ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาชี้ จุฬาฯ ยื้อคดี “ศุภชัย หล่อโลหการ” กรณีการลอกเลียนผลงานทำวิทยานิพนธ์

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาชี้ จุฬาฯ ยื้อคดี “ศุภชัย หล่อโลหการ” กรณีการลอกเลียนผลงานทำวิทยานิพนธ์

21 มิถุนายน 2012


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาภาพ: http://www.twip.org
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาภาพ: http://www.twip.org

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ทำหนังสือตอบถึงนายวิลเลี่ยม วิน เอลลิส (ผู้ร้องคดีการคัดลอกวิทยานิพนธ์) ที่ทำหนังสือให้ดำเนินการเร่งรัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องกล่าวหาว่านายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ลอกเลียนผลงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บริษัท สวิฟท์ จำกัด และของนายวิลเลี่ยมนั้น

ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้สรุปรายละเอียดว่า ล่าสุด ได้ดำเนินการเรื่องนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 โดยได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และความเห็นว่าตามมาตรา 21 (5) ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยในการอนุมัติการให้ปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร จุฬาฯ จึงมีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว โดยที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ทวงถามจุฬาฯ เป็นระยะ แต่ก็ได้รับแจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการมาโดยตลอด จึงไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาพิจารณาได้

ทั้งนี้มาตรา 53 ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้ รมต.ศึกษามีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และมหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้บัณฑิตมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ มีวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และมีความสำนึกรู้ผิดชอบต่อส่วนรวม

กรณีเรื่องนี้ ทางสำนักงานฯ เห็นว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับจริยธรรมของบัณฑิต ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหวังที่จะให้บัณฑิตมีความรู้คู่คุณธรรม ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาจึงใช้อำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลได้

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมฯ ได้ลำดับเหตุการณ์ที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ไปแล้วดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2552 ขอให้เพิกถอนการอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตนายศุภชัย หล่อโลหการ นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการร้องเรียนเรื่องนี้ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้รับทราบผล

2. จากนั้น วันที่ 13 กรกฏาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณากรณีการร้องเรียนดังกล่าว และแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบเป็นระยะ พร้อมแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและ รมต.กระทรวงศึกษาทราบ

3. วันที่ 17 สิงหาคม 2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แจ้งว่า กรณีการร้องเรียนเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในข้อเท็จจริง และนายศุภชัยได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของผู้ร้อง และได้มีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีแพ่ง จุฬาฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เมื่อผลการพิจารณาออกมาแล้วจะแจ้งให้ทราบ

4. วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแจ้งว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้พิจารณาแต่เพียงเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานวิชาการ และเมื่อได้สอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้วได้รายงานความเห็นต่อมหาวิทยาลัย ทางจุฬาฯ จึงได้หารือเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจการเพิกถอนปริญญาบัตรของจุฬาฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้คำตอบเมื่อเดือนมกราคม 2554

ในประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น จุฬาฯ ได้มีคำสั่งลับ โดยมีหนังสือออกมาในเดือนกรกฎาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายวิลเลี่ยม วิน วิลลิส ว่านายศุภชัย หล่อโลหการ อดีตนิสิตปริญญาดุษฏีบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2550 ได้ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้ร้องเรียน เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของตนโดยไม่มีการอ้างแหล่งที่มา ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสอบสวนคือศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และมีกรรมการอีก 6 คน โดยได้รายงานผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ต่ออธิการบดี

โดยผลการสวบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้สรุปผลว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) คิดเป็น 80% ในวิทยานิพนธ์จำนวน 205 หน้า ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเอง (Self-Plagiarism) หรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่น หรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วม

ในรายงานได้ระบุว่า แม้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่บริษัท สวิฟท์ จำกัด เพื่อทำการวิจัย สนช. และบริษัท สวิฟท์ จำกัด จึงเป็นเจ้าของร่วมกัน การที่ผู้ถูกร้องเรียนซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สนช. ได้คัดลอกเนื้อหาส่วนใหญ่จากรายงานการวิจัยดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนเป็นผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ด้วยตนเอง (อ่านเพิ่มเติม )

5. เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหนังสือตอบข้อหารือ สภาจุฬาฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อรวบรวมข้อมูลและเสนอความเห็นและแนวทางการดำเนินการต่อสภามหาวิทยาลัย (อนึ่ง วันที่ 4 มีนาคม 2554 ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการได้แก่ 2. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ 3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม 4. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ 5. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล 6. รองศาสตราจารย์ธัชชัย ศุภผลศิริ ส่วน 7. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดี เป็นเลขาธิการ และ 8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการ)

6. ในเดือนพฤศจิกายน 2554 นายวิลเลี่ยม วิน วิลลิส ผู้ร้อง ได้ส่งหนังสือ 2 ฉบับเพื่อติดตามทวงถามผลการดำเนินการมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้หลังจากที่สั่งการให้คณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการ (อ่านเพิ่มเติม )