ThaiPublica > เกาะกระแส > นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์วิกฤติหนี้อียูถึงไทย – หนี้สาธารณะเพื่อชาติหรือระเบิดเวลา

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์วิกฤติหนี้อียูถึงไทย – หนี้สาธารณะเพื่อชาติหรือระเบิดเวลา

25 มิถุนายน 2012


วิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในกรีซจะลากยาวและลุกลามไปทั่วยุโรปหรือไม่ กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก แล้วหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะเป็นอันตราย หรือเป็นระเบิดเวลาเหมือนที่กรีซเป็นหรือไม่ เป็นประเด็นร้อนที่สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ให้ความสนใจ นำมาเป็นโจทย์ในการถกเถียงเชิงวิชาการ

โดยจัดสัมมนาหัวข้อ “หนี้สาธารณะ: เพื่อชาติหรือระเบิดเวลา” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในงานสัมมนามีนักเศรษฐศาสตร์ทั้งที่เป็นศิษย์เก่าและไม่ใช่ศิษย์เก่าขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ประเด็นที่เห็นตรงกันคือ ณ ปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจไทยและปัญหาหนี้สาธารณะไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าการเมืองยังไม่สงบ คาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราอาจมีปัญหาเจอวิกฤตอีกครั้งก็เป็นได้ โดยเนื้อหาสาระสำคัญมีดังนี้

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

“ไตรรงค์” ถอดบทเรียนหนี้อียู เตือนไทยอย่าซ้ำรอย

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “จากหนี้สาธารณะในยุโรปสู่ AEC: โจทย์ท้าทายและทางรอดของประเทศไทย” โดยระบุว่า ก่อนจะวิเคราะห์หนี้สาธารณะของไทยในอนาคต ต้องศึกษาจากต่างประเทศ

โดยสรุปวิเคราะห์ปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซและในยุโรปหรืออียูว่า ปัญหาเกิดขึ้นและก่อตัวสะสมมาก่อนปี 2008 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งที่ประเทศเราแล้วขยายกลายเป็นวิกฤติอาเซียน ทำให้เงินออมทั้งหมดไม่มาที่อาเซียน สภาพคล่องทางการเงินไปหาทางลงทุนประเทศอื่น โดยวิ่งไปลงทุนในที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า คือประเทศในอียูกับในสหรัฐอเมริกา

ประเทศในอียู ซึ่งก่อตั้งยูโรโซนในปี 1999 มีประเทศต่างๆ ที่เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการอยู่ในยูโรโซน เพราะมีเยอรมัน ฝรั่งเศส ช่วยค้ำบัลลังก์ เนื่องจากมีความสามารถในการชำระคืนหนี้สูงมาก (creditability) ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมากถึง 50% จากก่อนปี 1999 ประเทศต่างๆ ก่อนเข้ายูโรโซนดอกเบี้ยสูงมาก แต่พอเข้ายูโรโซน อัตราดอกเบี้ยมีเสถียรภาพและลดลง ปัญหาคือทำให้มีการกู้ยืมเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ปัญหาข้อต่อไปคือ ผู้สูงอายุในยูโรโซนมีมากขึ้น รัฐบาลดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ จึงตกเป็นภาระของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีรายได้ไม่พอก็ต้องกู้เงินมาดูแลสวัสดิการ จึงมีการกู้ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่กู้มากๆ คือภาคเอกชน ทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่

“เมื่อเกิดปัญหาฟองสบู่ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่รวมเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะมูลค่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเมื่อคำนวณหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำ เมื่ออัตรานี้อยู่ระดับต่ำทุกคนก็กู้ไปเรื่อยๆ เพราะอัตรายังต่ำ อันนี้เป็นการซ่อนปัญหาฐานะการคลังเอาไว้ เพราะดูเฉพาะตัวเลข ลืมคิดไปว่าที่จีดีพีสูงเป็นเพราะฟองสบู่ ไม่ได้โตตามธรรมชาติ ทุกคนชะล่าใจ” ดร.ไตรรงค์กล่าว

ปัญหาต่อไปคือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกในยูโรโซน ยกเว้นเยอรมัน จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมานานมาก แสดงว่าสูญเสียการแข่งขันกับชาวโลก ที่มาของรายได้ก็ไม่มีอย่างที่คาดหวัง โดยการสูญเสียความสามารถแข่งขันมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนสูงมาก และส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่สูงมาก

เนื่องจากพรรคที่ปกครองในสเปนเป็นพรรคสังคมนิยม มีการเอาใจแรงงานจำนวนมาก ประเทศกรีซก็เช่นกัน อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูง แต่อัตราค่าจ้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีแปลกๆ อย่างที่สเปน นอกจากอัตราค่าจ้างจะขึ้นมากมายมหาศาลแล้ว เพื่อเอาใจประชาชน เพื่อคะแนนเสียง สเปนยังออกกฎหมายเอาใจผู้ใช้แรงงานโดยมีผลประโยชน์อื่นๆ เพิ่มให้อีก เช่น รัฐบาลยังออกกฎหมายกำหนดว่า นอกจากนายจ้างจะจ่ายโบนัสตามปกติแก่คนงานในบริษัทห้างร้านต่างๆ แล้ว ต้องจ่ายเพิ่มอีก 2 เดือนเพื่อคนงานจะได้มีเงินไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดแรงงานหนึ่งครั้ง และวันหยุดคคริสต์มาสอีกหนึ่งครั้ง เพราะฉะนั้นคนที่ทำธุรกิจที่นั่นจึงมีภาระหนัก

“กรีซก็เหมือนกัน อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น 50% ในช่วงในปี 1999- 2007 แค่ 8 ปี เพิ่มขึ้นสูงมาก เป็นภาระหนัก โดยกรีซมีต้นทุนแรงงานมากสุด รองลงมาคือ สเปน โปรตุเกส อิตาลี” ดร.ไตรรงค์ระบุ

สรุปว่า จากต้นทุนเงินกู้ที่ถูกลง และความสามารถในการชำระคืนหนี้สูงมากของเยอรมัน และฝรั่งเศสที่ค้ำบัลลังก์ให้ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนพากันกู้เงินมาใช้จ่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก และยังมีภาระสวัสดิการโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มากขึ้น การให้ประโยชน์กับสหภาพแรงงาน เนื่องจากพรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียง ก็แข่งกันให้ผลประโยชน์ จนในที่สุดประเทศต่างๆ สูญเสียความสามารถแข่งขัน การส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราลดลง ดังนั้น เพื่อจะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ต้องทุ่มการใช้จ่าย เกิดการขาดดุลมหาศาล นี่คือเหตุผลที่ทำให้หนี้สาธารณะในอียูมากขึ้น

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

“ประเทศที่น่าจะดูเป็นตัวอย่างมากที่สุดคือกรีซ มีปัญหามากที่สุด มีหนี้สาธารณะสูงที่สุด 160% ของจีดีพี” ดร.ไตรรงค์กล่าว

ทั้งนี้ หากดูจำนวนหนี้โดยรวม ดร.ไตรรงค์ระบุว่า ประเทศที่มีหนี้มากที่สุดคือเยอรมัน รองลงมาคืออิตาลี ผรั่งเศส สเปน กรีซ และโปรตุเกส แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ดูหนี้สาธารณะรวม จะดูอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งพบว่า กรีซสูงมากที่สุด รองลงมาคืออิตาลี โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน

จะเห็นว่ากรณีกรีซน่าห่วง เพราะรัฐบาลก่อหนี้มาก ค่าใช้จ่ายในปี 1999 สูงมาก คิดเป็น 44% ของรายได้ประชาชาติ พอมาปี 2010 ค่าใช้จ่ายรัฐบาลมากกว่า 50% ของรายได้ประชาชาติ ถือว่าใหญ่มาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลไทยอยู่ที่ 18% ของรายได้ประชาชาติ

“รัฐบาลกรีซจึงใหญ่โตมาก มีการกู้เงินมาดูแลหัวคะแนน ดูแลสหภาพแรงงาน ดูแลคนแก่ และที่แปลกคือ เด็กหนุ่มสาวที่จบออกมาไม่มีใครคิดจะเป็นผู้ประกอบการเอง ไม่มีใครคิดที่จะสร้างงานตัวเอง ทุกคนเรียนหนังสือเพื่อเป็นลูกจ้างรัฐบาล จบมาเท่าไหร่รัฐบาลก็จะรับให้มากที่สุดเพื่อเอาใจ เพราะเป็นลูกหัวคะแนน ลูกของใครต่อใคร เมื่อรายได้ไม่พอก็กู้มาใช้จ่าย”

นอกจากนี้ ตอนที่กรีซเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก รัฐบาลกู้มโหฬารเพื่อมาสร้างทุกอย่างใหญ่โต แต่ขาดทุนย่อยยับ บวกกับนโยบายหาเสียงทางการเมือง รัฐบาลเอาใจแรงงาน เอาใจใครต่อใคร ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2002 ที่มีหนี้สาธารณะเพียง 85% ของจีดีพี พอมาปี 2011 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 160% ของจีดีพี หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 7% ของจีดีพี

“ผมทำนายว่า ในที่สุดกรีซต้องล้มละลาย ต้องผิดนัดชำระหนี้ จะต้องออกจากยูโร ถ้าออกจากยูโรก็จะลามไปสเปน อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ความเชื่อมั่นในยูโรก็จะไม่มี ค่าเงินยูโรจะลดลง ถ้าเปรียบเทียบยูโรก็จะเหมือนกับประเทศไทยปี 1997 ดังนั้น เงินไหลออกจากยูโรแล้ววิ่งเข้ามาที่เอเชียก็ยังพอไหว แต่เงินบาทเราจะแข็ง ส่งออกก็จะมีปัญหา กลายเป็นว่าลามทั้งโลก เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ดร.ไตรรงค์กล่าว

สำหรับประเทศไทย ดร.ไตรรงค์กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ประมาณการว่า ในปี 2555-2559 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ 400,000 ล้านบาท 300,000 ล้านบาท 272,000 ล้านบาท 214,000 ล้านบาท และ 74,000 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยมีสมมติฐานที่สำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวอยู่ระหว่าง 3-3.8% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตปีละ 4-6% หรือเฉลี่ย 4.5% สำนักงบประมาณจะสามารถชำระหนี้เงินต้นที่รัฐบาลกู้ยืมมาปีละ 3.5% ของงบประมาณรายจ่าย และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 5.25% และมีข้อสมมติฐานว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนป้องกันน้ำท่วมในอนาคตระบุว่า ต้องกู้ให้หมดภายในสิ้นปี 2555 แต่ที่น่าเป็นห่วงเพราะเพิ่งกู้ไปได้เพียง 8,000 ล้านบาท

ดร.ไตรรงค์ยังแสดงความเป็นห่วงอีกว่า ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวไม่ถึงตามที่คาดการณ์ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น และสมมติฐานที่ไม่น่าจะเป็นได้คือ โครงการจำนำข้าวรัฐบาลจะขาดทุน หากรัฐบาลจะทำโครงการจำนำข้าวอีก 2-3 ปี จะเป็นหนี้มากขึ้น และถ้ารัฐบาลมีนโยบายใช้จ่ายเงินต่างๆ หรือไปใช้ให้สถาบันการเงินของรัฐให้กู้ยืมมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่า ปี 2559 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะสูงถึง 60%

“ถ้าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 60% มีคำถามว่า เราจะเป็นเหมือนประเทศกรีซหรือไม่ ไม่เป็นครับ แต่เราจะล้มไวกว่าประเทศกรีซ เพราะเราจะเหมือนอาร์เจนตินา เนื่องจากกรีซล้มช้าเพราะความสามารถในการชำระหนี้ของอียูคุ้มครองมาตลอด ถึงอยู่ได้นานถึงขนาดนี้ แต่อาร์เจนตินาหนี้สาธารณะแค่กว่า 50% ไม่ถึง 60% ไม่มีใครเชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ ในที่สุดไม่มีใครช่วยได้ อาร์เจนตินาจึงต้องขายทุกอย่างแม้แต่ถนนเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้เพราะหนี้มหาศาล แค่เตือนกันไว้ให้ระวังกัน ถ้าไม่ระวังก็ดีกว่าไม่เตือน” ดร.ไตรรงค์กล่าว

“สมคิด” แลหลังเศรษฐกิจไทย 10 ปี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาฐกถาหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทย” โดยก่อนจะเหลียวหลังดูเศรษฐกิจไทย ได้เล่าถึงการเดินทางไปเกาหลีใต้และพม่า ซึ่งในการเดินทางไปเกาหลีใต้ ได้ไปชมบริษัทซัมซุง บริษัทที่เริ่มต้นจากการธุรกิจเสื้อผ้าจนมาสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อ 30-40 ปีก่อน เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้บริษัทธานินทร์ของไทย จากนั้นก็ก้าวกระโดดมาผลิตทีวีจนประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีแซงญี่ปุ่นได้

“ผมได้พูดกับผู้ที่สร้างซัมซุงให้ประสบผลสำเร็จ ผมถามเขาว่า ท่านคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จที่อยู่เบื้องหลังจนทำให้ซัมซุงกลายเป็นบริษัทอันดับโลก เขาบอกว่าความมุ่งมั่น อะไรก็แล้วแต่ที่ซัมซุงมุ่งมั่น เขาทุ่มเทสุดชีวิต และจะไม่การยอมแพ้ก่อนที่จะสำเร็จ” ดร.สมคิดกล่าว

สำหรับประเทศพม่า ดร.สมคิดเล่าว่า ประเทศนี้ล้าหลัง และเขายอมรับว่าประเทศเขาล้าหลัง แต่สิ่งที่ผมเห็นจากการพบปะนักธุรกิจที่นั่น ได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าดีมาก คือ การมีความหวังในอนาคต การมองในอนาคตที่ว่าสิ่งดีๆ นั้นกำลังจะเกิดขึ้นจากประเทศของเขา เขามีความกระตือรือล้นและกำลังรอวันนั้นอยู่

“ทั้งความมุ่งมั่น ทั้งความคาดหวังในอนาคต สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน แล้วค่อยๆ หายไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ทราบเพราะอะไร ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขาเป็นแบบนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะอยู่ตรงไหน เขาจะอยู่ตรงไหน” ดร.สมคิดกล่าว

จากนั้น ดร.สมคิดได้มองเหลียวกลับไปในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็น 10 ปีที่เราต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย แม้จะโชคดีที่เราฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้รวดเร็ว แต่ก็โชคไม่ดีที่ต้องเผชิญวิบากกรรมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องของโรคระบาด โรคซาร์ ไข้หวัดนก เรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องภาคใต้ เรื่องเศรษฐกิจโลก น้ำท่วม จนกระทั่งสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นคือ ความขัดแย้งภายในประเทศ

“สิ่งต่างๆ ที่เราฟันฝ่าใน 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่บั่นทอนเศรษฐกิจของเรา แต่มันยังฉุดรั้งโอกาสที่เราจะปฏิรูปพัฒนาประเทศของเรา ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้ทุกรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินเพื่อประคองสถานะเศรษฐกิจของเราไม่ให้ย่ำแย่ เช่น เวลาเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจโลก เราก็อัดฉีดเงินเข้าไป เวลาเจอสึนามิเราก็ต้องอัดฉีดเงินเข้าไป ซึ่งจำเป็นเพราะเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นสั้นๆ” ดร.สมคิดกล่าว

เปรียบไทยเหมือนภาพเขียน “โมเน่ท์” ดูไกลสวย ดูใกล้เบลอ

เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่าย รัฐบาลก็กู้เงิน โดย ดร.สมคิดกล่าวว่า เรามีงบประมาณสมดุลในปี 2549 เพราะเป็นข้อตกลงที่ให้ไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่จาก 2549 มาถึงปัจจุบันนี้ เราขาดดุลงบประมาณมาตลอดตั้งแต่ปี 2550-2555 โดยขาดดุล 146,000 ล้านบาท, 160,000 กว่าล้านบาท, 340,0000 กว่าล้านบาท, 350,000 ล้านบาท, 420,000 ล้านบาท และ 400,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ดร.สมคิดคำนวณว่า รวมแล้วขาดดุลประมาณ 1.8 ล้านล้านบาทเพื่อแลกกับตัวเลขจีดีพี โดยเรามีจีดีพีปี 2550 โต 4.9%, ปี 2551 โต 2.5%, ปี 2552 โต 2.3%, ปี 2553 โต 7.8% และปี 2554 โตเพียง 0.1% เฉลี่ยแล้วจีดีพีขยายตัว 2.6% หมายความว่า เราใช้วิธีการกู้ยืม 2.6 ล้านล้านบาท แลกกับจีดีพี 2.6%

“แต่ถ้าเราหันกลับไปมองดู มันมีอะไรที่เป็นสาระ เป็นสปริงบอร์ดที่จะก้าวไปสู่อนาคตหรือไม่ มองดูกันเอง ไม่ต้องพูดว่ามีหรือไม่ หรือมีอะไรที่คุ้มค่าหรือไม่ ลองคิดดูแล้วกัน” ดร.สมคิดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิดยอมรับว่า ถ้ามองดูตัวเลขเชิงเศรษฐศาสตร์มหาภาค ถือว่าฐานะเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งพอสมควรแม้เราจะใช้จ่ายกันเยอะ โดยเรามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประมาณ 41% มีเงินสำรองระหว่างประเทศ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ระยะสั้นประมาณ 3 เท่า มีอัตราเงินเฟ้อที่พอจะควบคุมได้ และเศรษฐกิจน่าจะมีการเติบโต 4-5% ถือว่าพื้นฐานน่าจะแน่นหนาพอที่จะเผชิญกับอะไรหลายๆ อย่าง

“แต่สิ่งเหล่านี้คือบุญเก่าที่เราใช้อยู่ และมีคนบอกผมว่า ประเทศไทยเหมือนภาพเขียนของโมเน่ท์ ต้องดูไกลจะสวย ดูใกล้จะมีสองอย่างคือ เบลอๆ กับสีขรุขระ ไม่เนียน ต้องดูไกล คำเปรียบก็คือว่า ถึงแม้จะดูตัวเลขสวยงาม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีความไม่สมดุลหลายๆ อย่าง เช่น ความไม่เท่าเทียม เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกรัฐบาลจะต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ในระยะยาวข้างหน้า” ดร.สมคิดกล่าว

“วิกฤตโลก-เออีซี-การเมือง” ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทย

ดร.สมคิดกล่าวว่า ผมมองว่าเศรษฐกิจระยะปานกลาง 3-5 ปีข้างหน้าเป็นช่วงสำคัญมาก เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเราจะสามารถตอบสนอง 3 เงื่อนไขที่ต้องเผชิญข้างหน้าได้เพียงพอหรือไม่

1. ตอบสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะวิกฤติยุโรป จะลึกและใช้เวลาพอสมควร เราผ่านปี 2540 มาแล้ว เกาหลีใต้กว่าจะฟื้นขึ้นมาได้ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง ประเทศไทยเราก็ผ่านวิกฤติมา ต้องปิดธนาคาร ต้องตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องอัดฉีดเงินให้ธนาคาร ปั๊มเศรษฐกิจ ต้องมีการส่งออก ต้องมีการดึงดูดการท่องเที่ยว เงินบาทอยู่ในภาวะที่เหมาะสมเราถึงฟื้นตัวมาได้

แต่ในอเมริกาช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่มีการทำอะไรเลย นอกจากการเข้าไปอุ้มภาคการเงินและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไป การทำแบบนั้นโดยไม่มีการปฏิรูปเลย จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยถอยลงทุกวัน ก็เหมือนกับคนที่ “อมโรค” ซึ่งตัวเลขระยะหลังสุดเริ่มฟ้อง ทั้งตัวเลขการว่างงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีอะไรดีขึ้น

ดร.สมคิดกล่าวว่า หันมาดูทางยุโรป เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับเรา ยุโรปนั้นจริงๆ มี 2 ปัญหาผสมอยู่ ปัญหาแรกคือ ความหวาดกลัว เนื่องจากกรีซมีปัญหาหนัก ทุกคนกลัวว่าถ้ากรีซล้มหรือหลุดออกจากยูโรจะลุกลามไปจะไปถึงสเปน อิตาลี หรือไม่ ความกลัวจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลาดหุ้นเราก็ผันผวนเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นปี การกลัวแบบนี้ทำให้มีความพยายามปล่อยสินเชื่อค้ำจุนสเปนและอิตาลี ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสงบลดความกลัว แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงๆ ไม่มีเลย

ปัญหาที่สอง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงมีหรือไม่ ประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส สเปน อิตาลี ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มสมรรถนะ ไม่เช่นนั้นจะหารายได้จากไหนมาจ่ายหนี้ แต่มีอุปสรรคสำคัญคือถูกบีบบังคับเรื่องวินัยการคลัง ซึ่งเหมือนไทยในปี 2540

“ผมก็ถามตอนปี 2540 ว่า ถ้าเราตัดค่าใช้จ่ายรัฐบาล ไฟแนนซ์ก็ปิด แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เขาไม่สนใจ เขาสนใจอย่างเดียวคือให้มีเงินใช้หนี้ ถ้าดูระเบียบแบบนี้ตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง จะเป็นไปได้อย่างไรที่กรีซจะปฏิรูป กระตุ้นตัวเองให้ฟื้นขึ้นมาได้” ดร.สมคิดกล่าว

อีกอุปสรรคหนึ่งคือ การที่มีเงินสกุลเดียวภายใต้หลายประเทศซึ่งมีความแตกต่างของพื้นฐานเศรษฐกิจ แปลว่านโยบายการเงินทำอะไรไม่ได้ ถ้าดูให้ดี การมีค่าเงินอัตราเดียว เหมาะที่สุดสำหรับเยอรมันซึ่งได้เปรียบทุกอย่าง เป็นศูนย์กลางของยูโร แต่กรีซ โปรตุเกส รับภาระ หากเป็นแบบนี้ในที่สุดก็ต้องบีบให้มีนโยบายรวมกัน นโยบายการคลังรวมกัน เสมือนหนึ่งมีรัฐบาลกลางที่คอยกำกับดูแลทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวของยุโรป แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

“ล่าสุด กรีซมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งหนุนให้อยู่ในยูโร และให้ยอมรับระเบียบมาตรฐานข้อกำหนด ทำให้ความกลัวมีน้อยลง แต่การที่จะปฏิรูปต้องใช้เวลา แบบนี้ยุโรปต้องใช้เวลาอีกหลายปี และไม่รู้ว่าปลายท้ายอุโมงค์จะเป็นอะไร” ดร.สมคิดกล่าว

เมื่ออเมริกากับยุโรปเป็นแบบนี้ หลายคนหวังตลาดเกิดใหม่ แต่จีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกไปแล้วไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้ และครั้งนี้จีนก็ไม่กล้าพอจะอัดฉีดเงินเข้าไปอีก เพราะเสถียรภาพของจีนเริ่มมีปัญหา ประเทศอินเดียปีก่อนทำนายปีนี้จะโต 9% แต่ตัวเลขไตรมาสแรกของปีนี้โต 5% ต่ำสุดในรอบหลายปี บราซิลไตรมาสแรกจีดีพีโตเพียง 0.8% เทียบระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนญี่ปุ่นปิดโรงงานนิวเคลียร์ ค่าเงินเยนแข็ง ก็กำลังจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น กรณีญี่ปุ่นแค่ประคองตัวให้รอด

“ประเทศเหล่านี้ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถค้ำจุนให้เกิดพลังแห่งการเติบโตได้ ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราทำนายได้ว่า เราจะเห็นโดมิโนการถดถอยของการส่งออกแน่นอน” ดร.สมคิดกล่าว

ดร.สมคิดย้ำว่า เราจะหวังพึ่งการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น หรือต่างประเทศที่มาเพิ่มขึ้นก็ยาก ต่อให้ลดดอกเบี้ยด้วย เพราะบรรยากาศการลงทุนในสถานการณ์โลกแบบนี้ไม่ใช่ง่าย และยิ่งบรรยากาศการเมืองในประเทศอย่างนี้ก็ไม่ใช่ง่าย จะหวังพึ่งการบริโภคประชาชน แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนไม่มีอารมณ์ใช้จ่าย

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ดร.สมคิดระบุว่า อาวุธที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ การใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งมีความจำเป็นมาก ซึ่งในอดีตมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ประมาณ 25% ของงบประมาณรายจ่าย ส่วนใหญ่เน้นกระตุ้นการบริโภค แต่ถ้าเรากู้ข้างหน้าอีก 5 ปีต่อเนื่อง ปีละ 400,000 ล้านบาทไปเรื่อยๆ ถ้าหากจีดีพีเติบโต 5% ถึงปลายปี หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเราจะอยู่ที่ 47% แต่ถ้าจีดีพีเติบโต 4% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไปอยู่ที่ 50% แต่ถ้าจีดีพีเติบโตแค่ 3% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 52%

ดร.สมคิดกล่าวว่า แม้จีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 52% แต่ยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ทำให้อยู่ในช่วงที่ยังมีช่องว่าง เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาเถียงกัน ประเด็นที่ต้องมาเถียงกันคือว่า ตัวที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3% หรือ 5% เป็นอย่างน้อย หมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลจะใช้จ่ายต้องสร้างฐานการเติบโตในอนาคตให้ได้

“ในอดีต เวลาเรามีวิกฤตอะไรก็แล้วแต่ เราจะอัดฉีดเงินกระตุ้นการบริโภค ชั่วครั้งชั่วคราวในวาระเร่งด่วนไม่เป็นไร แต่ถ้าฉีดทุกครั้ง เหมือนร่างกายอ่อนแอ เราฉีดยาโดปทุกครั้ง แล้วยาโดปนี้รายได้เราไม่พอ ต้องกู้มาฉีด อีก 5 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าเราจะยังอยู่ได้ แต่ว่าความสามารถในการสร้างรายได้ขึ้นมาก็เริ่มมีปัญหาขึ้น” ดร.สมคิดกล่าว

เพราะฉะนั้น ดร.สมคิดมองว่า อยู่ที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายอะไร เรื่องนี้สำคัญมาก แต่การใช้จ่ายถ้าจำเป็นเพื่อประคองเศรษฐกิจให้โต 4-5% การลงทุนใน 4-5ปีข้างหน้าต้องต่อเนื่อง ซึ่งงบประมาณปีหน้ามีรายจ่าย 2.4 ล้านล้านบาท รายได้ 2.1 ล้านล้านบาท เงินที่ลงเป็นรายจ่ายประจำมี 1.9 ล้านล้านบาท แปลว่าเงินที่ลงมาเพื่อลงทุนช่องว่างแค่ 2 แสนล้าน

ดังนั้น การเติบโตของการใช้จ่ายต่อจีดีพีจะสูงกว่า เร็วกว่า รายได้ต่อจีดีพี ถ้าปล่อยแบบนี้ ในอนาคตจะเริ่มมีปัญหาทางการคลัง เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะใช้จ่ายเงิน สิ่งที่ต้องทำควบคู่คือ การจัดลำดับความสำคัญ และการใช้จ่ายงบประมาณต้องไม่จ่ายตามกระทรวง ต้องจัดตามวาระความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการปฏิรูปการคลังควบคู่กันไป ถ้าไม่ปฏิรูป เป็นแบบนี้ 5-6 ปีข้างหน้าจะมีปัญหา แต่ถ้าดูแลได้ดีฐานะการคลังเราพอไปข้างหน้าได้

“ถ้าเป็นแบบนี้ให้คิดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียว สำคัญ รู้ว่าอะไรคือความพอดี การตัดสินใจต้องมีเหตุมีผล และสามารถป้องกันไม่ให้เราก้าวสู่ความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” ดร.สมคิดกล่าว

2. เรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เป็นเรื่องสำคัญมากในอนาคตข้างหน้า และคนพูดถึงมาก แต่บางทียังเกาไม่ถูกที่คัน โดยไทยจะได้ประโยนช์สูงสุดอย่างไรอยากให้ดูยูโร ซึ่งเยอรมันได้ประโยชน์มากที่สุด หมายความว่าประเทศที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือประเทศที่แข็งแรงที่สุดในภูมิภาค

ดร.สมคิดระบุว่า ถ้าคุณมีศักยภาพสูงสุดจนเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาค คุณจะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการลงทุน แห่งเทคโนโลยี และทุกอย่างจะไหลมา แต่ถ้าคุณเป็นประเภทกะร่องกะแร่ง จะเป็นอย่างกรีซ ไม่มีความหมาย การดูประสิทธิภาพสูงสุดคือมองไปที่ World Economic Forum (WEF) ตัวที่จัดอันดับความสามารถแข่งขันล่าสุด ปรากฎว่าเราอยู่ในอันดับ 39 จาก 33 ในปี 2548 มาเลเซียอยู่ในอันดับ 21 จาก 25 อินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 46 จาก 69 และเวียดนามอยู่อันดับ 65 ก้าวกระโดจาก 74 ในปี 2548

“ผู้แทนของ WEF มาพูดในงาน WEF ที่เมืองไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ให้เห็นชัดเลยว่า จุดแข็งของเราคือโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างมาจากอดีต มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นบุญที่เราสะสมมา แต่จุดอ่อนคือ สถาบันสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองไทยทั้งหลาย เขาใช้คำว่า เราได้คะแนนไม่ดี” ดร.สมคิด

“น่าเสียดายที่เขามางาน WEF เราก็ทำให้เขาเห็นว่าที่เขาทำนายไว้ถูกต้องเลย เพราะมีภาพลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ขึ้นหน้าหนึ่ง เป็นภาพสภากำลังยื้อกับประธานสภา ข้างล่างเป็นภาพนางอองซาน ซูจี กำลังปราศรัยกับแรงงานพม่า 50,000–60,000 คนที่เมืองไทย เป็นภาพแตกต่างกันที่เห็นแล้วหัวเราะไม่ออก เราจัด WEF เพื่ออองซาน ซูจี แท้ๆ เลย”

นอกจากนั้น เรื่องที่สำคัญมากคือ “ความพร้อม” เวลาพูดถึงความพร้อม คนชอบมองที่ภาคเอกชน เพราะเป็นตัวหลัก มีหน้าที่ต้องรุก แต่จริงๆ แล้วต้องเริ่มต้นจากภาครัฐ เพราะการที่จะเป็นศูนย์กลางของเออีซีได้ เขาต้องมองแล้วว่า กฎระเบียบ กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด สามารถเป็นจุดศูนย์กลางสากลของศูนย์กลางได้ ซึ่งเอกชนรายใหญ่พร้อมอยู่แล้ว แต่รายย่อยจะออกไปแข่งขันข้างนอกได้ต้องมีคนพาเขาไป เหมือนเจโทรของญี่ปุ่นที่พาเอสเอ็มอีเข้ามาไทย บทบาทเหล่านั้นอยู่ที่ภาครัฐ

“แต่ไปดูงบประมาณภาครัฐไม่มีเลยในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จัดสัมมนาเป็น 10 ครั้งที่ผ่านมา บอกว่ามีโอกาสนะ มีความเสี่ยงภัยนะ แต่ไม่เคยบอกเลยว่า คุณต้องมีการวางแผนว่าเอกชนกับรัฐจะไปอาเซียนอย่างไร กฎหมายต้องผ่านสภากี่ฉบับ ระเบียบต้องมีไหม มองไปข้างหน้าไม่มีให้เห็นเลย” ดร.สมคิดกล่าว

3. พัฒนาการของการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาจริงๆ ปีที่แล้วสังคมเราแตกแยก ตอนนี้พัฒนามาถึงอีกจุดหนึ่ง มีประเทศไหนบ้างที่สภาแตกกันขนาดนี้ ไม่คุยกัน มีประเทศไหนบ้างที่ตุลาการขัดแย้งกัน มีประเทศไหนบ้างที่นิติบัญญัติเริ่มขัดแย้งกับสภา เมื่อสถาบันหลักของชาติเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าไม่มีความพยายามแก้ เราไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปข้างหน้าได้อย่างไร เอาแค่ประคับประคองไม่ให้ย่ำแย่ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องคิดกัน ไม่มีทางไปข้างหน้าได้ถ้าตรงนี้ไม่สงบ

“การเมืองที่มีปัญหามันฉุดรั้งให้พลังทั้งมวลไปอยู่เรื่องของความขัดแย้ง และจะฉุดให้ประเทศนั้นมีสมรรถนะค่อยๆ ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ” ดร.สมคิดกล่าว

ดร.สมคิดกล่าวว่า มีคนบอกว่าปัญหาประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lack of Conscious คือ ขาดสำนึก โดยขาดสำนึกว่าอะไรเป็นเรื่องส่วนตัว อะไรเป็นเรื่องของประเทศ สำนึกว่าอะไรผิดอะไรถูก ทำโพลออกมาเด็กไทยบอกว่ารับได้เรื่องทุจริต ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ ส่วนสิงค์โปรก็มีการสำรวจถามว่าคุณค่าอะไรที่ถือว่าสำคัญที่สุด คำตอบที่ได้คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ของเราถ้าเริ่มต้นผิดกันแบบนี้อนาคตจะย่ำแย่

อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิดมองว่าสิ่งเรานี้แก้ไขได้ โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ ถ้าดูสภาพการณ์แล้วลองมองไปที่ฟิลิปปินส์ ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงฟิลิปปินส์ ตกขอบโลกไปเลย ไม่มีใครสนใจ แต่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์คือเบอร์ 1 ของเอเชีย เมืองไทยต้องส่งคนไปเรียนที่นั่น วันนี้ไม่มีใครพูดถึง

“เราจะรู้ตัวหรือไม่ว่าเรากำลังอยู่ในทางเดินที่เขาเดินอยู่เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มันเป็น track ที่ผิด เพราะฉะนั้น บางทีเราต้องตื่นขึ้นมาแล้วรีบ “ยูเทิร์น” ซะ เราจะได้มีโอกาสมองเห็นอนาคต ว่าอนาคตเมืองไทยใช้ได้เลย เราพร้อม ต่อให้มีเออีซี เราสามารถใช้ทุกอย่าง และจะได้มีโอกาสมาบรรยายเหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจประเทศ แต่ถ้าเราไม่แก้ไข ในอนาคตข้างหน้าเราจะบอกว่าเหลียวหน้าเหลียวหลัง ดร.สมคิดกล่าว

หนี้สาธารณะ: เพื่อชาติหรือระเบิดเวลา

ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา
ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา

ขณะที่การอภิปรายในหัวข้อ “หนี้สาธารณะ: เพื่อชาติหรือระเบิดเวลา” ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า หนี้สาธารณะของไทยไม่เป็นระเบิดเวลา แต่ถ้ามีสัญญาณบอกเวลาล่วงหน้า เช่น เศรษฐกิจไทยติดลบ 1-2% และจ่ายดอกเบี้ย 3-5% ก็น่ากลัว แต่ก็ยังไม่อันตราย

“เพราะประสบการณ์ในอดีตสอนเราว่า หากเกิดวิกฤตขึ้นมาเมื่อใดก็ตาม เราสามารถลดรายจ่ายลงไปได้ เช่น สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังเลื่อนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดออกไปได้ ดังนั้น รถไฟความเร็วสูง พวกนี้ตัดไปได้ เงื่อนไขสำคัญในการตัดชนวนคือว่า ต้องให้การใช้จ่ายนั้นยืดหยุ่น เวลาตัดจะตัดได้ แต่จะเป็นนิสัยไม่ดีคือการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เป็นรายจ่ายประจำ อันนี้จะตัดลำบาก” ดร.ภาณุพงศ์กล่าว

ดร.ภาณุพงศ์กล่าวว่า การมี “วินัย” การคลังเป็นเรื่องสำคัญ โดยกฎเกณฑ์ต่างๆ คงต้องมีอยู่ เดิมก่อนหน้านี้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% แล้วปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60% ก็จะบอกว่า 60% กฎก็คือกฎ อย่าไปแตะต้อง ขอให้คำนึงกฎให้ดี และอีกเรื่องหนึ่งต้องจับตามองคือ สัดส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลมีการกำหนดว่า 25% ของการใช้จ่ายรัฐบาลต้องเป็นการลงทุน อันนี้เป็นกฎที่ต้องตรึงไว้ และต้องเน้นคุณภาพการลงทุนด้วย ถึงจะทำให้ฐานะการคลังยั่งยืนไม่มีปัญหนี้สาธารณะ

ด้าน ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า หนี้สาธารณะสมมติว่าเป็นระเบิดเวลาไหม อยากมองว่ามีระเบิดหลายลูกฝังอยู่มากกว่า เพราะบางตัวเป็นระเบิดเวลา บางตัวไม่เป็นระเบิดเวลา โดยถ้าระเบิดออกมาในขณะที่เศรษฐกิจไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็ราบรื่น แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาก็จะมีปัญหา เช่น ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีตามที่คาด รายได้รัฐบาลที่คิดว่าจะได้มากก็ไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

“ผมคิดว่า การตรวจสุขภาพของหนี้ต้องดูหลายตัว เราต้องค่อยๆ ดูเป็นระยะๆ เราต้องดูอีกหลายตัว ซึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้ที่ไม่ปรากฏในงบประมาณ หรือ หนี้ซ่อนเร้น ที่กระจุกอยู่ในจุดต่างๆ” ดร.ตีรณกล่าว

หนี้ที่อยู่นอกงบประมาณ ซึ่งอาจเป็นภาระผูกพันในอนาคต ส่วนใหญ่อยู่ในรูปกองทุนต่างๆ โครงการจำนำข้าว โครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ดร.ตีรณกล่าวว่า จุดนี้เป็นจุดอ่อนหนึ่งทางด้านการคลังของรัฐบาลไทย คือมีหนี้กระจุกอยู่ในจุดต่างๆ โดยไม่ได้ไปนับรวมในหนี้สาธารณะ สาเหตุเพราะเราตีความหนี้สาธารณะว่าเกิดขึ้นจากรัฐบาลและกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจไปก่อหนี้จำนวนมาก ยังไม่ชัดเจนว่าหนี้ส่วนนี้จะนับเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่

ทั้งนี้ ดร.ตีรณประเมินว่า หนี้ที่ซ่อนเร้น ซึ่งไม่นับรวมไว้ในหนี้สาธารณะ มีประมาณ 200,000–600,000 ล้านบาท ถ้าคาดว่ามีประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท ก็ประมาณ 3% เมื่อบวกกับหนี้สาธารณะปัจจุบันที่อยู่ระดับกว่า 41% รวมแล้วก็ประมาณ 45% หากบวกกับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอีก 10% ที่โยกออกไปแล้ว และช่วง 2-3 ปีหลังรัฐบาลใช้จ่ายเยอะมาก โดยกู้มา 300,000 – 400,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีนี้ บวกกันแล้วหนี้สาธารณะน่าจะวิ่งไปแตะ 55% ต่อจีดีพี

ณ วันนี้ ถ้าเกิดรัฐบาลใช้จ่ายแบบนี้ และเศรษฐกิจไม่โตเหมือช่วงที่ผ่านมา โอกาสที่หนี้สาธารณะจะวิ่งไปถึง 60% ไม่ยาก แต่ตัวเลขนี้คนนิยมใช้มากที่สุด แต่เวลาวิเคราะห์ต้องดูไส้ในไส้นอก ดูสถานการณ์ด้วย ซึ่งอย่าลืมดูบทเรียนของเรา ก่อนวิกฤตการณ์เราเคยมีหนี้สาธารณะต่ำมาก โดยก่อนวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะอยู่ที่ 15-16% ต่อจีดีพีเท่านั้นเอง พอหลังวิกฤตวิ่งๆ ไปกว่า 50% ต่อจีดีพี

“ปัจจุบันหนี้สาธารณะปรับลดลงมาเหลือ 40% ของจีดีพี แต่ตัวเลขที่ผมประมาณไว้กว่า 50% ของจีดีพี ก็เท่ากับว่าหนี้เก่าไม่ได้ลดลงเลย อย่างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็แทบไม่ลดลงเลย เงินงบประมาณส่วนใหญ่ก็ไม่จ่ายหนี้ จ่ายแต่ดอกเบี้ย ภาพนี้เราไม่ต้องตกใจ แต่ต้องไม่ประมาท และหนี้ที่ต้องระวังที่สุดคือหนี้ที่ยังไม่นับรวมเข้ามา” ดร.ตีรณกล่าว

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด มีความเห็นว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ก็สามารถรองรับหนี้สาธารณะได้ โดยเคยทำตัวเลขตอนที่เราเป็นห่วงหนี้สาธารณะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว พบว่า ถ้าจีดีพีที่แท้จริงโต 3% จะมีปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ถ้าจีดีพีที่แท้จริงโต 6% จะไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะ ตอนนี้จีดีพีเราโต 4-5% อยู่ตรงกลาง ถ้าขยับขึ้นเป็น 6% ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าลงมา 3% มองระยะยาวมีปัญหาแน่นอน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เรื่องหนี้สาธารณะ มี 3 ประเด็นที่ต้องดู 1. ปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ใช้นโยบายพิมพ์เงินเพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ โดยพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5-1.6% ต่ำที่สุดในรอบ 200 ปี แต่ถ้าดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ จะทำให้มีภาระหนี้เพิ่มทันที อย่างไรก็ตาม หนี้ปัจจุบันมองแล้วยังไม่มีปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดอกเบี้ยต่ำ

2. รัฐบาลคิดว่าจะทำให้จีดีพีโตได้จริงๆ หรือไม่ ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง รัฐบาลมักคิดว่าช่วยได้ แต่ต้องคิดว่าจะช่วยได้จริงหรือไม่ ถ้าจีดีพีโต 3% ระยะยาวจะลำบาก ต้องถามตัวเองว่ารัฐบาลมีศักยภาพลงทุนแล้วมีประสิทธิภาพทำให้จีดีพีโตได้หรอไม่

3. เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ก่อนวิกฤตเราพึ่งพาส่งออกประมาณ 30% แต่ตอนนี้ใกล้จะ 70% ของจีดีพี เราพึ่งต่างประเทศมากขึ้น แต่ตอนนี้ต่างประเทศ ในอเมริกา ยุโรป มีปัญหา หากอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเกิดเศรษฐกิจเขาโตแบบไม่ดีเท่าไร แล้วเราจะมีปัญหาหรือเปล่า จีนก็โตต่ำกกว่าเป้า

“ถ้าตอบตัวเองได้ทั้ง 3 ข้อ และอยู่ในความระมัดระวัง ก็จะทำให้หนี้สาธารณะยั่งยืนได้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว