ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (8) : ลุยขยายฐานภาษีคณะบุคคล ปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (8) : ลุยขยายฐานภาษีคณะบุคคล ปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย

5 มิถุนายน 2012


แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคให้กับผู้เสียภาษี ไม่ได้มีแค่เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลเท่านั้น หลังจากที่แพคเก็จแรกถูกกระทรวงการคลังตีเรื่องกลับ นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เดินหน้าแผนเร่งขยายฐานภาษี โดยมุ่งไปยังกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ส่วนคนที่เข้ามาอยู่ในระบบแล้วยังเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ก็ต้องปรับให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง อาทิ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตามที่ได้นำเสนอไปตอนที่แล้ว (“โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (7): สรรพากรลุยเศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจแสนล้าน “อีคอมเมิร์ซ””)

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมา โดยอาศัยช่องโหว่ของกฏหมายหลบเลี่ยงภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นเสมือนหนามยอกอกกรมสรรพากรมาเป็นเวลาช้านาน

ตามนิยามของกรมสรรพากร คำว่า “คณะบุคคล” คือ บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำกิจการร่วมกัน โดยไม่มีการแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการทำกิจการนั้น ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญจะมีการแบ่งผลกำไร แต่ทั้งคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญถือเป็นหน่วยภาษีประเภทหนึ่ง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ยกตัวอย่าง นักศึกษาปริญญาโทตั้งคณะบุคคลขึ้นมาบรรยาย “การวางแผนทางภาษี” มีเงินได้ 1 ล้านบาท จากการขายบัตรให้กับผู้เข้าฟังใบละ 1,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ 3% เป็นเงิน 30,000 บาท ต้องนำเงินได้ 1 ล้านบาท มายื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปี สามารถหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 40(8) ได้ 70% ของเงินได้ประมาณ 700,000 บาท คงเหลือ 300,000 บาท หักค่าลดหย่อนภาษีอีก 60,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 240,000 บาท เสียภาษีแค่ 9,000 บาท แต่เนื่องจากถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ 30,000 บาท จึงขอคืนภาษีกรมสรรพากรได้ 21,000 บาท

รูปแบบการจัดตั้งคณะบุคคล กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักบัญชี ทนายความ รับเหมาก่อสร้าง นิยมจัดตั้งเป็นคณะบุคคล และบางกรณีกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลายคณะ และเคยมีมากถึง 400 คณะ เพื่อกระจายฐานรายได้ไปลงตามคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมา ทั้งนี้คณะบุคคลแต่ละคณะจะต้องทำรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องไปจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในปัจจุบัน หากจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรูปแบบการจัดตั้ง คณะบุคคลจะมี 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่หนึ่ง การจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 10-37% ของเงินได้สุทธิ โดยการกระจายเงินได้ออกไปยังคณะบุคคล ตัวอย่างเช่น กรณีของแพทย์มีเงินได้ 10 ล้านบาท หากเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมา สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 6 ล้านบาท (ตามมาตรา 40(6) หักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 60% ของเงินได้) และหักค่าลดหย่อนได้อีก 60,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 3,940,000 บาท เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1,017,000 บาท

แต่ถ้าบุคคลรายนี้กระจายเงินได้ 10 ล้านบาท ออกเป็นเงินได้ของคณะบุคคล 10 คณะ โดยแต่ละคณะบุคคลมีเงินได้ 1,000,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 600,000 บาท หักค่าลดหย่อนภาษีอีก 60,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 340,000 บาท เสียภาษีเงินได้ 19,000 บาท

ดังนั้น ถ้าแยกเป็นคณะบุคคลเสียภาษี 19,000 บาท รวม 10 คณะ จะเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร 190,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีแรกแล้วช่วยประหยัดค่าภาษีไปได้ 827,000 บาท


รูปแบบที่สอง จัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมารองรับค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่สามารถหาใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ อาทิ การจ่ายเงินใต้โด๊ะ 20-30%

“ยกตัวอย่าง บริษัท/ห้างหุ้นส่วน ประมูลงานส่วนราชการมูลค่า 10,000,000 บาท มีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวม 9,000,000 บาท กำไรสุทธิ 1 ล้านบาท ต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวน 9,000,000 บาท ของบริษัท/ห้างหุ้นส่วนมีหลักฐานการจ่ายเงิน หรือใบเสร็จรับเงินมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจำนวน 5,000,000 บาท ที่เหลืออีก 4,000,000 บาท ไม่มีใบกำกับภาษี จะทำอย่างไร ทางออกมีอยู่ 2 วิธี คือ 1) ซื้อใบกำกับภาษีมาใช้ แต่อาจจะมีความเสี่ยงได้รับโทษอาญา กรณีที่ตรวจพบว่ามีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม 2) ตั้งคณะบุคคลขึ้นมารับงานหรือขายสินค้าและบริการให้กับบริษัท ซึ่งวิธีนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ประมูลงานภาครัฐ”

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากรพยายามอุดรูรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีที่เกิดขึ้นดังนี้

1. ตรวจสอบภาษีคณะบุคคล หากพบว่าคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นไม่เป็นไปตามนิยามที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น ตรวจสอบพบว่ากลุ่มบุคคลที่ร่วมกันจัดตั้งคณะบุคคล ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจการ เช่น ใช้บัตรประชาชนคนงาน คนใช้ คนขับรถมาขออนุญาตจัดตั้งคณะบุคคล หรือมีการแบ่งผลกำไรในภายหลัง

กรณีนี้ หากกรมสรรพากรตรวจพบว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนแห่งใดใช้ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีจากคณะบุคคลประเภทนี้มาลงบัญชีเป็นรายจ่ายบริษัทจะถูกตัดทอนออกทั้งหมด เพราะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี

2. การใช้อำนาจเชิงบริหาร เพิ่มขั้นตอนและเอกสารในการขออนุญาตจัดตั้งคณะบุคคล

3. แก้ประมวลรัษฎากร ยกเลิกการจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคล หรือตามไปเก็บภาษีเมื่อตรวจพบว่ามีการแบ่งผลกำไร