ThaiPublica > เกาะกระแส > ปรับกำลังชายแดนไทย-กัมพูชา – “รากเหง้า” ข้อพิพาท “ปราสาทเขาพระวิหาร”

ปรับกำลังชายแดนไทย-กัมพูชา – “รากเหง้า” ข้อพิพาท “ปราสาทเขาพระวิหาร”

26 กรกฎาคม 2012


พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมด้วย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.  พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม  พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2  ร่วมพิธีปรับกำลังทหารโดยให้กำลังตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทำหน้าที่แทน ที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมพิธีปรับกำลังทหารโดยให้กำลังตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทำหน้าที่แทน ที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ในที่สุด การปรับกำลังทหารระหว่าง “ทหารไทย – ทหารกัมพูชา” ได้เกิดขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามคำสั่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) 5 ข้อ โดยข้อที่ 1. การปรับกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายที่ประจำการในพื้นที่เขตปลอดทหาร 17.3 ตางรางกิโลเมตร แต่เบื้องต้นทั้งสองกองทัพตกลงจะปรับกำลังทหารออกนอกพื้นที่เพียงแค่จุดปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้น

ภายหลังการหารือของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม “เสธ.ตี๋” พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหาร “รมต.ปึ้ง” นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ร่วมหารือกับ สมเด็จ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา และ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกฯ รมว.กลาโหม กัมพูชา และคณะรัฐบาลกัมพูชา

ทั้งนี้ ในหัวข้อการปรับกำลังบริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศกัมพูชา ได้ข้อสรุปว่าจะให้ถอนกำลังทหารออกมาและส่งตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้าไปดูพื้นที่แทน

วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา “วันดีเดย์” ที่เริ่มทำตามข้อตกลงนั้น พล.อ.เตีย บันห์ จะเดินทางไปเป็นประธานในการปรับกำลังฝั่งกัมพูชาฝั่งพื้นที่ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่กัมพูชาดูแล ซึ่งทางกัมพูชาได้ใช้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตำรวจท่องเที่ยว ทำหน้าที่แทนทหาร มีทั้งหมด 485 นาย จาก 4 จุดสำคัญ คือ วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ตลาด บันไดทางขึ้นปราสาทที่ติดกับไทย และช่องบันไดหัก

ขณะที่ “พล.อ.อ.สุกำพล” พร้อมด้วย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.นิพัทธ์ “บิ๊กป้อม” พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมเดินทางไปเป็นประธานในฝั่งไทยที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีการปล่อยแถวตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อเข้าไปทดแทนกำลังทหารหลักที่ต้องถอยออกมาจากจุดปราสาทเขาพระวิหาร

“วันนี้พวกท่านถือเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของชาติ ขอท่านเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดๆ ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ท่านจะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ความความกดดัน ความยากลำบาก รวมทั้งหากมีการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม ขอให้นึกถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวต่อบรรดา ตชด.

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพที่เกิดขึ้นต่อชาวโลกจะออกมาในทาง วิน–วิน ทั้งสองชาติก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้ว “กองทัพ” ไม่เคยต้องการจะสลับกำลังเปลี่ยนจากทหารมาเป็น ตชด. หรือขยับกำลัง ณ จุดนั้นเลยด้วยซ้ำ

แต่เมื่อ “กัมพูชา” เดินหมากนำหน้าไทยไปหนึ่งก้าว เล่นประกาศออกมาว่าจะปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่ กลายเป็นเกมที่ “กองทัพไทย” จำใจต้องเดินเกมตาม พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ของไทย เป็น “เด็กเกเร” ต่อเพื่อนบ้าน

ที่สำคัญ “พล.อ.อ.สุกำพล” ก็ออกมายอมรับ หากเราไม่ปรับกำลังทหารตามกัมพูชา จะส่งผลเสียต่อการตัดสินคดีปราสาทเขาพระวิหารในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 อย่างแน่นอน เพราะไทยจะถูก “กัมพูชา” ใช้การปรับกำลังทหารครั้งนี้เป็นหลักฐานฟ้องต่อศาลโลกเพิ่มอีก 1 ชิ้น ว่าเราไม่ทำตาม

ตามข้อมูลจากกรมแผนที่ทหาร เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชามีระยะทาง 798 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมามีกลไกการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Commission For Bilateral Cooperration) หรือ JC โดยมี รมว.ต่างประเทศเป็นประธานการเจรจา, คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (The Joint Boundary Commission) หรือ JBC มี รมช.ต่างประเทศเป็นประธานการเจรจา

คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee) หรือ GBC มี รมว.กลาโหมเป็นประธานการเจรจา, คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน (Border Peace Keeping Committee) หรือ BPKC โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานการเจรจา

คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee) หรือ RBC มีแม่ทัพภาคเป็นประธานการเจรจา, คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee) หรือ TBC มีระดับผู้การกรมที่รับผิดชอบในพื้นที่เป็นประธานการเจรจา

ทั้งหมดคือกลไกที่ใช้เจรจากับเพื่อนบ้านที่ได้ผลอย่างเสมอมาโดยมีทหารเป็นผู้ปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้

ล่าสุด ได้ตั้ง คณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา (Join Working Group) หรือ JWG โดยมีเสนาธิการทหารกองทัพไทย เป็นประธานในการเจรจาเพื่อเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียลงพื้นที่ตามคำสั่งศาลโลก

พื้นที่แนวสันปันน้ำบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่วางแนวเส้นสีแดงบ่งบอกถึงเขตแดน โดยมีเส้นสีเหลืองคือรั้วลวดหนามที่กำหนดแนวเขตปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา
พื้นที่แนวสันปันน้ำบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่วางแนวเส้นสีแดงบ่งบอกถึงเขตแดน โดยมีเส้นสีเหลืองคือรั้วลวดหนามที่กำหนดแนวเขตปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา

หากย้อนอดีต คดี “ปราสาทเขาพระวิหาร” นั้นเกิดขึ้นมากว่า 50 ปี โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร หลักฐาน ภาพถ่าย เพื่อนำไปสู้คดีในศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงเดือนเมษายน 2556

“ปราสาทเขาพระวิหาร” ถือเป็นมรดกที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติ ถูกสร้างขึ้นมา 1 พันกว่าปี ตามลัทธิของฮินดูเพื่อใช้ในการบูชาเทพเจ้า ปราสาทพระวิหารมีหน้าผาสูงจากพื้นดิน 610 เมตร มีสันปันน้ำรอบตัวปราสาท ซึ่งก่อนจะขึ้นต้องมีการชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนขึ้น โดยทางขึ้นนั้นจะอยู่ฝั่งไทยที่ สระตราว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เท่านั้น

แต่ทว่า พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นของกัมพูชา นั่นคือสิ่งที่ทำให้คนไทยโกรธ ว่าเป็นของกัมพูชาได้อย่างไร ในเมื่อทางขึ้นปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย ทำให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ กังขา คาใจ คนไทยมาจนวันนี้

ความเป็นมาเริ่มตั้งแต่ปี 2501 ทูตกัมพูชาประจำอังกฤษ ได้เปิดประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร มีการเขียนบทความถึงการทวงคืน “ปราสาทเขาพระวิหาร” พร้อมทั้งระบอบคอมมิวนิสต์ที่เริ่มแพร่ขยายในภูมิภาคนี้ และช่วงนั้นกัมพูชาได้ขอความช่วยเหลือจากจีนในเรื่องเขตแดน รวมถึงเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร”

ทำให้ช่วงนั้น คนไทยเริ่มออกมาประท้วงในบทความของกัมพูชาที่ทวงคืน “ปราสาทเขาพระวิหาร” ส่งผลให้วันที่ 1 ธันวาคม 2501 กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์กับไทย นั่นคือจุดกำเนิดแรกเริ่มเรื่องความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ

ต่อมาในปี 2502 กัมพูชาได้ยื่นฟ้องศาลโลกให้ไทยถอนทหารจาก “ปราสาทพระวิหาร” โดยวันที่ 15 มิถุนายน คือวันที่ศาลโลกตัดสินว่า “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตั้งอยู่ในดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา

ในเชิงกฎหมาย คำว่า “ตั้งอยู่ในดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตย” การเขียนแบบนี้หมายความว่า ดินที่อยู่ภายใต้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ก็เป็นของกัมพูชา ถึงแม้มติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือประท้วงว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็มีลงท้ายว่า “จะปฏิบัติทุกพันธะกรณี” ส่งผลให้รัฐบาลไทยคืน “ปราสาทเขาพระวิหาร” ให้กัมพูชาไปแล้วนับตั้งแต่นั้น

พร้อมทั้ง รัฐบาลไทยได้สั่งการให้ลากเส้นเขตแดนขึ้นมาใหม่ โดยกันตัว “ปราสาทเขาพระวิหาร” ให้กัมพูชา รวมถึงการจัดทำหนังสือเวียนแจกจ่ายไปที่กระทรวงต่างประเทศของชาติต่างๆ ว่าเราได้ทำตามมติศาลโลก

ขณะที่ตัวปัญหาจริงๆ ต้องย้อนไป พ.ศ.2447 สยาม (ไทย) ได้ลงนามกับอินโดจีน (ฝรั่งเศส) ที่ยึดกัมพูชา ลาว เวียดนาม โดยยอมรับว่าเส้นสันปันน้ำคือเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่หลังจากนั้น 3 ปี (2450) ฝรั่งเศสได้ลากเส้นสีแดงขึ้นมาใหม่ โดยระบุว่าเส้นสีแดงนี้คือแนวสันปันน้ำ และส่งมาให้สยามแล้วตีพิมพ์แจกจ่าย ซึ่งทางไทยก็ไม่ยอมรับ

จนเป็นที่มาของพื้นที่ความขัดแย้ง และเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด ที่กัมพูชานำเส้นนี้มาร้องต่อศาลโลกในปัจจุบัน

เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสลากเส้นนี้นั้น ทูตฝรั่งเศสได้นำแผนที่มาส่งให้ไทย โดยทางไทยไม่ทักท้วงอะไร และขอให้ฝรั่งเศสไปพิมพ์เพิ่มขึ้นมาอีก ต่อมา พ.ศ. 2452 มีประชุมที่ไทย เราก็ไม่ได้ทักท้วงแผนที่ดังกล่าว และถัดมา พ.ศ.2470 ประชุมที่สหรัฐอเมริกา ไทยก็ไม่ได้ทักท้วงว่าแผนที่ฝรั่งเศสไม่ถูกต้อง

จนกระทั่ง พ.ศ.2477 ไทยกับฝรั่งเศสลงพื้นที่สำรวจเขตแดน ทางเราก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร อีกทั้ง ณ วันนั้น คนในยุคนั้นยังไม่มีองค์ความรู้ที่ดีนักในเรื่องดินแดน ภาษาฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสหลอกไทยจนสำเร็จ ส่งผลให้ไทยแพ้คดีที่ศาลโลก 9 ต่อ 3 ในปี 2505 เนื่องจากไทยไม่ได้ทักท้วงแผนที่ฉบับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อพิพาท “ปราสาทเขาพระวิหาร” สงบมาหลายสิบปี ไทย–กัมพูชาไม่มีปัญหากัน จนกระทั่ง พ.ศ. 2550 เกิดเหตุปะทุขึ้นเมื่อกัมพูชาที่เป็นเจ้าของตัวปราสาท นำตัว “ปราสาทเขาพระวิหาร” ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กลายเป็นกระสุนนัดแรกที่เหนี่ยวไกออกมา

โดยคณะกรรมการมรดกโลกบอกว่า กัมพูชาต้องไปทำแผนพัฒนาตัวประสาท ส่งผลให้กัมพูชาทำแผนพัฒนา 3 พื้นที่ คือ 1. Core Zone พื้นที่บริเวณใกล้ตัวมรดกโลก (กัมพูชาลากเส้นเข้ามาในพื้นที่ของไทย 3 ตารางกิโลเมตร) 2. Buffer Zone 3. Development Zone

แผนพัฒนา 3 พื้นที่ของกัมพูชาที่ขอขึ้นปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก คือ 1. Core Zone พื้นที่บริเวณใกล้ตัวมรดกโลก (กัมพูชาลากเส้นเข้ามาในพื้นที่ของไทย 3 ตารางกิโลเมตร) 2. Buffer Zone 3. Development Zone รวมถึงเส้นสีแดงที่ฝรั่งเศสทำเขตแดนเมื่อ พ.ศ. 2450
แผนพัฒนา 3 พื้นที่ของกัมพูชาที่ขอขึ้นปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก คือ 1. Core Zone พื้นที่บริเวณใกล้ตัวมรดกโลก (กัมพูชาลากเส้นเข้ามาในพื้นที่ของไทย 3 ตารางกิโลเมตร) 2. Buffer Zone 3. Development Zone รวมถึงเส้นสีแดงที่ฝรั่งเศสทำเขตแดนเมื่อ พ.ศ. 2450

ทำให้กลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุคนี้

และไทยก็ไม่ยอมรับ พร้อมไปสู้กันในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก โดยเราคัดค้านไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียน “ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นมรดกโลก เพราะหากกัมพูชาทำสำเร็จ ไทยจะเสียดินแดน 17.3 ตารางกิโลเมตรทันที

โดยทาง นายสุวิทย์ คุณกิตติ ตัวแทนการเจรจาต้องชิงลาออกจากสมาชิกไม่เช่นนั้น กัมพูชาคงขึ้นทะเบียน “ปราสาทเขาพระวิหาร” สำเร็จไปแล้ว เพราะในเวทีมรดกโลกไม่มีประเทศใดเข้าข้างไทยหรือช่วยไทยเลย จึงต้องใช้วิธีการลาออก

นอกจากนี้ การปะทะกันระหว่างทหารไทย–กัมพูชา เมื่อต้นปี 2554 เกิดขึ้นหลายครั้งและดุเดือด หลังจากศึก “ภูมะเขือ” บ้านภูมิซรอล-บ้านซำเม็ง-บ้านโดนเอาว์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และส่งผลกระจายมายังบริเวณพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย จ.สุรินทร์

การปะทะกันครั้งนั้น เป็นอุบายที่กัมพูชาวางไว้ เพื่อให้สามารถไปฟ้องสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และฟ้องอาเซียนได้ เป็นเหตุให้ศาลออกคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมปี 2554

โดยข้อ 1. ศาลลงมติ 11 ต่อ 5 ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกมา 2. ศาลลงมติ 15 ต่อ 1 ให้ไทยต้องไม่ขัดขวางการเข้าออกพื้นที่ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ให้มีผู้สังเกตการณ์อาเซียน 3. ให้ทั้งสองฝ่ายรายงานผลการปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั่วคราว

ส่งผลต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ในปัจจุบัน ที่มีการปรับกำลังทหารมาเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายน 2556 ศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะเปิดให้ดำเนินการไต่สวน คาดว่าจะมีผลการตัดสินประมาณ กันยายน-ตุลาคม 2556 ว่าที่สุดแล้วคดี “ปราสาทเขาพระวิหาร” จะมีบทสรุปอย่างไร

หัวหน้าทีมสู้คดีของไทยมี ดร.วีรชัย พลาศรัย สู้ศึกครั้งนี้ สำหรับหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไทยที่ได้เตรียมใช้สู้คดี คือรูปถ่ายผู้ว่าราชการศรีสะเกษ พ.ศ. 2506 ที่ได้ขึ้นไปตรวจราชการ “ปราสาทเขาพระวิหาร” โดยได้ถ่ายรูปแนวรั้วลวดหนามที่ไทยได้สร้างไว้รอบ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ซึ่งนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญเพราะในภาพมีการเขียนระบุว่า หลังป้ายคือดินแดนของกัมพูชา ที่ไทยได้ทำรั้วให้กัมพูชาไปแล้ว

ภาพถ่ายผู้ว่าราชการศรีสะเกษ พ.ศ. 2506 ที่ได้ขึ้นไปตรวจราชการปราสาทเขาพระวิหาร ที่เตรียมใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่อสู้ในศาลโลก
ภาพถ่ายผู้ว่าราชการศรีสะเกษ พ.ศ. 2506 ที่ได้ขึ้นไปตรวจราชการปราสาทเขาพระวิหาร ที่เตรียมใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่อสู้ในศาลโลก

“เป็นหลักฐานที่ไทยได้กันรั้วให้กัมพูชาไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเราพยายามบอกกับศาลโลกว่า เราได้กันดินแดนให้ไปแล้ว มีประวัติที่บันทึกว่า เจ้านโรดมสีหนุ ได้ขึ้นมาตามช่องบันไดหักและเปิดแชมเปญฉลองว่ากัมพูชาได้ชัยชนะที่ศาลโลก พร้อมทั้งได้ดินแดนนี้ไปแล้ว แสดงให้เห็นว่า เจ้านโรดมสีหนุยอมรับตามเส้นสีเหลืองนี้ ซึ่งเราจะใช้เป็นหลักฐานสู้คดีที่ศาลโลกว่าไทยให้ดินแดนจุดนี้ไปแล้ว และกัมพูชายอมรับ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ระบุ

ที่สำคัญ การต่อสู้ของไทยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเราไม่ได้สู้กับกัมพูชาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา จีน โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่ต้องการสัมปทานแก๊ส-น้ำมันในทะเลกัมพูชา อาทิ ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ชุดทหาร รถเกราะล้อยาง จึงไม่ง่ายต่อการแก้โจทย์นี้

อย่างไรก็ตาม การปรับกำลังทหารไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่หน้าฉากหนึ่งเท่านั้น ที่ทั้งไทย-กัมพูชาไม่ได้ต้องการถอนทหารออกมาอย่างแท้จริง อย่างเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกัน เพียงแต่ทำตามศาลโลกเท่านั้น

โดยรัฐบาลไทย กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคำตอบเดียวเท่านั้นในคดี “ปราสาทเขาพระวิหาร” ว่า “แพ้ไม่ได้”