อภิชาต สถิตนิรามัย
เรื่องเล่าหลัก (theme) ของประวัติศาสตร์ฉบับ “ราชาชาตินิยม”ไทยคือ การเสนอภาพต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีในการสร้างคุณประโยชน์ต่อชาติ กรณียกิจของรัชกาลที่ห้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกระบบไพร่ในปี 2442 เป็นตัวอย่างสำคัญที่ประวัติศาสตร์ฉบับนี้ใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมอบให้แก่ชาติไทย เช่นกัน ประวัติศาสตร์ฉบับมาตรฐานให้ภาพว่า รัชกาลที่สี่พยายามอย่างสุดความสามารถในการต่อรองกับรัฐบาลอังกฤษในการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398
ดังนั้น ภาพมาตรฐานของนักศึกษาไทยต่อกรณีเบาว์ริงคือ สยามเป็นลูกแกะที่ถูกหมาป่าอังกฤษบังคับให้ยอมรับสนธิสัญญาไม่เท่าเทียม ทำให้สยามต้องเสียเอกราชทางการคลังและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่อมาอีกนาน แต่หนังสือของอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด (2004) The Rise and Decline of Thai Absolutism ทำลายมายาภาพของประวัติศาสตร์ฉบับราชาชาตินิยมในสองประเด็นนี้ โดยเสนอหลักฐานและการตีความแบบใหม่ แม้ว่าทั้งสองเรื่องจะเป็นเพียง “บทนำ” ของหนังสือก็ตาม
สนธิสัญญาเบาว์ริงและการเลิกระบบไพร่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น และกลายเป็นรากฐานในการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของรัฐกาลที่ห้า กล่าวได้ว่า หากไม่มีการเซ็นสัญญาแล้ว การเลิกไพร่และทาสก็คงทำไม่ได้ หากยกเลิกระบบไพร่และทาสไม่ได้แล้ว รัชกาลที่ห้าก็คงไม่สามารถสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ได้สำเร็จ หรือคงยากขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นจริงมาก
เราจะเข้าใจชุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งสามได้นั้น ต้องย้อนกลับไปที่ยุคต้นกรุงเทพ แม้ว่ารัชกาลที่หนึ่งจะพยายามฟื้นฟูระบบไพร่ต่อจากยุคอยุธยาและธนบุรี โดยยืนยันว่าไพร่ทั้งหมดต้องเป็นไพร่หลวง ซึ่งมีหน้าที่รับใช้กษัตริย์หกเดือนในหนึ่งปี แต่ก็บังคับไม่ได้ รัชกาลที่สองพยายามแก้ปัญหาโดยสร้างแรงจูงใจให้ชนชั้น “นาย” หาไพร่มาเข้าสังกัด เช่น อนุญาตให้ไพร่ใหม่ที่พวกนายจับเข้าสังกัดได้กลายเป็นไพร่สม ฯลฯ โดยหวังว่าพวกนายจะส่งต่อผลประโยชน์ที่ได้จากไพร่สมให้แก่กษัตริย์บ้าง แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก
ดังนั้น ทั้งรัชกาลที่หนึ่งและสองจึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากการผูกขาดการค้าสำเภาระหว่างประเทศ เช่น งาช้าง ซึ่งได้กำไรสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นเจ้าและนาย แบ่งออกเป็นสองพวกคือ เจ้า (กษัตริย์และขุนนางชั้นสูงบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลบุนนาค) ซึ่งมีแหล่งเงินหลักจากการค้าระหว่างประเทศ ส่วนอีกพวกหนึ่งคือ ชนชั้นนายซึ่งได้ประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานไพร่และทาส
แม้ว่ารัชกาลที่หนึ่งจะได้กำไรสูงจากการค้าสำเภา จนสามารถใช้เงินในส่วนนี้มาจ่ายเบี้ยหวัดให้แก่พวกขุนนางได้ก็ตาม แต่ด้วยสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันการค้าจากสำเภาเอกชนที่เพิ่มขึ้นทำให้การค้าสำเภาหลวงของรัชกาลที่สองไม่ได้กำไรมากนัก รัชกาลที่สองจึงต้องลดการจ่ายเบี้ยหวัด ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ขุนนาง รัชกาลที่สาม แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญในการค้าสำเภา เพราะในขณะที่ยังไม่ได้ครองราชย์ร่วมกับขุนนางตระกูลบุนนาคช่วยดูแลการค้าให้กับรัชกาลที่สอง จึงเปลี่ยนทิศทางการหารายได้จากการพึ่งพิงการค้าสำเภาสู่การจัดเก็บภาษีใหม่ๆ ถึง 38 ชนิด ผ่านระบบเจ้าภาษีนายอากร และยกเลิกการผูกขาดการค้าของกษัตริย์ ภายใต้ความเห็นชอบของเหล่าขุนนาง แน่นอนว่า การยกเลิกนี้เป็นประโยชน์แก่การค้าสำเภาของเอกชน ซึ่งขุนนางในตระกูลบุนนาคและพ่อค้าชาวจีนเป็นผู้เล่นที่สำคัญ ภายหลังการยกเลิก รัชกาลที่สามยังคงทำกำไรจากค้าสำเภาต่อไป แม้ว่าจะไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์การผูกขาดการค้าอีกก็ตาม
เราอาจสงสัยว่าเหตุใดรัชกาลที่สาม เมื่อเผชิญกับการแข่งขันกับเอกชนแล้ว กลับยกเลิกการผูกขาดการค้าของกษัตริย์ แทนที่จะเพิ่มมาตรการผูกขาดให้หนักข้อขึ้น ตัวอย่างนี้สะท้อนระบบการเมืองยุคก่อนการปฏิรูปของรัชกาลที่ห้าว่า กษัตริย์สยามไม่ได้มีอำนาจแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่กลับต้องแบ่งปันอำนาจกับชนชั้นขุนนางอย่างมาก รัชกาลที่สาม ซึ่งเป็นลูกนางสนมของรัชกาลที่สอง จึงไม่ใช่ผู้มีความชอบธรรมในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากรัชกาลที่สอง แต่ด้วยความเห็นชอบจากขุนนาง รัชกาลที่สามจึงก้าวข้ามรัชกาลที่สี่ผู้น้องขึ้นสู่ราชบัลลังก์ รัชกาลที่สี่จึงต้องครองผ้าเหลืองตลอดรัชสมัยนี้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัชกาลที่สามต้องใช้มาตรการที่ไม่ทำให้ขุนนางเสียประโยชน์
พูดในอีกแง่หนึ่ง ทั้งรัชกาลที่สามและขุนนางตระกูลบุนนาคที่ทรงมอบอำนาจการจัดการเก็บภาษีในระบบเจ้าภาษี มีผลประโยชน์ผูกพันกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเงินตรา-การค้าอย่างแนบแน่น กล่าวคือ หากการค้าไม่ขยายตัว ผู้ผลิตและผู้ส่งออกย่อมไม่มีเงินมาเสียภาษี ในขณะที่ชนชั้นนายยังคงมีผลประโยชน์จากการระบบไพร่-ทาสต่อไป แต่ฐานเศรษฐกิจของผู้เล่นทางการเมืองสองกลุ่มนี้กลับขัดแย้งกัน กล่าวคือ ภายใต้บริบทของการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศในยุครัชกาลที่สาม-สี่ (จากจีนเป็นศูนย์กลาง แต่ต่อมาเป็นประเทศตะวันตก) นั้น และจากมุมของเจ้าผู้ปกครอง-ตระกูลบุนนาค ผู้ได้ประโยชน์จากการค้าแล้ว สถาบันไพร่และทาสเป็นอุปสรรค์หลักของการขยายตัวทางการค้า หากสามารถปลดปล่อยไพร่และทาสเข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้าเช่นข้าว ซึ่งมีอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากแล้ว ชนชั้นปกครองกลุ่มนี้จะได้เงินจากระบบภาษีเพิ่มขึ้นมาก แต่การยกเลิกระบบไพร่-ทาสก็ทำไม่ได้ เพราะชนชั้นนายจะเสียประโยชน์มาก และจะเป็นภัยแก่ตัวกษัตริย์เอง
แต่ด้วยสาเหตุบางประการ รัชกาลที่สามไม่สนับสนุนการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษจนสิ้นรัชกาล ในขณะที่เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่สี่) และบางส่วนของตระกูลบุนนาคสนับสนุนการทำสัญญาฉบับใหม่ ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่สี่ขึ้นสู่บัลลังก์ ภายใต้การผลักดันและอุปถัมภ์ของขุนนางตระกูลบุนนาค สนธิสัญญาฉบับใหม่ (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสยามผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแบ่งงานกันทำแบบอาณานิคมภายใต้การนำของอังกฤษ จึงตกลงกันได้ในปี 2398 แม้ว่าในคราวนี้รัชกาลที่สี่ไม่สามารถแสดงท่าที่สนับสนุนการเซ็นสัญญาอย่างเปิดเผยได้ดังคราวก่อน รวมทั้งอาจไม่แน่ใจด้วยว่า สัญญาใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองสยามอย่างแน่แท้
อย่างไรก็ตาม พระองค์คงไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะท่านไม่มีอำนาจต่อรองกับตระกูลบุนนาค การณ์จึงปรากฏว่า ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านการเซ็นสัญญา กลายเป็นความขัดแย้งที่มีเดิมพันสูงภายในตระกูลบุนนาคเอง และกว่าจะตกลงกันได้ ฝ่ายอังกฤษก็ต้องออกแรงข่มขู่ว่าตนมีเรือปืนลอยลำอยู่ในทะเลหลวง ในแง่นี้จึงไม่ถูกต้องที่จะกล่าวเพียงว่า สยามเป็นลูกแกะที่ถูกข่มขู่จากหมาป่าอังกฤษฝ่ายเดียว สิ่งที่ถูกต้องกว่าคือ บางส่วนของชนชั้นปกครองสยามจะได้ประโยชน์จากการเซ็นสัญญาเบาว์ริง เพราะโดยสาระสำคัญของสัญญาก็คือ การทำลายอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ซึ่งทำให้สยามเข้าสู่ระบบการค้าเสรีกับประเทศตะวันตกอย่างเต็มตัว เมื่อการค้าขยายตัว ภาษีอากรที่รัฐสยามจัดเก็บได้ก็เพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งๆ ที่สัญญาที่บังคับให้สยามลดอัตราภาษีนำเข้าลงต่ำกว่าเดิมมาก
หลังเซ็นสัญญา การค้าระหว่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วแม้ในช่วงรัชกาลที่สี่เอง ทำให้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การณ์กับปรากฏว่าฐานะการเงินของกษัตริย์กลับไม่ดีขึ้น รัชกาลที่สี่ต้องพึ่งพาเงินภาษีที่อยู่ภายใต้การดูแลของขุนนางผู้ภักดีบางท่านเท่านั้น ในขณะที่ขุนนางตระกูลบุนนาคถือโอกาสส่งเงินภาษีในจำนวนคงที่ให้แก่พระคลัง ทั้งๆ ที่รายได้จากภาษีขยายตัวตามปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่รัชกาลที่สี่ก็ไม่มีทางเลือก เนื่องจากพระองค์ไม่มีฐานอำนาจพอที่จะต่อกรกับตระกูลบุนนาค
เมื่อตระกูลบุนนาคได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ แต่อุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางการค้าที่ยังคงดำรงอยู่คือ ระบบไพร่-ทาส ดังนั้น ตระกูลบุนนาคจึงเคยเสนอมาตรการที่จะยกเลิกระบบนี้ในช่วงที่ตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ห้า แต่ก็ถูกต่อต้านจากชนชั้นนายจนไม่สามารถปฏิบัติได้
สำหรับรัชกาลที่ห้า เมื่อพระองค์เติบใหญ่พอที่จะครองราชย์ได้เองแล้วก็พบว่า ตนแทบจะไม่มีอำนาจแท้จริงเลย ในทางหนึ่ง รายได้จากภาษีส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่ใต้การควบคุมดูแลของตระกูลบุนนาคสืบต่อจากยุคบิดา ในอีกทางหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับชนชั้นนายซึ่งมีวังหน้าเป็นผู้นำ และสามารถท้าทายอำนาจของพระองค์ได้จากฐานไพร่-ทาสที่ตนกุมอยู่ หากรัชกาลที่ห้าต้องการสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิ์แล้ว พระองค์ต้องยกเลิกระบบไพร่-ทาสที่เป็นฐานอำนาจของชนชั้นนาย ในขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ชนชั้นนายทดแทนการใช้ประโยชน์จากแรงงานไพร่ แล้วปลดปล่อยแรงงานไพร่ให้กลายเป็นผู้ผลิตเพื่อการค้า ซึ่งเป็นฐานภาษีให้รัฐต่อไป
พูดอีกแบบคือ การปลดปล่อยไพร่ให้เป็นผู้ผลิตจะเป็นการยิงนกสองตัวด้วยกระสุนนัดเดียวของรัชกาลที่ห้า ประเด็นปัญหาคือ พระองค์ยังไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนให้ชนชั้นนายได้ ตราบใดที่ท่านยังไม่สามารถยึดอำนาจการคลังจากตระกูลบุนนาคได้ ด้วยเหตุนี้เอง มาตรการแรกๆ ที่ทรงทำคือ การปฏิรูปการคลังโดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นใน พ.ศ. 2416 เพื่อรวมศูนย์อำนาจทางการคลังเข้าสู่ตัวพระองค์เอง กล่าวในแง่นี้ หากสยามไม่ได้เซ็นสัญญาเบาว์ริงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่แล้ว ฐานภาษีจากการผลิตเพื่อตลาดก็จะไม่ขยายตัว รัชกาลที่ห้าก็จะไม่มีรายได้มาจ่ายเงินเดือนเพื่อสร้างกลไกราชการสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ แม้ว่าจะริบอำนาจการคลังจากตระกูลบุนนาคได้สำเร็จก็ตาม
สรุปแล้ว การยกเลิกระบบไพร่-ทาสในยุครัชกาลที่ห้านั้น คงเป็นไปอย่างยากลำบากกว่าที่เกิดขึ้นจริง หากไม่มีการเซ็นสัญญาเบาว์ริง ในแง่นี้แล้ว การยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นปกครองของสยามอย่างสำคัญด้วย