกิจตามมาหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องมีการประสานกับทาง FATF อย่างใกล้ชิด

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ FATF ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการแก้ไขปัญหาการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ไม่เช่นนั้นธุรกรรมทางการเงินของไทยจะมีปัญหา โดยเบื้องต้นกฎหมายมีการปรับแก้จากร่างเดิมค่อนข้างมาก และพยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักสากล

ปัญหาที่มองเห็นขณะนี้คือ รายชื่อของผู้ก่อการร้ายที่ให้อำนาจ รมว.ยุติธรรมเป็นผู้ประกาศได้ทันที จากเดิมที่ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบ ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งผลดีคือความรวดเร็วในการดำเนินการ แต่ผลเสียคือจะเกิดการปะทะกับผู้ก่อการร้ายโดยตรง และบางเรื่องไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอย่างเดียว เป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจมาเกี่ยวข้อง ถ้าออกประกาศโดยไม่กลั่นกรองให้ดี ประเทศไทยอาจกลายเป็นพื้นที่ของการก่อการร้าย

“การเสนอชื่อผู้ก่อการร้ายจากต่างประเทศหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ จะวางเงื่อนไขรับรายชื่อเหล่านั้นอย่างไร ที่จะไม่ถูกกล่าวหาในภายหลังว่าเดินตามก้นมหาอำนาจที่ชักจูงให้เราคล้อยตาม เงื่อนไขเหล่านี้ต้องเป็นอิสระ เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ” นายอภิชาตกล่าว

นายอภิชาตระบุอีกว่า ได้เสนอคำแปรญัตติให้การอายัดเงินของผู้ก่อการร้าย รวมถึงการกระทำความผิดต่อคามมั่นคง เช่น ผู้ดำเนินการอยู่ภายนอกประเทศแล้วส่งเงินมาสนับสนุนการก่อการร้ายภายในประเทศ แต่ประเด็นนี้ทางพรรคเพื่อไทยค่อนข้างหวั่นวิตกว่าจะถูกเชื่อมโยงกับนักการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ ทาง กมธ.พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันโดยส่วนตัวก็วิตกว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการเมืองหรือเล่นงานผู้ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐ ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งได้เช่นกัน