อภิชาต สถิตนิรามัย
[email protected]
หนังสือของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลเล่มนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่ในแวดวงการพัฒนา งานชิ้นนี้เสนอว่า การขยายขอบเขตของเสรีภาพในหลายๆ ด้านของทุกผู้คนในสังคม ควรเป็นเป้าหมายหลักแห่งการพัฒนา เพื่อให้ผู้คนสามารถเลือก หรือมีทางเลือกที่จะดำเนินชีวิต หรือเลือกที่จะมีวิถีชีวิตในแบบที่ตนให้คุณค่าได้ ในแง่นี้ เราควรข้ามพ้นการวางเป้าหมายการพัฒนาอย่างแคบๆ เช่น การขยายตัวของรายได้ประชาชาติ เนื่องจากรายได้อย่างมากก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการดำรงชีพเท่านั้น แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งนักปฎิบัติและนักคิด จนกลายเป็นปรัชญาพื้นฐานต่อการพัฒนาในยุคปัจจุบัน
สาเหตุที่เซนเสนอให้เสรีภาพเป็นเป้าหมายของการพัฒนานั้น เนื่องจากเขาเห็นว่า เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจใน 3 ลักษณะ คือ
1. เสรีภาพมีคุณค่าโดยตัวมันเอง (constitutive role)
เซนเสนอว่า เสรีภาพมีความสำคัญและมีคุณค่าในตัวมันเอง คนในยุคสมัยปัจจุบันอาจลืมไปแล้วว่า ในยุคที่การบังคับใช้แรงงานทาสและแรงงานไพร่เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตกหรือตะวันออก ก็จะมีปรากฎการณ์ไพร่หรือทาสหนีนายเพื่อแสวงหาอิสระภาพ ทั้งๆ หากถูกตามจับกลับมาได้ ก็อาจต้องเผชิญกับการลงโทษอย่างรุนแรงของผู้มีอำนาจ ในประวัติศาสตร์ของอเมริกา มีตัวอย่างของทาสผิวดำจำนวนมากที่หลบหนีขึ้นเหนือเพื่อกลายเป็นแรงงานเสรี ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแรงงานเสรีของรัฐทางเหนือไม่ได้สูงไปกว่าทาสในมลรัฐทางใต้เลย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เสรีภาพจากความหิวโหย ในกรณีนี้ เซนเปรียบเทียบระหว่างคนที่หิวโหย เพราะขาดซึ่งปัจจัยอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิต กับคนที่หิวโหยเพราะอดอาหารตามความเชื่อทางศาสนา (หรือทางการเมืองก็ตาม) ผลทางกายภาพที่เกิดแก่คนในทั้งสองกรณีย่อมเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ผู้ที่อดอาหารตามความเชื่อย่อมมีเสรีภาพที่จะเลิกอดอาหารเมื่อใดก็ได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ได้มีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้น ตัวอย่างทั้งสองนี้สะท้อนว่า คนเรามีเหตุผลที่จะให้คุณค่ากับเสรีภาพโดยตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลเชิงเครื่องมือหรือเชิงอื่นมารองรับความสำคัญของเสรีภาพ กล่าวในแง่นี้แล้ว เสรีภาพจึงมีคุณค่าโดยตัวมันเอง ดังนั้นมันจึงควรเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนาของสังคม
2. เสรีภาพในฐานะเครื่องมือ-วิธีการในการพัฒนา (instrumental role)
เสรีภาพและสิทธิทางการเมือง นอกจากจะมีคุณค่าโดยตัวเองแล้ว ยังเป็นเครื่องมือ-วิธีการเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิผลสูงอีกด้วย ในความหมายนี้ เซนเสนอว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ไม่เคยพบว่าภาวะทุพภิกขภัย (famine) เกิดขึ้นในสังคมการเมืองที่เป็นเอกราช, มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ, มีฝ่ายค้านคอยวิจารณ์รัฐบาล, สื่อมวลชนมีเสรีภาพที่จะรายงานข่าวและตั้งคำถามต่อนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ ตรงกันข้าม ภาวะการอด (จน) ตายนี้กลับเคยเกิดขึ้นในระบอบการปกครองแบบเผด็จการ, ในประเทศราชอาณาจักรโบราณ, ในสังคมอำนาจนิยม, ในสังคมเผด็จการที่ปกครองด้วยเทคโนแครต, ในประเทศอาณานิคม หรือโดยระบบการปกครองแบบพรรคเดียวที่ไม่ฟังเสียงใคร
การที่ภาวะทุพภิกขภัยไม่เกิดในประเทศประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะผู้ปกครองหรือผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะในระบบนี้ มีแรงจูงใจที่จะต้องฟังเสียงและแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน เพราะบุคคลสาธาณะเหล่านี้ต้องเผชิญกับการวิภาษวิจารณ์ของสื่อและฝ่ายค้าน ที่มีต่อนโยบายและการทำงานของรัฐ และยังต้องเผชิญกับการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็คือการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองโดยประชาชนอีกด้วย ในแง่นี้ เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือซึ่งบังคับให้ผู้ปกครองต้องตอบสนองความต้องการ (needs) ของประชาชน กล่าวอีกแบบคือ สิทธิและเสรีภาพไม่เพียงมีคุณค่าเชิงนามธรรมเท่านั้น แต่มัน “กินได้” ด้วย
3. เสรีภาพในฐานะเครื่องมือเพื่อการก่อร่างสร้างระบบคุณค่า (constructive role)
นอกจากเสรีภาพจะมีบทบาทเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจแล้ว เสรีภาพและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางการเมืองในการแสดงความเห็น, ถกเถียง, แลกเปลี่ยนความคิด, การโต้แย้ง, การวิภาษวิจารณ์อย่างเปิดเผย และการไม่เห็นด้วย (dissent) ยังมีบทบาทในการเสริมสร้าง-ทำความเข้าใจ (constructive role) ต่อทั้งมโนทัศน์ (concept) และความหมาย (comprehension) ของ “ความจำเป็น” (needs) อีกด้วย เนื่องจาก “ความทุกข์ทน” (miseries) และ “ความขาดแคลน” (deprivation) มีมากมายหลายแบบหลายประเภท
หากเรานำคำทั้งสองมารวมกันทื่อๆ เพื่อสร้างมโนทัศน์ว่าอะไรคือ “ความจำเป็น” แล้ว มันก็จะมีความหมายที่หยาบมาก ตัวอย่างเช่น มีของมากมายหลายสิ่งที่เรามีเหตุผลพอที่จะบอกว่ามันมีคุณค่าและเราอยากได้ เช่น เราอยากได้ชีวิตที่ยืนยาวและไม่มีวันตาย แต่ความเป็นอมตะจะกลายเป็น “ความจำเป็น” ไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นไปไม่ได้ ในแง่นี้ มโนทัศน์ว่าอะไรคือความจำเป็นนั้นเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความคิดของเราว่า อะไรคือความทุกข์ยากและความขาดแคลนที่ป้องกันได้ และความเข้าใจว่าเราจะจัดการกับมันได้หรือไม่อย่างไร ในแง่นี้ การอภิปรายสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการเสริมสร้างความเข้าใจต่อความคิดเหล่านี้
ดังนั้น สิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงไม่เป็นเพียงแค่กระตุ้นให้สังคมตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจในเชิงเครื่องมือเท่านั้น แต่ยังเป็นแกนกลางของกระบวนการสร้างมโนทัศน์ว่า อะไรคือ “ความจำเป็น” อีกด้วย
กล่าวให้ซับซ้อนขึ้นแล้ว เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการสร้างคุณค่า (formation of value) และการจัดลำดับความสำคัญ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณค่าและลำดับความสำคัญของเราจะเป็นอิสระจาก หรือไม่ได้รับอิทธิพลจากความแตกต่างระหว่างการมีกับการไม่มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรี กล่าวอีกแบบนั้น การอภิปราย-การถกเถียงสาธารณะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น การอภิปรายสาธารณะมีผลอย่างมากต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศกำลังพัฒนา ในรัฐของประเทศอินเดียที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงนั้น อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลของการถกเถียงสาธารณะถึงผลร้ายของการมีอัตราเจริญพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้หญิงวัยเยาว์ การอภิปรายนี้มีผลต่อการสร้างคุณค่าว่า ครอบครัวสมัยใหม่ที่เป็นสุขนั้นจะต้องมีขนาดเล็ก การอภิปรายเรื่องนี้ในรัฐเคราล่า (Kerala) ทำให้รัฐนี้มีอัตราการเจริญพันธุ์เพียง 1.7 เท่านั้น ในขณะที่จีนซึ่งบังคับใช้นโยบายการมีบุตรหนึ่งคนต่อครอบครัวอย่างเข้มงวดและรุนแรง กลับมีอัตราการเจริญพันธุ์สูงถึง 1.9 ประสบการณ์ของจีนและเคราล่าสะท้อนว่า ในหลายเรื่องหลายประเด็น การใช้มาตรการบังคับนั้นไม่ได้มีประสิทธิผลสูงกว่าการเปิดให้มีการถกเถียงโดยเสรีเลย
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมอดนึกถึงประกาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ห้ามจัดการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ ผมเดาว่าท่านอธิการบดีธรรมศาสตร์คงไม่เคยอ่านงานชิ้นนี้ของเซ็น เนื่องจากท่านเป็นนักกฎหมาย ผมหวังเพียงแค่ว่า หากท่านมีโอกาสอ่านแล้ว ท่านอาจจะหันไปทบทวนมติข้างต้นก็เป็นได้