ThaiPublica > เกาะกระแส > “รสนา โตสิตระกูล” เผยปัญหาธรรมาภิบาลของร่างแผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 กับค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม

“รสนา โตสิตระกูล” เผยปัญหาธรรมาภิบาลของร่างแผน PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 กับค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม

7 มิถุนายน 2012


นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com

ข่าวแจก-คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

เมื่อวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาได้แถลงข่าว อาคารรัฐสภา1 ชั้น 1

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาได้กล่าวว่าการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ของกระทรวงพลังงานซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายนนี้ว่า ร่างแผน PDP ของกระทรวงพลังงานฉบับนี้มีปัญหาธรรมาภิบาลที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมได้

ปัญหาประการแรกคือ การจัดทำร่างแผน PDP มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ที่ได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 96,653 ล้านหน่วยในปี พ.ศ.2573 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่กระทรวงพลังงานกลับกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ในร่างแผน PDP ฉบับนี้เพียงร้อยละ 20 ของเป้าหมายที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ

การลดกำลังไฟฟ้าที่ได้จากแผนอนุรักษ์พลังงานออกไปถึงร้อยละ 80 จะทำให้ค่าไฟฟ้าต้องสูงถึง 4.56 บาทต่อหน่วยเป็นอย่างน้อยในปี 2573 หากนำเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานที่ถูกตัดออกไปร้อยละ 80 เข้ามาในแผน PDP จะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 1 บาทต่อหน่วย หรือลดลงร้อยละ 22 เป็นอย่างน้อย

ปัญหาประการที่สอง การที่ร่างแผน PDP ฉบับนี้ ได้ลดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานเหลือเพียงร้อยละ 20 และยังให้ความสำคัญต่อการจัดหาพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ นางสาวรสนากล่าวว่า เป็นแผน PDP ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานมากเกินไป ก่อให้เกิดภาระการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาลซึ่งจะถูกผลักให้ประชาชนต้องรับผิดชอบผ่านทางค่าไฟฟ้า และจะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆได้ในอนาคต

ปัญหาประการสุดท้ายคือ การจัดทำแผน PDP ของกระทรวงพลังงาน มีการเร่งรัดตัดตอน โดยอาศัยสถานการณ์ชุลมุนทางการเมืองที่จะพยายามนำเข้าที่ประชุม กพช.ภายในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน และคาดว่าจะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ต่อไปทันที ซึ่งเป็นการกระทำที่กระทรวงพลังงานเคยดำเนินการมาแล้วครั้งหนึ่งในการเสนอแผน PDP 2010 ในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และผ่านมติ ครม. ในสัปดาห์ต่อมาเช่นกัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะแบบกระชั้นชิด ไม่ทั่วถึง โดยจัดเพียงครั้งเดียว ในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 และมีการส่งหนังสือเชิญผู้เข้าร่วมรับฟังล่วงหน้าเพียง 5 วัน มีการเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าเพียง 3 วันเท่านั้น

การดำเนินการลักษณะนี้อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 57 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”

“กระทรวงพลังงานสมควรชะลอการนำร่างแผน PDP เข้าสู่การประชุมของ กพช. ในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมรับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญได้” นางสาวรสนากล่าว

ด้านนายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2553 มีการปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ต่อมาในปี 2554 และ 2555 ความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงล้วนต่ำกว่าค่าพยากรณ์ชุดที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพลังงานกลับไม่มีการปรับค่าพยากรณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด แต่กระทรวงพลังงานเลือกใช้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี ในช่วงปี 2555-2558 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ในแผนเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.1-4.8 ทำให้การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในปี 2573 สูงขึ้นไปอีก 2,860 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 100,000 ล้านบาทและจะกลายมาเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชน

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน กล่าวว่า หาก กพช. และ ครม. ให้ความเห็นชอบตามร่างแผน PDP ของกระทรวงพลังงานฉบับนี้จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะอาจจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และต้องมีการนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะเกิดภาระแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน

“สิ่งที่รัฐบาลในฐานะที่มี สส. เป็นเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ คือควรดำเนินการเร่งรัดให้มีการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีมาตรการใดๆที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคออกมา” นายอิฐบูรณ์ กล่าว